เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 8)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 8)

 ทฤษฎีความยุติธรรมของ เอมานูเอล คานท์
เอมานูเอล หรือ เอมานูเอิล คานท์ (1724-1804) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้มีอิทธิพลต่อปรัชญาตะวันตกอย่างลึกซึ้งในสายอภิปรัชญา ญาณวิทยา และจริยศาสตร์ งานของเขาในทัศนะของนักวิชาการหลายท่านถือเป็นเอก แต่ในเรื่องรัฐศาสตร์ และปรัชญาการเมือง นักปรัชญาบางส่วนมองว่าเขาไม่ได้อยู่ในแถวแรกของนักปรัชญาการเมือง ฮานส์ รีส (Hans Reiss)เชื่อว่า ในเรื่องการเมืองการจะเทียบคานท์ให้อยู่ในระดับเดียวกับ อริสโตเติล เพลโต หรือ ฮอบส์ นั้น เป็นเรื่องที่ต้องประเมินให้ดีเสียก่อน แม้ประวัติศาสตร์ตะวันตกจะละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อแนวคิดทางการเมืองของคานท์ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้สถานะที่แท้จริงของเขาลดลง[1]
กล่าวในภาพรวม มีสามประเด็นที่ต้องรู้ซึ่งนักประวัติศาสตร์การเมืองตะวันตก หรือแม้แต่ ลัทธิคานท์(Kantianism)ก็ละเลย นั่นคือ ประการแรก บางส่วนอ้างว่างานเขียนเชิงการเมืองของคานท์ ไม่อาจเทียบได้กับงานเขียน ในทางปรัชญาอย่าง คริติก หรือ บทวิพากษ์เหตุผลบริสุทธิ์ (Critique of pure reason) เพราะระดับของงานเขียนต่างกัน ฮันนา อาเรินท์ (Hannah Arendt) ชี้ว่า การมองว่างานเขียนเชิงการเมืองของคานท์เป็นงานเขียนที่ถูกผลิตขึ้นในวัยชรา และเป็นงานในวัยเกษียณ เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากงานเขียนปริมาณไม่มากนัก และเนื้อหาก็แสดงให้เห็นว่า คานท์ไม่ได้จริงจังเกี่ยวกับเรื่องการเมือง[2]  -ข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จริง เพราะคริติก ถูกตีพิมพ์ในปี 1781 ในขณะที่ปรัชญาการเมืองของคานท์ ซึ่งเป็นงานเขียนที่แยกกันเป็นเอกเทศน์กับ ตำราเล่มอื่นเช่น หนังสือปัญญาชนคืออะไร(What is Enlightenment) และหนังสือแนวคิดสำหรับประวัติศาสตร์สากลจากมุมมองสากล(Ideas for a Universal History from Cosmopolitian Point of View) เผยแพร่ในปี 1784 หลังคริติก 3 ปี ซึ่งลำดับเวลาชี้ให้เห็นถึงการตกผลึกทางความคิด และระบบปรัชญาที่ให้กำเนิดปรัชญาการเมืองของเขา
ประการที่สอง บางส่วนอ้างว่า คานท์เขียนเรื่องการเมืองก็จริง แต่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และไม่ได้เขียนครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ -ข้อเสนอนี้ก็ไม่ถูกต้องเพราะ ภาคแรกของ คริติก(1781) คือ เรื่องการเมือง ซึ่งโดยปกติแล้ว บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์แนวคิดการเมือง จะนำเสนอทฤษฎีของตนในตำราเอกของตนเสมอ คานท์ก็ทำแบบนั้น และงานเขียนช่วงท้ายของคานท์ ก็มีงานเขียนเชิงการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือ อภิปรัชญาว่าด้วยหลักจริยศาสตร์ (Fundamental Principles of the Metaphysic of Morals) ซึ่งเผยแพร่ในปี 1797 หรือ 1785
ประการที่สาม บางส่วนมองว่า แนวคิดของคานท์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือไม่ค่อยมีเรื่องใหม่มากนัก เป็นเพียงเรื่องปลีกย่อยจากปรัชญาจริยศาสตร์ เช่น เสรีภาพของบุคคล เสรีนิยมคลาสสิก – ความคิดนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะนักปรัชญาสมัยใหม่มากมายที่นำเสนอทฤษฎีของตนโดยอิงกับปรัชญาของการเมืองของคานท์ อย่าง จอห์น รอส์ล ใน A Theory of Justice ซึ่งนำเสนอทฤษฎีความยุติธรรม  โดยใช้แนวคิดศีลธรรมหน้าที่นิยมของคานท์มานำเสนอปรัชญาการเมืองของตน และถือว่าเหมาะกับประชาธิปไตยมากที่สุด และบางครั้ง รอส์ล ก็เอาแนวคิด สถานะที่บุคคลมีเจตจำนงเสรี มาเทียบเคียงกับ สถานะแรกเริ่ม หรือ Origin Position ในทฤษฎีความยุติธรรมของตน[3] นอกจากนี้ นักปรัชญาที่วิพากษ์ทฤษฎีของรอส์ลอย่าง ไมเคิล เจ แซนเดล ก็ให้ความสำคัญกับปรัชญาการเมืองของคานท์เช่นเดียวกัน[4]จากวิพากษ์ทั้งสามนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า แนวคิดทางการเมืองของคานท์ ไม่ใช่แนวคิดระดับต่ำหรือพื้นฐาน นำเสนอประเด็นสำคัญ และมีเรื่องใหม่ๆที่นักปรัชญาสมัยปัจจุบัน หยิบยกนำมาใช้.เพิ่มเติม คือ เมื่อพูดถึงปรัชญาการเมืองของคานท์ เรากำลังพูดถึงความยุติธรรม และสังคมในอุดมคติของคานท์ ไม่ใช่ ทัศนะของเขาเกี่ยวกับ การจำกัดเสรีภาพ,การจำกัดสิทธิการเลือกตั้งเฉพาะบุรุษ,ข้อห้ามเรื่องการประท้วงและฝ่าฝืนผู้นำรัฐ บทความนี้จึงมุ่งไปที่หลักการที่คานท์ใช้สร้างทฤษฎีความยุติธรรมของตน เพราะในความเป็นจริง ความคิดของเขา นับเป็นหนึ่งในแม่บทแนวคิดแบบเสรีนิยมคลาสสิก โดยเฉพาะ เสรีภาพของปัจเจก
ความยุติธรรม คือ สภาวะอิสระ
แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของคานท์ เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ และอิสรภาพ และถูกผนวกเข้าด้วยกัน โดยเขาชี้ว่า ความยุติธรรม มีไว้เพื่อสร้างความเป็นไปได้ และธำรงรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพของปัจเจกบุคคล ในแบบที่คนหนึ่งคนจะไม่ไปละเมิดต่ออิสรภาพของผู้อื่น จากแนวคิดของเขาทำให้พบว่า ความยุติธรรมคานท์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การแบ่ง การจัดการความเหลื่อมหล้ำ หรือ การสร้างความเท่าเทียมในทางสังคม วัฒนธรรม หรือ เศรษฐกิจ คานท์กล่าวว่า”การจำกัดอิสรภาพของแต่ละคนจะต้องเป็นไปในรูปแบบที่อิสรภาพของบุคคลผู้นั้นกับอิสรภาพพของผู้อื่นสอดคล้องกัน”[5] เท่ากับว่าหลักความยุติธรรมของคานท์ คือ การมอบพื้นที่และสร้างโอกาสที่สามารถมีอิสรภาพและทำให้อิสระเกิดขึ้น
ความคิดของคานท์สอดคล้องกับความคิดของฮอบส์ และล๊อค ในเรื่อง”สภาวะธรรมชาติ” (State of Nature) ต่างกันตรงที่ฮอบส์มองว่า สภาวะธรรมชาติ เป็นสิ่งสมมติ และเป็นการทดลองทางความคิด ในขณะที่คานท์มองว่า สภาวะดังกล่าว มีจริงและเคยเป็นธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ คานท์อธิบายแบบเดียวกับฮอบส์เพียงเล็กน้อย แต่ต่างออกไปตรงเนื้อหา เขามองว่า เดิมสภาวะธรรมชาติ ทำให้ผู้คนใช้ความรุนแรง ละเมิดอิสระเสรีของกันและกันได้ ซึ่งต่อมาเพื่อรักษาอิสระเสรีของแต่ละคน มนุษย์จึงสร้างกฎขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้ การเปลี่ยนจาก สภาวะธรรมชาติ หรือ หากท่านจะเรียกว่า สถานะก็ได้ เป็นสภาวะอิสรภาพนี้เอง คือ สิ่งที่คานท์เรียกสภาวะนี้ว่า สภาวะยุติธรรม ซึ่งตรงข้ามกับสภาวะธรรมชาติ เพราะสังคมใดก็ตามที่ไร้กฎหมาย ไร้ขื่อแป สังคมนั้นย่อมมีสภาวะ หรือ สถานะแบบธรรมชาติ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็น สภาวะเสรี
ประเด็นหลักในแนวคิดของคานท์คือ “อิสระภาพภายนอก” (Inner Freedom)จะพบได้ในงานเขียนของเขา คานท์แบ่ง อิสรภาพออกเป็นสองรูปแบบ คือ อิสรภาพภายนอก กับ อิสรภาพภายใน (Outer freedom) ซึ่งในเรื่องของทฤษฎีจริยศาสตร์ คานท์ผนวกมันเข้ากับ อิสรภาพภายใน แต่ในเรื่องของความยุติธรรม คานท์ผนวกมันเข้ากับอิสรภาพภายนอก และเขาก็ได้แบ่ง อิสรภาพภายนอกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ อิสรภาพภายนอกแบบถูกต้องกฎหมาย(Rightful)และประเภทที่สองคืออิสรภาพภายนอกแบบไร้กฎหมาย หรือแบบป่าเถื่อน(Wild)ตามหลักการนี้ คานท์ตัดสินว่าอิสระเสรีที่ถูกต้องของบุคคลจะต้องถูกกฎหมายด้วย จึงจะเรียกได้ว่ายุติธรรม ส่วนแบบที่สองซึ่งไม่มีกฎหมาย และป่าเถื่อนนั้น คานท์จัดให้อยู่ในประเภทอิสระแบบสภาวะธรรมชาติ หรือถ้าเราจะเรียกให้ใกล้เคียงมากขึ้น คือ อิสระแบบป่าเถื่อน
เหตุผลที่คานท์ไม่มองว่า ความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับการสร้างความเท่าเทียม หรือ การปรับสมดุลเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ เพราะในนิเทศของความยุติธรรม ไม่มีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมอยู่ในตัวของมัน กล่าวคือ แค่พูดว่า ต้องยุติธรรม ความหมายของคำนี้ไม่ได้สื่อว่า ต้องแบ่ง ลูกกวาดสิบเม็ดให้คนสิบคน หรือให้เงินลูกๆที่เรียนในระดับที่ต่างกันเท่ากัน สำหรับคานท์ ความยุติธรรมประกอบไปด้วย
(๑) มีความสัมพันธ์ภายในเกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคลในแบบที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อกัน จากองค์ประกอบนี้เท่ากับบอกว่า หากมีความสัมพันธ์เกิดขึ้น แต่ไม่มีผลต่อกัน หรือ หากไม่มีความสัมพันธ์เกิดขึ้น กรณีแบบนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม
(๒) แต่ละฝ่าย มีเจตจำนง มีเจตนาต่อกัน ในแบบที่มีผลต่อกัน จากองค์ประกอบนี้เท่ากับบอกว่า หากมีความสัมพันธ์แต่ไม่มีเจตนา หรือ มีเจตนาแต่เจตนาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่ออีกฝ่าย กรณีแบบนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม
(๓) ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในแบบที่ทั้งสองฝ่ายมีอิสรต่อกัน ภายในกรณีนี้ หากฝ่ายหนึ่งมีอิสรภาพ แต่อีกฝ่ายไร้อิสรภาพ ก็จะไม่ถือว่าการปฏิบัตินั้น เป็นความยุติธรรม [6]
จากเนื้อหานี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ความยุติธรรม คือ ความปรารถนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรเสรีภาพ หรือ การกระทำเพื่อให้ได้อิสรเสรีภาพ และอิสรภาพดังกล่าว คือ อิสรภาพภายนอก ที่ประชาชนมีความเกี่ยวข้องกับสังคม และการเมือง และการทำให้อิสรภาพภายนอกมั่นคง คือ การสร้างรากฐานความยุติธรรมของผู้คนในสังคม และเสรีภาพที่คานท์กำลังนำเสนอคือเสรีภาพแบบคลาสสิก ซึ่งมีความหมายต่างออกไปจากเสรีภาพแบบยุคโมเดิร์น
ประเมินและวิเคราะห์
(๑) จะเห็นว่า คานท์ตีกรอบความยุติธรรมให้แคบลงและจำกัดมันเพียงในเรื่องอิสรภาพ และเสรีภาพ และเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งค่าทั้งสอง แต่ในข้อเท็จจริง ประเด็นเรื่องความยุติธรรมกว้างกว่านั้น เพราะยังมีความยุติธรรมในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคม การเมือง การตัดสินตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้องแบบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จะเป็นการดีกว่าถ้าหากเสนอเนื้อหานี้ในฐานะกิ่งก้านหนึ่งของความยุติธรรม ไม่ใช่ปฏิเสธความยุติธรรมในวงการอื่น.
(๒)สภาวะธรรมชาติ เป็นสิ่งสมมติ เพราะไม่มีหลักฐานใดๆทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า มนุษย์เกิดมาและเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตอย่างป่าเถื่อนก่อนมีเหตุผล หรือ หากจะกล่าวในอีกบริบทหนึ่ง การยอมรับว่าสภาวะดั้งเดิมของมนุษย์นั้นป่าเถื่อน เท่ากับ ยอมรับว่า มนุษย์ชั่วร้ายโดยกมลสันดาล ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ชี้ว่า มนุษย์ถือกำเนิดว่าในรูปแบบที่สามารถชั่วหรือดีได้
(๓)จะเห็นว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของคานท์ที่พ่วงเข้ากับ สภาวะอิสระ จำกัดและสรุปแบบตัดตอนว่า มนุษย์ต้องการความยุติธรรม เพื่ออิสระเสรีภาพของตนเพียงด้านเดียว ไม่มีความเป็นไปได้หรือแรงจูงใจในด้านอื่นๆเช่น การทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ การรักษาเสถียรภาพทางการเมือง หรือ ทางสังคม

ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
ที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม