สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-1)

 สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-1)


รอเบิร์ต นอซิก Robert Nozick (1938-2002)เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการในช่วงปี 70 ศ.มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ผลิตงานวิชาการมากมาย งานของนอซิก เปรียบเหมือนการตอบและวิพากษ์ทฤษฎีความยุติธรรมของจอห์น รอว์ลส โดยงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ Anarchy State and Utopia อนาธิปไตยรัฐ และยูโทเปีย ซึ่งถูกเขียนขึ้น เพื่อปกป้องทฤษฎีการเมืองแบบเสรีนิยม ดังที่จะเห็นได้ในหน้าแรกของหนังสือ ซึ่งนอซิก เรียกหนังสือของตนเองว่าเป็นหนังสือ อิสรเสรีนิยม หรือ ไลเบอทาเรี่ยน(Libertarian) เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็นสามภาค ภาคแรกจะเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการมีรัฐอำนาจน้อยซึ่งถูกจำกัดอำนาจให้เหลือเพียงการดูแลสิทธิของประชาชน ภาคที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การกระจายความยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นของบทความฉบับนี้ และในภาคที่สามจะเป็นการเสนอว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบที่กว้างขวางเกินไป จะไม่น่าดึงดูด และไม่มีใครต้องการ
ทฤษฎีความยุติธรรมของนอซิก : ทฤษฎีการได้รับสิทธิ Entitlement Theory
การจะเข้าใจทฤษฎีของนอซิก จะต้องตีให้แตกก่อนว่า ความหมายของการกระจายความยุติธรรมที่นอซิกพูดถึง ไม่ใช่การกระจายความยุติธรรมแบบแบ่งทรัพยากร หรือสวัสดิการ แต่คือการค้นหาความยุติธรรมในการครอบครองและการมีทรัพย์สิน แนวคิดนี้สะท้อนว่า ความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องการแบ่งเงินให้เด็กป.สาม น้อยกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยแบบต่างกันตามความเหมาะสม แต่คือการดูว่าใครมีสิทธิในการได้เงิน นอซิกไม่ได้ใช้ “ความเหมาะสม” เป็นไม้บรรทัดวัดค่าความยุติธรรม แต่ใช้ “การได้รับสิทธิ” เป็นมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ หากจะสรุปสั้นๆ คือ สำหรับนอซิกแล้ว ความยุติธรรมไม่ได้หมายถึง “การมอบสิ่งที่สิ่งนั้นสมควร/เหมาะสมที่จะได้รับ” แต่คือ “การครอง หรือ การมอบสิ่งที่บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับ”
          จากแนวคิดนี้ตามหลักทฤษฎีของนอซิก คนที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม มี ๓ ประเภทได้แก่
ผู้ที่ครอบครอง เช่น ผู้ที่ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ
ผู้ที่ผลิต หรือ สร้างบางสิ่ง ด้วยการกระทำของตนเอง
ผู้ที่ได้รับการโอนสิทธิในการครอบครองอย่างยุติธรรม
และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองก็มี ๓ ประเภทเช่นเดียวกัน ได้แก่
(๑)  ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน เหมืองแร่ แหล่งน้ำ เป็นต้น
(๒)  ร่างกาย ทักษะ ความสามารถของบุคคล บนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนคือผู้    ครอบครองอวัยวะ และความสามารถของตนเอง
(๓)  สิ่งของที่มนุษย์ สร้าง หรือ ผลิต บนฐานที่ว่า ผลิตผลดังกล่าว เป็นผลจากการใช้พลังทางธรรมชาติหรือการลงแรงของร่างกายของบุคคล หรือ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ
การแบ่งประเภทเหล่านี้กำลังสะท้อนว่า ในทัศนะของนอซิก การกระจายความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการครอบครอง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะการครอบครองให้มีความยุติธรรม ไม่ใช่ใครควรได้อะไร แต่ได้มาแบบไหนถึงจะถูก ดังนั้นความยุติธรรมของเขาจึงเป็นความพยายามตอบคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะแสวงหาสิ่งต่างๆและครอบครองมันอย่างยุติธรรม ไม่ใช่ทำอย่างไรจึงจะแบ่งอย่างยุติธรรม และจากคำถามหลักนี้ นอซิก ได้เสนอหลักการสร้างความยุติธรรมของตนเอง สามประการด้วยกันได้แก่ (๑)หลักความยุติธรรมในการครอบครอง (๒)หลักการโอนสิ่งที่ถือครอง (๓)หลักความยุติธรรมในการทำให้ถูกต้อง[1]
(๑)  หลักความยุติธรรมในการครอบครอง[2]
ในหลักการแรก จะเป็นการเสนอถึง กระบวนการครอบครอง สิ่งใดคือสิ่งที่มนุษย์ครอบครองได้,สิ่งใดไม่อาจครอบครอง,รูปแบบการครอบครองที่ถูกต้อง โดยนอซิก เริ่มจากการเสนอว่า แรกเริ่มนั้น ทุกสิ่งไม่มีผู้ใดครอบครอง มีเพียง การครอบครองแรกเริ่มเท่านั้น ที่บุคคลสามารถนำสิ่งต่างๆมาครอบครองเป็นของตนเองได้ และการครอบครองแบบแรกเริ่ม ก็จะต้องกระทำอย่างถูกต้อง บนเงื่อนไขที่ถูกต้อง เช่น “อนุญาตให้บุคคล ใช้สิ่งต่างๆที่ตนถือครองได้ จนกว่า สิ่งที่ถือครองจะมอบประโยชน์ให้เขาได้อย่างพอดี และเขาสามารถส่งต่อมันให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยดี” จากตัวอย่างสะท้อนว่า บุคคลสามารถครอบครองสิ่งต่างๆได้ โดยมีเงื่อนไขคือ ครอบครองอย่างเพียงพอ และสามารถส่งต่อให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น หากการครอบครองเกินความพอดี หรือสิ่งที่ถือครองเสียหายจนไม่อาจส่งต่อให้แก่ผู้ใดได้ การครอบครองดังกล่าวถือว่าใช้ไม่ได้ และผิดกระบวนการ และหากส่งต่อก็จะถือว่า ขัดกับหลักความยุติธรรม เช่น การขายที่ดินที่เจือปนพิษจนไม่สามารถปลูกพืชได้ ให้เกษตรกรที่เข้าใจว่า จะได้ที่ดินที่ดีสำหรับเพาะปลูก
(๒) หลักความยุติธรรมในการโอนสิ่งที่ถือครอง[3]
เป็นการเสนอกระบวนการสร้างความยุติธรรมในการโอนสิ่งที่ถือครองจากบุคคลหนึ่ง สู่อีกบุคคลหนึ่ง คือ การตอบคำถามว่า การโอนสิ่งถือครองอย่างไร จึงจะถือว่ายุติธรรม ยึดบนหลักการใด และทำอย่างไร จึงจะถือถือว่าผู้รับ รับการโอนสิ่งที่ถือครองอย่างยุติธรรม ซึ่งในหัวข้อนี้ นอซิกเสนอว่า การโอนสิ่งถือครองอย่างถูกต้อง การจากการสมัครใจเองของผู้โอน ดังนั้นในกรณีที่ผู้โอนสิ่งถือครอง ไม่สมัครใจ การโอนดังกล่าวจะถือว่าไม่ยุติธรรมเช่น การถูกบังคับให้โอนโฉนดบ้าน เพราะคำขู่เอาชีวิต
(๓) หลักความยุติธรรมในการทำให้ถูกต้อง[4]
หลักการนี้ จะทำหน้าที่ก็ต่อเมื่อ สองหลักการแรกถูกละเมิด หรือ ละเลย หมายความว่า หากการได้ครอบครองสิ่งหนึ่ง ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง หลักการนี้จะค้นหาว่ากรณีดังกล่าว ควรจัดการอย่างไรจึงจะถูกต้อง หรือ หากการโอนสิ่งถือครอง ไม่ถูกต้อง จะต้องปรับปรุงอย่างไรจึงจะถูกต้อง
คำอธิบาย
ประเด็นที่ ๑ หลักหรือกฎความยุติธรรมทั้งสาม คือ วิธีแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมของนอซิก กล่าวคือ นอซิก ได้วางมาตรฐานความยุติธรรมไว้ขั้นตอน การครอง หรือ การได้มาแบบใดถึงจะยุติธรรม นอซิก ได้สร้างเงื่อนไข หรือ มาตรฐานไว้ว่า ในขั้นแรกให้ดูว่า การครองดังกล่าวเป็นการครองแบบแรกเริ่มหรือไม่ ถ้าไม่ใช้ การส่งสิ่งครอบครอง ไม่ว่าจะที่ดิน หรือ ทรัพย์สิน ก็ไม่ยุติธรรม สองคือ การโอนสิ่งครอบครอง โอนด้วยความสมัครใจจากเจ้าของมือแรกหรือหรือไม่ ถ้าเจ้าของมือแรกโอนสิ่งครอบครองอย่างถูกบังคับ หรือไม่เต็มใจ ก็จะถือว่า การโอนดังกล่าวไม่ยุติธรรม สามคือ ถ้าหากสองขั้นตอนแรกไม่ยุติธรรม วิธีแก้ในขั้นแรก ก็คือ การคืนสิ่งครอบครองให้ผู้มีสิทธิครอบครองแต่แรกเริ่ม และในขั้นที่สองก็คือ การคืนสิ่งครอบครองให้เจ้าของที่โอนมันโดยไม่สมัครใจ
ประเด็นที่ ๒ กุญแจสำคัญในแนวคิดของนอซิก อีกดอกหนึ่งคือ นอซิก ทฤษฎีของเขาไม่ได้แตกออกมาโดยคำนึงถึง ความเหมาะสม ความคู่ควร เป็นหลัก แต่เป็น”สิทธิ” สองอย่างนี้แตกต่างอย่างไร ? คำตอบคือ (๑)ถ้าดูที่”ความเหมาะสมหรือความคู่ควร”เป็นหลักสิทธิก็จะเป็นรอง (๒) ในบางกรณี ผู้ที่คู่ควร หรือ เหมาะสมต่อบางสิ่ง อาจไม่มีสิทธิในการครอบครองสิ่งนั้นในทางกฎหมาย (๓) สิทธิ เป็น ค่าทางศีลธรรมที่แตกออกมาจาก”ความคู่ควร” แต่สามารถแยกออกจาก”ความคู่ควรได้”ขึ้นอยู่กับสำนักคิดและอุดมการณ์(๔)ความเหมาะสม หรือ ความคู่ควร อาจไม่มีกฎหมาย หรือ อาจเป็นขั้นตอนก่อนการเขียนกฎหมาย แต่สิทธิจะเป็นเรื่องหลังเขียนกฎหมาย และกำหนดเป็นธรรมนูญแล้วว่า ใครมีสิทธิได้รับอะไร ยกเว้น”สิทธิ”ในปรัชญาการเมือง เพราะในปรัชญาการเมือง จะนำเสนอว่า มนุษย์ควรมีสิทธิได้รับสิ่งใดด้วยเหตุผลใด ส่วนในกฎหมายจะไม่ถกเถียงกันแล้วว่า ใครควรได้รับอะไร แต่จะใช้กฎหมายหรือสิทธิในทันที
ตัวอย่างง่ายๆ หากยึดความเหมาะสมเป็นหลัก คนที่หิว และไม่มีกิน ก็ควรได้รับการช่วยเหลือ และอาหาร แต่หากยึดสิทธิเป็นหลัก ผู้ที่มีสิทธิกิน จะไม่ได้ดูว่า หิวหรือไม่หิว มีกินหรือไม่มีกิน แต่จะดูกันว่า วิธีที่เขาได้ส้มผลหนึ่งมากินนั้น ถูกต้องหรือไม่ ลองคิดประเด็นนี้ท่านคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน ด้วยเหตุผลอะไร ?
ประเด็นที่ ๓ ต่อยอดจากกฎสามข้อทำให้ได้ผลลัพธ์ว่า (๑)ผู้ที่ครอบครองโดยให้ความสำคัญกับหลักของสิทธิในการครอบครอง ย่อมมีสิทธิในการครอบครองสิ่งของนั้นอย่างถูกต้อง (๒)หากเจ้าของแรกโอนให้คนที่สองอย่างยุติธรรม เจ้าของคนที่สองก็ย่อมมีสิทธิในการครอบครอง และสิทธิในการโอนแก่ผู้อื่นอย่างชอบธรรมด้วยเช่นเดียวกัน(๓)ไม่มีใครมีสิทธิในการครอบครองหากไม่ทำตามวิธีที่ว่านี้
[1] Robert Nozick,Anachy,State and Utopia,p 150
[2] The Principle of justice in acquisition
[3] The Principle of justice in Transfer
[4] Principle of Rectificationf

ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
ที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา