สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 10)

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 10)

ชะฮีด อยาตุลลอฮ ศาสตราจารย์ ดร.มูฮำหมัดฮูเซน เบเฮชตี(1928-1981)[1]นับเป็นปัญญาชนท่านหนึ่งในยุคสมัยที่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากการถูกคว่ำบาตร  จุดเริ่มต้นปฏิวัติ การเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยการปกครองของราชวงศ์ชาห์ปาเลวี ท่านมีงานเขียน และการปราศรัยที่ทรงคุณค่าที่มีความโดดเด่นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ประเด็นความยุติธรรม ซึ่งมุมมองที่น่าสนใจที่ ดร เบเฮชตี ได้นำเสนอ คือ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม” ที่น่าสนใจเพราะมุมมองดังกล่าวไม่ได้เสนอให้แก้ที่กฎหมายเป็นด่านแรก แต่ต้องแก้ที่บุคคลในสังคมก่อน ถึงจะแก้ที่กฎหมายได้  ซึ่งจะนำเสนอในบทความนี้
1.) นิยามความยุติธรรม
ในทัศนะของ ดร.เบเฮชตี ไม่ได้หมายถึง ค่านิยมทางศีลธรรมที่ไม่มีเรื่องของจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องตามแบบแนวคิดของนักปรัชญาตะวันตก กล่าวคือ ไม่ได้หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับยุคสมัยตามความคิดของฮูม และไม่ใช่สิ่งที่จำกัดเพียงแต่เรื่องการครอบครองตามความคิดของนอซิก
แต่ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับสถานะทางจิตวิญญาณและเกียรติของมนุษย์ ในเรื่องนี้ ดร เบเฮชตี มีทัศนะว่า สาส์นที่อัลกุรอ่านได้ส่งออกไปแก่มนุษยชาติ คือ สาส์นที่จะเป็นปัจจัยหลักในการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์[2]  กล่าวคือ ในทัศนะของ ดร เบเฮชตี ผู้ที่มีเกียรติ และมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง คือ ผู้ที่มีความยุติธรรม ปราศจากความยุติธรรมบุคคลผู้นั้นย่อมไร้เกียรติ ซึ่งการจะเป็นผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในเบื้องต้นนั้น
บุคคลจะต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรม และมีมนุษยธรรมก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเกียรติและศักดิ์ศรีหรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดที่สังคมมอบให้ ล้วนเป็นสถานะที่มนุษย์สร้างขึ้นมา และด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถสร้างสรรค์หรือทำลายได้แม้จะดำรงอยู่ในตำแหน่งใด คุณค่าของบุคคลจึงไม่อาจวัดได้ที่ตำแหน่งแต่ประการใด เช่น ต่อให้เป็นผู้พิพากษาที่ช่ำชองกฎหมายเพียงใด แต่หากมีจิตวิญญาณที่มอมเมาและตกเป็นทาสของโลกีย์ สังคมก็ไม่อาจวางใจให้เขาชี้เป็นชี้ตายแก่เราได้หากไม่หลุดพ้นเสียก่อน เช่นเดียวกัน ต่อให้สวมเครื่องแบบทหารหรือตำรวจ ที่แสดงถึง ความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษ แต่ยังข่มเหงลูกเมีย หรือ ยอมขายกฎหมายเพื่อสินบนเพียงไม่กี่เหรียญ สังคมก็ไม่อาจวางใจได้ว่า ผู้มีสถานะเช่นนี้จะพิทักษ์สันติราษ หรือพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง
2.)ความยุติธรรม คือ คุณลักษณะประเสริฐ ที่จะทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์พัฒนาสู่ความสมบูรณ์
กล่าวคือ ความยุติธรรมมีมิติที่กว้างกว่า เรื่องของการแบ่ง หรือ  กระจาย หรือ แค่วิธีการจัดการทางสังคม กลไกและผลของความยุติธรรมไม่ได้มีแค่ในการกฎหมาย หรือ การตอบสนองความรู้สึกทางจิตใจของผู้ที่แสวงหามัน แต่มันยังถือเป็นค่าประการหนึ่งที่สามารถทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตวิญญาณได้อีกด้วยเช่นกัน  ซึ่งในเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ว่า ดร.เบเฮชตี อาศัยคำสอนจากอัลกุรอ่านว่าด้วยความยุติธรรม มานำเสนอเป็นทัศนะเฉพาะของตนเอง เช่น ในบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ ๘ ระบุว่า “เจ้าทั้งหลายจงยุติธรรมเถิด เพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับความยำเกรงยิ่งกว่า”[3] ซึ่งตามหลัก รหัสวิทยาเชิงปฏิบัติ(อิรฟานอามาลี) ความยำเกรง หรือ หิริโอตัปปะ คือ ฐานันดร ที่ผู้จาริกจะต้องครอบครองและหลอมรวมเข้ากับจิต เพื่อไปสู่ฐานันดรสุดท้าย คือ การ ฟะนาอฺ หรือ การสูญหายไปสู่พระเจ้า ซึ่งหน้าหนึ่งของความยำเกรงที่อัลกุรอ่านได้ระบุไว้ ก็คือ ความยุติธรรม กล่าวคือ ความยำเกรงไม่ใช่การนั่งอยู่กับที่ หรือ การเพ่งจิต แต่คือ ควบคุมอัตตาของตน มิให้ตกอยู่ภายใต้การกระทำที่ชั่วร้าย หรือที่กดขี่ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และเมื่อผู้พัฒนาจิตก้าวสู่บททดสอบความยำเกรงเพื่อพัฒนาตนต่อไป หนึ่งในสิ่งที่ผู้พัฒนาจิตจะต้องถูกทดสอบก็คือ ความยุติธรรม เขาจะเริ่มตั้งคำถามเช่น วันนี้ฉันปฏิบัติต่อครอบครัวอย่างยุติธรรมหรือไม่ ฉันปฏิบัติต่อสังคมอย่างยุติธรรมหรือไม่ ฉันเลือกที่เป็นปีศาจใบ้เมื่อถึงคราวที่ต้องพูดในสิ่งที่อยุติธรรมหรือไม่ ? ความคิดต่างๆเหล่านี้คือตัวอย่างของการยกระดับจิตใจ และเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ ผลของการกระทำจะเป็นการยกระดับจิตวิญญาณของผู้พัฒนาตนเอง
3.) ความเหลื่อมล้ำของสังคม
ในประเด็นนี้ ดร.เบเฮชตี  ชี้ว่า มีเพียงทางเดียวเท่านั้น ที่จะขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมให้หมดไป คือ การทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นภายใต้กฎที่ซื่อสัตย์ และมีระบบ กล่าวคือ รากของระบบกฎหมายจะต้องคำนึงถึงทุกปัจจัยที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดความยุติธรรม[4] แน่นอนในปัจจุบันหรือแม้แต่ในอดีตไม่มีประเทศ หรือ อาณาจักรใดเลย ที่อ้างว่า กฎหมายของประเทศตนถูกออกแบบบนพื้นฐานของความอยุติธรรม แล้วปัญหาคืออะไร เหตุใดฮิตเลอร์จึงถือว่าการกระทำของตน คือ ความยุติธรรม เหตุใดบางกลุ่มชนถือว่า การแบ่งชนชั้นวรรณะของตน นับว่ายุติธรรมแล้วกับมนุษย์ หรือ หากจะกล่าวถึง ความยุติธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ เหตุใดความยุติธรรมในสมัยนี้จึงหมายถึง โอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ถือว่า ความห่างระหว่างผู้มั่งมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็น กับผู้ที่ไม่มั่งมี ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของความยุติธรรม ถึงแม้ผู้มั่งมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นบนโลกนี้จะมีรายได้เท่ากับคนครึ่งโลกก็ตาม ?
ดร.เบเฮชตี ได้ตีโจทย์ปัญหาเรื้อรังนี้ โดยชี้ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มนุษย์เราไม่รู้ว่าความยุติธรรมคืออะไร และไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่รากฐานของกฎหมายที่ให้กำเนิดความยุติธรรม กล่าวคือ หากความยุติธรรมของประเทศ A คือ การที่สิทธิของคนผิวสีหนึ่ง ต้องมาก่อนคนอีกผิวสีหนึ่ง กฎหมายที่ผลิตออกมาจากดินแดนนั้นก็จะเป็นกฎหมายเพื่อคนบางกลุ่ม หรือ เอื้อต่อคนบางกลุ่ม เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่า ความยุติธรรมบนรากฐานของเผ่าพันธุ์นิยม หรือ หากความยุติธรรมของประเทศ B คือ การที่ทุกคนในประเทศจะต้องได้เหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างว่า คนหนึ่งเป็นหมอ อีกคนจะทำอาชีพทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ในระดับเชี่ยวชาญ ซึ่งฟังดูเหมือนจะไม่เอื้อต่อใคร แต่ความไม่เอื้อต่อใครนี้ก็จะกลายเป็นการละเลยต่อผู้ที่พยายามมากกว่าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่า ความยุติธรรมบนรากฐานของปรับให้ราบเสมอกันโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเหมาะสม หรือ หากความยุติธรรมในดินแดนหนึ่ง คือ โอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน แต่กลับปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป ซึ่งจะนำสู่ภาวะความขัดกันเอง เราอาจเรียกสิ่งนี้ ความยุติธรรมบนพื้นฐานของโอกาสในการแข็งขัน จะเห็นว่าแต่ละโมเดลล้วนมีปัญหาใจกลางความยุติธรรม ซึ่งดร.เบเฮชตีได้ให้ข้อสรุปว่า ที่ผ่านมาโมเดลความยุติธรรมหลายสำนักได้ขาดสิ่งหนึ่งไปนั่นคือ ความยุติธรรมทางด้านจิตวิญญาณ กล่าวคือ ต่อให้ออกแบบกฎหมายมาอย่างมีประสิทธิแต่หากคำนึงถึง ค่านิยมเชิงวัตถุ หรือ ค่านิยมเชิงสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็จะขัดกับความยุติธรรมในวันหนึ่ง เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อใครบางคน หรือ คนบางกลุ่ม ในทางวัตถุ โดยไม่คำนึงถึงจิตวิญญาณ ของคนหรือสังคมแต่อย่างใด
ดังนั้น การแก้ปัญหาประการแรกจึงไม่ใช่การแก้ที่กฎหมาย แต่คือการแก้ที่ค่านิยมทางศีลธรรมของมนุษย์ หรือ ก็คือ การสร้างมนุษย์ผู้ทรงความยุติธรรม กล่าวคือ การสร้างมนุษย์ผู้ทรงความยุติธรรม ให้เกิดขึ้นจริงได้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์หลอมจิตวิญญาณของตนเองไปกับคุณค่าที่สูงส่งกว่าคุณค่าเชิงโลกีย์วิสัย อย่างการบูชาตำแหน่ง การบูชาอัตตา  ซึ่งในทัศนะของท่านผู้ที่จะสามารถสร้างความยุติธรรมให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ คือ ผู้ที่มอบความรักให้แก่พระเจ้า[5] เพราะทุกค่านิยม ไม่ว่าจะสังคมมาก่อน ชาติมาก่อน ปัจเจกมาก่อน ทุนมาก่อน สังคมมาก่อน ล้วนเป็นค่าที่อนิจจัง
วันหนึ่งการทำเพื่ออเล็กซานเดอร์มหาราช ถือเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบัน อเล็กซานเดอร์และกองทัพของเขากลายเป็นเพียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แนวคิดชาตินิยมของเขาก็ได้ดับไปตามพวกเขา และค่าอื่นๆก็เช่นกัน จึงไม่มีค่าใดเลย ที่จะอยู่คู่มนุษย์ได้อย่างถาวร เว้นเพียงค่านิยมเดียว ซึ่งในทัศนะของ ดร.เบเฮชตี ค่านิยมที่อนิจจัง คือ ค่านิยมที่มาจากผู้ที่อยู่ถาวร เป็นที่มาของทุกสรรพสิ่ง ผู้นั้นก็คือ พระเจ้า ผู้ทรงจริงแท้นั่นเอง กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ความยุติธรรม จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง จะไม่ใช่เพียงเครื่องมือทางการเมือง ก็ต่อเมื่อ บุคคลได้สลายอัตตาตนเองอย่างสมบูรณ์

ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
แหล่งที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา