เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)


ทฤษฎีความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์

1.อรัมภบท

นักคิดและนักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน จอห์น รอลส์(1921-2002) ถือเป็นนักปรัชญาการเมืองที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 และ อาจจะเป็นนักปรัชญาการเมืองที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในปรัชญาตะวันตกเลยก็ว่าได้ งานเขียนและผลกระทบจากงานเขียนของเขา ถูกนำมาพูดถึง และวิพากษ์เป็นเวลานานกว่า 50 ปี และโด่งดังที่สุดคือหนังสือ “ทฤษฎีความยุติธรรม A Theory of Justice” ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่เขา ยังไม่ได้มีชื่อเสียงในวงการปรัชญา แต่หลังจากตีพิมพ์ งานเขียนของเขาก็เป็นที่สนใจของเหล่าปรมาจารย์ในทันที มีการยกให้หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในฐานะเดียวกันกับหนังสือของเพลโต งานเขียนของจอห์นสจ๊วตมิลล์ และงานเขียนของเอ็มมานูเอลคานท์ จึงไม่แปลกที่หนังสือของเขาจะได้รับการตีพิมพ์และแปลมากกว่า 27 ภาษาทั่วโลก เพราะมันคือคัมภีร์ฉบับใหม่ว่าด้วยความยุติธรรม ซึ่งแนวทางของหนังสือเป็นการนำเสนอความยุติธรรม เชิงค่านิยมเชิงเสรีนิยม

2.บุคลิกของจอห์น รอลส์ และปัญหาที่ทำให้เขานำเสนอทัศนะของตนเอง

-จอห์น รอลส์ เป็นเป็นบุคคที่มีความมุ่งมั่น ขยัน พยายาม ถ่อมตน และมีความคิดสร้างสรรค์

-เขาเป็นผู้ที่พิทักษ์แนวคิดเสรีนิยมคนหนึ่งที่เรารู้จัก ทว่าในข้อเท็จจริง เขาดูเหมือนนักปรัชญา ที่แสดงความคิดอิสระ และไม่อิงกับรัฐบาลใดมากกว่า เพราะดูจากประวัติชีวิตของเขาเราจะพบว่า ตลอดชีวิตของรอลส์ เขามักจะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มากกว่า อำนาจและรัฐบาล

-ตัดสินจากประวัติชีวิต และงานเขียนของเขา แรงจูงใจที่ทำให้เขานำเสนอทฤษฎีความยุติธรรม คือ ความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของรอลส์ สะท้อนถึงแนวคิดรักความสงบ ต่อต้านสงคราม สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และการปฏิรูปสังคมให้ดียิ่งขึ้น คือ เพราะในเรื่องสงคราม เขาเป็นคนหนึ่ง ที่แสดงจุดประสงค์ไม่สนับสนุน “การทำสงครามกับเวียดนาม” ถึงกับวิจารณ์ออกมาอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมา และยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสงครามเพื่อต่อสู้กับสงครามอย่างเปิดเผย และรอลส์ เป็นคนหนึ่งที่เคยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาสูญเสียเพื่อนและพวกพ้องไปอย่างมากมาย แต่หลังจากอเมริกาทิ้งระเบิดอะตอม ลงเมืองฮิโรชิมา รอลส์ ได้ออกมา โต้แย้ง และออกมาวิจารณ์ว่าสงครามแบบนี้เป็นสงครามที่ไม่ยุติธรรม มันจึงกลายเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการเขียนหนังสือของเขา ความปรารถนาที่จะปฏิรูป สังคม และบทเรียนทางการเมือง ระคนกันกับความกังวลที่เขาได้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกัน ตัวอย่างทั้งหมดที่นำเสนอมา อาจให้ข้อสรุปว่า รอลส์ วิพากษ์เสรีนิยม เพื่อต้องการปฏิรูปเสรีนิยมที่เขามองว่ามันไม่ถูกต้อง งานวิพากษ์ของเขาจึงเป็นงานเขียนชั้นครูที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทั้งในเรื่องของเสรีภาพ เกียรติยศของมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน และในฐานะนักปฏิรูปการเมืองคนหนึ่งสำหรับรอลส์แล้ว ความรู้และ มิตรภาพ คือรากฐานสำคัญที่จะทำให้ความยุติธรรม เสรีภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอุบัติขึ้น

    ผู้ที่วิจัยงานเขียนของรอลส์

เพราะการศึกษางานเขียนของผู้วิจัยแนวคิดของ จอห์น รอลส์ จะทำให้เราเข้าใจ หรือ ต่อยอด หรือ วิพากษ์ความคิดของเขาได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นควรกล่าวถึงงานวิจัยเหล่านี้สักเล็กน้อย ส่วนใหญ่คนที่วิจัยงานเขียนของรอลส์ จะมาจาก กลุ่มชุมชนนิยม ( communitarians) ซึ่งในหมู่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงได้แก่

–ไมเคิล เจ แซนเดล ซึ่งหนังสือความยุติธรรม ของเขาถูกแปลเป็นภาษาไทยในบ้านเรา ผู้อ่านจะพบทฤษฎีและตัวอย่างใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในหนังสือเล่มนี้ ข้อดีคือหนังสือย่อยข้อมูลได้ง่าย เหมาะกับการอ่านสำหรับคนทั่วไป

-อลาสเดียร์ แมคอินไตร (Alasdair Macintyre) นักปรัชญาชาวสก๊อต

-ชาร์ล เทย์เลอร์ (Charles Taylor) นักปรัชญาชาว แคนาดา

–โรเบิร์ต โนสิค (Robert Nozick) เป็นนักปรัชญาชาวอเมริกันที่ถือเป็นคู่แข่งทางความคิดของรอลส์ หนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาก็คือ Anarchy State And Utopia ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1974 หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ ตอบคำถามจากหนังสือของรอวส์ มันจึงถูกถือว่าเป็นหนังสือคู่แข่งที่แต่งขึ้นเพื่อหักล้างทฤษฎีของรอลส์ แต่การเป็นคู่แข่งนี้ไม่ได้เป็นแบบทำลายกันและกัน ทว่าต่อยอดความกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นการต่อสู้กันทางความคิดอย่างสร้างสรรค์และสร้างความแตกฉานให้กับ ปรัชญาการเมือง เพราะโนสิคเองก็ยอมรับว่า” ทฤษฎีความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ เป็นหนังสือทรงพลัง ลุ่มลึก ฉลาด กว้างขวาง และเป็นผลงานแนวคิดทางการเมือง และปรัชญาจริยธรรม ที่มีระบบระเบียบ ตั้งแต่สมัยของจอห์นสจ๊วตมิลล์จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครแต่งหนังสือได้เหมือนกับหนังสือเล่มนี้ นักปรัชญาร่วมสมัยจำเป็นต้องทำงานในกรอบความคิดของ จอห์น รอลส์ หรือไม่ก็เผยความเร้นลับที่เขายังไม่ได้พูดถึง”

4.จอห์น รอลส์-คานท์นิยม-วิพากษ์อรรถประโยชน์นิยม

หัวข้อนี้ พูดถึงรากฐานแนวคิดทางศีลธรรมที่รอลส์ยึดเป็นหลักในการเสนอทฤษฎีของเขา เราจะเริ่มจากคำถามง่ายๆว่า

หลักการศีลธรรมแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่สุด ระหว่าง อรรถประโยชน์นิยม กับ คานท์นิยม[1] ?

ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะคำตอบของคำถาม จะอธิบาย มโนทัศน์ของความยุติธรรมทางสังคม ศีลธรรมที่เข้ากันได้กับธรรมชาติของมนุษย์ และการทำความดีของบุคคล กล่าวคือ ก่อนที่ผู้อ่านจะตัดสินว่าการกระทำใดมีความยุติธรรม หรือ การกระทำใดอยุติธรรมได้ ผู้อ่านจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความยุติธรรมอยู่ก่อนแล้วว่า ความยุติธรรมคืออะไร เพื่อแยกแยะการกระทำที่ยุติธรรมกับอยุติธรรม ถูก/ผิด ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าถูกผิด ดูกันที่ผลลัพธ์ ตัวอย่างเช่น การโกหกคนใกล้ตายว่าจะอยู่ได้อีกหลายปี ทั้งๆที่หมอบอกว่า ผู้ป่วยจะอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ก็จะไม่ผิด หากผู้ป่วยเชื่อว่าเขาจะอยู่ได้อีกหลายปี และเขาก็ใช้ชีวิตนานหลายปี จนหายจากโรคร้ายที่เป็นอยู่ เพราะปาฏิหารย์จากความเชื่อนั้น หรือในอีกมุมมองหนึ่ง การพูดความจริง เมื่อทหารนาซี เคาะประตูถามหาเด็กที่พวกเขาจะจับไปประหารชีวิต ซึ่งกำลังซ่อนอยู่บนห้องใต้หลังคา ก็จะมีศีลธรรม ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เด็กคนนั้นต้องจบชีวิตตัวเองก็ตาม ถ้าเลือกมุมมองแบบอรรถประโยชน์นิยม ก็เท่ากับ มองว่า อะไรก็ตามจะเป็นความยุติธรรมในสังคมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า มันมีผลประโยชน์กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเลือกคานท์นิยม ก็เท่ากับมองว่า อะไรก็ตามที่ถือเป็นความยุติธรรมในสังคม ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ แม้ว่าจะมีผลใดๆเกิดขึ้นก็ตาม

รอลส์ ยึดแบบไหน คำตอบของรอลส์ คือ หลักศีลธรรมคานท์นิยม เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยมากที่สุด โดยมีเหตุผลดังนี้

เหตุผลที่ 1 งานเขียนของรอลส์ คือ การปรับปรุงแนวคิดผลประโยชน์ต้องมาก่อน ในปรัชญาจริยศาสตร์สมัยใหม่ ในเรื่องความยุติธรรมรอลส์เริ่มจากการเน้นเรื่องความยุติธรรมในมิติของสังคมก่อน และเปิดประเด็นด้วยประโยคสำคัญคือ “ความยุติธรรม คือ ความประเสริญแรกอันเป็นรากฐานของสังคม เฉกเช่นที่ ความเป็นจริง คือ ความประเสริฐแรกของระบบความคิด(Rawls,1999,P3) นี่เป็นการชี้ถึงปฐมศีลธรรมก่อนผลประโยชน์ ซึ่งในหนังสือ รอลส์ ได้วิพากษ์แนวคิดของนักปรัชญาสายอรรถประโยชน์นิยมผู้มีชื่อเสียง เช่น เจเรมี เบนธัม ซึ่งเราจะเห็นบทวิพากษ์ของรอลส์ ที่ชี้ว่า ระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนรวม กับ ความยุติธรรม ใช่ว่าจะเข้ากันได้เสมอไป แม้ว่าคำว่า”ผลประโยชน์ส่วนรวม”จะฟังดูเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม

เหตุผลที่ 2 ความคิดของรอลส์ ไม่ได้ วิพากษ์แต่อรรถประโยชน์นิยมเพียงอย่างเดียว หลักทฤษฎีความยุติธรรม คือ อะไรที่มากกว่านั้น รอลส์ ได้นำเสนอความคิดใหม่มาอธิบายแนวคิดเสรีนิยมนั่นก็คือแทนที่จะใช้หลักการอื่นมาเป็นโครงสร้างของความยุติธรรม รอลส์ได้ใช้สัญญาประชาคมเป็นโครงสร้างของความยุติธรรม และใช้ทฤษฎีหน้าที่ทางศีลธรรมของเอมานูเอล คานท์ ในการอธิบายว่าทำไมสัญญาประชาคมถึงถูกต้อง เพื่อให้เห็นภาพเราจะยกตัวอย่างง่ายๆ

หากคนหมู่บ้านหนึ่ง ทำข้อตกลงว่า ไม่มีใครมีสิทธิ์เป็นเจ้าของธุรกิจในหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากคนในหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้นหากใครที่ไม่ใช่คนในหมู่บ้านเข้ามาทำธุรกิจในหมู่บ้านแห่งนี้ การกระทำของเขาคือการละเมิดสิทธิ์ของคนในหมู่บ้านนั้น ดังนั้นใครก็ตามที่พาคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน จนทำให้คนนอกเป็นเจ้าของธุรกิจในหมู่บ้านแห่งนั้น เขาคนนั้นย่อมไม่ยุติธรรมต่อคนในหมู่บ้านเพราะเขาได้ละเมิดข้อตกลงที่ทั้งหมู่บ้านได้ทำสัญญาไว้ จะเห็นว่าประโยคแรกคือ : หากคนหมู่บ้านหนึ่ง ทำข้อตกลงว่า ไม่มีใครมีสิทธิ์เป็นเจ้าของธุรกิจในหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากคนในหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้นหากใครที่ไม่ใช่คนในหมู่บ้านเข้ามาทำธุรกิจในหมู่บ้านแห่งนี้ การกระทำของเขาคือการละเมิดสิทธิ์ของคนในหมู่บ้านนั้น.

เป็นเรื่องราวตัวอย่างง่ายๆของตัวอย่างสัญญาประชาคมในระดับเล็ก เมื่อคนในหมู่บ้านตกลงกันว่าอะไรคือสิ่งที่สมควรทำอะไรคือสิ่งที่ไม่สมควร กฎนี้คือกฎที่จะเป็นตัวตัดสินว่าอะไรคือความยุติธรรมและอะไรคือความอยุติธรรม และเมื่อเกิดสถานการณ์หนึ่งขึ้น เราคือคนในหมู่บ้านพาคนนอกเข้ามาทำธุรกิจในหมู่บ้าน การกระทำของเขาผู้นั้นจะถูกถือว่าไม่ยุติธรรม แต่ไม่ใช่เพราะผลลัพธ์ ( เช่น การขยายหมู่บ้านโดยให้ต่างชาติมาทำธุรกิจอาจมีผลดีกับเจ้าของพื้นที่) แต่ไม่ยุติธรรมเพราะคนในหมู่บ้านได้ละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ นี่คือตัวอย่างของทฤษฎีความยุติธรรมที่อิงสัญญาประชาคมเป็นหลักการของรอลส์ และการใช้ทฤษฎีของคานท์พิสูจน์ความถูกต้องของหลักสัญญาประชาคม

เหตุผลที่ 3 มี 3 ประเด็นสำคัญในทฤษฎีความยุติธรรม

    (ก นำเสนอคำนิยามใหม่ เกี่ยวกับทฤษฎีสัญญาประชาคม

    (ข ใช้ทฤษฎีหน้าที่ของคานท์มาอธิบายสัญญาประชาคมนั้น

    (ค วิพากษ์อรรถประโยชน์นิยม และพยายามนำเสนอทฤษฎีใหม่มาแทนที่แนวคิดนี้

ในภาพรวม แนวคิดของรอลส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือศีลธรรม ล้วนอิง อยู่บนหลักการคิดของคานท์ ดังนั้นการศึกษาแนวคิดของ เอมานูเอล คานท์ จะทำให้เราเข้าใจทฤษฎีความยุติธรรมของรอล์ส ได้ลึกยิ่งขึ้น เช่น สำหรับคานท์ ศีลธรรมมีเป้าหมาย เพื่อให้ทุกคนมีหน้าที่ ทำให้คนอื่นมีความสุข เพราะมนุษย์สมควร ได้รับความสุข และความสำเร็จ เช่น ปรัชญาจริยศาสตร์ของการวางอยู่บนสามกฎที่มั่นคง

-กฎข้อที่ 1 จงปฏิบัติ แต่สิ่งที่ท่านทำแล้วมันสามารถกลายเป็นกฎสากลได้ เพราะสิ่งที่ถูกต้องคือกฎสากล เช่น ถ้าท่านอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติดีต่อท่าน ท่านก็จะต้องปฏิบัติดีต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

-กฎข้อที่ 2 จงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะเป้าหมายไม่ใช่เครื่องมือสำหรับตนเอง เพราะการปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเครื่องมือไม่ถือเป็นความถูกต้อง เช่น การรัก ใครสักคนหนึ่ง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากเขา

-กฎข้อที่ 3 จงปฏิบัติราวกับว่า เจตจำนงของท่านคือเจตจำนงของสิ่งมีชีวิตผู้มีภูมิปัญญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของผู้สร้างกฎสากล หรือจงปฏิบัติราวกับว่า เจตจำนงของท่านมาจากการปฏิบัติ ที่สามารถกลายเป็นกฎสากลได้ เช่น การเลือกทำความดีในสังคมในฐานะที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น หมายความว่าในกฎข้อนี้ คานท์ อยากให้เรามองว่าเราเป็นองค์หนึ่ง ขององค์รวมในสังคมที่เชื่อมต่อกัน

ในมุมมองของคานท์ กฎ 3 ข้อเบื้องต้น คือกฎทางศีลธรรมสำหรับทุกคนที่มีสติปัญญา ทุกๆคน คือเป้าหมาย ของการปฏิบัติไม่ใช่เครื่องมือของใคร ทุกๆคนคือผู้มีส่วนร่วมในการสร้างกฎสากล หรือที่คานท์เรียกว่า อาณาจักรแห่งเป้าหมาย แตกต่างจากอาณาจักร เชิงวัตถุตรงที่ อาณาจักรแห่งเป้าหมายไม่มีผู้ปกครองและไม่มีผู้ใต้ปกครอง ทุกคนคือผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อาณาจักรแห่งนี้คือ ระบบการปกครอง ที่มีปัญญาของประชาชนทั้งหมด เป็นผู้ทำงาน และปัญญาของทุกคนรวมกัน จะบอกว่าอะไรคือกฎสากล อะไรคือหน้าที่ที่จำเป็น ที่ทุกคนจะต้องกระทำในอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อกฎสากลมาจากทุกๆคน มันจึงไม่มีเป้าหมายหรือความเหมาะสมหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนล้วนเป็นสมาชิก และผู้ก่อตั้งกฎสากลขึ้นมา

นี่เป็นตัวอย่างแนวคิดคลาสสิคของคานท์ ที่มีอิทธิพลกับรอล์ส การวิพากษ์ที่หนักหน่วงของเขาต่อ อรรถประโยชน์นิยม จึงมีรากฐานมาจากแนวคิดนี้ และรอล์ส ก็ใช้มันหักหลังความคิดของอรรถประโยชน์นิยม ตัวอย่างเช่น ม่านแห่งความไม่รู้ของรอล์ส (Veil of Ignorance) กล่าวคือ เมื่อทุกคน ไม่รู้สถานะของตนในทางสังคม ไม่รู้ถึงความแตกต่างของเพศ เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง พรสวรรค์ และไม่รู้ทุกสิ่งที่อาจนำมาสู่การตัดสินอย่างไม่เท่าเทียม เมื่อนั้นมนุษย์จะเข้าสู่สภาวะแห่งความไม่รู้ และเมื่อเข้าสู่สภาวะนี้แล้ว พวกเขาจะตัดสินอย่างไม่ลำเอียงไม่อคติ รอล์ส เรียกมันว่าการตัดสินบนจุดยืนที่เที่ยงธรรม” ซึ่งการตัดสินแบบนี้ คือความยุติธรรม ในทัศนะของรอล์ส

5.รอล์ส คนเก่า กับ รอล์ส คนใหม่

หลังจากทีรอล์สเขียนและตีพิมพ์หนังสือทฤษฎีความยุติธรรมสำเร็จ เกิดกระแสการวิพากษ์ขึ้น หนังสือ และบทความมากมายถูกเขียนขึ้นเพื่อโจมตีทัศนะของเขา คำตอบของรอล์ส ต่อคำวิพากษ์เหล่านี้ คือสาเหตุที่ทำให้ในช่วงต้นปี 80 เขาต้องปรับปรุงงานและแสดงทรรศนะใหม่เกี่ยวกับความยุติธรรม ผลด้านหนึ่ง จึงมีความแตกต่างกันระหว่าง ทัศนะของ รอล์ส คนเก่ากับ รอล์ส คนใหม่

แตกต่างกันเรื่องอะไร ?

1.เพราะในทรรศนะของรอล์ส คนใหม่เป็นเหมือนกับนักทดสอบ หลักการและความคิดของรอล์สคนเก่าที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และทำหน้าที่วิเคราะห์บท วิพากษ์

2.ในภาพรวมความคิดของ รอล์ส คนเก่า กับ รอล์ส คนใหม่ อธิบายเรื่องเสรีนิยมแตกต่างกัน

คนเก่า เสนอแนวคิด ความยุติธรรม ที่ตั้งอยู่บนหลักปรัชญา และศีลธรรมเฉพาะ ส่วนคนใหม่ พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมอเมริกัน คือ สังคมตัวอย่าง ในฐานะที่เป็น ยาแก้แก้ความอยุติธรรม กล่าวคือ คนใหม่พยายามพิสูจน์ว่าสังคมอเมริกันคือสังคมที่เหมาะสมที่สุดกับ ความยุติธรรม เพราะ เพราะเสรีนิยม จริยธรรมและปรัชญาและวัฒนธรรมทางการเมือง รวมไปถึงโครงสร้างสังคมของตะวันตกในสมัยปัจจุบัน เกิดจากความเชื่อแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตย

คนใหม่เสนอภาพของสังคมที่ทุกคนต้องการ คือ สังคมหนึ่งที่มีโครงสร้างมั่นคง มีความยุติธรรมเป็นแกนกลาง มีศีลธรรมที่ดีเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ควรยึดหลักการความยุติธรรมแบบใดเป็นรากฐานและจัดการความสัมพันธ์ในสังคม จัดการโครงสร้างในสังคม ตั้งแต่การวางกฎหลัก การจัดตั้งรัฐบาล การจัดระบบทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และกระบวนการยุติธรรม ?

    เขาได้ให้คำตอบว่า สังคมที่จะสร้างกระบวนการความยุติธรรมแบบเต็มรูปแบบให้เกิดขึ้นมาได้ คือสังคมที่จะต้องมีองค์ประกอบ คือแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกรวมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าบางครั้งความคิดนี้อาจทำให้เข้าใกล้ความเป็นสมภาคนิยม[2] ( แม้จะมีบางประเด็นที่ทำให้เสรีนิยมในแบบของเขาแตกต่างจากเสรีนิยมคลาสสิก เช่นแนวคิดสมภาคนิยม

 

3.คนใหม่จะแสดงถึงความคิดทางการเมืองในแบบที่แตกต่างไป หลังปี 82 หลังจากตีพิมพ์หนังสือทฤษฎีความยุติธรรม แนวคิดของเขาเกี่ยวกับศีลธรรมและปรัชญา ค่อนข้างห่างจากแนวคิดเสรีนิยมแบบเดิม นักวิจารณ์บางคนก็แสดงความเห็นว่าการปรับปรุงครั้งใหม่ของเขากับทำให้แนวคิดของเขาในคนเก่าดูแย่ลง การปรับปรุงของเขา เริ่มแรกมีมีจุดหมายเพื่อ ขจัดความคลุมเครือ และแก้ปัญหาของความขัดกัน ในเนื้อหาที่เขานำเสนอ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นยิ่งเลวร้ายขึ้น เขาพยายามที่จะปรับปรุงงานเขียนทั้งหมดของตนเองแบบยกเครื่อง แต่ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ นี่จึงเป็นการยอมรับทฤษฎีความยุติธรรมของเขาเอง ก็มีจุดบกพร่องและความ ไม่สอดคล้องกันในทัศนะของตนเอง

6.อธิบายทฤษฎีของรอล์ส

อย่างที่เราได้กล่าวกันมาแล้ว ทฤษฎีความยุติธรรมของ รอล์ส ใช้แนวคิดหน้าที่นิยมคลาสสิคของเอมานูเอลคานท์เป็นหลักการ[3] นั่นคือ ความยุติธรรมแบบไม่เลือกข้าง ไม่เลือกพิจารณาจากผลประโยชน์ส่วนบุคคล นี่เป็นประเด็นหลักของคานท์ที่รอลส์นำมาต่อยอดทางความคิด นั่นคือ ถ้าความยุติธรรมตัดสินอย่างไม่ลำเอียง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เป็นหลัก เราจะตัดสินแบบนั้นได้อย่างไร ?

รอลส์ได้นำเสนอคำตอบหนึ่ง นั่นคือ มนุษย์เราจะสามารถตัดสินอย่างยุติธรรมได้ พวกเขาต้องกลับคืนสู่สิ่งที่เรียกว่า”สภาวะแรกเริ่ม (The Original Position)” มันคือ สภาวะที่ไม่มีใครรู้ถึงตำแหน่งของตัวเองในสังคม ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ชนชั้นใด ไม่รู้แม้แต่ชะตาชีวิตของตนเอง ไม่รู้บุคลิคภาพของตนเอง และไม่รู้ว่าตนเองมีพรสวรรค์ หรือ ความสามารถในด้านใดบ้าง ความหมายคือ เมื่อมนุษย์กลับสู่สภาวะแรกเริ่ม มันจะทำให้พวกเขาเข้าไปสู่ม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of Ignorance) ซึ่งมันจะทำให้มนุษย์ไม่สามารถตัดสินโดยอิงค่านิยมใดๆ หรือเลือกข้างได้ เพราะ”ความไม่รู้” เมื่อไม่รู้มนุษย์จะตัดสินอย่างไม่อคติ ไม่เอนเอียง ไม่ตัดสินโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ซึ่งมันจะทำให้มนุษย์ทุกคนตัดสินกันอย่างเที่ยงธรรม

คำอธิบายคือ เพราะถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะตัดสินโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ ถ้าเป็นทหาร ก็จะตัดสินโดยคำนึงถึงความมั่นคง ถ้าเป็นนักธุรกิจจะตัดสินโดยคำนึงถึงผลประโยชน์เป็นหลัก ถ้าเป็นคนขัดสน คุณจะตัดสินโดยคำนึงถึงความอยู่รอด และปากท้อง จะเห็นว่า การตัดสินโดยสวมหัวโขนใดๆก็ตาม ล้วนตัดสินจากมุมมองของ”หมวกแห่งฐานะ”ที่ตนเองสวมใส่ สำหรับรอลส์การตัดสินแบบนี้ ไม่อาจไร้ความลำเอียง หรือ อคติได้ ทางเดียวที่จะตัดสินได้อย่างเที่ยงธรรม คือ ต้องให้คนเรา”ถอดหมวกแห่งฐานะ”ของตนเองออก การตัดสินที่เที่ยงธรรมจึงจะเกิดขึ้น นี่คือ ความยุติธรรมทางสังคมของจอห์น รอลส์

ทั้งนี้ในทัศนะของรอล์ส ปัจเจกบุคคลที่อาศัยอยู่ม่านแห่งความไม่รู้ จะเลือกสองหลักการสำคัญได้แก่ หลักเสรีภาพ กับ หลักความความแตกต่าง

    หลักเสรีภาพ คือการที่ปัจเจกทุกคน จะเลือก ให้ตนเอง และทุกๆคน มีเสรีภาพเสมอ และมีความเท่าเทียมกัน เพราะมันคือค่านิยมที่ทุกคนตัดสินว่าเป็นสิทธิ์ของตนเอง แม้จะอาศัยอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ เช่น สิทธิในการพูด
    หลักความความแตกต่าง คือข้อยกเว้น ให้บุคคลในสังคม สามารถปฏิบัติต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้โดยมี 2 หลักการ
    เงื่อนไขแรก ความแตกต่าง ในแง่ของความไม่เท่าเทียมกัน จะถูกยกเว้น ถ้าหากผลประโยชน์สูงสุด ถูกนำไปใช้ เพื่อบุคคลที่ด้อยโอกาสมากที่สุด เช่น การนำทรัพย์สินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือ คนพิการ คนด้อยโอกาศ
    เงื่อนไขที่ที่สอง คือ ความแตกต่างจะถูกละเว้นได้ หากทุกคนมีโอกาสเท่ากันในการแสวงหา ตำแหน่งและฐานะ

งานเขียนวิชาการบางเล่มอาจเรียกความแตกต่างนี้ว่า “ความไม่เท่าเทียม” “ความเหลื่อมล้ำ” “ความไม่เสมอกัน” เช่น คนรวย หรือ คนจน ก็สามารถ สร้างโอกาศทางธุรกิจให้แก่ตนเอง ประเด็นต่อมา ในทัศนะของรอล์ส หลักข้อ 1 หลักแห่งเสรีภาพคือโครงสร้างของความเท่าเทียม เป็นหลักที่มีอิทธิพลเหนือหลักข้อ 2 หรือ หลักแห่งความแตกต่าง ส่วนหลักแห่งความแตกต่างตัว จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และสังคม ตัวของหลักข้อ 2 ในตัวของมันเองก็แบ่งเป็น 2 ประเภท ประการแรกคือ หลัก ข หรือ แตกต่างแต่มีโอกาสเท่าเทียมกัน มีอิทธิพลมากกว่า หลัก ก หรือ การมอบผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ด้อยโอกาส หมายความว่า สำหรับรอล์ส ความไม่เท่าเทียมแต่มีโอกาสเท่ากัน เป็นสิ่งที่มาก่อน การมอบผลประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาสเสมอ เป็นไปได้ว่า ที่รอลส์อธิบายเช่นนี้ เพื่อเน้นว่า สังคมยุติธรรม คือ สังคมที่มองว่าสมาชิกของตน มีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันเป็นอันดับแรกเสมอ ซึ่งถ้าหากมีความเหลื่อมล้ำในแง่ใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะสังคม หรือ เศรษฐกิจ หรือ การเมือง สมาชิกในสังคมจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองในการเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้ เพราะพวกเขารู้ว่า สังคมยุติธรรม จะยังมอบโอกาศที่เท่าเทียมกันให้กับพวกเขา

 

บทวิพากษ์

ประการที่ : 1 รอล์ส ยังไม่ได้หักล้างทฤษฎีของสำนักคิดอื่น เพราะในทฤษฎีความยุติธรรม ไม่ได้มีแต่หลักการของรอล์สที่ใช้เป็นที่ตั้งในการยึดว่าอะไร ยุติธรรม อะไร ไม่ยุติธรรม เราจะเห็นจากตัวอย่างของเขา เราจะเห็นว่า วิธีในการพิสูจน์ของรอล์ส ตั้งอยู่บน การจินตนาการถึง”สภาวะแรกเริ่ม” และการยึดสัญญาประชาคมเป็นแกนหลักว่า อะไรจะยุติธรรม หรือ ไม่ ขึ้นอยู่กับการรตกลงกันของประชาชน ซึ่งรอล์สกลับถือว่าปรัชญาการเมืองจากสำนักคิดอื่นๆ เช่น ประจักษ์นิยม หรือ เหตุผลนิยม หรือ สัมบูรณ์นิยม ที่พิสูจน์ถึงความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ แต่ไม่มีเหตุผลที่แข็งแกร่งพอจะหักล้าง ตัวอย่างเช่น การหักล้างแนวคิดของประจักษ์นิยม กับ สมบูรณ์นิยม รอล์ส ไม่ได้วิเคราะห์หลักการใช้เหตุผลของพวกเขา เพียงแต่บอกว่า “แนวคิดของพวกเขาไม่เป็นสากล” แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยอมรับว่า การหักล้างทฤษฎีของสองสำนักคิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย[4] คำถามคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อผู้คนอาศัยอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ พวกเขาจะตัดสินเหมือนกัน แล้วยังมีเรื่องของ”ภาวะสิ้นสงสัย”ให้พิจารณา(ทุกการตัดสินใดๆ ก็ตามจะถือว่าได้รับคำตัดสินชี้ขาด เมื่อหลักฐานนำเราสู่ภาวะสิ้นสงสัย และไม่มีแนวโน้มที่จะตัดสินไปในทิศทางอื่น) เรื่องนี้จะถูกนำเสนอในบทวิพากษ์ทฤษฎีความยุติธรรมของรอล์ส

ประการที่ : 2 แนวคิดม่านแห่งความไม่รู้ของรอลส์ มีลักษณะคล้าย Wishful Thinking หรือ การคิดเข้าข้างตนเอง ว่า สิ่งนั้นจะต้องเป็นไปเช่นนั้น นั่นคือ รู้ได้อย่างไรว่า หากอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ มนุษย์จะตัดสินได้อย่างถูกต้อง หากยึดตามความเป็นจริง สมมติว่า ผู้อ่านมีปัญหาข้อพิพาทกับผู้อื่น ท่านจะยอมให้คนที่รู้แค่มนุษยธรรม โดยที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายใดๆเลยมาเป็นผู้ตัดสินหรือไม่ ? อีกแง่หนึ่ง การตัดสินบนความไม่รู้ อาจทำให้ผู้คนไม่ลำเอียง แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาตัดสินได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการไม่รู้ฐานะของตน จึงไม่ได้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการตัดสิน

ประการที่ : 3 ตัวอย่างของม่านแห่งความไม่รู้ปนกับความรู้ในม่านแห่งความไม่รู้ เพราะรอล์ส อธิบายว่า ภายใต้ม่านแห่งความไม่รู้ มนุษย์ จะเลือกเสรีภาพ นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องรู้อยู่แล้วว่า เสรีภาพมีคุณค่า และจะเลือกสัญญาประชาคมเป็นตัวกำหนดความยุติธรรม และรู้ว่าจะต้องช่วยผู้ด้อยโอกาส และรู้ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งนี่เป็นการตีกันระหว่าง สิ่งที่มนุษย์รู้ กับ สภาวะแรกเริ่ม กล่าวคือ หากจะเข้าสู่สภาวะแรกเริ่ม โดยถือว่า สภาวะนั้น คือ สภาวะที่มนุษย์ไม่รู้สิ่งใด มนุษย์ก็จะต้องไม่รู้ถึงเสรีภาพ ความยุติธรรม การทำข้อตกลงร่วมกัน หรือ ความเท่าเทียมด้วยเช่นกัน เมื่อไม่รู้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ควรจะออกมาจาก ตาน้ำแห่งความไม่รู้ก็คือ การรู้ว่าตนไม่รู้ หรือ การไม่รู้ว่าตนไม่รู้

ประการที่ : 4 แนวคิดหน้าที่นิยม ไม่ได้เจาะจงว่าชีวิตที่ดีหรือความผาสุกเป็นอย่างไร เพียงแต่เสนอว่าบุคคลที่อยู่ในสถานะภาพ จะทำข้อตกลงกันให้ความสำคัญกับสิ่งที่ถูกต้องสิ่งที่เป็นสัจธรรมและความยุติธรรม โดยไม่มีการยืนยันว่าอะไรคือความดีอะไรคือสิ่งที่มีศีลธรรมใดๆทั้งสิ้น แต่แนวคิดของรอล์ส กำหนดไปแล้วว่า อะไรคือ ความดี อะไรคือความผาสุก จะเห็นว่ารอล์ส ก็พบเจอกับคำวิพากษ์แบบเดียวกับที่คานท์ต้องเผชิญ เพราะพวกเขาบอกแค่ว่าหน้าที่นิยมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ได้บอกเราว่าอะไรบ้างที่เรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติและอะไรบ้างที่เรามีหน้าที่ต้องหลีกเลี่ยง และอีกแง่หนึ่งแนวคิดหน้าที่นิยมยังขัดแย้งกับม่านแห่งความไม่รู้ เพราะในขณะที่พวกเขาอยู่ในบ้านแห่งความไม่รู้พวกเขาก็ต้องไม่รู้เช่นกันว่าความสำเร็จแห่งชีวิตนั้นจะต้องเป็นอย่างไรแต่ถ้าหากมนุษย์รวมตัวกัน เพื่อตัดสินใจว่า อะไรคือสิ่งที่ดีในสังคมที่ควรกระจายออกมา นั่นก็หมายความว่ามีการวาดมโนภาพล่วงหน้าไว้แล้วว่าความดีในเชิงสังคมนั้นเป็นเช่นไร ซึ่งมันก็จะไปขัดกับหน้าที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง

ประการที่ : 5 ทฤษฎีความยุติธรรมของเขาไม่ใช่ทฤษฎีที่ไม่เลือกข้างหรือไม่มีการลำเอียง เพราะทฤษฎีนี้เปิดเผยไปในตัวว่าเป็นทฤษฎีที่อิงแนวคิดแบบเสรีนิยม ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดใดๆจึงเป็นการนำเสนอที่อิงอยู่บนหลักการหนึ่งที่ถูกเลือกไว้แล้วไม่ใช่ไม่เลือกหลักการใดเลย

ประการที่ : 6 ทฤษฎีความยุติธรรมของเขาไม่ใช่ทฤษฎีที่ไม่เลือกข้างหรือไม่มีการลำเอียง เพราะทฤษฎีนี้เปิดเผยไปในตัวว่าเป็นทฤษฎีที่อิงแนวคิดแบบเสรีนิยม ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดใดๆจึงเป็นการนำเสนอที่อิงอยู่บนหลักการหนึ่งที่ถูกเลือกไว้แล้วไม่ใช่ไม่เลือกหลักการใดเลย

ประการที่ : 7 แนวคิดเรื่องสถานะแรกเริ่ม สามารถทดลองได้ในความคิด แต่ในการปฏิบัติจริงแนวคิดนี้ไม่มีอำนาจมากพอจะทำให้ผู้คนยอมรับได้ เพราะภายใต้ม่านแห่งความไม่รู้บุคคลจะถูกปิดบังจากความเป็นจริงมากมาย ความหวาดกลัวต่ออนาคตและความไม่รู้จะกลายเป็นสภาวะหลักที่ครอบงำพวกเขา ซึ่งมีผลทำให้ทุกการตัดสินใจมาจากสภาวะนี้ ในขณะที่ความเป็นจริง 3 นาทีผู้คนอยู่ในสภาวะปกติ ดังนั้นการมอบหลักคิดที่อยู่ภายใต้สถานการณ์เฉพาะจึงไม่สามารถใช้ได้กับสถานการณ์ปกติได้ เพราะในสถานการณ์ปกติในภาคปฏิบัติเมื่อผู้คนจะทำข้อตกลงใดๆข้อตกลงนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอยู่เสมอ การตัดสินโดยใช้มนุษยธรรมโดยปราศจากข้อเท็จจริงใดใดจึงเป็นการตัดสินที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงในสภาวะปกติ

อ่านบทความต่อ:

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 4)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-2)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-3)

source:

[1] อรรถประโยชน์นิยม คือ ศีลธรรม ที่ตัดสินคุณค่า จากผลประโยชน์เป็นหลัก ในกรอบคิดนี้ เช่น ถ้าโกหกแล้ว ได้ผลประโยชน์มากกว่าพูดความจริง การพูดโกหก ถือเป็นสิ่งที่มีศีลธรรม ส่วน คานท์นิยม คือ ศีลธรรมแบบผูกขาดไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การโกหก ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งที่ผิดศิลธรรม แม้ว่า การพูดความจริง จะให้ผลเลวร้ายก็ตาม

[2] egalitarianism

[3] ความยุติธรรมในทรรศนะของคานท์คือ การที่ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของตนเอง หน้าที่ที่เขามองว่าเป็นข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้นต่อมนุษย์ทุกคน ในอีกคำกล่าวหนึ่งคานท์อธิบายว่าความยุติธรรมคือการรักษาเกียรติของมนุษย์

[4] John Rawls,A Theory of Justice P 286

บทความ Muhammad Behesti

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม