ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน

ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน

 

 

คำว่า รอมฎอน มาจากรากศัพท์คำว่า “เราะ มะ ฎะ” คำว่า “รอมฎุน” หมายถึง ความร้อนระอุของหิน เนื่องจากแสงแดดที่ร้อนจัด หรือ หมายถึง ฝนตกตอนต้นฤดูใบไม้ร่วง ชำระล้างอากาศให้สะอาดจากฝุ่นละอองที่ตกค้างมาจากฤดูร้อน [1] หรือหมายถึงความร้อนอย่างรุนแรง[2]

 

 ส่วนสาเหตุที่ตั้งชื่อเดือนนี้ว่า รอมฎอน เนื่องจากวัฒนธรรมโบราณมักตั้งชื่อเดือนต่างๆ ไปตามกาลเวลาของปี และในช่วงที่ตั้งชื่อเดือนนี้ว่า รอมฎอน นั้นเป็นช่วงที่อากาศร้อนระอุมากที่สุด[3]

 

ท่านซะมัคชะรีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 528) กล่าวว่า เนื่องจากศีลอดเดือนรอมฎอน

 

เป็นอิบาดะฮ์ที่ยาวนาน และอาหรับได้ตั้งชื่อนี้ ตรงกับช่วงที่มีอากาศร้อนระอุมาก ความหิวโหยที่เกิดจากความร้อน และการลิ้มรสความยากลำบากของเดือนนี้

 

ขณะเดียวกันรายงานจำนวนมากมาย กล่าวถึงสาเหตุของการตั้งชื่อเดือนว่า รอมฎอน เนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนชำระล้างทำความสะอาดจิตวิญญาณให้สะอาดบริสุทธิ์ จากความสกปรกโสมมและบาปกรรม ชำระขัดเกลาสนิมใจที่เกิดจากข้อผิดพลาดให้สะอาด

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

« إنّما سُمِّیَ رَمَضانُ؛ لِأَ نَّهُ یُرمِضُ الذُّنوبَ »

 

อันที่จริงการตั้งชื่อเดือนนี้ว่า รอมฎอน เนื่องจากบาปกรรมจะถูกเผาผลาญสิ้น”

 

 ฉะนั้น การถือศีลอดเดือนรอมฎอน จึงเป็นเสมือนการเผาผลาญความผิดต่างๆ ที่ตนได้กระทำไว้ เมื่อสิ้นเดือนรอมฎอนจึงเหมือนกับคนใหม่ ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์

 

รอมฏอน เป็นเดือนเดียวที่อัลกุรอานกล่าวนามไว้ในอัลกุรอาน ดังที่กล่าวว่า..

 

شَهْرُ رَمَضانَ الَّذی أُنْزِلَ فیهِ الْقُرْآنُ هُدًی لِلنّاسِ

 

“เดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่อัล-กรุอานได้ถูกประทานลงมา เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ” [4]

 

รอมฎอนตรงกับเดือนที่ 9 ของปีจันทรคติ ซึ่งในเดือนนี้การถือศีลอดเป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) สำหรับมุสลิมทุกคน[5]

 

นอกจากนี้ตามคำสอนของอิสลามและอัลกุรอาน ยังถือว่าเดือนรอมฏอน เป็นเดือนที่มีความจำเริญ เนื่องจากอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนนี้ ดังโองการที่กล่าวแล้วข้างต้น และบรรดามุสลิมทั้งหลายต่างมีความเชื่อว่า ลัยละตุลก็อดรฺ (ค่ำคืนอานุภาพ) ก็อยู่ในช่วงเดือนรอมฏอนอีกด้วย

 รอมฏอนเป็นเดือนแห่งพระเมตตา ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

 

هو شهر اوله رحمة و اوسطه مغفرة و اخره عتق من النار

 

“รอมฎอนคือ เดือนซึ่งต้นเดือนนั้นเป็นความเมตตา กลางเดือนคือการอภัย และปลายเดือนคือ ความอิสระจากไฟนรก” [6]

 

 

แหล่งอ้างอิง

 [1] กิตาบุลอัยน์, เล่ม 7, หน้า 39, ตัฟซีรฟัครุรอซีย์, เล่ม 5 หน้า 89

[2] ลิซานุลอะหรับ, เล่ม 7, หน้า 160

[3] อ้างแล้วเล่มเดิม, มุอ์ญิมมะยิส อัลลุเฆาะฮ์ เล่ม 2, หน้า 440, มิศบาฮุลมุนีร, หน้า 231, อันนิฮายะฮ์, เล่ม 2, หน้า 264, มุฟรอดาต อัลฟาซ อัลกุรอาน, หน้า 366, มุอ์ญิม บะฮ์รัยน์ เล่ม 2, หน้า 732.

[4] อัลกุรอาน บทบะเกาะเราะฮ์, 185.

[5] โอ้ บรรดาผู้มีศรัทธา การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อว่าสูเจ้าจะได้สำรวมตน บทบะเกาะเราะฮ์, 183

[6] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 93, หน้า 342.

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ตักรีบมะซาฮิบอิสลาม