ที่มาหลักศรัทธาอิสลามตามแนวทางชีอะฮ์อาลี

ที่มาหลักศรัทธาอิสลามตามแนวทางชีอะฮ์อาลี


بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ

الْحَمْدُ لِلّهِ رَبِّ الْعاَلَمِيْنَ وَصَلَّى اللهُ عَلَى مُحَمَّدٍ وَأَهْلِ بَيْتِهِ الطاَّهِرِيْنَ وَعَلَى أَصْحاَبِهِ الْمُنْتَجَبِيْنَ  أَماَّ بَعْدُ

 

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้กล่าวว่า

أُوْصِيْكُمْ بِكِتَابِ اللَّهِ وَ أَهْلِ بَيْتِي

ฉันขอสั่งเสียพวกท่าน(จงปฏิบัติ)ตามคัมภีร์ของอัลลอฮ์และอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน

ดูอัลกาฟี โดยเชคกุลัยนี  เล่ม 1 : 286 หะดีษที่ 1  และท่านนะบี(ศ)ได้กล่าวว่า

تَرَكْتُ فِيْكُمْ خَلِيْفَتَيْنِ كِتاَبَ اللهِ وَأَهْلَ بَيْتِيْ

ฉันได้มอบไว้ในหมู่พวกท่านสองคอลีฟะฮ์คือ คัมภีร์กุรอ่านและอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน

ดูอัลมุอ์ญัมกะบีร หะดีษที่ 4921 นักรายงานหะดีษทั้งหมดเชื่อถือได้ ดูมัจญ์มะอุซซะวาอิด เล่ม 1 : 413 หะดีษ 784

ดังนั้นหลังจากศาสดามุฮัมมัดจากโลกนี้ไปแล้ว กลุ่มชีอะฮ์อาลีจึงยึดคัมภีร์กุรอ่านและหะดีษอะฮ์ลุลบัยต์เป็นหลักฐานในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติศาสนกิจและเรื่องอื่นๆ

 

ที่มาหลักศรัทธาอิสลามตามแนวทางชีอะฮ์อาลี

 

ผมเคยได้สอบถามพี่น้องชีอะฮ์หลายคนว่า หลักศรัทธาของชีอะฮ์นั้นมีหลักฐานอ้างอิงอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซูเราะฮ์อะไร อายะฮ์ที่เท่าไหร่ หรืออยู่ในหนังสือชื่ออะไร หะดีษที่เท่าไหร่ ส่วนมากมักจะตอบกันไม่ได้ หรือก็มักจะให้คำตอบที่แตกต่างกันไป เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ในฐานะเราเป็นมุสลิมเองยังไม่รู้ไม่เข้าใจในอิสลามตามแบบที่เรานับถือ แล้วจะให้ชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือพี่น้องชาวซุนนี่ มาเข้าใจอิสลามตามแนวทางอะฮ์ลุลบัยต์ที่เรายึดถือได้อย่างไร ปัจจุบันคนบางส่วนชอบเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องปลีกย่อยมากกว่าเรื่องหลัก ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาศึกษากันอย่างจริงจังและสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เราเชื่อถือและศรัทธาว่า มีที่มาอย่างไรเพื่อจะได้พัฒนาตนเองและสังคมชีอะฮ์ให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมุสลิมอย่างแท้จริง อันจะนำพาเราไปสู่การมีอีหม่านที่ถูกต้องและมีความเคร่งครัดตามคำสอนอิสลาม เพื่อทำให้เราเป็นที่รักของอัลลอฮ์ ตะอาลา อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเรา

เป็นวายิบสำหรับมุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ จะต้องเรียนรู้จะต้องศึกษาหลักศรัทธา(อุซูลุดดีน)  แต่วายิบนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. วายิบแบบอิจญ์มาลี คือเขาจำเป็นต้องรู้หลักฐานแบบสรุป แต่ไม่สามารถโต้ตอบหรือชี้แจงข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้ เป็นการเชื่อและจำสิ่งนั้นไว้ในสติปัญญาของเขาเองเท่านั้น หากมีคนถามเขาว่า อุซูลุดดีนมีกี่ข้อ เขาก็ตอบได้แค่ว่ามีห้าข้อ แต่ถ้าถามว่า เตาฮีดแปลว่าอะไรบางทีเขาก็ไม่รู้เพราะแปลภาษาอาหรับไม่ได้ แต่เขาอาจเข้าใจเพียงว่า เตาฮีดหมายถึงการศรัทธาต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียว ถ้าถามหาหลักฐานเรื่องเตาฮีดกับเขาว่าอยู่ในอัลกุรอานอายะฮ์ใดหรือหะดีษบทใดเขาก็ไม่สามารถยกมาได้ ซึ่งการรู้เพียงเท่านี้ถือว่าเขาผู้นั้นพ้นหน้าที่วายิบที่ตนจำเป็นต้องรู้แล้ว

2. วายิบแบบตัฟซีลี คือเขาจำเป็นต้องรู้คำแปล ความหมายและหลักฐานอย่างละเอียด เพื่อสามารถพิสูจน์ยืนยันหรือชี้แจงข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้นได้  การศึกษาหลักศรัทธาอย่างละเอียดนี้ถือว่าเป็นฟัรดูกิฟายะฮ์ กล่าวคือไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเรียนรู้กันถึงขึ้นนี้ แต่ในชุมชนหนึ่งหรือหมู่บ้านหนึ่งจะต้องมีคนรู้ขั้นนี้อย่างน้อยหนึ่งคนหรือมากกว่านั้น

 

จุดประสงค์ของการเรียบเรียงเอกสารนี้คือ ชี้แจงและอธิบายให้ท่านได้ทราบถึงหลักฐานที่มาของหลักศรัทธาอิสลามตามแนวทางชีอะฮ์สิบสองอิหม่ามอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการทราบ แต่เขาไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นเอกสารนี้จะให้คำตอบแก่เขาอย่างสมบูรณ์

 

เรียบเรียงโดย เชคอับดุลญะวาด   สว่างวรรณ