เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การกุรบานกับการบูชายัญ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การกุรบานกับการบูชายัญ

 

 

อีดกุรบาน หรือ อีดอัฎฮา หรือที่มุสลิมไทยแถวภาคใต้จะเรียกกันว่า “วันอารีรายอ” บางพื้นที่เรียกสั้นว่า “วันราหยา” ตรงกับวันที่สิบเดือนซุลฮิจญะฮ์ ถือเป็นอีดที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม ประเทศอิสลามให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ และมุสลิมทั่วโลกจะจัดเฉลิมฉลองกันในวันนี้กิจกรรมหนึ่งในวันนี้คือการเชือดสัตว์พลีทาน หรือ "กุรบาน" และพาครอบครัวไปเยี่ยมญาติมิตรซึ่งส่วนใหญ่จะทำกันในวันแรกของเทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา และเชือดหลังจากนั้นได้อีก 3 วัน เมื่อเชือดเสร็จ แต่ละบ้านที่เชือดจะนำเนื้อมาแบ่งสรรปันส่วนเพื่อแจกจ่ายไปยังเพื่อนบ้าน คนยากจน เด็กกำพร้า และรับประทานเอง ซึ่งอาจมีผู้ที่ไม่เข้าใจในวิถีปฏิบัตินี้ของบรรดามุสลิมและเข้าใจผิดได้ว่า การเชือดสัตว์ดังกล่าว เป็นการบูชายัญ เชือดสังเวยหรือเซ่นไหว้พระเจ้า?


จึงขอทำความเข้าใจความต่างระหว่างสองพิธีนี้อย่างพอสังเขปในบทความสั้นๆ นี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มาก็น้อย

การบูชายัญ  คือ  การบูชาเทพเจ้าในลัทธิพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์สอนว่ามีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่คอยดลบันดาลให้มนุษย์มีอันเป็นไปต่างๆนานา หากผู้ใดปรารถนาจะได้พรหรือให้งดการลงโทษ จะต้องทำการบูชายัญ คือ การฆ่าสัตว์หรือคน ตามจำนวนที่พราหมณ์บอกลัทธิพราหมณ์เกิดขึ้นมานานก่อนสมัยพุทธกาล นั่นหมายความว่าการบูชายัญมีมานานนับหลายพันปีและยังคงเป็นที่เชื่อถือและปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น การบูชายัญเจ้าแม่กาธิมัยที่ประเทศเนปาล ซึ่งจะทำกันทุกห้าปีโดยการเชือดสัตว์ เช่น ควาย แพะ หมู ไก่ จำนวน 250,000 ตัวด้วยความเชื่อว่าจะเป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายและนำโชคมาให้ผู้คน  เมื่อสัตว์ถูกเชือดเพื่อเซ่นสรวงเจ้าแม่แล้ว เนื้อของสัตว์บูชายัญจะไม่มีใครนำมากิน


 ในอินเดียมีการเชือดแพะเพื่อเอาเลือดสดๆไปบูชาเจ้าแม่กาลี ชาวยิวและชาวคริสเตียนในอดีตก็มีความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่องการบูชายัญเช่นกัน
 ชาวอาหรับก่อนหน้าอิสลามมีการเชือดสัตว์บูชายัญเทวรูปที่ตนเคารพสักการะเพื่อหวังการคุ้มครองและการได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุ เมื่อเชือดสัตว์แล้ว เลือดของสัตว์จะถูกสาดไปบนกำแพงกะอ์บะฮ์หรือบนเทวรูป ส่วนเนื้อของสัตว์จะถูกปล่อยทิ้งไว้ให้คนมาเก็บเอาไปกิน
(บรรจง บินกาซัน)

 การเชือดพลี “กุรบาน” ซึ่งในภาษาอาหรับหมายถึง การทำให้ใกล้ชิดกับพระเจ้าด้วยการเสียสละสิ่งดีๆเพื่อพระองค์ ไม่ใช่เป็นการบูชายัญ เชือดสังเวย เซ่นไหว้และสัตว์ที่ถูกเชือดพลีนั้นไม่ใช่เครื่องเซ่นไหว้หรือเครื่องบูชายัญแต่อย่างใด อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า:


لَنْ يَنَالَ اللَّهَ لُحُومُهَا وَلَا دِمَاؤُهَا وَلَكِنْ يَنَالُهُ التَّقْوَى

“เนื้อและเลือดของมันจะไม่ได้ไปถึงอัลลอฮ์หรอก แต่ความยำเกรงจากพวกเจ้าต่างหากที่ไปถึงพระองค์...” (อัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 37)
จากโองการนี้ชี้ให้เห็นถึงความต่างอย่างชัดเจนระหว่างการกุรบานแบการบูชายัญ การเชือดสังเวยหรือเซ่นไหว้ พระองค์ไม่ทรงต้องพึ่งเนื้อและเลือดของสัตว์พลีเหล่านั้น ทว่าการเชือดพลี(กุรบาน)นี้เป็นการแสดงออกถึงการเชื่อฟังและภักดีต่ออัลลอฮ์เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดยังอัลลอฮ์ (ซบ.) ซึ่งวางอยู่บนฐานของความยำเกรง(ตักวา)ต่อพระองค์ ด้วยการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของศาสดาผู้แสดงให้เห็นถึงสูงสุดของการเชื่อฟังและภักดีต่อพระองค์อย่างแท้จริง ด้วยการเชือดพลีบุตรชายคนเดียวของท่าน หากเป็นพระประสงค์ของพระองค์ทุกอย่างต้องมอบและเสียสละไปในหนทางของพระองค์ แม้แต่บุตรที่รักยิ่ง ซึ่งเป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่สำหรับศาสดาอิบรอฮีม(อ.) กระทั่งเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ อีกนัยหนึ่งเป็นการตัดกิเลสแห่งการยึดติดชีวิตทางโลก(ดุนยา)ความอยาก ความโลภ และฯลฯ ทั้งหมด เป็นการแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลบรรดาผู้ยากไร้ด้วยการนำสัตว์เชือดพลีไปแจกจ่ายพวกเขา เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพนที่อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงประทานความโปรดปรานต่างๆให้


 อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงบุรุษที่ยิ่งใหญ่ สูงส่งแห่งพระเจ้าในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสำคัญที่ศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ได้รับบัญชาจากอัลลอฮ์(ซบ.) ผ่านการฝันว่าให้เขาเชือดอิสมาอีลบุตรคนแรกเพื่อพระองค์


แต่ศาสดาอิบรอฮีม(อ.)ยังคงลังเลไม่บอกเรื่องนี้แก่ลูกของตัวเอง เมื่อฝันต่อเนื่องกันสามคืน ศาสดาอิบรอฮีม(อ.)จึงได้เล่าความฝันของเขาให้อิสมาอีลฟัง
 เมื่ออิสมาอีลได้ยินบิดาบอกเช่นนั้น แทนที่เขาจะตกใจหรือหวาดกลัว เขากลับบอกศาสดาอิบรอฮีม (อ.)ผู้เป็นบิดาว่า “หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว พ่อจงปฏิบัติตามเถิดและพ่อจะพบว่าฉันเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้อดทน”

เมื่ออิสมาอีลเข้าใจและยอมถูกเชือดพลี ศาสดาอิบรอฮีม(อ.)จึงทำตามคำบัญชาของพระเจ้าด้วยการพาอิสมาอีลไปยังแท่นเชือด แต่ระหว่างทาง ศาสดาอิบรอฮีม(อ.)ถูกซาตานมารร้ายคอยดักล่อลวงมิให้เขาทำตามประสงค์ของพระเจ้า เขาจึงเอาหินขว้างมัน แต่ซาตานไม่ละความพยายาม มันกลับมาอีกสองครั้งด้วยคำล่อลวงเดิมๆ แต่มันก็ถูกศาสดาอิบรอฮีม(อ.)เอาหินขว้างจนมันไม่กลับมาอีกอมาในสมัยของศาสดามุฮัมมัด การขว้างหินสามแห่งได้ถูกศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)จัดให้เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งสำหรับผู้ทำพิธีฮัจญ์ต้องปฏิบัติเพื่อระลึกถึงการต่อสู้กับมารร้ายของศาสดาอิบรอฮีม(อ.)


 เมื่อมาถึงแท่นเชือด อิสมาอีลได้บอกศาสดาอิบรอฮีม(อ.)ว่า “พ่อจงมัดฉันให้แน่นและให้ฉันก้มหน้าและเชือดฉัน” ทั้งนี้เพื่อที่บิดาจะได้ไม่ลังเลเมื่อสบตาลูกผู้เป็นที่รัก เมื่อศาสดาอิบรอฮีม(อ.)เงื้อมีดจะเชือดลูกรัก แต่เชือดไม่เข้า อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงเห็นถึงความศรัทธาและความเสียสละที่แข็งกล้าของศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ดังนั้น พระองค์จึงมีบัญชาญิบรออีลนำแกะมาให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.)เชือดแทนอิสมาอีล


فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَى فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَى قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِن شَاء اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ
وَنَادَيْنَاهُ أَنْ يَا إِبْرَاهِيمُ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيَا إِنَّا كَذَلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ إِنَّ هَذَا لَهُوَ الْبَلَاء الْمُبِينُ وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ

 

“ครั้นเมื่อ (อิสมาอีล) บรรลุวัยเจริญเติบโต ทำงาน (และไปไหนมาไหน) กับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวว่า โอ้ลูกรัก แท้จริงพ่อได้เห็นในความฝันว่าพ่อจะเชือดเจ้า (ซึ่งเป็นบัญชามาจากพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นเจ้าลองพิจารณาดูเถิดว่า เจ้าเห็นเป็นอย่างไร เขากล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า ท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกบัญชาเถิด หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ ท่านจะได้พบว่าข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้อดทน ครั้นเมื่อทั้งสอง (อิบรอฮีมและอิสมาอีลได้ยอมมอบตน (ต่ออัลลอฮ์) อิบรอฮีมจึงให้อิสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น และเราได้เรียกเขาว่า โอ้อิบรอฮีมเอ๋ย เจ้าได้ทำให้ความฝันเป็นจริงแล้ว แท้จริงเราก็เช่นกัน เราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย แท้จริงนั่นคือการทดสอบอันชัดแจ้งและเราได้ไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง”


ในสมัยของศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) การเชือดสัตว์ เช่น  แพะ แกะ วัวหรืออูฐ ยังคงเป็นวิถีปฏิบัติสำหรับมุสลิมที่มีความสามารถพอเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาและความเสียสละของศาสดาอิบรอฮีม(อ.)กับบุตรชาย แต่มีข้อกำหนดว่าสัตว์ที่จะนำมาเชือดต้องเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์ไม่มีตำหนิหรือพิการ อายุต้องครบ การเชือดต้องมีเจตนาว่าเพื่อพระเจ้า และเนื้อของสัตว์จะถูกนำมาแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งของผู้เชือด อีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายแก่ญาติสนิทมิตรสหายและอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนยากจน


บทความโดย เชคอิมรอน พิชัยรัตน์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม