อะกีดะฮ์ทั้งห้านี้มีอัลกุรอานหรือหะดีษกล่าวกำกับเอาไว้หรือไม่

อะกีดะฮ์ทั้งห้านี้มีอัลกุรอานหรือหะดีษกล่าวกำกับเอาไว้หรือไม่

 

ตอบ อะกีดะฮ์ทั้งห้านี้ได้เอามาจากอัลกุรอานและหะดีษ เพียงแต่ไม่ได้กล่าวเรียงกันเท่านั้น

หากซุนนี่ถามว่า : เมื่ออะฮ์ลุลบัยต์ไม่ได้กำหนดแสดงว่าอะกีดะฮ์ทั้งห้านี้เป็นบิดอะฮ์ใช่ไหม  

ตอบ

สำนักคิด วาฮาบีย์ หรือรู้จักกันในนามซุนนี่คณะใหม่(ผู้ก่อตั้ง เชคมุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ เกิด 1115 - 1206 ฮ.ศ.) ได้แบ่งเตาฮีดออกเป็น 3 ประเภทคือ1,เตาฮีดอุลูฮียะฮ์ 2, เตาฮีดรุบูบียะฮ์ 3, เตาฮีดอัสมาอ์วะซิฟาต    ซึ่งการแบ่งนี้ไม่มีระบุไว้ในอัลกุรอาน หะดีษนะบี และบรรดาซอฮาบะฮ์ ตาบิอีน และตาบิอิต-ตาบิอีน ก็ไม่ได้กล่าวไว้เลยเป็นที่ทราบดีว่า การแบ่งเตาฮีดออกเป็น 3 ข้อเช่นนี้ไม่เคยมีในยุคศตวรรษที่ 3  จนถึงศตวรรษที่ 6 เมื่อถึงศตวรรษที่ 7 การแบ่งเตาฮีดเป็นอุลูฮียะฮฺและรุบูบียะฮฺพึ่งเกิดขึ้น

ขอถามวาฮาบีย์ว่า : การแบ่งเตาฮีดออกเป็น 3 ประเภทนี้  เป็นบิดอะฮ์ใช่ไหม

 

สำนักคิด อะชาอิเราะฮ์ หรือรู้จักกันในนามซุนนี่คณะเก่า (ผู้ก่อตั้ง อะบุลฮาซัน อัลอัชอะรีย์ เกิดที่บัศเราะฮ์ ประเทศอิรัก ฮ.ศ.260 - 324) คนกลุ่มนี้ได้แบ่งซิฟัตอัลลอฮ์ออกเป็น 20 เรียกว่า ซิฟัตวายิบ 20 ข้อ [4]  การแบ่งซิฟัตอัลลอฮ์ออกเป็น 20 ซิฟัตนี้ก็ไม่มีระบุไว้ในอัลกุรอาน หะดีษนะบีและบรรดาซอฮาบะฮ์เช่นกัน

ขอถามอะชาอิเราะฮ์ว่า : การแบ่งซิฟัตอัลลอฮ์ออกเป็น 20 ข้อนี้  เป็นบิดอะฮ์ใช่ไหม

 

แน่นอนทั้งวาฮาบีและอะชาอิเราะฮ์จะตอบตรงกันว่า แม้อัลเลาะฮ์และรอซูลไม่ได้กำหนดไว้เช่นนั้น แต่อุละมาอ์ของพวกเขาได้เอามาจากกุรอ่านและหะดีษ  แสดงว่าพวกเขาได้ตอบเหมือนที่อุละมาอ์ชีอะฮ์ตอบที่ว่า อะกีดะฮ์ชีอะฮ์ทั้งห้านั้นได้ประมวลมาจากอัลกุรอ่านและหะดีษเช่นกัน

 

การตั้งคำถามว่า “อะกีดะฮ์ทั้งห้าของชีอะฮ์มีอัลกุรอานหรือหะดีษกำกับไหม”  เราถือว่าเป็นการตั้งคำถามที่ผิดมากๆเพราะผู้ถามได้มองข้ามประเด็นหลักไป ฉะนั้นคำถามที่ถูกต้องคือ “ความเชื่อของชีอะฮ์มีหลักฐานจากอัลกุรอ่านและฮะดีษของท่านนะบีและอะฮ์ลุลบัยต์หรือไม่” ฝ่ายชีอะฮ์ขอตอบว่า แล้วความเชื่อของชีอะฮ์ข้อใดที่ขัดแย้งกับกิตาบหรือซุนนะฮ์ เราชีอะฮ์ขอชี้แจงให้ละเอียดลงไปอีกว่า ความเชื่อของชีอะฮ์เรื่องอิมามัต(ผู้นำ)จะย้อนกลับไปยังเรื่องนุบูวัต ส่วนความเชื่อเรื่องนุบูวัตก็จะย้อนกลับไปยังเรื่องเตาฮีด และความเชื่อเรื่องอาดิลก็คือซิฟัตหนึ่งของอัลลอฮ์ซึ่งจะย้อนกลับไปยังเรื่องเตาฮีดเช่นกัน ท่านจะเห็นได้ว่าตอนนี้หลักความเชื่อก็เหลือแค่เพียงสองข้อคือเตาฮีดกับมะอาด ต่อจากนั้นความเชื่อในเรื่องมะอาดก็จะย้อนกลับไปยังเรื่องเตาฮีด ฉะนั้นจะเหลือเพียงหนึ่งหัวข้อเท่านั้นสำหรับความเชื่อที่เป็นรากฐานของหลักความเชื่อทั้งหลายนั่นคือ “ อัต-เตาอีด “  

ดังที่อิม่ามศอดิก(อ)ได้กล่าวว่า

إِنَّ أَساَسَ الدِّيْنِ التَّوْحِيْدُ وَالْعَدْلِ

แท้จริงรากฐานของศาสนาคือ  อัตเตาฮีดและอัลอัดลุ(ความยุติธรรม)

ดูมะอานี อัลอัคบาร โดยเชคศอดูก หน้า 1 หะดีษ 2  และหะดีษบทนี้เราชีอะฮ์ยังเชื่อว่าเป็นวจนะของท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ)อีกด้วย เพราะอิม่ามศอดิก(ผู้นำที่ 6 )กล่าวว่า

حَدِيثِي حَدِيثُ أَبِي وَ حَدِيثُ أَبِي حَدِيثُ جَدِّي وَ حَدِيثُ جَدِّي حَدِيثُ الْحُسَيْنِ وَ حَدِيثُ الْحُسَيْنِ حَدِيثُ الْحَسَنِ وَ حَدِيثُ الْحَسَنِ حَدِيثُ أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ ( عليه السلام ) وَ حَدِيثُ أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ حَدِيثُ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه وآله )

หะดีษของฉันคือ หะดีษของบิดาฉัน(อิม่ามบาเก็ร), หะดีษของบิดาฉันคือหะดีษของปู่ฉัน(อิม่ามซัยนุลอาบิดีน),หะดีษของปู่ฉันคือหะดีษของอิม่ามฮูเซน, หะดีษของอิม่ามฮูเซนคือหะดีษของอิม่ามฮาซัน, หะดีษของอิม่ามฮาซันคือหะดีษของอิม่ามอาลี, หะดีษของอิม่ามอาลีคือ คำพูดของท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ)

ดูอัลกาฟี โดยเชคกุลัยนี เล่ม 1 : 53 หะดีษที่ 14 สายรายงานหะดีษ เชื่อได้