เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-3)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 9-3)

ผู้สนับสนุนนอซิก  และ ผู้วิพากษ์เขา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า งานเขียนของเขา ทั้งอนาธิปัตย์ ยูโทเปีย และอื่น เป็นงานเขียนที่อธิบายแนวคิด เสรีนิยม ได้เป็นระบบมากที่สุด ตามทัศนะของ โทมัส ไนเจล งานของนอซิก เป็นงานในฐานะ “ตัวบท” ที่อธิบายหลักของทฤษฎีการเมืองเสรีนิยมเลยก็ว่าได้ ทว่าถึงแม้นอซิก จะพยายามสร้างสรรค์งงานเพื่อนำเสนอแนวคิดดังกล่าวมากเพียงใด แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ และการเพิ่มปริมาณผู้เห็นพ้องต่อทฤษฎีการเมืองของเขา ยกเว้นจะเป็นศาสนา[1] มีอนาชิสม์บางคนที่ไม่มีความรู้มากมายเท่านั้น ที่จะยอมรับแนวคิดนี้ เพื่อคิดว่า รัฐบาลที่มีอำนาจขั้นต่ำสุด จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศีลธรรมที่เหือดแห้งของพวกเขา
เรื่องรัฐบาลขั้นต่ำ ถูกโต้แย้งว่า รัฐบาลที่มีอำนาจต่ำถึงขนาดนี้ ย่อมทำอะไรไม่ได้ แม้แต่ปกครอง และหากปกครองไม่ได้ ก็มอบสิทธิการครอบครอง และหากไม่มีศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวกับ เรื่องใครจะชั่วยังไง ก็ไม่มีผู้ใดมีสิทธิห้ามใครได้หากไม่เกี่ยวกับหลักการปกครอง  หรือ กระจายความยุติธรรม นอซิก พยายามปกป้อง แนวคิด รัฐบาลอำนาจต่ำของเขา เขาชี้แจงว่า รัฐบาลแบบนี้จะเป็นที่ยอมรับ โดยสถานะธรรมชาติ ด้วยหนทางของศีลธรรมแบบอนุญาต  และสมัครใจ ไม่ใช่ศีลธรรมแบบบังคับ หมายถึง นอซิก ตั้งสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าหากรัฐบาลมีอำนาจต่ำ ความชั่วจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลเช่นนี้ได้ เพราะมันไม่ใช่ศีลธรรมที่คนในอนาธิปัตย์ อนุญาตให้เกิดขึ้น จะเห็นว่า นอซิก พยายามแสดงภาพให้เห็ฯว่า อนาธิปัตย์ ไม่ใช่รัฐเถื่อน แต่เป็นการตกลงปลงใจร่วมกันของสังคมที่จะอนุญาตให้ศีลธรรมบางข้อเป็นที่ยอมรับ และศีลธรรมบ้างข้อไม่เป็นที่ยอมรับ หากมันเกิดขึ้นมา[2] แต่ปัญหาคือ เข้าไม่ได้อธิบายไว้ว่าทำไมมันจะต้องเป็นเช่นนั้น และในกรณีที่คนในสังคมอนาธิปัตย์ ไม่เห็นพ้องกันในเรื่องศีลธรรม จะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐแบบนี้ นี่จึงเป็นเหมือนการวาดภาพนครในฝัน ที่ด่วนสรุปไปว่า ทุกคนจะทำแต่สิ่งที่ดีงาม และไม่ขัดแย้งกัน ทั้งๆที่ประวัติศาสตร์และความจริงยืนยันข้อเท็จจริงนี้เพียงครึ่งเดียว
เฟดริก ยัง อธิบายว่า นอซิก พยายามปกป้องรัฐแบบอำนาจน้อย แต่มันไม่สามารถตอบโจทย์ให้แก่เหล่าปัจเจกนิยมได้ เพราะในท้ายที่สุด รัฐแบบนี้ จะเหนี่ยวนำให้ บุคคล สามารถวางรากฐานศีลธรรมแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้
ลองนึกภาพของ ประเทศที่ รัฐบาลมีหน้าที่บริหารแค่เรื่องทรัพย์สิน เงินทอง ที่คนในสังคมมีทั้งคนยากจน และคนร่ำรวย หากคนรวยในสังคมนั้น เป็นผู้ครอบครองเวชภัณท์ และจำหน่ายมันในราคาแพง เช่น ค่ารักษายาบางโรคที่มีราคาเข็มละ ๓๐๐๐ บาท โดยที่รัฐไม่มีอำนาจในการกดดันให้ยาถูกลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมนั้น คือ สมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย ก็จะเริ่มออกหาวิธีบางอย่างเพื่อรักษาชีวิตของคนในครอบครัว เช่น การปล้น เพื่อเอาชีวิตรอดโดยไม่ต้องสงสัย รัฐแบบนี้จะไม่นำสิ่งใดมานอกจากความเห็นแก่ตัว เพราะรัฐไม่สามารถวางกลไกในการพยุงทุกคนไว้ได้ทั้งในด้านสวัสดิการ การศึกษา สิทธิด้านอื่นๆ เพราะสังคมเช่นนี้ ไม่มีศีลธรรมเชิงบังคับ อันเป็นกลไกที่จะทำให้ผู้มั่งมีในการครอบครองจำเป็นต้องสนใจ ต่อผู้มีสิทธิครอบครองน้อย ในทางกลับกัน หากแย้งว่า สุดท้ายแล้ว คนรวยในสังคมจะดูแลคนจนในสังคมโดยสมัครใจ เพราะหากไม่ดูแลคนจนจะสร้างความไม่มั่นคงให้สังคม ความคิดนี้ก็จะเป็นการยืนยันศีลธรรมเชิงบังคับสำหรับคนรวย ไม่ใช่การสมัครใจ เพราะหากพวกเขาเลือกจะไม่ช่วยเหลือคนจน ความปลอดภัย และความมั่นคงก็จะไม่เกิดขึ้น และหากตอบว่าการดูแลผู้ขัดสน หรือ การมอบสิทธิให้แก่ผู้ขัดสนได้ครอบครอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของความยุติธรรมเช่นเดียวกัน คำกล่าวนี้จะกลายเป็นคำพูดที่ขัดกันเอง เพราะหากผู้มั่งมีจำต้องมอบบางสิ่งให้ผู้ขัดสนในสังคมอุดมคติของนอซิก การมอบดังกล่าว ก็จะถูกถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะขัดกับกฎข้อสองที่เขาได้บัญญัติไว้
การเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นเหรียญอีกด้านของปัจเจกนิยมที่มักไม่ถูกพูดถึงในวงการปรัชญาการเมือง แต่ถูกพูดถึงเสมอในฐานะ อัตตา หรือ ตัวกู หรือ อารมณ์ใฝ่ต่ำในวงการศาสนา ซึ่งสุดท้ายแนวคิดของนอซิก จะให้ผลลัพธ์ประการหนึ่งคือ “ทุกคนในสังคมอนาธิปไตยจะมีมุมมองศีลธรรมเหมือนกัน” ในขณะที่เราลืมไปว่า ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาพร้อมปัญญา และอัตตา ควบคู่กัน มีด้านสว่าง มีด้านคุณธรรม มีด้านอธรรม และก็มีด้านมืด ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะทำดี และไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำชั่ว แน่นอนว่าความดี หรือ ความชั่ว เกิดจากการกระทำด้วยความสมัครใจของบุคคลเอง ในกรณีที่มนุษย์ทำความดี การให้โอกาสสร้างสรรค์ความดีโดยสมัครใจเป็นเรื่องที่ถูกต้องซึ่งเราก็ไม่มีปัญหากับด้านนี้ แต่ในด้านความชั่วละ ? หากทำชั่วโดยสมัครใจ ในสังคมอนาธิปไตย เรามีสิทธิจะห้ามเขาได้หรือไม่หากผู้กระทำไม่คิดว่าเขาได้กระทำความผิด  เราจะตัดสินผิดถูกได้หรือไม่ หากศีลธรรมขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เราจะตัดสินว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำในสังคมนี้ด้วยเสียงส่วนมากได้หรือไม่หากสังคมดังกล่าวมีแนวคิดปัจเจกนิยมเป็นรากฐาน หรือหากลูกไม่ดูแลแม่ที่ป่วย หรือ แม่ไม่คิดจะเลี้ยงลูก เราจะบอกได้หรือไม่ว่าศีลธรรมแบบสมัครใจ จะบังคับให้พวกเขาต้องมีศีลธรรม และหากเป็นเช่นนั้น มันจะเป็นความสมัครใจได้อย่างไรในเมื่อมีการบังคับอยู่ในการกระทำดังกล่าว แนวคิดนี้ดึงดูดเราด้วยการเชื้อเชิญเรา ด้วยประโยคว่า “อิสระอย่างสมบูรณ์” “รัฐบาลที่ไม่มีการแทรกแซงชีวิตของปัจเจก” แต่มันทำไม่ได้ในความเป็นจริง ยกเว้นมนุษย์จะถูกทำให้ไม่ใช่มนุษย์ หมายถึง ถูกกำหนดให้ทำความความดีอย่างเดียว และไม่สามารถเลือกทำความชั่วได้ ซึ่งนั่นคือ สังคมหุ่นยนต์ที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะเมื่อไหร่ที่มนุษย์ปรารถนาจะอยู่ในสังคมที่ไม่มีกฎ หรือ มีกฎเพียงเล็กน้อย นั่นเท่ากับว่า พวกเขาพร้อมจะอยู่ในที่ที่ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้และยังต้องปกป้องตัวเองด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครมาบังคับใครได้ ก็ไม่มีใครมาห้ามใครได้เหมือนกัน แนวคิดรัฐอำนาฐต่ำ คือ วาทกรรมที่เป็นตัวกำหนดศีลธรรมของแต่ละกลุ่มในสังคมอย่างตายตัว ซึ่งสุดท้ายจะไม่มีกลุ่มใดที่สามารถตกลงเรื่องศีลธรรมกันได้ หากไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และการครอบครองของตนเอง เพราะมันคำนึงถึงสิทธิของปัจเจกเป็นหลักไม่ใช่สังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องคำนึงปัจเจก และสังคมควบคู่กัน
ข้อเสียอีกประการหนึ่งในทฤษฎีของนอซิก คือ การจำกัดเรื่องของความยุติธรรมไว้แค่ในกรอบของ”การครอบครอง” ทั้งๆที่ความยุติธรรมมีขอบเขตกว้างขวางกว่านั้น และการที่นอซิกอ้างประวัติศาสตร์ว่า ปัญหาเรื่องความยุติธรรมในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเรื่องการครอบครอง ก็เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมากมายที่ชี้ว่าผู้คนต้องการความยุติธรรมที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการครอบครอง และการจำกัดบทบาทรัฐ โดยชี้ว่า รัฐไม่มีอำนาจในการกระจายทรัพย์สิน และการครอบครอง มีหน้าที่ในการจัดการในกรณีที่การครอบครองไม่ถูกกฎหมายเพียงด้านเดียวกัน ก็ไม่สมเหตุสมผลด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหากรัฐจะเข้ามาจัดการได้ ก็ต้องมีการกระจายที่ถูกต้องตั้งแต่แรก  และการกระจายจะถูกกฎหมายตั้งแต่ตอนต้น ก็ต้องมีอำนาจที่มากำหนดว่า กระจายทรัพย์สิน หรือ การครอบครองอย่างไรจึงจะถูกกฎหมาย
จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของทฤษฎีนี้คือ การจำกัดประเด็นศีลธรรมไว้แค่ในเรื่องของการครอบครอง ทั้งๆที่ศีลธรรมกว้างขวางกว่านั้น แน่นอนว่าหนึ่งในความดีงามของสังคม คือ การมีสิทธิครอบครอง และอันที่จริง ชีวิตของสังคมก็มีเสาหนึ่งคือ การครอบครองเป็นตัวค้ำยัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินด้วยศีลธรรมมีแค่ในเรื่องของการครอบครอง ยังมีเรื่องของ สิทธิในด้านอื่นๆ สถานะ การศึกษา และอื่นๆอีกมากมายที่มีผลให้สังคมกมีชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นการจำกัดความยุติธรรมไว้แค่ในเรื่องของการครอบครอง จึงเป็นการจำกัดที่ไม่ครอบคลุมความยุติธรรมในด้านอื่นๆของสังคม
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ถ้ายึดตามทฤษฎีของนอซิก ทฤษฎีของเขาอาจใช้ได้ต่อสิ่งที่มีผู้ครอบครอง แต่ไม่สามารถใช้ได้กับสิ่งที่ยังไม่ถูกครอบครอง เขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ถ้าจะครอบครองสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครครอง จะครอบครองอย่างไรจึงจะยุติธรรม เพราะหากมีผู้ไปครอบครองของดังกล่าว คำถามที่ตามมาคือ เขามีสิทธิครอบครองสิ่งนั้นด้วยเหตุผลอะไร ในเมื่อไม่มีใครโอนสิ่งของดังกล่าวให้เขาครอบครองมาก่อน รัฐก็ไม่มีอำนาจใดนอกจากแก้ปัญหาของที่ครองอยู่ก่อนแล้ว นี่จึงถือเป็นจุดอ่อนของทฤษฎีนี้[3]
ในส่วนสุดท้ายของบทวิพากษ์นี้ คือ บทบาทของรัฐบาลอำนาจต่ำ รัฐบาลที่ถูกจำกัดอำนาจ แค่ผู้แก้ปัญหาข้อที่สองและข้อที่สาม จะไม่สามารถตัดสินใจ ไม่มีอำนาจ และไม่สามารถสนับสนุนในเรื่องของสวัสดิการ การศึกษา สุขภาพได้ และนั่นถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และหากโต้แย้งว่า สังคมจะเป็นผู้ดูแลเรื่องเหล่านี้เอง ข้อโต้แย้งนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องความไม่เข้ากันกับแนวคิดปัจเจกนิยม และศีลธรรมแบบสมัครใจ ที่ผู้เขียนได้วิพากษ์ไปในตอนต้น แต่แน่นอน ถึงแม้แนวคิดของนอซิกจะอ่อนแอ และมีจุดอ่อนอย่างมากมาย แต่การนำเสนอของเขาก็ดึงดูดและทำให้เหล่าผู้ศึกษาหันมาค้นคว้าและพิจารณาเกี่ยวกับ”การครอบครอง”มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ไม่ว่ามนุษย์เราจะเลือกความยุติธรรมตามสำนักปรัชญาใด ก่อนที่พวกเขาจะสนทนากันถึงเรื่องนี้ได้ พวกเขาจะต้องยอมรับว่า ความยุติธรรม คือ ศีลธรรมที่ดีงาม เหมือนกัน

ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
แหล่งที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม