วีรกรรมกัรบาลา เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าทุกเรื่องราว

วีรกรรมกัรบาลา เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าทุกเรื่องราว

 

อัลฮัมดุลิลละฮ์ ขอชูโกรในเนียะมัต และเตาฟีกที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) ได้ประทานให้เราทุกคนมีชีวิตที่ยืนยาวจนมาถึงเดือนมุฮัรรอมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในค่ำคืนนี้ คืนแห่งตาซูอา คืนแห่งการไว้ทุกข์ไว้อาลัย ให้กับบุคลากร ให้กับกลุ่มชนที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ(ซ.บ)
สิ่งหนึ่ง..บางครั้ง หากเราช่วยกันเน้นย้ำ สร้างความรู้สึกนี้ให้กับตนเองได้ ก็จะมีคุณค่าเป็นอย่างมาก นั่นคือว่า หากเรารำลึกถึงอัศฮาบกัรบาลาอฺ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นวีรบุรุษ วีรสตรี เอาลาด หรือว่าอัศฮาบ เราจะต้องนึกถึงประโยคหนึ่ง ในบทซิยารัตวาริษะว่า เรากำลังรำลึกถึงกลุ่มชนที่เป็น “อาฮิบบาอัลลอฮ” ( أَحِبَّاءَ‌الله)— เป็นกลุ่มชนที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) รักมากที่สุด ทั้งๆที่ก่อนหน้ากลุ่มชนเหล่านี้นั้น มีบุคลากรของอัลลอฮ(ซ.บ) อย่างมากมาย เฉพาะที่เป็นนบีนั้น ก็มี 124,000 องค์ และวะซีย์อีก อย่างต่ำคือ 124,000 องค์ และมีบุคลากรของอัลลอฮ (ซ.บ.) อีกอย่างมากมาย แต่บุคลากรของอัลลอฮ(ซ.บ) ทั้งหมด ที่เคยปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์นั้น … 72 คนที่กัรบาลาอฺ เป็นกลุ่มชนที่ ”อะฮิบบาอัลลอฮ” เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ(ซ.บ.)รักมากที่สุด
[และ] “อัสฟิยาอัลลอฮ” (يَا أَصْفِيَاءَ اللَّهِ ) — เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ(ซ.บ) “เลือก” มาเพื่อทำภารกิจอันนี้ แน่นอนกัรบาลาอฺ อาชูรอ มีมุมมอง มีเนื้อหาอย่างมากมาย ผมขอยืนยันเลยว่า เหมือนกับมหาสมุทร ซึ่งไม่มีใครดำลงไปในมหาสมุทรได้ทั้งหมด ไม่ว่าเราจะลงลึกสักขนาดไหน ก็อาจจะพูดได้ว่า ยังไม่ถึงเศษเสี้ยวของความเป็นจริง ซึ่งบางอาเล็มอุลามา อาจจะเปรียบเทียบว่า เหมือนกับมหาวิทยาลัย แต่จริงๆแล้ว เหมือนกับมหาสมุทร ตามแต่ใครจะนิยามคำเปรียบเทียบ บางนิยามก็ถูกมอบให้โดยเอาลิยาของอัลลอฮ(ซ.บ) อย่างเช่น ท่านอายาตุลลอฮญาวาดี ออมูลี ซึ่งเป็นทั้งนักปราชญ์ และอื่นๆ ซึ่งท่านได้เปรียบเทียบว่า กัรบาลาอฺ คือ “สระน้ำอัลเกาษัร”
ท่านได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับอาชูรอโดยเฉพาะ มีชื่อว่า เกาษัรแห่งกัรบาลา หรือว่า เกาษัรแห่งอาชูรอ — อย่าลืมว่า เมื่อเราเอ่ยคำว่า “เกาษัร” นั้น มันคือ น้ำอัมฤต หรือ น้ำทิพย์ กล่าวคือ เราจะต้องฝึกมองเรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺ ไม่ให้เป็นเพียงแค่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น หรือเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ดุเดือด แม้มุมมองอันนี้จะถูกต้อง แต่ทว่ามันยังมีมุมมอง ที่ลึกไปกว่านั้น คือจะต้องมองว่า มันเป็นเรื่องราวที่ ”ศักดิ์สิทธิ์” ด้วย และก็ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่เคยปรากฏ ไม่ว่าเราจะแตะไปที่มุมหนึ่งมุมใดของมัน
ดังนั้น เมื่อเรามองไปที่แง่มุมนี้ เราจะรู้ว่า แม้เราจะร่วมรำลึกกันไปอีก 100 ปี หรืออีก 1000 ปี ทว่าเนื้อหาและเรื่องราวของมันก็จะไม่มีวันหมดสิ้น พี่น้องบางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราจึงต้องร่วมรำลึกกันทุกปี ? และอันที่จริงแล้ว ยิ่งนับวัน ความเข้มข้นของการรำลึก ความเข้มข้นของความเข้าใจ มันก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าเรามองในแง่มุมว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเข้ามาในการรับรู้ การเข้ามาอยู่ในเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์นี้ ลองคิดดูว่า เสมือนเราได้ดื่มน้ำแห่งเกาษัร ซึ่งถ้าหากว่า อายาตุลลอฮฺ ญาวาดี ออมูลี ไม่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เราก็อาจจะคิดว่า สระน้ำแห่งเกาษัรนั้น เราคงจะได้ดื่มมันในโลกหน้า ในสวรรค์เพียงเท่านั้น แต่เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นมา ในการเขียนของท่าน อาจจะเป็นเพียงแก้วหนึ่ง หรือหยดหนึ่งนั้น แต่สามารถที่จะทำให้มนุษยชาติได้ดื่มกิน [น้ำทิพย์อัลเกาษัร] ตั้งแต่ในโลกนี้ โดยน้ำอมฤต น้ำทิพย์ เป็นน้ำที่ใครก็ตามที่ได้ดื่มกินมันนั้น เขาผู้นั้น จะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง หลุดพ้นจากทุกๆ พันธนาการ — และเกาษัรอาชูรอ เกาษัรแห่งกัรบาลา แต่จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหา ถวิลหา ที่จะได้สัมผัส ที่จะได้ดื่มกินมันอย่างจริงจัง เราถึงจะได้บารอกัตแห่งการรำลึกนี้อย่างแท้จริง
เพราะการรำลึกถึงเรื่องราวในศาสนา เรื่องราวที่เป็น “อิบรัต” (عبرت ) เรื่องราวที่เป็นแบบฉบับ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าการรำลึกถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่อดีตมา ไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญ เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จะไม่เป็นผู้ที่เล่าเรื่องเอง
เรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกัรบาลาอฺ เช่น เรื่องนบีมูซา (อ) ใครเป็นผู้เล่า? — เรื่องนบีมูซา (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีอิบรอฮิม (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีอาดัม (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีสุไลมาน(อ) นบีดาวูด(อ) นบียะกูบ(อ) ทุกๆนบี … แม้แต่เรื่องนบีคัยเดร์ (อ) เรื่องของบางนบี ที่ไม่เคยรู้จักกันว่ามีนบีคนนี้อยู่ในโลก อัลลอฮ(ซ.บ) เป็นผู้เล่า ดังนั้นการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวของศาสนา
จึงแสดงให้เห็นว่า มันจะต้องมีแง่มุมที่สำคัญของมันเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้ ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน จึงมีเรื่องเล่าจากอัลลอฮ(ซ.บ) เป็นจำนวนมาก
ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญมาก ว่ามีเป็นสัดส่วนจำนวนเท่าใดของอัลกรุอาน ผมก็จำไม่ค่อยได้ แต่รู้ว่า อัลกรุอานนั้น เป็นเรื่องของการเล่าเรื่องเป็นส่วนมากโดยเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) และในรายละเอียดอื่นๆ ของมัน บรรดาศาสดา หรือบรรดานบี จะนำมาเล่าต่อ
ทำไมเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จึงเล่าเรื่องอย่างมากมาย?
ทำไมเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จึงเล่าเรื่องอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ทรงเล่าให้กับบรรดานบีฟัง?
มีปรัชญาของมัน มันมีมุมมองที่พิเศษของมันว่า เหตุผลลอันหนึ่ง ทำไมถึงมีการเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างมากมาย ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน? — ซึ่งในคำถามนี้ เราก็ต้องหาคำตอบที่ดีที่สุด เราต้องหาคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดว่า ทำไมอัลกรุอานส่วนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องเล่าต่างๆ ที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่าเอง และในคำตอบที่ดีที่สุดคำตอบหนึ่งนั้น อยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน อยู่ในซุเราะฮ์ อัล-ฮูด โองการที่ 120
โดยโองการก่อนหน้านี้ อัลลอฮ(ซ.บ) ก็ทรงเล่าเรื่องของบรรดานบีต่าง ๆ ให้ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ได้รับรู้ ได้รับฟัง และท่านนบี (ศ็อลฯ) ก็ถ่ายทอดต่อไปยังอุมมัต หรือประชาชาติของท่าน เมื่ออัลลอฮฺ(ซ.บ)เล่าเรื่องต่าง ๆ จบลง อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็ให้เหตุผลอันหนึ่ง ซึ่งในอายัตนี้ มีประมาณ 4 เหตุผล เป็น 4 คำตอบที่บอกว่า ทำไมเอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงเล่าเรื่อง ซึ่งในซูเราะฮ์ อัลฮูด โองการที่ 120 หลังจากที่พระองค์เล่าเรื่องบรรดาศาสดาต่าง ๆ จบลงแล้ว เอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ)ได้ตรัสว่า:
_____
وَكُلًّا نَّقُصُّ عَلَيْكَ مِنْ أَنبَاءِ الرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ ۚ وَجَاءَكَ فِي هَـٰذِهِ الْحَقُّ وَمَوْعِظَةٌ وَذِكْرَىٰ لِلْمُؤْمِنِينَ
และทั้งหมดนี้เราได้บอกเล่าแก่เจ้า จากเรื่องราวของบรรดาร่อซูล เพื่อทำให้จิตใจของเจ้าหนักแน่น และได้มายังเจ้าแล้วใน(เรื่องราวเหล่านี้) ซึ่งความจริง และข้อตักเตือน และข้อรำลึกสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหลาย
(ซูเราะหฺฮูด – 120)
_____
คำอธิบาย: — ที่เรา เอามาเล่าให้เจ้าฟังว่า สมัยนบีอดัม(อ) เป็นอย่างไร ท่านนบีอาดัม(อ) โดนชัยฏอนหลอกแบบใดบ้าง… ท่านนบีอิบรอฮีม (อ) ถูกโยนกองเข้ากองไฟได้อย่างไร ด้วยเหตุอันใด ท่านได้ทำอะไรบ้าง ท่านนบีนูฮฺ(อ) ได้ต่อสู้แบบไหน ท่านอดทนอย่างไร จนกระทั่งน้ำท่วมโลกนั้น [และ ฯลฯ] พระองค์เล่าไปทั้งหมดนั้น
— เหตุผลที่หนึ่ง ที่มีในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ตามที่เอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงเล่าเรื่องนั้น เพราะ…
وَكُلًّا نَّقُصُّ عَلَيْكَ مِنْ أَنبَاءِ الرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ
เหตุผลที่ 1:
เหตุผลแรกของการเล่าเรื่องต่าง ๆ นั้น เพื่อจะให้
“จิตใจของเจ้านั้นเข้มแข็ง และหนักแน่น”
ดังนี้ เราจึงได้คำตอบแล้ว เรื่องเล่าในอัลกุรอาน เอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) เล่ามา เพื่อให้เราเข้มแข็ง และหนักแน่น โดยมีท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) เป็นบุคคลแรก [ในฐานะผู้ฟัง] — แสดงว่าอย่างไร? แสดงว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ มีพลังเป็นอย่างมาก
مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ
— ‘เล่ามาเพื่อเพิ่มพลังให้กับเจ้า เล่าเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเจ้า’ — นี่คือเหตุผลที่หนึ่ง ซึ่งต้องไปดูเนื้อเรื่องต่าง ๆ ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาศาสดา อย่างเช่น [เรื่องราวของ] ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ตามที่ท่านลุยคนเดียว ด้วยขวานเล่มเดียว เพื่อให้ดูเป็นแบบอย่างว่า นี่คือแบบฉบับ หรืออีกเรื่อง ที่ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ถูกส่งลงไปในกองไฟ ที่ท่านต่อสู้จนถูกโยนลงไปในกองไฟ ซึ่งถ้าอัลลอฮฺ(ซ.บ) ไม่ประสงค์จะให้มอดไหม้ ไฟก็จะต้องเย็น — นี่แหละที่เขาเรียกในภาษาอาหรับว่าเป็น “อิบรัต” เป็นแบบฉบับให้ได้เข้าใจ ซึ่งแน่นอน มีหลายแง่มุมที่จะนำมาอธิบาย ให้ ‘พวกเจ้าได้มั่นใจว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ)ไม่มีวันทอดทิ้งบุคลากรของพระองค์ ไม่มีวันทอดทิ้งผู้รับใช้พระองค์