อีดกุรบาน

อีดกุรบาน


 


อีดกุรบาน หรือ อีดอัฎฮา ตรงกับวันที่สิบเดือนซุลฮิจญะฮ์ ถือเป็นอีดที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม ประเทศอิสลามให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ และมุสลิมทั่วโลกจะจัดเฉลิมฉลองกันในวันนี้ ตามบันทึกการรายงานว่า วันนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ทำการเชือดพลี(กุรบาน)บุตรชาย ศาสดาอิบรอฮีม(อ.)ได้พาบุตรชายไปยังสถานที่ทำการเชือดพลี แต่ญิบรออีลลงมายังเบื้องล่าง ณ สถานที่เชือดพร้อมกับแกะตัวหนึ่ง แล้วได้ให้ศาสดาอิบรอฮีม(อ.) เชือดแกะตัวนั้นแทนอิสมาอีลบุตรชาย การที่บรรดามุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ทำการเชือดพลี(กุรบาน)ในวันอีดกุรบาน ณ. ท้องทุ่งมีนา เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้

สำหรับคืนวันอีดและวันอีดนั้นมีรายงานบันทึกไว้ให้ปฏิบัติอะมั้ลต่างๆ เช่น การตื่นนอนปฏิบัติอิบาดัต การฆุซุล และซิยารัตอิมามฮุเซน (อ.)  ส่วนอะมั้ลในวันอีดได้แก่ การฆุซุล การนมาซอีดกุรบาน การเชือดพลี(กุรบาน) ซิยารัตอิมามฮุเซน และการอ่านดุอานุดบะฮ์ และการถือศีลอดในวันนี้ถือเป็นฮะรอม

ประวัติความเป็นมาของการเชือดพลี(กุรบาน)

วันอีดกุรบาน คือวันแห่งการทดสอบศาสดาอิบรอฮีม(อ.)และอิสมาอีล(อ.) โดยที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ได้ฝันว่าได้รับภาระกิจในการเชือดพลีบุตรชายของตน ท่านจึงปฏิบัติตามคำบัญชาด้วยการพาบุตรชายไปยังสถานที่เชือดแล้วได้วางมีดลงพร้อมที่จะเชือด แต่เชือดไม่เข้า เมื่อศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ได้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อฟังภักดีต่อบัญชาของพระองค์อย่างจำนน อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงตอบรับการเชื่อฟังภักดีของท่านแล้วบัญชาให้ญิบรออีลนำแกะไปเชือดแทนอิสมาอีลบุตรชายของท่านแทน
ในยุคอนารยชน(ญาฮิลียัต)การเชือดพลีเป็นดั่งการบูชยัญที่มีการตั้งภาคีร่วมปนอยู่ในนั้น พวกเขาได้ทำให้สถานกะอ์บะฮ์เปื้อนไปด้วยเลือดแห่งการเชือดพลี นำเนื้อสัตว์เชือดพลีไปแขวนไว้ ณ สถานกะอ์บะฮ์เพื่อให้พระเจ้าตอบรับการเชือดพลีของพวกเขาอัลกุรอานได้ตำหนิพิธีกรรมเช่นนี้โดยได้กล่าววว่าเงื่อนไขการตอบรับการเชือดพลีนั้นคือความยำเกรง
لَنْ يَنَالَ اللَّهَ لُحُومُهَا وَلَا دِمَاؤُهَا وَلَكِنْ يَنَالُهُ التَّقْوَى
“เนื้อและเลือดของมันจะไม่ได้ไปถึงอัลลอฮ์หรอก แต่ความยำเกรงจากพวกเจ้าต่างหากที่ไปถึงพระองค์...” (อัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 37)

อะมั้ลคืนวันอีด
 1. การตื่นนอนทำอิบาดัตถือเป็นมุสตะฮับที่ถูกเน้นย้ำไว้
 2. ซิยารัตอิมามฮุเซน (อ.) มีรายงานจากอิมามซอดิก (อ.) ว่า: “ผู้ใดอ่านซิยารัตอิมามฮุเซนในค่ำคืนนี้บาปต่างๆ ของเขาจะได้รับการอภัย”
 3. อ่านดุอา
یا دَائِمَ الْفَضْلِ عَلَے الْبَرِیةِ یا بَاسِطَ الْیدَینِ بِالْعَطِیةِ یا صَاحِبَ الْمَوَاهِبِ السَّنِیةِ صَلِّ عَلَے مُحَمَّدٍ وَ آلِهِ خَیرِ الْوَرَے سَجِیةً وَ اغْفِرْ لَنَا یا ذَا الْعُلَے فِے هَذِهِ الْعَشِیةِ

อะมั้ลวันอีดกุรบาน
 1. การฆุซุล อัลลามะฮ์มัจลิซีกล่าวว่า การฆุซุลวันอีดถือเป็นซุนนัตที่ถูกเน้นย้ำไว้ เป็นการดีให้ฆุซุลก่อนนมาซอีด
 2. นมาซอีด ตามคำวินิจฉัยของบรรดาฟุกอฮา การนมาซอีดเป็นมุสตะฮับที่ถูกเน้นย้ำไว้(มุอักกัด)ในยุคการเร้นกายอิมามมะฮ์ดี(อ.)
 3. การอ่านดุอาต่างๆก่อนนมาซอีด อัลลามะฮ์มัจลิซี กล่าวว่าวันนี้ให้อ่านดุอาบทที่ 46 และ 48 จากบทดุอาซอฮีฟะฮ์ อัสสัจญาดียะอ์
 4. การอ่านดุอานุดบะฮ์
 5. การกุรบาน การเชือดพลีสัตว์เป็นวาญิบสำหรับฮุจญาจในนครมักกะฮ์ แต่เป็นมุสตะฮับ(ซุนนัต)ที่ถูกเน้นย้ำไว้สำหรับมุสลิมทั่วไปที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ รายงานจากอิมามซอดิก (อ.) ว่าขณะทำการเชือดพลี(กุรบาน)นั้นให้อ่านดุอานี้:
وَجَّهْتُ وَجْهِی لِلَّذی فَطَرَ السَّمواتِ وَ الارْضَ، حَنیفاً مُسْلِماً وَ ما أنَا مِنَ الْمُشْرِکینَ، إنَّ صَلاتی وَ نُسُکی وَ مَحْیای وَ مَماتی لِلّهِ رَبِّ الْعالَمینَ، لا شَریک لَهُ، وَ بِذلِک أُمِرْتُ وَ أَنَا مِنَ الْمُسْلِمینَ. اَللّهُمَّ مِنْک وَلَک، بِسْمِ اللّهِ وَاللّهُ اَکبَرُ. اَللّهُمَّ تَقَبَّلْ مِنّی
 6. การกล่าวตักบีรอันเป็นที่รู้จักกัน สำหรับฮุจญาจที่อยู่ในมีนาให้กล่าวตั้งแต่นมาซซุฮ์รของวันอีดจนถึงนมาซศุบห์ของวันที่สิบสาม ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ฮุจญาจให้กล่าวตั้งแต่ซุฮ์รของวันอีดจนถึงศุบห์ของวันที่สิบสอง
اَللهُ اَکبَرُ اَللهُ اَکبَرُ، لا اِلهَ اِلاَّ اللهُ وَ اللهُ اَکبَر اَللهُ اَکبَرُ، و للهِ الْحَمْدُ اَللهُ اَکبَرُ عَلی ما هَدانا ااَللهُ اَکبَرُ عَلی ما رَزَقَنا مِنْ بَهیمَةِ الانعامِ وَ الْحَمْدُ لِلّهِ عَلی ما أبْلانا
 7.การซิยารัตอิมามฮุเซน(อ.)
เงื่อนไขของการเชือดพลี(กุรบาน)ในพิธีฮัจญ์
ให้ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เลือกเชือดพลีสัตว์สามประเภทต่อไปนี้ ได้แก่: อูฐ วัวและแกะ การเชือดสัตว์ที่นอกเหนือจากสัตว์สามประเภทนี้ไม่ถือว่าเพียงพอ โดยเป็นมุสตะฮับให้แบ่งสัตว์ที่เชือดแล้วเป็นสามส่วน คือ ให้มอบเป็นของขวัญ(ฮะดียะฮ์) ซอดะเกาะฮ์(จ่ายทาน)และไว้รับประทานเล็กน้อย

ปรัชญาการเชือดพลี(กุรบาน)
1. เพื่อความใกล้ชิดยังอัลลอฮ์ (ซบ.) ซึ่งวางอยู่บนฐานของความยำเกรง(ตักวา)ต่อพระองค์
2. การเชือดและตัดขาดจากปีศาจแห่งความโลภ
3. การแจกจ่ายเนื้อสัตว์พลีแก่บรรดาผู้ยากไร้และการช่วยเหลือผู้ยากจน
4. การรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ.) และสำนึกในความโปรดปรานต่างๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ เป็นต้น

 

เชคอิมรอน พิชัยรัตน์/เรียบเรียง