ความท้าทายและอุปสรรคที่ขวางกั้นเอกภาพในโลกอิสลาม

ความท้าทายและอุปสรรคที่ขวางกั้นเอกภาพในโลกอิสลาม


เชคอิบรอฮีม อาแว/เรียบเรียง

โลกอิสลามต้องประสพกับความท้าทาย และเผชิญกับปัญหาหลักที่ขวางกั้นความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐ ด้วยกันทั้งสิ้น 4 ประการ ได้แก่ “
1) การอ้างศาสนาเป็นต้นเหตุความขัดแย้งทางการเมือง
2) การละเลยปัญหาปาเลสไตน์
3) ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้ายตักฟีรีย์”  
4) การเลือกปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐฯ
 ความเป็นเอกภาพและความสามัคคีในโลกมุสลิม เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีการเน้นย้ำเป็นอย่างมากในหลักการศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ ปัจจัยสำหรับการบรรลุเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว คือ การยึดมั่นไปยังกระบวนทัศน์และกระบวนการทำงานที่เข้มข้นและจริงใจ ซึ่งนอกจากจะนำฝ่ายต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาศักยภาพของพวกเขาให้สามารถรับมือกับความท้าทายและอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้าได้ โดยในบทความชิ้นนี้ เราจะขอกล่าวถึง “สี่ประเด็นหลัก” ที่เป็นความท้าทาย สำหรับการสร้างเอกภาพในโลกอิสลาม และแนวทางต่างๆ ที่เป็นไปได้ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น
 ความท้าทายประการแรก : การอ้างศาสนาเป็นต้นเหตุความขัดแย้งระหว่างโลกมุสลิม
เมื่อกล่าวถึงอุปสรรคที่ขว้างกั้นการไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของโลกอิสลาม สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจประการแรก คือ ในทุกๆ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น มันจะมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ไปยังเรื่องของศาสนา และจากนั้นจะมีการโหมกระพือแนวความคิดเช่นนี้ออกไปอย่างอึกกะทึกครึกโครม เหล่าสื่อมวลชน บรรดานักการเมือง นักวิชาการและผู้นำประเทศ จะพยายามให้นิยาม และจำกัดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกอิสลาม มีที่มาจากประเด็นทางศาสนา ในขณะที่โดยพื้นฐานแล้ว ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากศาสนา ทว่ามาจากความขัดแย้งในผลประโยชน์ทางการเมืองต่างหาก  อย่างไรก็ดี เรายังคงมีหลายวิธีที่เป็นไปได้ สำหรับใช้รับมือกับความท้าทายนี้ อาทิ :
 วิธีรับมือประการที่ 1) : เราต้องอธิบายให้ประชาชาติอิสลามเข้าใจว่า เรื่องของความแตกต่างทางศาสนาเป็นประเด็นที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างในการได้มาซึ่งผลประโยชน์เพียงเท่านั้น พวกเขาพยายามส่งเสริมว่าความขัดแย้งต่างๆ เกี่ยวข้องกับกิจการทางศาสนา  โดยปราศจากกล่าวถึงประเด็นทางการเมืองและปัญหาหลักจริงๆ ที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า กลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มสุดโต่งเหล่านี้ (จะมีอยู่ในทุกศาสนา) มักปฏิเสธ และไม่ชอบที่จะเห็นชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีความสามัคคีปึกแผ่น เนื่องจากว่าชีวิตและอุดมการณ์ของพวกเขาเหล่านั้น ดำรงอยู่ได้ด้วยกับการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างหมู่มวลมุสลิม
 วิธีรับมือประการที่ 2: ความขัดแย้งทางศาสนา เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอโดยเหล่าผู้ปกครองเผด็จการ  โดยพวกเขาได้แสดงจุดยืนของตนเองในเรื่องนี้ ผ่านสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีอยู่  ราวกับว่าพวกเขาเป็นผู้สนับสนุนกิจการของศาสนา  แม้ว่าในความเป็นจริง พวกเขาจะไม่มีความรู้ใดๆ เลยเกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ หลักการและเครื่องมืออื่นๆ สำหรับการทำความเข้าใจอิสลามและวจนะของท่านศาสดา   ทว่าเนื่องจากพวกเขาไม่มีศักยภาพเพียงพอจะชักชวนให้คนอื่นคล้อยตามความปรารถนาต่างๆ ของตนได้ ดังนั้นจึงนำอิทธิพลของความเชื่อทางศาสนามาใช้เป็นสิ่งกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของประชาชนแทน  ในเรื่องนี้ เราจึงจำเป็นต้องเปิดโปงผู้ปกครองเหล่านั้น และประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ได้พูดตามหลักเหตุผล และตรรกะของศาสนา โดยที่ส่วนมากของพวกเขา ก็ไม่ใช่ผู้ที่มีความเข้าใจ หรือ ความรู้ในอิสลาม นอกจากเรื่องทั่วไป เช่น การนมาซ และทิศกิบละฮ์ เท่านั้น
วิธีรับมือประการที่ 3: ในทางตรงกันข้ามกับผู้ปกครองเผด็จการ บรรดาผู้พิทักษ์และปกป้องอิสลามอย่างแท้จริงกลับไม่เคยนำความแตกต่างระหว่างความเชื่อ หรือ เรื่องศาสนา มาเป็นประเด็นยั่วยุในการปลุกระดมผู้คน อีกทั้งไม่เคยส่งเสริมความแตกแยกระหว่างศาสนาและประชาชาติเลย  พวกเขาจะไม่ใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ   
ปัญหาหลักของโลกอิสลาม
เมื่อเราลองพิจารณาไปยังปัญหาที่สำคัญต่างๆ ของโลกอิสลาม เราจะพบว่า มีหลายปัญหาที่ปะทุขึ้นมาจากประเด็นทางการเมือง โดยที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ได้แก่ :
 ประการแรก  :  การเผชิญหน้ากับอเมริกา และแผนการของอเมริกาในการยึดครอง และครอบงำภูมิภาค
 ประการที่สอง : การเผชิญหน้ากับอิสราเอล ซึ่งได้ทำการยึดครองปาเลสไตน์และพยายามที่จะควบคุมอำนาจของตนในภูมิภาค  
 ประการที่สาม :  กลุ่มตักฟีรีย์ที่เผชิญหน้ากับทุกกลุ่มนิกาย ทั้งที่เป็นชาวชีอะฮ์ ซุนนี และคนต่างศาสนิก

ทั้งสามประการข้างต้น คือ ปัญหาหลักที่โลกอิสลามกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง ที่เราจำเป็นต้องแสดงออกด้วยมาตรการเชิงปฏิบัติว่านี่ ไม่ใช่ประเด็นทางศาสนา..!  
 นอกจากนี้ เราต้องขอหยิบยกจุดยืน ณ. ปัจจุบันของโลกอิสลาม ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นเรื่องทางการเมือง
 1. ท่าทีของอิหร่านกับการยึดครองของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานและอิรัก รวมถึงท่าทีของอิหร่านต่อการยึดครองปาเลสไตน์โดยอิสราเอล
 2. ความขัดแย้งระหว่างอียิปต์ ลิเบีย และตูนิเซีย,  ความขัดแย้งระหว่างตุรกีและอียิปต์ และความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ซึ่งล้วนเป็นความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น เนื่องจากฝ่ายต่างๆ เหล่านี้นับถือศาสนาและนิกายเดียวกัน แต่ด้วยกับข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหามากมายภายในประเทศจึงอุบัติขึ้น
 3. แผนการทำลายซีเรีย ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศอาหรับและประเทศอิสลาม มีทัศนะและความขัดแย้งกัน บางประเทศไม่เห็นด้วยและบางประเทศเห็นชอบด้วย โดยส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแผนการของสหรัฐฯและอิสราเอลในภูมิภาค ขณะที่อีกบางกลุ่มต่อต้านแผนการเหล่านี้ ด้วยเหตุนี่มันจึงเป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นทางศาสนา
 4. กองกำลังมุกอวิมัต (กองกำลังต้านทาน)ของชาวปาเลสไตน์นั้น มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน  และสิ่งนี้มันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ แต่เป็นลักษณะทางการเมือง
 5 .ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกองกำลังมุกอวิมัตปาเลสไตน์ และกองกำลังฮิซบุลลอฮ์ของชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งได้เผชิญหน้ากับอิสราเอล เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พิสูจน์ว่า ความแตกต่างทางความเชื่อและศาสนามิใช่บ่อเกิดของความขัดแย้งที่อาจบั่นทอนความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพราะทั้งสองฝ่าย ต่างก็อยู่ในแนวรบเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีความเชื่อ หรือ นับถือนิกายเดียวกัน
 ปัจจุบันนี้ความเป็นปึกแผ่นได้เกิดขึ้นแล้วในเลบานอน โดยที่ทุกฝ่ายได้ข้อสรุปว่า พรรคการเมืองภายในควรที่จะหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อจัดการให้ข้อพิพาทในประเด็นศาสนาถูกขจัดออกไป และในการนี้ จึงได้มีการจัดประชุมระหว่างฮิซบุลลอฮ์ กับขบวนการ อัล – มุสตักบัลขึ้น ในวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดสิ่งกีดกั้นความร่วมมือทางศาสนา และการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย และความพยายามเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคนั้น ไม่ใช่ปัญหาทางศาสนา ที่ซึ่งเลบานอนและฮิซบุลลอฮ์ก็ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้   
 ในวันนี้ เห็นได้ชัดว่าฮิซบุลลอฮ์ได้ต่อสู้กับอิสราเอลและกลุ่มขบวนการตักฟีรีย์ ซึ่งเป็นศัตรูของชาวมุสลิมและประชาชนทั่วโลก นอกจากนี้ยังต่อสู้กับการล่าอานานิคมของอเมริกาที่ต้องการจะกำหนดบทบาทและแผ่อิทธิพลของตนในภูมิภาค ปัจจุบันนี้ เลบานอนสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นประเด็นทางการเมือง และเลบานอนจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้  
 ความท้าทายประการที่สอง : ประเทศอิสลามไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นปาเลสไตน์
ความท้าทายประการที่สองที่โลกมุสลิมเผชิญ คือ การที่หลายประเทศ และองค์กรอิสลามได้ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์   โดยให้เหตุผลว่า ตนไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากต่างประเทศได้ จึงทำให้ต้องเห็นชอบด้วยกับอิสราเอล  อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่ามีหลายแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่น :
 ประการแรก  :  การยืนหยัดในการปลดปล่อยปาเลสไตน์ผ่านการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งในงานวิชาการ วรรณกรรม สื่อ และวิธีการแสดงออกทั้งหมดที่จะสามารถกระทำได้
 ประการที่สอง  :  การเน้นย้ำให้ปัญหาปาเลสไตน์ กลายเป็นปัญหารวม ที่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของชาวปาเลสไตน์เท่านั้น  แต่เป็นปัญหาของโลกอิสลาม และมนุษยชาติ ที่ซึ่งทุกๆ คน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และจำเป็นต้องประกาศคัดค้านการกดขี่ข่มเหง การรุกรานและการยึดครองของอิสราเอลในทุกวิถีทาง
 ประการที่สาม  :  การจัดลำดับให้อิสรภาพของปาเลสไตน์ มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ  และเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้ากับปัญหานี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องนำ อิสรภาพของปาเลสไตน์บรรจุไว้ในวาระการประชุมต่างๆ  พร้อมกับจะต้องขจัดอุปสรรคที่อาจกีดกันการกระทำเช่นนี้ทั้งหมด
 ประการที่สี่ : การยึดมั่นไปยังกองกำลังมุกอวิมัต ในฐานะหนทางสู่การปลดปล่อยปาเลสไตน์หนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ อันเนื่องจากว่า อิสรภาพของปาเลสไตน์จะไม่มีวันเกิดขึ้นผ่านสภาความมั่นคง การเจรจาและการจัดประชุมสัมมนา
 ปาเลสไตน์จะได้รับอิสรภาพด้วยอาวุธและความเข้มแข็งของกองกำลังมุกอวิมัต   ซึ่งฮิซบุลลอฮ์และกองกำลังมุกอวิมัตของปาเลสไตน์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า อิสราเอลจะเข้าใจเฉพาะภาษาของอาวุธเท่านั้น และด้วยกับภาษาอาวุธและปืน เหล่านักรบที่เคยทำให้อิสราเอลต้องหนีออกจากเลบานอน ได้ยืนยันที่จะขับเคลื่อนในรูปแบบเช่นนี้ในการต่อกรกับอิสราเอลต่อไป

ความท้าทายที่สาม: กลุ่มขบวนการตักฟีรีย์เป็นศัตรูของศาสนาอิสลาม
ความท้าทายที่สามของโลกอิสลาม คือ ขบวนการตักฟีรีย์ ในความพยายามที่จะทำลายสัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนาอิสลาม  แนวคิดของขบวนการตักฟีรีย์ เป็นแนวคิดทำลายล้างความศักดิ์สิทธิ์ และหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงของศาสนาอิสลาม ฉะนี้ คำพูดที่กล่าวอ้างว่า ขบวนการตักฟีรีย์มีความเกี่ยวข้องกับอิสลามจึงถือเป็นเรื่องที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะขบวนการตักฟีรีย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับศาสนาอิสลาม ชีอะฮ์ ซุนนี ศาสดามุฮัมมัด และคัมภีร์อัลกุรอาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับขบวนการตักฟีรีย์ในฐานะผู้ก่อการร้ายและผู้บ่อนทำลายเกียรติยศของอิสลาม
แนวทางในการเผชิญหน้าและการรับมือกับปรากฏการณ์นี้ :
 ประการแรก :   นักวิชาการและอุลามาอ์ต้องแสดงความรู้ของพวกเขาออกมา และนี่คือความรับผิดชอบทางศาสนาของนักวิชาการที่พวกเขาจำเป็นต้องแสดงออกมาในเชิงปฏิบัติ ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อล) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เมื่อสิ่งอุตริกรรมปรากฏเกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติของฉัน เป็นหน้าที่ของปวงปราชญ์ทุกคนต้องแสดงความรู้ออกมา และใครก็ตามที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น คำสาปแช่งของอัลลอฮ์ก็จะบังเกิดขึ้นกับตัวเขา"(๑)
 ประการที่สอง : เราต้องแยกแยะระหว่างหลักการอิสลามที่แท้จริง และแนวคิดของขบวนการตักฟีรีย์ให้ชัดเจน  ต้องแยกแยะและแจกแจงถึงข้อแตกต่างในการกล่าวบรรยาย และในการเทศนา และการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนทราบถึงความแตกต่างระหว่างศาสนาอิสลามกับขบวนการตักฟีรีย์ และความแตกต่างระหว่างความเมตตากับอาชญากรรม
 ประการที่สาม : เสริมสร้างความเข้มแข็งของการประชุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเอกภาพระหว่างโลกมุสลิม
 ประการที่สี่ : มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับสถาบันศาสนาและโรงเรียน เพื่อส่งเสริมศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ ด้วยความมุ่งมั่นให้เกิดสันติภาพ และเอกภาพที่แท้จริงภายในสังคม เนื่องจากขบวนการตักฟีรีย์ได้ใช้โรงเรียนศาสนาและสถาบันศาสนา เพื่อปลูกฝังและปลุกระดมแนวความคิดของตน
 ความท้าทายประการที่สี่: การเลือกปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐฯ
ความท้าทายประการที่สี่ ที่โลกมุสลิมเผชิญอยู่ คืออเมริกาและตะวันตก โดยยังมีชาติมุสลิม หรือ รัฐอาหรับ กล่าวอ้างถึงความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องพึ่งพาความก้าวหน้า เทคโนโลยี และการสนับสนุนของมหาอำนาจตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศของตน แม้จะต้องแลกมาด้วยกับอิสรภาพในการแสดงจุดยืนทางการเมือง และศาสนา ดังที่เราเห็นว่า ชาติอาหรับบางชาติกลับเลือกที่จะนิ่งเงียบในกับการกดขี่ของอิสราเอลในประเด็นปาเลสไตน์ แม้ว่าชาวปาเลสไตน์จะถือเป็นพี่น้องของพวกเขาตามหลักการศาสนาอิสลาม สำหรับการรับมือกับความท้าทายนี้ เราจึงจำเป็นต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับเสรีภาพ และสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน
 อิมามอาลี(อ)กล่าวว่า "จงอย่าทำให้ตัวของเจ้าเองเป็นทาสของผู้หนึ่งผู้ใด เพราะแท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ทรงสร้างเจ้ามาเป็นอิสรชน"  (๒)   ด้วยวิธีนี้ เราต้องรักษาและคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งในการสร้างความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจต่างๆ  และผดุงไว้ซึ่ง ความสามัคคีและความสมัครสมานของประชาชนในประเทศอิสลามให้มั่นคง เพื่อเป็นการบีบบังคับให้ตะวันตก ต้องเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเราตามความต้องการของเรา

-  อ้างอิง   
คัดย่อจากบทความของ  Sheikh Naim Qassem  รองเลขาธิการฮิซบุลลอฮ์เลบานอน ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ al-Asfir ของเลบานอน   
(๑) หนังสือ  อัลกาฟีย์ เล่ม ๑  หน้า ๕๔
(๒)  หนังสือ นะฮฺญุลบะลาฆฮ์  (ธรรมะโวหาร อิมามอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ))   สาส์นฉบับที่ ๓๑