บทเรียนนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

 บทเรียนนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

* นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คือ ประตูความรู้หนึ่งของท่านอิมามอาลี(อ.)
ซึ่งมีความรู้มากมายในประตูอันนี้ ทั้งความรู้ที่เป็นปรัชญา และความรู้ที่เป็นฮิกมะฮ์ ซึ่งแค่ในสองเรื่องนี้ก็ถือว่ายิ่งใหญ่และสำคัญเป็นอย่างมาก

* ในบทเรียนครั้งนี้เริ่มที่ ฮิกมะฮ์ที่ 237
: ซึ่งในฮิกมะฮ์อันนี้ ท่านอิมามอาลี(อ.)ได้แยกประเภทของปวงบ่าวที่ทำอิบาดัตออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน และเป็น 3 ประเภทที่ดีทั้งหมด แต่มีความต่างกันตรงที่ ประเภทไหนดีกว่ากัน และประเภทไหนดีที่สุด

* ซึ่งท่านอิมามอาลี(อ.)ได้กล่าวว่า

إِن قَوْماً عَبَدُوا اللّٰه رَغْبةً فَتِلْكَ عِبَادَةُ التُجارِ وَان قَومًا عَبَدُوْا اللّٰه رَهْبَةً فَتِلْكَ عِبَادَةُ الْعَبِيْدِ وَإن قَوْمًا عَبَدُوا اللّٰه شُكْراً فَتِلْكَ عِبَادَةُالأَحْرَارِ

"แท้จริงกลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) ด้วยความหวัง นั้นคือการภักดีแบบพ่อค้า และ แท้จริงกลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) ด้วยความกลัว นั้นคือการภักดีแบบของทาส และแท้จริงกลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) ด้วยการขอบคุณ นั้นคือการภักดีแบบอิสระ"

* กลุ่มที่หนึ่ง
กลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) #ด้วยความหวัง
: ก็คือ เขาหวังในรางวัลการตอบแทนต่างๆที่อัลลอฮ์(ซบ.)จะมอบให้
เพราะ ถ้ามนุษย์ไม่มีความหวังอันนี้ พลังในการทำอิบาดัตจะไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นอย่างน้อยๆต้องมีความหวัง และด้วยความหวังอันนี้นี่แหละ เราจึงทำการอิบาดัตต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอิบาดัตในเรื่องอะไรก็ตาม

* ดังนั้นคนที่ทำอิบาดัตแบบนี้ คือ คนที่ทำอิบาดัตต่อพระองค์แบบประเภท พ่อค้า
ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่ทำการค้ากับอัลลอฮ์(ซบ.) พวกเขาจะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน

* กลุ่มที่สอง
กลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) #ด้วยความกลัว
: ก็คือ กลัวในพระองค์ กลัวในบทลงโทษของอัลลอฮ์(ซบ.)ในโลกหน้า
ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ถือเป็นคนที่ดี เพราะด้วยความกลัวอันนี้ จึงทำให้เขาอยากที่จะทำอิบาดัตต่างๆ เพราะกลัวว่าหากตายไปแล้ว เขาจะพบเจอกับสิ่งที่เขาไม่อยากจะเจอในนรก
และบทลงโทษของพระองค์ในโลกหน้านั้น น่ากลัวและรุนแรงเกินกว่าที่เราจะจิตนาการณ์ได้ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเอามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเจอในโลกนี้ได้เลย

* ดังนั้นบ่าวกลุ่มหนึ่งที่ทำอิบาดัตด้วยความกลัวในสิ่งต่างๆเหล่านี้
ท่านอิมามอาลี(อ.)เรียกกลุ่มที่ทำการอิบาดัตต่ออัลลอฮ์(ซบ.)ด้วยความกลัวนั้นว่า คนที่ทำอิบาดัตแบบที่เป็นดั่งทาส
เพราะทาสนั้นทำงานเพราะกลัวนายของเขา ทาสสามารถที่จะถูกลงโทษเมื่อไหร่หรือตอนไหนก็ได้
และทาสนั้นอยู่ไปโดยไม่มีความหวังเพราะทาสไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองอะไรเลย
ดังนั้นทาสจึงอยู่โดยไม่มีความหวังสักเท่าไหร่ สิ่งต่างๆที่เขาทำไปนั้น เขาทำไปด้วยความกลัว

* กลุ่มที่สาม
กลุ่มชนหนึ่งได้ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ.) #ด้วยการขอบคุณ
(ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้มีอีกบทหนึ่งบอกว่า ทำอิบาดัตต่ออัลลอฮ์(ซบ.) #ด้วยความรัก)

: ก็คือ ขอบคุณต่อพระองค์ในเนี๊ยะมัตต่างๆที่พระองค์ทรงประทานให้ ทั้งการขอบคุณที่อัลลอฮ์(ซบ.)ทำให้เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งการขอบคุณที่อัลลอฮ์(ซบ.)ได้ทำให้เราได้รู้จักกับอะห์ลุ้ลบัยต์(อ.) และมีเรื่องอีกมากมายที่จะให้เราขอบคุณต่อพระองค์
สมมุติในเรื่องของ อิบาดัตในทรัพย์สินเงินทองที่อัลลอฮ์(ซบ.)ให้เรามาอย่างมากมาย
เราสามารถอิบาดัตด้วยการขอบคุณพระองค์ได้โดนการบริจาคหรือเอาไปช่วยเหลือผู้คน
นี่คือการขอบคุณต่ออัลลอฮ์ที่พระองค์ได้ประทานทรัพย์สินให้กับเราอย่างมากมาย หรือ การเอาสิ่งที่อัลลอฮ์(ซบ.)มอบให้ แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่ก็คือเป็นการอิบาดัตเพื่อจะขอบคุณอัลลอฮ์(ซบ.)ที่พระองค์ได้มอบสิ่งต่างๆมาให้กับเรา

* และถ้าใครที่ทำอิบาดัตโดยมุ่งหมายที่จะขอบคุณกับพระองค์นั้น อิบาดัตของเขาจะไม่มีวันสิ้นสุด
เพราะ เนี๊ยะมัตต่างๆที่พระองค์ประทานให้มานั้นมันเยอะเกินกว่าจะนับได้หมด
ด้วยเหตุนี้เขาจึงขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลลอฮ์(ซบ.)ได้ประทานมายังเขา อิบาดัตแบบนี้คืออิบาดัตเพื่อการขอบคุณอย่างเดียว

* ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งลึกซึ้งเป็นอย่างมาก การภักดีที่ผู้ได้ภักดี ต้องขอบคุณที่ได้ภักดี
และซึ่งจริงๆแล้วทุกๆอิบาดัต ถ้าเรารู้ถึงเป้าหมาย เราจะขอบคุณทุกอย่างถึงแม้ว่ามันจะเป็นการปฏิบัติที่ยากก็ตาม อย่างเช่นยกตัวอย่างในเรื่อง ฮิญาบ ถ้าเรารู้ว่าอัลลอฮ์(ซบ.)มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคลุมฮิญาบมาเพื่ออะไร เราจะญุสูดขอบคุณต่อพระองค์
แต่การที่เราจะทำแบบนี้ได้เราจะต้องเข้าใจแง่มุมต่างๆทุกเรื่องในบทบัญญัติ เพราะทุกบทบัญญัติของอัลลอฮ์(ซบ.)ล้วนมีฮิกมะฮ์ที่สวยงามทั้งหมด และถ้าเรารู้ถึงฮิกมะฮ์อันนั้น เราก็จะพร้อมที่จะถวายชีวิตเพื่อให้เราได้ปฏิบัติมัน
ทั้งที่เป็นการปฏิบัติด้วยความหวัง หรือทั้งปฏิบัติด้วยความกลัว และทั้งที่สูงกว่านั้นก็คือปฏิบัติด้วยการขอบคุณต่อพระองค์

* ดังนั้นมันจึงมีอีกตัวบทนึงที่เปลี่ยนจากด้วยการขอบคุณ เป็นคำว่า ด้วยความรัก
ซึ่งไม่มีการอิบาดัตไหนจะสูงยิ่งกว่าการอิบาดัตด้วยความรักที่มีต่ออัลลอฮ์(ซบ.)

*: ยกตัวอย่างของครอบครัวท่านอิมามอาลี(อ.)และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.) *:
[ ในวันที่อดอยากและหิวโหย ซึ่งเป็นวันที่แห้งแล้งในเมืองมะดีนะฮ์ ได้มีขอทานสามพวกมาขออาหารพวกท่าน ซึ่งพวกท่านก็ได้มอบอาหารให้กับพวกเขา โดยทั้งๆที่ครอบครัวของท่านได้ทำการถือศีลอดในวันนั้น และอาหารของพวกท่านก็มีอยู่เพียงเท่านั้น แต่พวกท่านก็ยอมเสียสละเพื่อให้เพื่อนมนุษย์ได้กิน
ซึ่งพวกท่านทำสิ่งนี้ต่อหน้าพระพักตร์ของอัลลอฮ์(ซบ.) และไม่มีใครที่รับรู้ในเวลานั้น และพวกท่านได้ทำแบบนี้เป็นเวลาสามวัน ]

: ซึ่งแน่นอนพวกท่านนั้นไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อต้องการการตอบแทนหรือการขอบคุณ แต่พวกท่านทำเพื่ออัลลอฮ์(ซบ.) :

* และด้วยเหตุผลนี้อัลลอฮ(ซบ.)จึงนำเรื่องราวอันนี้มาไว้ในอัลกุรอาน เพื่อต้องการจะเปิดเผยแบบฉบับอันนี้ไปจนถึงวันกิยามัต
อยู่ในซูเราะห์ อัล-อินซาน โองการที่ 8

وَيُطۡعِمُونَ ٱلطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِۦ مِسۡكِينٗا وَيَتِيمٗا وَأَسِيرًا

"และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก"

**: ดังนั้นการอิบาดัตด้วยความรักอันนี้ จึงเป็นการอิบาดัตแบบอิสระชน
ผู้ที่หลุดพ้นจากพันธนาการของนรกและสวรรค์ ทุกอย่างที่ทำไปนั้นทำด้วยความรักที่มีต่ออัลลอฮ์(ซบ.)เพียงเท่านั้น **:

ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี