สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-2)

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-2)

จากตอนที่หนึ่งผู้เขียนได้นำเสนอ แนวคิดหลักของนอซิก ว่าด้วยความยุติธรรม ซึ่งก็คือ หลักการทั้งสามข้อได้แก่ (๑)การได้ครอบครองอย่างยุติธรรม (๒)การโอนสิทธิการครอบครองอย่างยุติธรรม และ(๓)การแก้ไขในกรณีที่สองข้อแรกเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม ในบทความตอนที่สอง เนื้อหาจะต่อเนื่องจากบทความตอนแรก
พิจารณาทฤษฎีการได้รับสิทธิ หรือ สิทธิ(Entitlement Theory)ผ่านวิธีซัลบูอีญอบ(ยืนยัน-ปฏิเสธ)[1]
    ตามที่นอซิกได้อธิบายไว้ ทฤษฎีของเขาไม่ได้พูดถึงความยุติธรรมทางสังคมในเรื่องอื่น หรือ ในทางอื่น นอกจากเรื่อง “การครอบครอง” ต่างจากทฤษฎีความยุติธรรมของอริสโตเติล เพลโต ฟารอบี ที่พูดเรื่องความยุติธรรมในแง่อื่น เช่น ในแง่ของ ความสมดุล หรือ ความยุติธรรมเชิงโทษานุโทษ
    ทฤษฎีของนอซิก ไม่เหมือนทฤษฎีของรอล์ส ตรงที่ นอซิก ให้ผู้ที่ต้องการใช้ทฤษฎีของเขา เริ่มจากการหา”การครอบครอง”แรกเริ่ม ถึงจะรู้ได้ว่าต้องครองอย่างไร หรือใครคือผู้มีสิทธิครอบครองถึงจะ”ยุติธรรม” ส่วนรอล์ส ให้เราหลบเข้าไปใน”ม่านแห่งความไม่รู้ถึงจะตัดสินได้อย่างยุติธรรม
    จากข้อสองจะเห็นว่า แนวคิดของ นอซิก อิงมุมเชิงประวัติศาสตร์ และอันที่จริงเขาก็อ้างและให้เหตุผลด้วยว่า ทฤษฎีของเขา เป็นทฤษฎีประวัติศาสตร์ (Historical) เพราะเขาให้ความสำคัญกับการค้นหาสาเหตุ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการครอบครอง
    ต่อยอดความเข้าใจจากข้อสาม ที่นอซิก อ้างว่า ทฤษฎีของตน คือ ทฤษฎีประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายถึง นอซิก ไปเอาโมเดลความยุติธรรมจากทัศนะของนักปรัชญาในอดีต และไม่ได้หมายถึง ทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบเฮเกล (Thesis – Antithesis = Synthesis) ที่อธิบายว่าประวัติศาสตร์ไหลไปเหมือนทางตรง และค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆจนกว่ามันจะสมบูรณ์ แต่เป็นการอธิบายว่า ที่อุดมการณ์ทางการเมืองหรือทางปรัชญาของแต่ละสำนักมีความแตกต่างกัน ล้วนกลับไปที่การอธิบายเรื่อง ทรัพย์สิน และการครอบครอง กล่าวอีกบริบทหนึ่ง ความขัดแย้งหรือความแตกต่างของอุดมการณ์ทางสังคม ซึ่งเราต้องเรียนกันอย่างน้อยสองสามหน่วยกิจ ในวิชาปรัชญา หรือ ปรัชญาการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของ”การครอบครอง”ทั้งสิ้น เช่น ถ้ายึดอรรถประโยชน์นิยม(utilitarianism)เป็นมาตร โครงสร้างของการกระจายผลประโยชน์ของสังคม ก็จะยึดความสุขมากที่สุด,มีประโยชน์มากที่สุด(the principle of utility)เป็นหลัก ถ้ายึดสังคมนิยม การกระจายผลประโยชน์ ก็จะคำนึงถึง การตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานเป็นหลัก นอซิกจึงให้ข้อสรุปว่า ถึงอุดมการณ์จะเกิดขึ้นใหม่ก็จริง แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาเพื่อหาคำตอบว่า”จะครอบครองอย่างไร ถึงจะยุติธรรมที่สุด” นี่คือ ความหมายของทฤษฎีประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่ละอุดมการณ์ล้วนมีกรอบเป็นของตัวเอง อย่างอรรถประโยชน์นิยม หรือ สังคมนิยมที่เราได้ระบุไว้ แต่ทฤษฎีของนอซิกเขาอ้างว่า ไม่มีกรอบตายตัว หรือ หากจะกล่าวในอีกบริบทหนึ่งแนวคิดของนอซิก ตามที่เขาได้อ้างไว้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับอุดมการณ์ใดเลย ไม่มีโมเดลอุดมการณ์การเมืองเฉพาะ สิ่งที่เขาเสนอเป็นเพียงแค่กฎเหล็กของความยุติธรรมเท่านั้น และนี่อาจจะอธิบายความหมายของ อนาธิปัตย์ ในอุดมคติและในความฝันของนอซิก[2]
    ประเด็นต่อมา จะเป็นการโจมตีของนอซิกต่อทัศนะของผู้อื่น เขามองว่า ทฤษฎีความยุติธรรมใดก็ตามที่ไม่เป็นประวัติศาสตร์ ล้วนยึดเป้าหมาย หรือ ผลลัพธ์เป็นหลัก(End Result Principle)ทั้งสิ้น ยุติธรรม หรือไม่ ดูกันที่ผลลัพธ์ สำหรับนอซิกแล้ว ทฤษฎีความยุติธรรมแบบนี้ ไม่อาจทำให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะไม่ยึดประวัติศาสตร์เป็นแกนกลาง[3]
    ความไร้แบบแผน หรือ โมเดล ของนอซิก อยู่ตรงข้ามกับ แนวคิดแบบแผนนิยม ที่สอนว่า ระบบการกระจายจะถูกต้องยุติธรรม เมื่ออยู่ภายใต้กรอบหนึ่ง หรือ เมื่อมีลักษณะพิเศษบางประการ และ มิติธรรมชาติ เช่น ทรัพย์ หรือ ที่ดิน จะถูกต้อง ยุติธรรม เมื่อส่งต่อให้ คนที่ความเหมาะศมทางศีลธรรม(Moral merit) ผู้มีสติสัมปัญญะดี มี IQ ดังนั้นผู้วิกลจริต ผู้ไม่มีศีลธรรม อย่างอาชญากร จึงไม่มีสิทธิครอบครองตามแบบแผนนี้ และในทางกลับกัน ถ้ายึดตามทฤษฎีของนอซิก ทั้งคนวิกลจริต คนจิตปกติ คนมีหรือไม่มีศีลธรรม ล้วนแต่มีสิทธิครอบครองอย่างยุติธรรม เพราะแนวคิดของเขาไม่อยู่ใต้กรอบ หรือ แบบแผนใด นี่คือ คำอธิบายถึงความไร้แบบแผนของทฤษฎีนี้[4]
    ต่าอจากข้อ ๖ เหตุผลที่เขามองว่า ความยุติธรรมต้องไม่มีแบบแผน เขาให้เหตุผลว่า ถ้าหากทำแบบนั้น จะมีเงื่อนไข หรือ สถานะมากเกินจนไม่สามารถรวบรวมสถานะที่ทำให้ได้สิทธิการครองอย่างยุติธรรมทั้งหมด และ ถ้าหากยึดบางสถานะ เราก็ไม่สามารถยึดเอา สถานะแค่สองสามข้อมาเป็นตัวชี้วัดว่า ใครมีสิทธิ หรือ ไม่มีสิทธิได้ นอซิกจึงเทกระจาดโดยบอกว่าต้องไม่มีสถานะอะไรเลยดีที่สุด เช่น ถ้าหากประเทศ ก วางกฎว่า การโอนที่ดิน ให้ผู้อื่นครอบครอง นั้น ผู้รับการโอน ต้องมีสติ มิเป็นบ้า มีศีลธรรม เวลาผ่านไปก็อาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ต้องเป็นคนในชาติด้วยกัน หรือ ต้องมีบัตรประชาชน หรือ ต้องไม่เป็นหนี้ และเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆจนมากเกินกว่าจะสรุปได้ และในทางกลับกัน การสรุปว่า การครองอย่างยุติธรรม ผู้ครอง ต้องมีสติ หรือ มีศีลธรรม ก็เป็นการสรุปที่สั้นเกินไป
    การที่นอซิก จำกัดเรื่องของความยุติธรรมไว้แค่ในกรอบของ”การครอบครอง” และวางกฎไว้เพียงสองข้อหากจะไม่นับการแก้เป็นข้อสามนั้น ย่อมชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ในมุมมองของเขา บทบาทของรัฐบาลมีแค่นี้ นอซิกยังคงรักษาแนวคิด อำนาจขั้นต่ำสุดของรัฐบาลไว้ในการเสอนแนวคิดเรื่องความยุติธรรม และยังชี้ว่า หน้าที่ของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ คือ การแก้ไขถ้าบุคคลในประเทศครองหรือโอนอย่างไม่เป็นธรรม นั่นหมายความว่า สิทธิและการตัดสินใจของรัฐจะถูกบีบให้แคบลงเป็นอย่างยิ่ง [5]
    หนึ่งในสิ่งที่ควรให้ความสนใจในทฤษฎีของนอซิก ในเรื่องการครอง ก็คือ กำลังและความสามารถที่มนุษย์มี หรือ จะเรียกอีกชื่อก็ได้ว่า ทรัพย์ตามธรรมชาติ(Natural assets) เขาใช้หลักพื้นฐานที่ว่า ทุกคนมีสิทธิและเป็นเจ้าของร่างกายและสติปัญญาของตนเอง อะไรก็ตามที่เขาได้มาจากทรัพย์ตามธรรมชาติ สิ่งนั้นย่อมเป็นของเขาอย่างยุติธรรม
(๑๐)จากหลักการข้อ ๙ นอซิก ได้แตกข้อย่อยออกมา ดังนี้
-ประชาชน มีสิทธิ ในการครอบครองสิ่งที่ได้มาจากทรัพย์ตามธรรมชาติของตน
-หากบุคคลใดมีสิทธิต่อสิ่งหนึ่ง อะไรก็ตามที่ผลิผลมาจากสิ่งนั้น ย่อมเป็นสิทธิของเขาเช่นกัน
-ทรัพย์สินของประชาชนมีแหล่งมาจากทรัพย์ตามธรรมชาติของพวกเขา
-ประชาชนมีสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของตนเอง
-หากบุคคลมีสิทธิต่อทรัพย์สินของตัวเอง เขาจะต้องได้รับสิทธินั้น ดังนั้น การแบ่งใดๆที่ถูกทำให้เข้าใจว่าเท่าเทียมแต่กลับยับยั้ง หรือ ปิดกั้น ไม่ให้เจ้าของได้ครอบครองทรัพย์สินของตนเอง จะถือเป็นโมฆะในทุกกรณี[6]
ในข้อสุดท้าย จะมีความแข็ง และมีลักษณะคล้ายคานท์ ส่วนในภาพรวมรูปแบบการให้เหตุผลของนอซิก ไม่ใช่การให้เหตุผลโดยตรง แทนที่เขาจะให้เหตุผล กฎที่เขาสร้างมาดูจะเป็นการวิพากษ์แบบแผนนิยมมากกว่า โดยเอาจุดอ่อนของแบบแผนนิยม มาทำเป็นจุดแข็งของตัวเอง  และในอีกด้านหนึ่งนอซิกพยายามตีกรอบแบ่งชายแดนให้ชัดเจนว่า แนวคิดของรอลส์ แนวคิดของล๊อก มีขอบเขตจำกัดแค่ไหนและน่านฟ้าความคิดตามระบบเสรีนิยมคลาสสิก
เปรียบเทียบความคิดของนอซิก กับ ฮาเยค
(๑)แนวคิดทั้งสองคนขัดกันในแบบที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองเห็นพ้องกันในเรื่อง เสรีนิยม,ทางเลือกนิยม,แนวคิดการเมือง,แนวคิดสังคม มีจุดร่วมหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องการกระจายความยุติธรรมทั้งสองก็ต่อแบบแผนนิยมเหมือนกัน[7]
(๒) แนวคิดของฮาเยค เป็นสิ่งที่นอซิกซึ่งตั้งมั่นอยู่บนทฤษฎีสิทธิ ไม่สามารถมองข้ามไปได้ง่ายๆ เพราะมีบางประเด็นที่ฮาเยคชี้เช่น เหตุผลที่นอซิกชี้ว่า ในการครอบครองอย่างยุติธรรม ต้องไม่มีเรื่องอย่างศีลธรรม ของคนครอง หรือ คนรับมาครอง มาเป็นสถานะเงื่อนไข ไม่ใช่เพราะสถานะแบบนี้ เอามาเป็นเงื่อนไขในการกระจายความยุติธรรมไม่ได้ แต่เพราะมันทำไม่ได้(ในแนวคิดของฮาเยค) เราจึงไม่เอามาตรฐานหรือเงื่อนไขนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกระจายความยุติธรรม ที่ทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ถึงสถานะที่แท้จริงของบุคคลในด้านศีลธรรม ต่างกับนอซิกที่มองว่า ต่อให้เราสามารถรู้ได้ถึงสถานะทางศีลธรรมของบุคคล ก็จะต้องไม่นำมาปนในเงื่อนไขการกระจายความยุติธรรม เพราะตามทฤษฎีสิทธิของเขา คนที่มีสิทธิครอบครองอย่างยุติธรรม คือ คนที่ครอบครองอย่างถูกต้อง หรือ โอนอย่างถูกต้องโดยไม่เกี่ยวว่าศีลธรรมของเขาจะเป็นเช่นไร [8] กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง สิ่งสำคัญของทฤษฎีนี้คือ “สิทธิ” ไม่ใช่ความคู่ควร ดังนั้นถ้านักกีฬาบางคนต้องการจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้องานศิลปะ เขาสามารถครอบครองงานศิลปะนั้นได้ แม้บางคนจะมองว่า เขาไม่เหมาะกับมันก็ตาม และถึงแม้ว่าการใช้จ่ายดังกล่าว จะเกิดขึ้นในสังคมที่มีผู้คนลำบากก็ตาม การใช้จ่ายและการครอบครองของเขาก็ยังถือว่าได้มาหรือครองอย่างยุติธรรม
(๓)จากข้อสอง จึงทำให้ค้นพบว่า เราไม่สามารถมองนอซิกในฐานะ ผู้ปกป้องตลาดการค้าเสรี ที่ยึดแนวคิดด้านความเหมาะสมเป็นหลักยุติธรรม คือ การไม่ดูว่า ใครควรได้อะไร แต่ให้ดูว่า ใครมีสิทธิได้อะไรบ้าง
เปรียบเทียบความคิดของนอซิก กับ รอล์ส
(๑)หลังจากที่รอล์ส เสนอทฤษฎีความยุติธรรมของตนเอง เขาอ้างว่า ไม่มีปรัชญาการเมืองฉบับใดสามารถมองข้ามทฤษฎีของเขาได้ และถ้าหากมองข้ามระบบปรัชญาการเมืองนั้น ต้องมีเหตุผลที่ดีเพื่อพิสูจน์ว่า ทำไมถึงมองข้าม หรือไม่ใส่ใจในแนวคิดของรอล์ส และนอซิกเป็นหนึ่งในนั้น[9] ในเรื่องค่าของเสรีนิยมนอซิกเห็นตรงกับรอลส์ แต่ในเรื่องการกระจายความยุติธรรมเขาเห็นต่างกับรอล์ส อย่างแข็งขัน และมีเหตุผล เขาเริ่มจากการตั้งข้อวิพากษ์ตั้งแต่ สภาวะแรกเริ่มของรอล์ส โดยถือว่าการสมมติสถานะขึ้นมา ไม่ได้ช่วยทำให้ความยุติธรรมมั่นคง แต่ต้องใช้แว่นตาแห่งประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาที่มาของการครอบครอง นอกจากนี้นอซิกยังถือว่า แนวคิดใดก็ตามที่มีผลทำให้ ความเป็นเจ้าของ การครอบครอง ถูกตีกรอบแคบลง แนวคิดนั้น ย่อมเป็นที่น่าคลางแคลงในการจะยึดถือเป็นหลักการ
(๒)สิ่งที่รอล์สเรียกว่า “ระบบเสรีภาพธรรมชาติ” มีความคล้ายคลึงกับ ทฤษฎีสิทธิของนอซิก ตรงที่ตามระบบของรอล์ส เหตุผลที่ผู้คนต้องเข้าสู่สนามรบแห่งการแข่งขันทางตลาด เกิดมาจากการครอบครองที่ไม่เท่า หรือต่างกัน อันมีผลมาจากความสามารถและทักษะต่างกัน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นเหมือนกฎข้อแรก ว่าด้วยการครองแรกเริ่มของนอซิก
(๔)นอซิกมองต่างจากรอล์สในเรื่อง สถานะธรรมชาติ เพราะเขาถือว่า การยึดเอาสภาวะธรรมชาตนี่แหละคือแหล่งที่มาของความเหลื่อมล้ำในสังคม และเพราะเหตุนี้เขาถึงไม่กล่าวถึง”ระบบเสรีธรรมชาติ”ในหน้าสารบัญ รวมไปถึง การตัดสินใจแบบมีปัญญาโดยไร้อคติที่รอลส์นำเสนอในม่านแห่งความไม่รู้ ทั้งหมดเพราะมันไม่สอดคล้องกันกับหลักการของนอซิก[10]
(๕)ต่อจากข้อสี่ นอซิก ได้เรียงลำดับการใช้เหตุผล เพื่อหักล้างแนวคิด การกระจายทรัพย์สิน ที่มีผลจากพรสวรรค์ หรือ สถานะธรรมชาติ ซึ่งเขาเรียกมันว่า”การให้เหตุผลในทางบวก”(the positive argument) หลักดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้
(๕.๑)เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหากจะถือว่าผู้ที่มีสิทธิในการครอบครองสิ่งที่ตนมีสิทธิในการครองได้อย่างถูกต้อง ไม่สามารถครอบครองสิ่งที่ตนมี หรือ ที่ครอบครองสิ่งเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น นักบาสเกตบอลซื้องานเขียนศิลปะ มีสิทธิจะครอบครองงานเขียนนั้น และไม่ถูกหากจะวินิจฉัยว่า นักบาสไม่เหมาะกับงานเขียนศิลปะ จึงไม่เหมาะแก่การครอบครองมัน
(๕.๒) สิทธิในการครอบครองของประชาชน จะไม่ขึ้นกับพรสวรรค์ หรือ สถานะทางธรรมชาติ หรือ ศีลธรรมใดๆ
(๕.๓) หากบุคคล ไม่มีสิทธิในการครอบครองสิ่งของ (x) โดยวัดกันที่การมีศีลธรรม ย่อมมีผลทำให้เขาไม่มีสิทธิในการครองสิ่งของ (y) หาก (y) เป็นผลผลิตที่ได้มาจากการครอบครอง (x)  หากวางหลักไว้ว่า สิทธิมีเรื่องของศีลธรรมเป็นเงื่อนไข
(๕.๔)ผลของอรัมภบททั้งสามข้อ คือ การครอบครอง หรือ สิ่งที่ถูกครอบครอง ของบุคคล จะต้องไม่ขึ้นกับสภาวะธรรมชาติ พรสวรรค์ หรือ ความสามารถที่ได้จากธรรมชาติในทุกกรณี[11]
พิจารณาจากประเด็นข้างต้น จะพบว่า โดยทั่วไป และโดยปกติ แล้ว ผู้คนมอบสิ่งของให้แก่กัน โดยไม่ดูที่ศีลธรรม และไม่คิดว่ามันจำเป็น สังเกตได้จากการค้าขาย หรือ การทำธุรกิจ ที่คำนึงถึง ความสามารถในการซื้อ หรือ ขาย ของฝ่ายตรงข้ามเป็นหลัก ในข้อ ๕.๑ รอล์ส กับ นอซิก เห็นตรงกัน ต่างตรง ๕.๒ ซึ่งในทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์ มีเรื่อง ความเหมาะสมทางศีลธรรม (Moral desert) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเพราะข้อนี้เอง นอซิกจึงมองว่า ทฤษฎีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม
(๖) นอกจากนี้ นอซิกยังนำเสนอ การให้เหตุผลในรูปแบบที่สอง สามารถเรียงลำดับได้ดัวนี้
(๖.๑)การกระจายทรัพย์สิน จะต้องไม่เกิดจากโมเดล เช่น มีศีลธรรม
(๖.๒) เนื่องด้วยแต่ละคนมีพรสวรรค์ และความสามารถตามธรรมชาติแตกต่างกัน ในทางคุณค่าแล้ว พรสวรรค์ และทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องบังเอิญ ด้วยเหตุนี้หากจะวัดที่ค่าดังกล่าว สิทธิการครอบครองจึงจะต้องแตกต่างกัน
(๖.๓)บทสรุป คือ การครอบครองทรัพย์สินจึงจะต้องไม่วัดกันที่ความแตกต่างทางธรรมชาติของบุคคล หรือ ศีลธรรม[12]
ในการใช้เหตุผลรูปแบบที่สองคือ เป็นการแสดงถึงความคลุมเครือของการกระจายทรัพย์สินโดยวัดกันที่ความสามารถ พรสวรรค์ และธรรมชาติของบุคคลเป็นพื้นฐาน ซึ่งนอซิกได้นำไปสู่การให้ข้อสรุปว่า มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะเอามาวัดกันเป็นเงื่อนไขเพื่อบอกว่าใครควรได้หรือไม่ได้อะไร
(๗)การให้เหตุผลในรูปแบบที่สาม เป็นการให้เหตุผลโดยปฏิเสธและหักล้าง แนวคิดที่ว่า ความสามารถทางธรรมชาติ หรือ พรสวรรค์มีผลต่อการกระจายทรัพย์สิน รูปของการให้เหตุผลสามารถสรุปได้ดังนี้
(๗.๑) ทรัพย์สินและการครอบครอง จะต้องได้รับการกระจายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เว้นแต่จะมีเหตุผลทางศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเหตุผลทางศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง การแบ่งจะต้องไม่เท่าเทียมกัน(นอซิก้ล่นคำ)
(๗.๒) ผู้คนมากมาย จะไม่มีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน หรือ ได้รับการแบ่งการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมกัน หากการแบ่งหรือการกระจาย มีเรื่องของศีลธรรม และพรสวรรค์เข้ามาเกี่ยวข้อง และความแตกต่างดังกล่าวจะได้มาจากความแตกต่างทางธรรมชาติ ซึ่งความแตกต่างทางธรรมชาติ เป็นเรื่องของโชคชะตา ไม่ได้เป็นสิ่งที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาด้วยมือของตนเอง
(๗.๓)หากความไม่เท่าเทียม บ่งบอกได้ตั้งแต่ลักษณะทางธรรมชาติ การให้เหตุผลว่าผู้ใดมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิโดยดูที่ศีลธรรม ก็จะไร้ความหมาย เพราะธรรมชาติเป็นผู้วางฐานะให้แก่เรา
(๗.๔)ด้วยเหตุนี้ พรสวรรค์ หรือ สถานะทางธรรมชาติ จึงจะต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง การกระจายทรัพย์สิน เพราะหากนำเรื่องพรสวรรค์ หรือ สถานะทางธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง การแบ่งอย่างเท่าเทียมก็จะไม่เกิดขึ้น[13]
หัวใจหลักของการให้เหตุผลนี้คือ คือ ความคิดแบบนี้เข้ากับแนวคิดของรอล์ ความแตกต่างถูกให้ความหมายว่าเป็นศีลธรรมที่ใช้ยืนยันว่า สังคมควรแบ่ง หรือ กระจายกันอย่างไม่เท่าเทียม ปัญหาของการให้เหตุผลของนอซิกกลับไปหาข้อ ๗.๑ คำถามมากมายที่นอซิกใช้โจมตีคือ ถ้าหากความเท่าเทียมในการครอบครองทรัพยสินของบุคคล ถูกแบ่งให้ไม่เท่าเทียมเนื่องจากศีลธรรม ทำไมศีลธรรมถึงต้องการความไม่เท่าเทียมเช่นนี้ ?[14]
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่นอซิกต่อต้านรอลส์อย่างจริงจัง เป็นเพราะทฤษฎีความยุติธรรมของรอล์สให้ความสำคัญกับหลักแห่งความแตกต่าง แน่นอนในแนวคิด
ในส่วนท้ายหากจะกล่าวในภาพรวม ก็คือ นอซิก กับ รอล์ส คิดต่างกันในเรื่อง ตลาดการค้าเสรีแบบยุติธรรม โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่า สถานะทางธรรมชาติจะต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง และอีกฝ่ายมองตรงข้าม ส่วนจุดร่วมระหว่างทั้งสองคือ ทั้งสอง ไม่ยอมรับว่า “ความเหมาะสม” จะสามารถใช้เป็นหลักในการกระจายความยุติธรรมในการครอบครองได้แต่ประการใด


ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
แหล่งที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา