พินิจมิติของฮัจญ์กับสัญญะความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม

พินิจมิติของฮัจญ์กับสัญญะความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม

 

 

    ฮัจญ์ได้เกิดขึ้นในเดือนที่สิบสองของปฏิทินอิสลาม อยู่ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ณ ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์  มหานครมักกะฮ์ โดยทุกสถานที่ที่ถูกนำมาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความศานติและความปลอภัย และเป็นบรรยากาศแห่งการภาวนา อิบาดะฮ์อีกทั้งเป็นสัญญะของความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม
     ฮัจญ์ คือ การจาริกของมนุษย์ทางจิตวิญญาณสู่พระผู้สร้าง เอกองค์อัลลอฮ์ซ.บ.อย่างเป็นเอกภาพ เป็นการสำแดงออกถึงสัญลักษณ์ของปรัชญาว่าด้วยการสร้างสรรค์ ว่าด้วยเรื่องการจำนนต่ออำนาจอันพิสุทธิ์และต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะเพียงผู้เดียว เป็นการแสดงออกถึงความรักของปวงบ่าวที่มีต่อพระผู้อภิบาลอย่างจริงใจและอย่างสำรวมตน
      ฮัจญ์ คืออิบาดะฮ์ภาคการเมืองและสังคมและปฐมบทแห่งการสร้างรัฐและระบอบการปกครองแห่งธรรมาธิปไตย ที่เข้มแข็งที่สุดของระบอบการปกครองทั้งหลายบนโลกใบนี้ ที่แสดงถึงพลังของมุสลิมในฐานะผู้สร้างศานติ และเป็นการสำแดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาตนเองสู่ความสำรวมตนและการนอบน้อม และผลของการเข้าถึงปรัชญาแห่งฮัจญ์ คือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา และนำมาซึ่งการเข้าใจสังคมและประชาชน
   ประวัติศาสตร์แห่งการเสียสละและการพลีของศาสดาอิบรอฮีม และเป็นการเข้าถึงอุดมการณ์อิสลาม อีกทั้งรู้เท่าทันศัตรูและแผนการร้ายของศัตรูได้อย่างมีวิจารณญาณ
     ฮัจญ์ คือ การสำแดงออกถึงความงดงามของพระเจ้า นั่นคือการได้รับการขัดเกลาจิตใจและเข้าถึงพระเจ้าอย่างแท้จริง และเป็นการแสดงถึงคุณลักษณะด้านความยิ่งใหญ่ของพระองค์ นั่นคือ การแสดงออกถึงการยอมจำนนต่อหลักเอกภาพของพระผูเป็นเจ้าและปฏิเสธการตั้งภาคีทั้งปวง
ฮัจญ์ คือการยืนหยัดและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์ และแสดงออกถึงการปฏิเสธเจว็ดทั้งหลาย แม้แต่อัตตาตัวตน ก็ต้องสลายและทำลายออกไปโดยไม่หลงเหลืออัตตาใดๆ เว้นเสียแต่พระองค์ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาเท่านั้น และให้ถือว่ามนุษย์ทุกคนอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน
อิมามอะลี บินอะบีฎอลิบ กล่าวว่า
“พระผู้ทรงบริสุทธิ์ พระผู้เป็นเจ้า ทรงกำหนดให้สถานที่นั่น(กะบะฮ์)เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เพื่อการคารวะและการจำนนต่อความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระองค์ และเพื่อการจำนนต่อเกียรติยศอันสูงส่งของพระองค์
มหาบริสุทธิ์ยิ่งแห่งพระองค์สัมบูรณ์เจ้า ทรงกำหนดให้(กะบะฮ์)เป็นธงชัยแห่งความศานติ และเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้มาเยือน ทรงกำหนดให้ผู้มาเยือนเป็นแขกของพระองค์”(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฎบะฮ์ที่๑)
ฮัจญ์คือวันแห่งอัลลอฮ์(อัยยามุลลอฮ์) เป็นช่วงระยะเวลาที่ถูกกำหนดเป็นเฉพาะสำหรับการพัฒนาตนสู่การจำนนที่สมบูรณ์แบบต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นช่วงเวลาของการออกจากความมืดมนสู่ความสว่างทางจิต
ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่า
“ไม่มีช่วงเวลาใดที่ยิ่งใหญ่ ในการสร้างภาวะสำรวมตนและการขัดเกลาจิต มากไปกว่าในช่วงวันแห่งอัลลอฮ์(พิธีฮัจญ์)”
     ฮัจญ์เริ่มต้นด้วยการเข้าสู่”มีกอต” ซึ่งเป็นจุดที่มนุษย์ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย และเปลี่ยนกิริยาบทที่เคยปฏิบัติกันอยู่ นั่นคือ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการบ่งบอกและจำแนกให้มีความแตกต่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และจากเสื้อผ้าที่มีสีที่แตกต่าง นำไปสู่ความมีอัตตา และอัตตาที่ใหญ่สุดคือความเป็นตัวตน เช่น เชื้อชาติฉัน ชาติพันธุ์ฉัน ตระกูลฉัน ตำแหน่งฉัน และอื่นๆ แต่เมื่อสวมชุดเอี๊ยะรอม(ชุดขาว) ไม่มีคำว่า”ความเป็นฉัน”ไม่เหลืออยู่อีก ทุกๆคนมีเสื้อสีเดียวกัน จำนวนชิ้นเท่ากัน
     การเข้าสู่ มีกอต ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ท่านต้องประกาศความตั้งใจของท่านเสียก่อน มันเป็นความตั้งใจที่จะ ย้ายออก จากบ้านของท่านไปยังบ้านของประชาชน จากชีวิตไปสู่ความรัก จากตัวตนไปสู่ อัลลอฮ์(ซ.บ) จากความเป็นทาสไปสู่เสรีภาพ จากการจำแนกทางเชื้อชาติไปสู่ความเท่าเทียมกัน ความจริงใจและสัจธรรม จากสภาพของการนุ่งห่มประดับประดาด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ไปสู่สภาพของความเปลือยเปล่า จากชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตนิรันดร์ และจากความเห็นแก่ตัวตลอดทั้งความไร้จุดหมายไปสู่การอุทิศตนและความรับผิดชอบ มันเป็นการเปลี่ยนสภาพ เข้าไปสู่สภาพของอิห์รอม
    เพราะฉะนั้น ความตั้งใจของท่านจะต้องเป็นความตั้งใจที่เข้มแข็งด้วยจิตสำนึกที่เข้มข้น อย่างแท้จริง ท่านต้องมีศรัทธาในหัวใจของท่าน จุดประทีปด้วยเปลวแห่งความรักให้สว่างไสวในหัวใจของท่าน ส่องแสง และ ลุกโชน ลืมให้หมดเกี่ยวกับตัวตนของท่านเอง
บัดนี้ จงลอกคราบชีวิตแบบนั้นทิ้งไปเสีย จงกลายเป็นผู้มี จิตสำนึก อย่างแท้จริงใน อัลลอฮฺ(ซ.บ) พระผู้ทรงอำนาจยิ่ง สำนึกในประชาชนและในตัวท่านเอง ทิศทางใหม่ และตัวตนใหม่

มิติต่างๆของฮัจญ์มีมากมาย และจากกรอบแนวคิดจากอัลกุรอานและวจนะของศาสดาและวิถีแห่งครอบครัวศาสดารวมไปถึงสาวกของศาสดานั้น ชี้ให้เห็นว่าฮัจญ์คือรากฐานสำคัญของศาสนา และมิติหนึ่งของฮัจญ์ คือการสำแดงออกถึงความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ของประชาคมมุสลิม ไม่ว่าจะสังกัดลัทธิหรือนิกายใดก็ตาม และผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะได้พบเจอบรรดาฮุจญาต(ผู้แสวงบุญ)หลากหลาย และแตกต่างทั้งสีผิว ภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีหลักปฎิบัติข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกัน
     สัญลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและเป็นเอกภาพจะฉายไปทั่วโลก เป็นการแสดงออกถึงพลังของประชาคมโลกมุสลิมและชี้ให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างนั้นไม่ได้ขัดกับคำสอนของศาสนา และอิสลามสอนมิให้รังเกียจต่อกันและกัน แต่สอนให้รังเกียจความแตกแยก ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า
“และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกแห่งอัลลอฮ์ โดยพร้อมเพียงกัน และจงอย่างแตกแยกกัน”(อาลิอิมรอน โองการที่๑๐๓)
ศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า
“(ความสัมพันธ์)ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธาอื่น ประดุจดังอาคารที่บางส่วนของมัน จะยึดอยู่กับอีกบางส่วน”
ท่านอิบนุ มัสอูด(ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่โลกอิสลาม)กล่าวว่า “ความบาดหมางต่อกันและกัน คือความชั่วร้าย”
         ความเป็นเอกภาพระหว่างมุสลิมด้วยกัน คือ รากฐานของศาสนา นั่นก็คือ การให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน ถึงแม้จะมีความต่างระหว่างนิกายก็ตาม ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยการให้เกียรติต่อกันและกัน เพราะแท้จริงแล้วในความต่างมีความเหมือน และสิ่งที่เหมือนกันคือ มีพระเจ้าองค์เดียว คัมภีร์เล่มเดียว ศาสดาท่านเดียว


บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน