ไชฏอนศึกษา ตอนที่ 2

ไชฏอนศึกษา ตอนที่ 2

 

ตราบใดที่อัลกุรอานยังอยู่กับพวกเรา ในที่นี้หมายถึง สามารถเข้าใจและปฏิบัติได้ทั้งเนื้อหาและความหมายนั้น หลักประกันทั้งหมดของมวลมุสลิม ก็จะยังคงปลอดภัย แต่เมื่อมุสลิมทอดทิ้งอัลกุรอาน ทุกเรื่องราวของพวกเขาก็จะเสียหาย หากกล่าวในเชิงการเมืองมันก็จะเข้าทางศัตรู ไม่ว่าประเด็นใด แม้แต่เรื่องการเมือง สรุปสั้นๆ คือ อัลกรุอานมีทางออกของปัญหาทั้งหมด ตัวอย่าง

‘การเจรจาปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านกับห้าชาติตะวันตกบวกหนึ่ง’

มีสำนักข่าวของอิหร่านโทรขอสัมภาษณ์ผม ให้แสดงทัศนะ ประเด็น ‘การเจรจาปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านกับห้าชาติตะวันตกบวกหนึ่ง’ ว่า มีทัศนะอย่างไร?
การเจรจานี้ยืดเยื้อและมีคนอิหร่านจำนวนหนึ่งไม่พอใจต่อการเจรจา เพราะ เจรจาทุกครั้ง เมื่อมีท่าทีว่าจะตกลงกันได้ คู่เจรจากลับออกมาสวนมติ โดยไม่รับข้อเสนอของอิหร่านและเพิ่มการแซงชั่น แต่พอเจรจาอีกครั้งลดการแซงชั่น หรือเจรจาขอยกเลิกการแซงชั่น เป็นผลทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจเป็นอย่างมาก

บรรดาสื่อมวลชนต้องการที่จะนำเสนอกระแสของมุสลิมโลกว่ามองปัญหานี้อย่างไร?

ผมให้สัมภาษณ์ไปสั้นๆว่า “เวลามีไม่พอต่อการอธิบายในเชิงวิชาการประเด็นสถานการณ์โลกปัจจุบัน แต่ในฐานะที่ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านก็เป็นมุสลิม ขอฝากโองการสักหนึ่งโองการ พร้อมอธิบายว่าอย่าลืมอัลกุรอาน ถ้าจะไปเจรจากับยาฮูดี นัสรอนีนั้น…อย่าลืมอัลกุรอาน ที่ได้ทรงตรัสกับเราไว้ล่วงหน้าว่า…

 

وَلَن تَرْضَىٰ عَنكَ الْيَهُودُ وَلَا النَّصَارَىٰ حَتَّىٰ تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم

จงรู้เถิดโอ้มวลมุสลิม “ยาฮูดีและนัสรอนีจะไม่มีวันพึงพอใจ ต่อพวกเจ้า จนกว่าเจ้าจะตามศาสนาของพวกเขา” (บากอเราะห์:120)
ขอเสริมให้ตรงกับปัญหาจริงๆที่เขาถาม อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงตรัสล่วงหน้า ความจริงประเด็นนิวเคลียร์เป็นเพียงข้ออ้างในการที่จะทำลายอิหร่าน ในการที่จะหยุดการพัฒนาอิหร่าน นิวเคลียร์เป็นเพียงข้ออ้างในการที่จะหยุดกระแสอิสลามที่กำลังไปอยู่ทั่วทั้งโลก

ก่อนที่อิหร่านจะคิดเรื่องนิวเคลียร์ อิหร่านก็ถูกต่อต้านเรื่องสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน ในภาพรวมอิหร่านก็โดนสหประชาชาติเล่นงานในนามของอเมริกาในเรื่องละเมิดสิทธิสตรีที่คลุมฮิญาบ ต่อให้เจรจาเรื่องนิวเคลียร์จบ ปัญหามันมีอยู่ตลอดเวลา
สมมุติ อิหร่านประกาศไม่ทำนิวเคลียร์แล้ว คือ หยุดทั้งหมด ก็จะมีปัญหาอื่นขึ้นมาอีก

ทำไมถึงต้องมีปัญหาอื่นขึ้นมาอีก อัลลอฮ์(ซบ) ทรงตอบไว้แล้วว่าทำไม ?
เพราะตราบใดที่เรายังยึดมั่นในศาสนาอย่างแท้จริง มันจะไม่หยุดการงานของมัน จะไม่มีวันพึงพอใจ จนกระทั่ง…
( حَتَّىٰ تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم ) “เราตามศาสนาของมัน”

เราเข้าศึกษาในมุมมองของการตัฟซีร สักนิดหนึ่งว่า…

( حَتَّىٰ تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم) “ปฏิบัติตามศาสนาเขานั้น”

หมายความว่าอย่างไร คงเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมที่เชื่อในกาลีมะห์ …ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ์ จะไหว้ไม้กางเขน คงเป็นไปไม่ได้ ที่มุสลิมจะไปเป็นยิว เพราะยิวไม่เอา ไม่รับอยู่แล้ว

ยิวเป็นศาสนาปิด คือ ไม่รับคนเข้าศาสนา เพราะศาสนายิวนั้นถ่ายทอดกันโดยสายเลือดเท่านั้น นี่เป็นกฎของเขา

ฉะนั้น( حَتَّىٰ تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم ) จนกว่าเจ้าจะตามศาสนาเขา
วิธีการของเขาให้เป็นอย่างไร

คำตอบ คือ ให้เราเป็นมุสลิมเหมือนเดิม แต่เป็นมุสลิมแบบที่ยาฮูดีและนัสรอนีต้องการให้เป็น ในรูปแบบที่ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ คูเวตหรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เป็นอยู่
นี่คือ ความหมายของ ( حَتَّىٰ تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم )
ถ้าเรายังนับถือศาสนาอิสลามแบบที่อัลลอฮ์(ซบ.) แบบที่ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อล ) ต้องการให้เรานับถือนั้น มันไม่มีวันพึงพอใจ จนกว่าเราจะนับถือศาสนาอิสลามแบบที่พวกมันอยากจะให้เป็น
ขอเตือนไว้ล่วงหน้า แท้จริงแล้วพวกเขารู้ถึงศักยภาพของอิหร่าน เขารู้ถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้มาก่อน ในการเจรจานั้นเราจะเห็นได้ว่า อิหร่านก็ไม่ได้อ่อนข้อให้มัน
ผมต้องการจะยกตัวอย่างให้พี่น้องได้เห็นว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวไว้ทั้งหมด ในหลายๆแง่มุมให้พี่น้องเชื่อมั่นว่า ทุกปัญหาชีวิตของมนุษย์ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวเอาไว้ทั้งหมด เงื่อนไขเพียงแต่ว่า เราจะต้องเรียนรู้ เราจะต้องศึกษา เราจะต้องอ่านกุรอานอย่างเข้าใจอย่างแท้จริง ปัญหาชีวิตของมนุษย์ทุกๆปัญหาจะถูกแก้ไข

บรรดาบุคคลผู้ประสบความสำเร็จก็บอกว่า ทุกเรื่องของชีวิต เขาแก้ปัญหาด้วยพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และนั่นคือเหตุผลหนึ่ง ที่วิชาตัฟซีรมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

แท้จริงแล้วบรรดาอาลิมอุลามาอ์ทั้งหมดได้กล่าวว่า…

“ สูงสุดของวิชา คือ วิชาตัฟซีรอัลกุรอาน ”

ที่เราเรียนวิชาอื่นๆเช่นเรียนภาษาอาหรับ นะฮ์ฮู ,ศอรอฟ ,มันติก ปรัชญา ฯลฯ ทั้งหมดนั้น เป้าหมายที่แท้จริง คือ เพื่อทำความเข้าใจอัลกุรอาน

ฮุก่มของอัลลอฮ์(ซบ.) ก็มาจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

ถ้าอยากจะรู้จักอาคีเราะห์ ก็จะต้องเข้ามาในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

การตัฟซีรพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน โดยพื้นฐานนั้นมีอยู่ 2 รูปลักษณะด้วยกัน คือ
1.การตัฟซีรอัลกุรอานแบบ“ตัรตีบี”

2. การตัฟซีรอัลกุรอ่านแบบ“เมาฎูอี”

1.การตัฟซีรอัลกุรอานแบบ“ตัรตีบี” คือ การตัฟซีรอธิบายเรียงตามลำดับของอายาต (โองการ) และก็มีสองแบบอีกเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ตัรตีบี เช่น เริ่มตั้งแต่ บิสมิลลาฮ์ของฟาติฮะห์ จนกระทั่งจบซูเราะห์อันนาซ คือตัฟซีรเรียงไปเรื่อยๆ นั่นคือ เป็นการตัฟซีรลักษณะหนึ่ง ซึ่งถ้าใครเรียนแบบนี้จนถึงตลอดชีวิตก็อาจจะไม่จบอัลกุรอาน

อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบรรดาอาลิมอุลามาอ์จะเลือกเอาซูเราะห์หนึ่งซูเราะห์ใด มาตัฟซีร โดยจะทำการอธิบายเริ่มจากโองการแรกถึงจบซูเราะห์ เช่น ซูเราะห์เตาบะฮ์ คือ ตัฟซีรซูเราะห์นี้ก่อนตัฟซีรเดียว ซึ่งในซูเราะห์เตาบะฮ์จะเน้นไปในเรื่องการต่อสู้การเสียสละ ก็ถือเป็นหนึ่งในซูเราะห์ที่ปลุกเร้าในการต่อสู้ และการเสียสละ

ถ้าจะเข้าไปในสู่ภาคศรัทธา เรื่องความศรัทธาที่เป็นหลักที่สำคัญ บรรดาอาลิมอุลามาอ์จะเปิดสอนตัฟซีร อย่างเช่น ตัฟซีรซูเราะห์ ‘อาลิอิมรอน’

เรื่องศรัทธาหลักๆที่สำคัญจำนวนมากได้ถูกกำหนดไว้ให้อยู่ในซูเราะห์ ‘อาลิอิมรอน’ ซึ่งเขาเรียกว่าตัฟซีรแบบตัรตีบี ซึ่งมีสองแบบคือ

เอาทั้งหมดทั้งเล่มเริ่มตั้งแต่บิสมิลลาของฟาติฮะฮ์จนจบอันนาซ หรือตัรตีบีแบบว่า กันเป็นซูเราะห์ๆ บางอาลิมอุลามาอ์ก็อาจจะเลือกซูเราะห์สั้นๆที่อยู่ในยุซอัมมา นั่นคืออีกรูปลักษณะหนึ่ง
2. การตัฟซีรอัลกุรอ่านแบบ“เมาฎูอี” ในรูปลักษณะที่สองนี้จะมีประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

“เมาฎูอี” ก็คือ ตั้งหัวข้อขึ้นมาแล้วเข้าไปค้นในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า ในหัวข้อที่ตั้งขึ้นมา จะต้องเป็นหัวข้อที่มีในอัลกุรอาน และในหัวข้อที่ตั้งขึ้นมานั้นกุรอานได้พูดรายละเอียดอะไรเอาไว้บ้าง อย่างนี้เขาเรียกตัฟซีร“เมาฎูอี” คือ ตัฟซีรตามหัวข้อ ตามเนื้อเรื่องตามเรื่องราวต่างๆที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

ยกตัวอย่าง เช่น สมมุติเราจะพูดเรื่องของการบริจาค ตั้งหัวข้อเรื่องบริจาค

ดังนั้นบุคคลที่มีความรู้ แน่นอนต้องมีความรู้ว่าในกุรอาน มีโองการใดบ้างที่พูดรายละเอียดของการบริจาค คนที่จะมาตัฟซีร จะต้องมีความรู้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่าด้วยเรื่องการบริจาค ก็จะไปเอาโองการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคและนำโองการเหล่านั้นมาทำการอรรถาธิบาย

ทีนี้ก็มาแบ่งหัวข้อย่อยของการบริจาค โดยขึ้นหัวข้อย่อยของคำว่า “หัวข้อหลักบริจาค”เช่น

1.ความสำคัญของการบริจาค ก็ไปดูความสำคัญของการบริจาคซึ่งก็มีมากหลายๆอายะห์ ยกตัวอย่างเช่น

لَن تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنفِقُوا مِن شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ

ความว่า “พวกเจ้าจะไปไม่ถึงซึ่งความดีเลย จนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้ารัก และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี ” ซูเราะห์ อาลิอิมรอน โองการ ที่ 92

ซึ่งโองการนี้เพียงหนึ่งอายะห์ นอกจากจะบอกถึงความสำคัญของการบริจาคแล้ว ไม่ว่ามนุษย์จะนมาซ จะถือศีลอด หรือจะทำอะไรก็ตาม ถ้ายังไม่เป็นผู้ที่บริจาค ก็ไปไม่ถึงซึ่งความดี

ถ้าเราจะไปให้ลึก ก็มีรายละเอียดอีกเยอะ แทบจะกล่าวได้ว่านมาซของผู้ที่ไม่บริจาคเมื่อถึงเวลาต้องบริจาคนั้นไม่มีผล

นี่คือตัฟซีร”เมาฎูอี” หนึ่งโองการนี้ไม่เพียงแต่บอกถึงความสำคัญของการบริจาค ยังบอกคือความละเอียดของการบริจาคด้วย

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าจะบริจาคเสื้อที่เราไม่ใส่แล้ว ขอถามพี่น้องว่า การบริจาคเสื้อที่เราไม่ใส่แล้วถือว่าเป็นการบริจาคในสิ่งที่เจ้ารักหรือไม่?

เมื่อเราทุกคนยืนยันว่าไม่เป็น ถามว่าตรงกับโองการนี้หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ เพราะโองการนี้กล่าวว่า ต้องบริจาคในสิ่งที่เจ้ารัก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคว่า การบริจาคมีความสำคัญและเป็นเงื่อนไขของการทำความดีทั้งหมด

นมาซก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าปราศจากการบริจาค

สมมุติพี่น้องถามว่า รู้ได้อย่างไรว่านมาซของคนที่ไม่บริจาคไม่มีประโยชน์ ???

คำตอบคือโองการของอัลกุรอาน ตรงไหนที่อัลกุรอานตรัสว่า

فَوَيْلٌ لِّلْمُصَلِّينَ

“ ความวิบัติจงมีแด่ผู้ที่นมาซ” (ซูเราะห์ อัล มาอูน โองการที่ 4 )

ผู้นมาซแบบไหน ตอนแรก บอกอันนี้ก่อน

الَّذِينَ هُمْ عَن صَلَاتِهِمْ سَاهُونَ

ความว่า “ผู้ที่พวกเขาละเลยต่อการนมาซของพวกเขา” (ซูเราะห์ อัล มาอูน โองการที่ 5 )

ซึ่งคำว่า ละเลยตรงนี้แปลว่า ไม่รู้นมาซทำไม ไม่รู้เป้าหมายของนมาซเป็นอย่างไร ???

الَّذِينَ هُمْ يُرَاءُونَ وَيَمْنَعُونَ الْمَاعُونَ

(ผู้ที่พวกเขาโอ้อวดกัน และพวกเขาหวงแหนเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ )

นั้นหมายความว่า พวกเขานมาซแล้ว แต่ห้ามช่วยเหลือการบริจาค

นี่คือ ยกตัวอย่างหนึ่งโองการ หรืออีกโองการหนึ่ง ที่ผมยกตัวอย่างนี่ไม่ใช่เนื้อหาของเราโดยตรง

อีกโองการหนึ่งเอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ.) ได้ตรัสว่า

لَّيْسَ الْبِرَّ أَن تُوَلُّوا وُجُوهَكُمْ قِبَلَ الْمَشْرِقِ وَالْمَغْرِبِ وَلَٰكِنَّ الْبِرَّ مَنْ آمَنَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ وَالْمَلَائِكَةِ وَالْكِتَابِ وَالنَّبِيِّينَ وَآتَى الْمَالَ عَلَىٰ حُبِّهِ ذَوِي الْقُرْبَىٰ وَالْيَتَامَىٰ وَالْمَسَاكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ وَالسَّائِلِينَ وَفِي الرِّقَابِ وَأَقَامَ الصَّلَاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَالْمُوفُونَ بِعَهْدِهِمْ إِذَا عَاهَدُوا وَالصَّابِرِينَ فِي الْبَأْسَاءِ وَالضَّرَّاءِ وَحِينَ الْبَأْسِ أُولَٰئِكَ الَّذِينَ صَدَقُوا وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُتَّقُونَ

ความว่า “หาใช่คุณธรรมไม่ การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก แต่ทว่าคุณธรรมนั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ ต่อบรรดาคัมภีร์และนะบีทั้งหลาย และบริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่บรรดาญาติที่สนิทและบรรดาเด็กกำพร้า และแก่บรรดาผู้ยากจนและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง และบรรดาผู้ที่มาขอและบริจาคในการไถ่ทาส และเขาได้ดำรงไว้ซึ่งการนมาซ และชำระซะกาต และ(คุณธรรมนั้น) คือบรรดาผู้ที่รักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อพวกเขาได้สัญญาไว้ และบรรดาผู้ที่อดทนในความทุกข์ยาก และในความเดือดร้อน แลละขณะต่อสู่ในสมรภูมิ ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่พูดจริง และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่มีความยำเกรง” (ซูเราะห์ บากอเราะห์ โองการที่ 177 )

ซึ่งในโองการนี้ อัลลอฮฺ(ซบ.) กล่าวให้รู้ว่า การที่หันหน้าไปยังทิศตะวันตกและหันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั้นยังไม่ใช่ความดีหรือเป็นคนดี

การหันหน้าไปยังทิศตะวันตกและหันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั้นคืออะไร?

‘การนมาซ’ ทำไมต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในเมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ?

ตอบ ความรู้วิทยาศาสตร์ ก็เพราะโลกมันกลม ก็คือสรุปว่าการนมาซ พวกหนึ่งก็หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อีกพวกหนึ่งก็หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่ว่าอัลลอฮฺ(ซบ.)ใช้โวหาร ไม่ใช่ความดี ยังไม่ใช่คนดี

ถ้าแปลโดยสรุปก็คือ นมาซแล้วก็ยังไม่ใช่คนดี และอัลลอฮ์(ซบ.) ก็ทำการอธิบายคนดีว่า คือผู้ที่มีคุณลักษณะตามที่โองการข้างต้นกล่าวไว้ และสิ่งนี้คือสิ่งที่อัลลอฮฺ(ซบ.) กล่าวถึงความสำคัญของการบริจาค

الم ذَٰلِكَ الْكِتَابُ لَا رَيْبَ فِيهِ هُدًى لِّلْمُتَّقِينَ

ความว่า “ไม่มีความคลางแคลงสงสัยใดๆในคัมภีร์นี้ที่ถูกส่งลงมาเป็นคำแนะนำและการชี้นำสำหรับบรรดาผู้ที่มีตักวาเท่านั้น ”

หลังจากนั้นอัลลอฮฺ(ซบ.) ทำการอธิบายว่า มุตตากีน ผู้ที่มีตักวาที่แท้จริงในทัศนะของพระองค์นั้นคือใคร ?

ตอนต้นๆของอัลกุรอาน “มุตตากีน” คือ บุคคลที่มีความศรัทธาในเรื่องหลัก

เรื่องหลักๆ คือผู้ที่รักการนมาซ คือผู้ที่จ่ายซะกาตและผู้ที่บริจาคในสิ่งที่พระองค์ให้กับเขา ตรงนี้จำแนกให้เห็นว่าการบริจาคกับการจ่ายซะกาตนั้นแตกต่างกัน

ซะกาต คือ การบริจาคภาคบังคับของอัลลอฮฺ(ซบ.) และก็สิ่งที่เราประทานริสกีให้กับเขานั้นเขาก็ใช้จ่ายมันออกไป

นี่คือ ความสำคัญของการบริจาค หลังจากนั้นลงรายละเอียดแบบไหนอย่างไรมีมากมาย เปิดเผยหรือปกปิด

อุลามาอฺก็มาทำการอธิบาย การบริจาคบางกรณีต้องเปิดเผยเพราะเป็นการบริจาคในรูปของการเชิญชวนผู้คน แต่บางกรณี การบริจาคก็จะต้องปกปิด จะต้องซ่อนเร้น อย่าเข้าใจผิด
บางคนเมื่อเราพูดถึงการบริจาคมือขวาอย่าให้รู้ มือซ้าย อย่าให้เห็น

ในบางกรณีต้องประกาศทางไมโครโฟนว่าใคร ?นายคนไหน ? บริจาคให้จำนวนเท่าไร?

อัลลอฮฺ(ซบ.) มีเป้าหมาย บางครั้งการประกาศก็บีบบังคับได้เหมือนกันบีบบังคับมนุษย์
สมมุติมีคนคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นเศรษฐี แต่เขามาบริจาคสามพันบาท และในขณะเดียวกันมีเศรษฐีคนหนึ่งที่รวยที่สุดนั่งอยู่ตรงนั้น ต่อไปเศรษฐีคนนี้ซึ่งรวยที่สุดในมัจญลิส เขาก็คงจะไม่กล้าให้สามร้อยบาทเป็นแน่……

อัลกุรอานมีปรัชญาของมันอย่างเปิดเผย สิ่งใดต้องเปิดเผยก็ต้องเปิดเผย รายละเอียดของการบริจาคก็จะมาในลักษณะซึ่งจะอยู่ในเรื่องของ “ตัฟซีรเมาฎูอี”

คิดว่าพี่น้องคงจะพอเข้าใจในเรื่องนี้ ที่บอกว่า โดยภาพรวมประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์จาก “ตัฟซีรเมาฎูอี” เป็นอย่างมาก

เพราะสามารถที่จะนำเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเองจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน โองการต่างๆ ก็จะถูกอรรถาธิบายในเชิงตัฟซีร ไม่ใช่แปลเพียงอย่างเดียว ซึ่งอินชาอัลลอฮ์…… เราค่อยๆลงไปในรายละเอียดของการตัฟซีร

เราจะต้องรู้ว่าเนื้อหาของอัลกุรอานนั้น มีความลึกซึ้งถึงเจ็ดสิบชั้นของความหมาย

นี่คือ คำยืนยันจากบรรดาอะลุลบัยต์ว่า เนื้อหาความหมายของอัลกุรอานนั้นลึกถึงเจ็ดสิบชั้น และทั้งเจ็ดสิบชั้นถูกต้องทั้งหมด ไม่ใช่ว่าอัลกุรอานมีหลายความหมาย

ไม่ใช่ชั้นที่หนึ่งเบื้องต้นเข้าใจในระดับนี้
ชั้นที่สองถ้าเราพัฒนาไปเราจะเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้น ชั้นที่สาม…….. ชั้นที่สี่……. ชั้นที่ห้า……..

ฮะดิษยืนยันว่ามีความรู้ถึงเจ็ดสิบชั้น พยายามทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้ก็มีประโยชน์มหาศาล

โดยพื้นฐาน อินชาอัลลอฮ์…..เราจะค่อยๆพัฒนา …..เริ่มสังเกตที่จะรู้วิธีการทำความเข้าใจพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จะเป็นตัฟซีรเมาฏูอี เมาฏูอฺคือ หนึ่งเรื่องของมันแล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้ถึงสองถึงสามบทเรียน

ดังนั้น ในวันนี้ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการเรียนการสอน ผมได้เลือกเมาฏูอฺ “หัวข้อ” ที่สำคัญเมาฏูอฺหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของพวกเราโดยตรง ถ้าเราทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆเหล่านี้ นั่นคือ เรื่องของ “ชัยฏอน”


บทความโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี