เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ผลของการจ่ายทาน (อินฟาก)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ผลของการจ่ายทาน (อินฟาก)


เชคอิมรอน พิชัยรัตน์ / เรียบเรียง


การจ่ายทานในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าและการช่วยเหลือบรรดาผู้ยากไร้ในสังคม มีผลและความจำเริญตามมาอย่างมากมาย ซึ่งได้แก่
1. สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ
 หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่หลวงของสังคมทุกยุคทุกสมัย คือ ความยากจน การด้อยโอกาสทางสังคมและแบ่งชนชั้นทางสังคม ซึ่งสังคมก้าวหน้าไปภายใต้ความเลวร้ายของการแบ่งชนชั้นและความไม่ยุติธรรม มันได้แผ่ปกคลุมเหนือความสัมพันธ์ของมนุษย์และมันจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมายในสังคม “อินฟาก” ตามความหมายทั่วไปแล้วมันคือสื่อหนึ่งที่มีผลมากระดับหนึ่งต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของมนุษยชาติทุกระดับชั้นของสังคม สร้างความสมดุล ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นทางสังคมหรือไม่ก็ทำลายชนชั้นทางสังคมจนหมดสิ้นไป
 เนื่องจากบทบาทสำคัญของการ “อินฟาก” และการช่วยเหลือบรรดาผู้ยากไร้ อัลลอฮ์(ซบ.) ได้ตรัสแก่บรรดาคนรวยของสังคมว่า
وَلا يَأْتَلِ أُولُو الْفَضْلِ مِنْكُمْ وَالسَّعَةِ أَنْ يُؤْتُوا أُولِي الْقُرْبَى وَالْمَسَاكِينَ وَالْمُهَاجِرِينَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ
“และผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนยากจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮ์” (ซูเราะฮ์อันนูร โองการที่ 22)
 หากบรรดาคนรวยของสังคมได้แบ่งปันเสี้ยวหนึ่งจากความมั่งคั่งของพวกเขาให้กับคนยากจนและอนาถา นอกจากจะได้รับมรรคผลรางวัลทางจิตวิญญาณแล้วเขายังได้ช่วยปกป้องทรัพย์สินของเขาไว้อีกด้วย อีกทั้งยังได้ทำลายความไม่ปลอดภัยต่างๆ ที่เกิดมาจากความยากจน หากคนที่ทำความผิดไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน ส่วนมากแล้วก็จะเลิกทำความผิด และจะหันกลับมาปฏิบัติตามกฎหมายโดยใช้ชีวิตอย่างผู้คนทั่วไป
การจ่ายทานและช่วยเหลือผู้ยากไร้เท่ากับเป็นการช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากความเสื่อมทรามต่างๆ หากการจ่ายทานถูกลืมเลือนไป และความร่ำรวยถูกจำกัดไว้เพียงกลุ่มคนรวยและมีกลุ่มคนอีกมากมายที่ด้อยโอกาส ในไม่ช้าสังคมก็จะระเบิด ทรัพย์สินและความมั่งมีของคนรวยก็จะมอดม้วยไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การจ่ายทาน มันยังประโยชน์แก่คนรวยก่อนคนด้อยโอกาสเสียอีก เพราะการสร้างสมดุลแก่ความร่ำรวย คือการรักษาไว้ซึ่งความร่ำรวย
2. ความดีงามและสิริมงคล
ผลของการจ่ายทานอีกประการหนึ่งก็คือความดีงามและสิริมิงคลในการได้รับปัจจัยยังชีพ และผลกำไรที่คืนกลับสู่ผู้ที่จ่ายทาน อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสว่า
مَثَلُ الَّذِينَ يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ كَمَثَلِ حَبَّةٍ أَنْبَتَتْ سَبْعَ سَنَابِلَ فِي كُلِّ سُنْبُلَةٍ مِائَةُ حَبَّةٍ وَاللَّهُ يُضَاعِفُ لِمَنْ يَشَاءُ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
“อุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในทางของอัลลอฮ์นั้น ดังอุปมัยเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง ซึ่งในแต่ละรวงนั้นมีร้องเมล็ด และอัลลอฮ์นั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อีก และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 261)
 อิมามซอดิก(อ.) กล่าวแก่ชายผู้หนึ่งที่ยกโองการ  وَمَا أَنْفَقْتُمْ مِنْ شَيْءٍ فَهُوَ يُخْلِفُهُ
“และอันใดที่พวกเจ้าบริจาคไป พระองค์จะทรงทดแทนมันให้” (ซูเราะสะบะอ์ โองการที่ 39) ว่าเขาได้บริจาคทานแต่ไม่เห็นมีสิ่งใดมาทดแทน อิมาม(อ.) กล่าวว่า ท่านคิดหรือว่าอัลลอฮ์จะทรงบิดพลิ้วสัญญา ชายผู้นั้นกล่าวว่า “ไม่” อิมาม(อ.) กล่าวว่า แล้วอะไรที่ทำให้ท่านกล่าวเช่นนั้น? เขากล่าวว่า “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน” อิมาม(อ.) กล่าวว่า หากมีคนใดคนหนึ่งจากพวกท่านได้รับทรัพย์สินที่ฮะล้าลและได้บริจาคทานไป ไม่มีสักดิรฮัมเดียวที่เขาได้บริจาคไปนอกจากอัลลอฮ์(ซบ.) จะทรงทดแทนสิ่งนั้น
 อิมามซอดิก(อ.) กล่าวว่า จงบริจาคทานเถิด และจงเชื่อมั่นในสิ่งทดแทน จากโองการอัลกุรอาน และฮะดีษจะเห็นได้ว่าผลความดีงามและสิริมงคลที่ได้รับจากการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้นั้นมีมากมาย
3. การได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาป
มนุษย์ทั้งหมดกระทำสิ่งที่ผิดบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ ยกเว้นบรรดาศาสดาและบรรดาเอาลิยาอ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็มีสื่อหนึ่งที่จะปลดพันธนาการแห่งความผิดบาปที่เคยกระทำมาและเปลี่ยนให้กลายนั่นก็คือการบริจาคทานและให้การช่วยเหลือปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ตรัสว่า
وَقَالَ اللَّهُ إِنِّي مَعَكُمْ لَئِنْ أَقَمْتُمُ الصَّلاةَ وَآتَيْتُمُ الزَّكَاةَ وَآمَنْتُمْ بِرُسُلِي وَعَزَّرْتُمُوهُمْ وَأَقْرَضْتُمُ اللَّهَ قَرْضًا حَسَنًا لأكَفِّرَنَّ عَنْكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ
“และอัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า  แท้จริงข้านั้นร่วมอยู่ด้วยกับพวกเจ้า ถ้าหากพวกเจ้าดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตของข้า และสนับสนุนพวกเขา และให้อัลลอฮ์ยืมหนี้ที่ดี  แล้วแน่นอนข้าจะลบล้างให้พ้นจากพวกเจ้า ซึ่งความชั่วทั้งหลายของพวกเจ้า” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 12)
ทรงตรัสอีกว่า
الشَّيْطَانُ يَعِدُكُمُ الْفَقْرَ وَيَأْمُرُكُمْ بِالْفَحْشَاءِ وَاللَّهُ يَعِدُكُمْ مَغْفِرَةً مِنْهُ وَفَضْلا وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
“ชัยฎอนนั้น มันจะขู่พวกเจ้าให้กลัวความยากจน  และจะใช้พวกเจ้าให้กระทำความชั่วและอัลลอฮ์นั้น ทรงสัญญาแก่พวกเจ้าไว้ ซึ่งการอภัยโทษ และความกรุณาจากพระองค์และอัลลอฮ์ นั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 268)
4. จิตใจสงบ
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์นับแต่อดีตจนปัจจุบันต้องการได้มา นั่นก็คือ ความสงบสุข ในการดำเนินชีวิต จิตใจที่สงบนั่นเอง มนุษย์คิดว่าจะบริหารจัดการกับชีวิตตนเองอย่างไรเพื่อตนและครอบครัวนั้นมีความเป็นอยู่ที่สงบร่มเย็น มีจิตใจที่สงบ อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสว่า
الَّذِينَ يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ بِاللَّيْلِ وَالنَّهَارِ سِرًّا وَعَلانِيَةً فَلَهُمْ أَجْرُهُمْ عِنْدَ رَبِّهِمْ وَلا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلا هُمْ يَحْزَنُونَ
“บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน ทั้งโดยปกปิด และเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เสียใจ”
(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 274)
อีกโองการหนึ่งพระองค์ตรัสว่า
وَمَثَلُ الَّذِينَ يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمُ ابْتِغَاءَ مَرْضَاةِ اللَّهِ وَتَثْبِيتًا مِنْ أَنْفُسِهِمْ كَمَثَلِ جَنَّةٍ بِرَبْوَةٍ أَصَابَهَا وَابِلٌ فَآتَتْ أُكُلَهَا ضِعْفَيْنِ فَإِنْ لَمْ يُصِبْهَا وَابِلٌ فَطَلٌّ وَاللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ
“และอุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขา เพื่อแสวงหาความพึงใจของอัลลอฮ์  และเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวของพวกเขาเอง นั้นดังอุปมัยสวนแห่งหนึ่ง ณ ที่เนินสูง ซึ่งมีฝนหนัก ประสบแก่มัน แล้วมันก็นำมาซึ่งผลของมันสองเท่า แต่ถ้ามิได้มีฝนหนักประสบแก่มัน ก็มีฝนปรอยๆ และอัลลอฮ์นั้นทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 265)
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่านได้อรรถาธิบายความหมายของประโยค وَتَثْبِيتًا مِنْ أَنْفُسِهِمْ ไว้ว่าคือความสงบ ซึ่งผู้มอบ ผู้รับ และสังคมโดยรวมจะได้รับสิ่งนี้ ดังนั้นผู้ให้ที่แท้จริงนั้นก็คือผู้ที่ให้เพื่อความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ซบ.) ส่งเสริมมนุษยธรรมด้วยการสร้างคุณสมบัตินี้ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ดับทุกข์และความไม่สบายใจที่เกิดจากจิตใต้สำนึกต่อภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติกับบรรดาผู้ยากไร้ด้วยการหยิบยื่นการบริจาคทานแก่พวกเขา
จากโองการอัลกุรอานจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการบริจาคทานนั้นจะนำมาซึ่งความสงบทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังฮะดีษบทหนึ่งจากท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ดำรัสว่า “ผืนแผ่นดินแห่งกิยามัตนั้นเต็มไปด้วยไฟอันร้อนระอุ ยกเว้นสถานที่ของผู้ศรัทธา เพราะการบริจาคของเขาจะเป็นร่มเงาอันร่มเย็นให้แก่เขา”
4. ความผาสุกนิรันดร์
ผลสำคัญที่จะได้รับจากการบริจาคทานนั้นก็คือ ความผาสุกนิรันดร์ และบั้นปลายชีวิตที่พบกับความผาสุก ชีวิตบนโลกนี้นั้นสั้นนักเป็นสถานที่พำนักชั่วคราวของมนุษย์ ความสุข ความทุกข์ ความชื่นบาน ความขมขื่นที่เข้ามาในชีวิตก็เป็นสิ่งไม่จีรัง ในที่สุดมันก็ผ่านไป ทว่าสิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ “ชีวิตหลังความตาย” ซึ่งเป็นชีวิตอมตะนิรันดร์ และความสุขที่ได้รับก็ไม่อาจเทียบได้กับสิ่งที่ได้รับในโลกนี้ เช่นกันความทรมานจากการลงโทษก็ไม่อาจเทียบได้กับการลงโทษที่ได้รับในโลกนี้
ความผาสุกนิรันดร์ย่อมเป็นของผู้ที่วิถีชีวิตของเขาสอดคล้องต้องตามศาสนบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า และหยิบยื่นจากสิ่งที่เขาได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าแก่ปวงบ่าวที่ยากไร้ของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า
وَالَّذِينَ صَبَرُوا ابْتِغَاءَ وَجْهِ رَبِّهِمْ وَأَقَامُوا الصَّلاةَ وَأَنْفَقُوا مِمَّا رَزَقْنَاهُمْ سِرًّا وَعَلانِيَةً وَيَدْرَءُونَ بِالْحَسَنَةِ السَّيِّئَةَ أُولَئِكَ لَهُمْ عُقْبَى الدَّارِ (٢٢)جَنَّاتُ عَدْنٍ يَدْخُلُونَهَا وَمَنْ صَلَحَ مِنْ آبَائِهِمْ وَأَزْوَاجِهِمْ وَذُرِّيَّاتِهِمْ وَالْمَلائِكَةُ يَدْخُلُونَ عَلَيْهِمْ مِنْ كُلِّ بَابٍ (٢٣)سَلامٌ عَلَيْكُمْ بِمَا صَبَرْتُمْ فَنِعْمَ عُقْبَى الدَّارِ (٢٤)وَالَّذِينَ يَنْقُضُونَ عَهْدَ اللَّهِ مِنْ بَعْدِ مِيثَاقِهِ وَيَقْطَعُونَ مَا أَمَرَ اللَّهُ بِهِ أَنْ يُوصَلَ وَيُفْسِدُونَ فِي الأرْضِ أُولَئِكَ لَهُمُ اللَّعْنَةُ وَلَهُمْ سُوءُ الدَّارِ
“และบรรดาผู้อดทนโดยหวังพระพักตร์ (ความโปรดปราน) ของพระผู้อภิบาลของพวกเขา และดำรงการนมาซและบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย และพวกเขาขจัดความชั่วด้วยความดี ชนเหล่านั้นสำหรับพวกเขาคืนที่พำนักในปั้นปลายที่ดี
สวนสวรรค์ทั้งหลายอันสถาพร พวกเขาจะเข้าไปอยู่พร้อมกับผู้ทำดีจากบรรพบุรุษของพวกเขา และคู่ครองของพวกเขา และบรรดาลูกหลานของพวกเขา และมะลาอิกะฮ์จะเข้ามาหาพวกเขาจากทุกประตู (ของสวนสวรรค์)
(พร้อมกับกล่าวว่า) “ความศานติจงมีแต่พวกท่าน เนื่องด้วยพวกท่านได้อดทน มันช่างดีเสียนี่กระไรที่พำนักบั้นปลายนี้”
(ซูเราะฮ์เราะอ์ดุ โองการที่ 22-25)
วิธีการบริจาคทาน
1. เพื่อความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ซบ.)
ประการแรกซึ่งถือเป็นหลักสำคัญในการบริจาคนั้นก็คือ การบริจาคเพื่อความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ซบ.) มิใช่ทำไปเพื่อการโอ้อวด ต้องเป็นการบริจาคทานที่บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งใดแอบแฝง และมาจากจิตใต้สำนึกแห่งภาระหน้าที่ในการช่วยเหลือ เกื้อหนุน ค้ำจุน ปวงบ่าวของพระองค์ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ยิ่ง
2.ต้องบริจาคทานสิ่งที่ดี
การบริจาคทานแก่บ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในซูเราะฮ์อาลิอิมรอน ว่า
لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنْفِقُوا مِنْ شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ
“พวกเจ้าจะไม่ได้ประกอบคุณงามความดีเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี” (ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 92)
อิมามซอดิก(อ.) ตอบคำถามแก่สาวกที่ถามเกี่ยวกับโองการ
وَلا تَيَمَّمُوا الْخَبِيثَ مِنْهُ تُنْفِقُونَ
“และพวกเจ้าอย่ามุ่งเอาส่วนที่ไม่ดีมาบริจาค” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 267) ว่า เมื่อผู้คนเข้ารับอิสลาม ก็เคยมีทรัพย์สินเงินทองที่ได้รับจากดอกเบี้ย พวกเขาก็จะนำส่วนนี้มาเป็นทานแก่ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามการกระทำเช่นนี้ด้วยการบัญชาให้บริจาคทานสิ่งที่สะอาด
3. บริจาคโดยไม่ทวงบุญคุณ
ถือเป็นสิ่งสำคัญในการบริจาคคือต้องไม่ถือเป็นบุญคุณ หากเป็นเช่นนั้นแล้วการบริจาคย่อมไร้คุณค่าใดๆ ทั้งสิ้น อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا تُبْطِلُوا صَدَقَاتِكُمْ بِالْمَنِّ وَالأذَى
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา ! จงอย่าให้ทานทั้งหลายของพวกเจ้าไร้ผล ด้วยการทวงบุญคุณ และการก่อความเดือดร้อน”
(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 266)
อิมามซอดิก(อ.) กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ทำความดีแก่ศรัทธาชนผู้หนึ่ง แล้วพูดทวงบุญคุณในภายหลัง การบริจาคของเขาถือเป็นโมฆะ”

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม