อิมามอะลี(อ.) ผู้นำที่ไม่มีใครเหมือน (ตอนที่ 2

อิมามอะลี(อ.) ผู้นำที่ไม่มีใครเหมือน (ตอนที่ 2)


2. เหตุการณ์สำคัญในมะดีนะฮ์


ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อพยพไปมะดีนะฮ์เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของอิสลาม ซึ่งหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย ทั้งดีและร้าย ท่านอะลี(อ.) มีบทบาทที่โดดเด่นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการอพยพของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ซึ่งเราจะกล่าวถึงเพียงบางเรื่องต่อไปนี้


ก. ท่านอะลี(อ.) แต่งงานกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.)


หลังการอพยพของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อิมามอะลี(อ.) ได้รับหน้าที่ในการนำท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.) บุตรสาวผู้เป็นที่รักของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) มายังมะดีนะฮ์ หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ท่านอะลี(อ.) ได้แต่งงานกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.) นักประวัติศาสตร์ชื่อ ยะอ์กูบี ได้บันทึกไว้ว่า


"ชาว 'มุฮาญิร' (ผู้อพยพจากมักกะฮ์มายังมะดีนะฮ์) กลุ่มหนึ่งได้เคยขอแต่งงานกับท่านฟาฏิมะฮ์(ซ.) เมื่อได้ทราบข่าวการแต่งงานของนางกับท่านอะลี(อ.) พวกเขาบางคนแสดงการคัดค้าน เพื่อตอบโต้กับการคัดค้านของพวกเขา ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์(ศ็อลฯ.) กล่าวว่า 'ฉันไม่ได้แต่งงานฟาฏิมะฮ์ให้แก่อะลี แต่ทว่าอัลลอฮ์คือผู้ทรงแต่งงานนางให้แก่อะลี"


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่ว่า เชื้อสายของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้สืบทอดผ่านมาจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.) และท่านอะลี(อ.) นี่เอง

 


ข. สภาวะการเป็นพี่น้องกับท่านศาสดา(ศ็อลฯ)


เพื่อที่จะทำให้ชาวมุฮาญิร(ผู้อพยพ) กับชาวอันศอรฺ(ผู้ช่วยเหลือชาวมะดีนะฮ์) ได้มีความใกล้ชิดต่อกันมากยิ่งขึ้น ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จึงได้กำหนดให้ชาวมุฮาญิรและชาวอันศอรผูกสัญญาภราดรภาพขึ้นระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ท่านได้เลือกอิมามอะลี(อ.) เป็นพี่น้องของท่าน และกล่าวกับท่านอะลี(อ.) ว่า "เจ้าคือพี่น้องของฉัน ผู้สืบทอด และทายาทของฉัน และฉันสืบทอดมาจากเจ้า"


ค. ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) บรรยายถึงสภาพการพลีชีพของท่านอะลี(อ.)


ระหว่างสงครามซาตุลอาชิรอ ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่สองของการฮิจเราะฮ์(การอพยพ) ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ส่งท่านอะลี(อ.) และท่านอัมมารฺไปเป็นทำหน้าที่ หลังจากนั้นท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ไปสมทบกับพวกท่านและพบว่าพวกท่านกำลังนอนหลับ หลังจากตื่นขึ้นมา ท่านศาสดา(ศ็อิลฯ) ได้กล่าวว่า 'จะให้ฉันบอกกับเจ้าไหมเกี่ยวกับชายสองคนที่ชั่วร้ายที่สุดจากมนุษย์ทั้งหลาย?' เมื่อได้รับคำตอบ ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า 'ชายคนที่ฆ่าอูฐของนบีศอลิฮ์ และชายคนที่จะฟันเจ้า(อะลี) ที่ศีรษะ และจะทำให้เลือดของเจ้าไหลชุ่มเคราของเจ้า"


ง. ความกล้าหาญที่ไม่มีใครเหมือนของท่านอะลี(อ.) ในสมรภูมิ


นอกจากสมรภูมิตาบู้คที่ท่านอะลี(อ.) ถูกในมะดีนะฮ์ตามคำสั่งของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) แล้ว ท่านได้เข้าร่วมในทุกสมรภูมิ และมีบทบาทสำคัญในสมรภูมิทั้งหมดเหล่านั้น แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะกล่าวถึงบทบาทของท่านอะลี(อ.) ในทุกสมรภูมิ แต่เราจะขอกล่าวถึงเพียงบางส่วนเท่านั้น


1. บทบาทของท่านอะลีในสมรภูมิบะดัรไม่มีสาวกคนอื่นใดสามารถเปรียบเทียบกับท่านได้เลย นักประวัติศาสตร์บางคนเขียนไว้ว่า ท่านได้สังหารทหารของฝ่ายศัตรูไป 32 คนด้วยมือเพียงข้างเดียว


น่าสนใจอย่างยิ่งว่า 33 ปีหลังจากนั้น เมื่อท่านอะลี(อ.) ถูกบีบให้ต้องยอมรับตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ชาวกุเรชกลุ่มหนึ่งเช่น ซะอีด อิบนุ อาศ และวะลีด อิบนฺ อักรอบะฮ์ ผู้ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมในสงครามญะมัลและสงครามซิฟฟีนต่อสู้กับอิมามอะลี(อ.) ไม่เต็มใจที่จะให้สัตยาบรรณแก่ท่านเพราะว่าท่านได้สังหารบิดาของพวกเขาในสมรภูมิบะดัร


2) อิมามอะลี(อ.) เป็นสาวกเพียงคนเดียวของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์(ศ็อลฯ) ผู้ไม่เคยหลบหนีจากสมรภูมิเลย ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า สาวกใกล้ชิดของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) หลายคนได้หลบหนีไปในระหว่างสมรภูมิอุฮุด, คอยบัร, และฮุนัยน์


จ. อิมามอะลี(อ.) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกาศ "ซูเราะอ์ อัล-บะรออะฮ์" (อัต-เตาบะฮ์)


หลังจากการวิวรณ์ "ซูเราะฮ์ อัล-บะรออะฮ์" ท่านศาสดาได้แต่งตั้งคนหนึ่งจากสาวกของท่านได้ประกาศสารแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สาวกผู้นี้จะมาถึงมักกะฮ์ ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ส่งอิมามอะลี(อ.) ให้รับโองการที่เพิ่งถูกประทานมาใหม่นี้จากท่าน และไปประกาศแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วยตัวเอง เมื่อกลับมาถึงมะดีนะฮ์ สาวกผู้นี้ได้ถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ตอบว่า "มันเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์ที่จะให้มันถูกประกาศโดยสมาชิกคนหนึ่งจากครอบครัวของฉัน"


ฉ. ท่านอะลี(อ.) เป็นผู้พิพากษาในเยเมนในช่วงสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)


หลังจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อพยพจากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ อิสลามได้เผยแผ่ไปอย่างรวดเร็วในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งส่งผลให้อิมามอะลี(อ.) มักจะถูกท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ส่งไปเผยแผ่อิสลามในดินแดนต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือภารกิจที่ไม่ได้ถูกมอบให้แก่สาวกคนอื่นใดเลย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ) ได้ขอให้อิมามอะลี(อ.) ไปยังเยเมนซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่มีอารยธรรมในสมัยนั้น เพื่อรับหน้าที่เป็นผู้พิพากษา มีบันทึกเล่าไว้ว่า อิมามอะลี(อ.) บอกกับท่านศาสดา(ศ.) ว่า "ฉันยังอ่อนเยาว์ และไม่รู้เกี่ยวกับการตัดสินความ" ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ทาบมือที่อกของท่านอะลี(อ.) และวิงวอนว่า "โอ้อัลลอฮ์ โปรดชี้นำหัวใจของเขาและทำให้เขาชัดแจ้งในการตัดสิน" ถึงตรงนี้ บิลาซารีได้อ้างถึงคำพูดของอิมามอะลี(อ.) ว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันไม่เคยอยู่ในความสงสัยขณะทำการตัดสินระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันเลย"


หลังจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) เสียชีวิตแล้ว บรรดาคอลิฟะฮ์ โดยเฉพาะคอลีฟะฮ์ท่านที่สอง มักจะขอความคิดเห็นของท่านอะลี(อ.) ในประเด็นต่างๆ และในการตัดสินความของพวกเขาด้วย


ช. ฆอดีรฺคุม


แหล่งข้อมูลทั้งจากซุนนีและชีอะฮ์ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่แสดงถึงสถานภาพและตำแหน่งของอิมามอะลี(อ.) และหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุการณ์ที่ "ฆอดีรคุม" ระหว่างการเดินทางกลับจากฮัจญะตุล-วิดา (ฮัจญ์อำลา) ที่ "ฆอดีรคุม" ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้กล่าวคำเทศนาที่สำคัญมากบทหนึ่ง และขณะที่ท่านจับมือของอิมามอะลี(อ.) ยกขึ้นมานั้น ท่านได้ถามประชาชนที่รวมตัวกัน ณ ที่นั้นอย่างชัดเจนว่า


"โอ้ ประชาชนทั้งหลาย อำนาจปกครอง(วิลายัต) ของฉันที่มีเหนือพวกท่าน มีความสำคัญมากกว่าอำนาจปกครองของพวกท่านที่มีเหนือตัวพวกท่านเองใช่หรือไม่?" สำหรับคำถามนี้ ประชาชนได้ตอบรับ ดังนั้น ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จึงประกาศต่อไปว่า "ใครก็ตามที่ฉันเป็นนาย(เมาลา) ของเขา อะลีผู้นี้ ก็คือนายของเขา โอ้อัลลอฮ์ โปรดรักผู้ที่รักอะลี และเป็นศัตรูกับศัตรูของอะลี..."


ที่ฆอดีรฺคุม ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ยังได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอิมามัต(การเป็นผู้นำ) และวิลายัต(อำนาจการปกครอง) ในบริบทของอิสลาม หนึ่งในการประกาศที่สำคัญของท่านมีดังต่อไปนี้


"โอ้ประชาชนเอ๋ย ในไม่ช้านี้ฉันจะจากพวกท่านไป และพวกท่านจะได้พบกับฉันที่สระน้ำ 'เกาษัร' แล้วฉันจะถามพวกท่านถึงสิ่งมีค่าสองประการ(ษะกอลัยน์) ดังนั้น จึงระมัดระวังว่าพวกท่านจะปฏิบัติกับสองสิ่งนี้อย่างไรภายหลังจากฉัน"


หลังจากนั้น ประชาชนได้ถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ) เกี่ยวกับ "สิ่งมีค่าสองประการ" ที่ท่านได้กล่าวถึง


ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้อธิบายว่า "หนึ่งในนั้นคือคัมภีร์กุรอาน ซึ่งปลายด้านหนึ่งอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ และอีกด้านหนึ่งอยู่ในมือของพวกท่าน ดังนั้นจึงยึดมันไว้ให้แน่น เพื่อพวกท่านจะได้ปกป้องตัวเองจากการหลงผิด และสิ่งที่สองคือครอบครัวอันบริสุทธิ์ของฉัน"


เมื่อสิ้นสุดการเทศนาของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) นี้แล้ว ประชาชนจำนวนมากได้เข้ามาแสดงความยินดีกับท่านอะลี(อ.) และยื่นมือออกมาเพื่อให้สัตยาบันแก่ท่าน ในขณะที่มีบางคนยังอยู่ในอาการงุนงงและสงสัย อย่างไรก็ตาม จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของอิสลาม เหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกเป็นหลักฐานไว้อย่างเข้มแข็ง และได้รายงานผ่านสายรายงานที่น่าเชื่อถือทั้งจากสำนักคิดของชีอะฮ์และซุนนี

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์อะคาเดมี