สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 11-1)

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 11-1)


ในตอนที่ ๑๑ เป็นแนวคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” ในทัศนะของผู้เขียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนโลกทัศน์ที่ยอมรับโลดแห่งวัตถุและจิตวิญญาณ มีพื้นฐานแนวคิดเรื่องญาณวิทยาตามหลักอุตรปรัชญา หรือ ฮิกมัตมุตะอาลียะฮ์ ของมุลลาศอดรอ หรือ เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า สัจนิยม ที่ยอมรับเครื่องมือทางญาณทุกเครื่องมือ อันได้แก่ ประสาทสัมผัส สติปัญญา สามัญสำนึก วิวรณ์ และทัศนะดังกล่าวมองความยุติธรรมโดยอาศัยกระบวนทัศน์แบบปรัชญาอิสลามสาขาสำนักฮิกมัตมุตะอาลียะฮ์ โดยยอมรับความรู้ทั้งที่ได้มาจาก วิทยาศาสตร์ เหตุผล วิวรณ์ และวจนะของอะฮ์ลุลบัยต์ ดังนั้นในตอนสุดท้ายจึงเป็นทัศนะสุดท้ายที่มีทั้งการวิเคราะห์ วิพากษ์ และแจกแจงถึงปัญหาต่างๆของประเด็นเรื่องความยุติธรรม รวมถึงการนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องในทัศนะของผู้เขียน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ในช่วงเริ่มต้นของบทความจึงจำเป็นต้องกล่าวถึง “รากฐาน”ที่ความยุติธรรมต้องพึ่งพา และปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เรามีมุมมองเรื่องความยุติธรรมแตกต่างกัน  
คุณค่าของความยุติธรรม
ความยุติธรรม ถือเป็นค่านิยมคุณธรรม ศีลธรรม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดของมนุษยชาติ ในทางสังคม ความยุติธรรมมีค่ามากกว่า เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม และความสูงส่งของมนุษย์ในทัศนะของคำสอน อภิปรัชญา และศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธกับอิสลาม วัดกันด้วยความยุติธรรม แม้กระทั่งศาสดาก็เป็นตัวตนที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยมีพันธกิจหนึ่ง คือ การทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน และหากจะกล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยมุมมองในศตวรรษปัจจุบัน ความยุติธรรมคือ ไอเดีย หรือ อุดมการณ์ทางการเมืองของการเมืองแบบศาสดาเพื่อสร้าง ยูโทเปีย หรือ อารยนคร
หลักฐานและเหตุผล
  ๑.ในส่วนที่กล่าวว่า ความยุติธรรม ถือเป็นค่านิยมคุณธรรม ศีลธรรม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดของมนุษยชาติ นั่นก็เพราะว่าศีลธรรมทั้งหมดที่มนุษย์ตัดสินว่าดี หรือ ไม่ดีนั้น ล้วนมีความยุติธรรมเป็นรากฐานทั้งสิ้น ไม่มากจนเลยเถิด ไม่น้อยจนขาดความพอดี โดยสิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่า สิ่งใดเลยเถิด คือ ความยุติธรรม ดังนั้น คุณค่านี้จึงเป็นมาตรวัดคุณค่าอื่น และถือเป็นฐานของคุณค่าอื่น ๆ ทั้งหมด และเหตุผลที่ความยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์นั่นก็เป็นเพราะว่า ศีลธรรมข้อนี้เป็นศีลธรรมที่ถูกยกย่องให้เหนือกว่าศีลธรรมข้ออื่นในทางศาสนา-อภิปรัชญา  มีผู้กล่าวว่า ศีลธรรมเป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาเอง คำกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง เหตุผลที่ทำให้นิยามความยุติธรรมของแต่ละสำนักแตกต่างและขัดแย้งกัน เกิดจากความขัดแย้งกันในการวินิจฉัยความจริง มิใช่ความขัดแย้งกันในแก่นแท้หรือความจริง กล่าวคือทัศนะที่ต่างกันเกิดจากการที่แต่ละคนค้นพบความเป็นจริงของความยุติธรรมต่างกัน มิได้หมายความว่า ตัวตนของความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงและแตกต่างไปตามมุมมอง
   ๒.ในส่วนที่กล่าวว่า ในทางสังคม ความยุติธรรมมีค่ามากกว่า เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม ใช้เหตุผลเดียวกันในข้อที่หนึ่ง เพราะ เสรีภาพ และคุณค่าอีกสองประการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีหลักการความยุติธรรมเป็นตัวนำร่อง เช่น หากมีเสรีภาพ แต่ไม่มีการระบุหรือจำกัดขอบเขตของมัน การละเมิดต่อเสรีภาพของผู้อื่น โดยอ้างว่า เป็นการกระทำที่มาจากเสรีภาพของตนเอง แท้ที่จริงการกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากการทำลายเสรีภาพในนามของเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้เอง เสรีภาพจึงต้องมีคุณค่าหนึ่งเป็นรากฐานและเป็นตัวนำร่องเพื่อไม่ให้เสรีภาพของบุคคลผู้หนึ่ง ถูกละเมิดโดยอีกผู้หนึ่ง และตัวนำร่องนั้นคือ ความยุติธรรม ส่วนประชาธิปไตย และความเท่าเทียม ก็ใช้เหตุผลเดียวกันเป็นตัวพิสูจน์ว่าต้องมีความยุติธรรมเป็นตัวนำร่อง ด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมจึงถือเป็นคุณค่าที่มีค่ามากกว่า ค่าทั้งสามที่ระบุมาในทางสังคม
  ๓.ในส่วนที่กล่าวว่า และความสูงส่งของมนุษย์ในทัศนะของคำสอน อภิปรัชญา และศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธกับอิสลาม วัดกันด้วยความยุติธรรม เพราะในปรัชญาจริยศาสตร์ ทั้งที่มาจากตะวันออก และตะวันตก ล้วนถือคำสอนเรื่องความยุติธรรมเป็นคุณลักษณะอันงดงามในการทำให้ตัวตนของมนุษย์สูงส่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพลโต อริสโตเติล ขงจื๊อ อภิปรัชญาจึงสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะอภิปรัชญา ยอมรับ คุณค่าที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์และการทดลอง ว่าเป็นคุณค่าที่มีอยู่จริงแม้จะอธิบายต่างกันก็ตาม ผิดกับปฏิฐานนิยม(Positivism) และออกูส กง ที่พยายามขับเคลื่อนโลกให้ปฏิเสธสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่คุณค่าทางศีลธรรมทั้งหมดโดยตัวตนของมัน (By itself)  ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แม้แต่คุณค่าเดียว ส่วนเหตุผลที่ผู้เขียนเน้นสองศาสนา นั่นคือ พุทธ กับ อิสลาม เพราะมีตัวบทจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ใช้ชีวิตบนทางสายกลาง และเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะทำให้ทางสายกลางเกิดขึ้นได้ คือ ความยุติธรรม และในส่วนคำสอนของอิสลาม ก็ได้ระบุเช่นเดียวกันว่าความยุติธรรมคือรากฐานของทุกความดีงามทั้งในทางปัจเจก สังคม หรือแม้แต่ระบบของโลกนี้ก็ถึงสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานความยุติธรรมของพระเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน
๔.ในส่วนที่กล่าวว่า แม้กระทั่งศาสดาก็เป็นตัวตนที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยมีพันธกิจหนึ่ง คือ การทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน และหากจะกล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยมุมมองในศตวรรษปัจจุบัน ความยุติธรรมคือ ไอเดีย หรือ อุดมการณ์ทางการเมืองของการเมืองแบบศาสดาเพื่อสร้าง ยูโทเปีย หรือ อารยนคร
การแสวงหาความยุติธรรม เกิดจากสามัญสำนึก หรือ เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์
ในประเด็นนี้ คือการหาคำตอบว่า ในการที่มนุษย์เรียกร้องความยุติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกฝังไว้ภายใต้จิตใต้สำนึก หรือ สามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ หรือไม่มีโปรแกรมคุณธรรมอะไรเหล่านี้อยู่ในธรรมชาติของพวกเขามาตั้งแต่ตั้งต้น มีสองทัศนะหลัก ได้แก่ ทัศนะแรก เป็นทัศนะที่ปฏิเสธเรื่องสามัญสำนึก และตัดสินว่า การที่มนุษย์แสวงหาความยุติธรรมไม่ได้เป็นเพราะสามัญสำนึก แต่เป็นเพราะเป็นเพราะมนุษย์คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงจากการอาศัยใช้ชีวิตร่วมกัน และทัศนะที่สอง เป็นทัศนะที่ชี้ว่า การที่มนุษย์เราแสวงหาความยุติธรรม เป็นเพราะสามัญสำนึกของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้น และทัศนะที่ผู้เขียนเลือกคือทัศนะที่สองฃ
หลักฐานและเหตุผล
  ๑.ทัศนะแรกที่กล่าวว่า การที่มนุษย์แสวงหาความยุติธรรมไม่ได้เป็นเพราะสามัญสำนึก แต่เป็นเพราะเป็นเพราะมนุษย์คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงจากการอาศัยใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นก็เพราะทัศนะนี้ให้เหตุผลว่า ศีลธรรมอย่างความยุติธรรม ไม่ใช่ค่าคงที่เสมอไป เปลี่ยนแปลงได้ไปตามยุคสมัยและกาลเวลา เช่น ยุคหนึ่งการค้าทาสอาจเป็นสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ในอีกยุคหนึ่ง เมื่อค่านิยมเรื่องทาสเปลี่ยน การค้าทาสก็จะเป็นความอยุติธรรมสำหรับพวกเขา จึงไม่มีอะไรถูกหรือผิดเสมอไป แต่ผิด-ถูกขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในยุคสมัยไหนและในยุคสมัยนั้นค่านิยมทางศีลธรรมเป็นอย่างไร ค่านิยมนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางศีลธรรมหลายแนวคิดด้วยกัน เช่น ประโยชน์นิยม,อรรถประโยชน์นิยม,แนวคิดเรื่องศีลธรรมแบบเฮเกล,ปรากฎการณ์วิทยา,แนวคิดศีลธรรมแบบเบอร์ทรัน รัสเซล,ทฤษฎีวงศาวิทยาของฟูโก้,ทฤษฎีวงศาวิทยาจริยศาสตร์ของนิทเช่,แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของเดวิดฮูม เป็นต้น และหากจะพูดในภาพรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดนี้สอดคล้องกับ ทุกทฤษฎีศีลธรรมที่มองว่าศีลธรรมเป็นไปในเชิงสัมพัทธ์
แนวคิดความยุติธรรมลักษณะนี้มีอัตลักษณ์ทางศีลธรรมที่สำคัญ ได้แก่
-ศีลธรรม ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นสิ่งที่สังคมแต่ละสังคมเป็นตัวกำหนด และสร้างมันขึ้นเอง
-แนวคิดนี้ให้น้ำหนักผลประโยชน์ของปัจเจกมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
-แนวคิดนี้จะหยุดหยุ่นและให้ผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนผลประโยชน์ของปัจเจกก็ต่อเมื่อ ปัจเจกมองว่าการรักษาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สามารถทำได้หากไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม
-แนวคิดนี้มองว่า ไม่มีอะไรถูก-ผิดอย่างแท้จริง ถูกผิดเป็นเรื่องที่ผู้คนคิดกันขึ้นมาเอง
๒.ทัศนะที่สองกล่าว่วา การที่มนุษย์เราแสวงหาความยุติธรรม เป็นเพราะสามัญสำนึกของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้น โดยใช้เหตุผลว่า ค่านิยมที่คงที่และไม่เปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ค่านิยมนั้น มาจากสามัญสำนึก หรือ ธรรมชาติของมนุษย์ และเนื่องด้วยความยุติธรรมและการเรียกร้องมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในอดีต และจะมีต่อไปในอนาคต ในทุกแผ่นดิน ทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุนี้ความยุติธรรมจึงไม่ใช่ ค่านิยมศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์ แต่เป็นค่านิยมที่มั่นคงแน่นอน และมีอยู่จริง แนวคิดนี้สอดคล้องกับ แนวคิดศีลธรรมของศาสนาเช่นอิสลาม,แนวคิดเรื่องศีลธรรมของโสเครตีส, แนวคิดเรื่องศีลธรรมของเพลโต,แนวคิดเรื่องศีลธรรมของเอมานูเอล คานท์ ในภาพใหญ่ และแตกต่างกันในภาคย่อย กล่าวคือ แต่ละสำนักคิดล้วนมีมุมมองว่า ศีลธรรมเป็นสิ่งที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่คำอธิบายและวิธีได้มันมา
-สำหรับโสเครตีส การได้มาซึ่งศีลธรรมสุดท้าย ต้องผ่านกระบวนการบริภาษวิธี(Dialectical)
-สำหรับคานท์ศีลธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงต้องมองหาจากกฎสากล หรือ กฎทองคำ
-สำหรับเพลโต ต้องมาศีลธรรมที่สมบูรณ์จากแบบที่สมบูรณ์ของมัน
-และสำหรับอิสลาม แบ่งออกเป็นสองแนวคิดใหญ่ ได้แก่
-แนวคิด ฮุสนุลกุบฮุซาตี หมายถึง ความดีความชั่วสามารถรู้ได้จากตัวของมันเอง โดยผู้ที่จะบอกว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว คือ พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว และสติปัญญาไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดของ โซเรน เคียร์เคเกอร์บิดาแห่งสำนักคิด Existentialism  
-ส่วนแนวคิดที่สอง คือ ฮุสนุลกุบฮุลอักลี หมายถึง ความดีความชั่วสามารถรู้ได้จากสติปัญญา แต่การจะตัดสินและกระทำมันได้อย่างมีประสิทธิต้องอาศัยวิวรณ์จากพระเจ้า
แนวคิดความยุติธรรมนี้มีอัตลักษณ์ทางศีลธรรมที่สำคัญ ได้แก่
-ธรรมชาติของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์ และเรียกร้องแต่สิ่งที่ดีงาม
-หากได้รับการอบรมอย่างถูกต้อง และมีผู้อบรมที่ถูกต้อง มนุษย์จะเข้าใจว่าความยุติธรรมที่แท้จริงคืออะไร และจะเรียกร้องสิ่งนั้น
-แนวคิดนี้วางอยู่บนหลักที่ตัดสินว่า ผลประโยชน์ของสังคม มีน้ำหนักมากกว่า ผลประโยชน์ส่วนตัว
-แนวคิดนี้วางอยู่บนหลักการว่า ในกรณีที่การเรียกร้องความยุติธรรม แม้จะส่งให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ผู้เรียกร้องก็จะกระทำมัน
๓. เหตุผลที่ผู้เขียนตัดสินให้ทัศนะที่สองสมเหตุสมผลมากกว่า นั่นก็เพราะว่า
  ประการที่ ๑ ผิด-ถูก จริง-เท็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ขึ้นอยู่กับ ตัวมันเอง
  หลักการของแนวคิดแรก ตั้งอยู่บนอัตลักษณ์ทางความคิดว่า ผิด-ถูก จริง-เท็จ ขึ้นอยู่กับมุมมอง และยุคสมัย ความยุติธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน ในหลักฐานนี้สามารถวิพากษ์ได้ว่า การที่แต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัย อธิบายว่าสิ่งใดถูก-สิ่งใดผิดไม่เหมือนกัน ไม่ได้เป็นเพราะคุณธรรมและความอธรรม หรือดีชั่ว ไม่มีแก่นแท้ที่แน่นอน แต่เป็นเพราะแต่ละสังคมตีความและตัดสินว่า อะไรคือคุณธรรมแตกต่างกัน จึงมีผลทำให้การชี้ว่าอะไรคือความยุติธรรม และอะไรไม่ใช่สิ่งนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ สิ่งที่มีอยู่จริง หากมีผู้อธิบายถึงสิ่งนั้นแตกต่างกัน ความเข้าใจที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นตัวปฏิเสธถึงการไม่มีอยู่จริงของสิ่งนั้นแต่ประการใด
ในทางกลับกัน สิ่งที่ไม่มีจริง ถึงแม้จะมีคำอธิบายมากมายเพียงใด ก็ไม่ได้เป็นตัวยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้นใดๆเลย และการที่แต่ละสังคมอธิบายคุณสมบัติของสิ่งหนึ่งแตกต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริง คุณสมบัติของสิ่งนั้นจะลดหายไป หรือ เพิ่มขึ้นตามคำอธิบายที่แตกต่างกันของผู้คน ไม่ว่าจะพูดให้ดูดีขึ้น หรือพูดให้ดูแย่ลง คุณสมบัติของสิ่งนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน หากสิ่งหนึ่งถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือ ถูกนำมาใช้ต่ำกกว่าประสิทธิภาพที่สิ่งนั้นถือครองและสามารถกระทำได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณสมบัติที่แท้จริงของมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามวิธีการใช้งานเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจะเปรียบความยุติธรรมเหมือนยา การที่หมออธิบายคุณสมบัติและวิธีใช้งานของมันแตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่า สรรพคุณของมันไม่มีจริงหรือขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของหมอ หรือ หากมีหมออธิบายให้ตัวยานั้นดูดีกว่าประโยชน์ที่มันมี หรือ ดูไร้ประโยชน์กว่าที่เป็นจริง ก็ไม่ได้หมายความว่า สรรพคุณที่มันมี จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำพูดของหมอแต่ประการใด และเช่นเดียวกัน หากตัวยาดังกล่าวถูกนำมาใช้ผิดวิธี หรือ ใช้ไม่เหมาะสมกับสรรพคุณที่มันถือครอง ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวยาชนิดนั้น จะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ความยุติธรรมก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ โดยตัวของมันเองความยุติธรรมถือเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าจะมีผู้อธิบายเกี่ยวกับสรรพคุณของมันแตกต่างกัน หรือ อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีใช้งานแตกต่างกัน ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะพิสูจน์ว่า ความยุติธรรมเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมอง
ปัญหา จึงไม่ใช่”การไม่มีคำวินิจฉัยที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวตนของความยุติธรรม แต่คือการวินิจฉัยว่าความยุติธรรมที่ถูกต้องนั้นควรจะเป็นอย่างไร”กล่าวคือการที่แต่ละสำนักคิดอธิบายถึงความยุติธรรมแตกต่างกันว่าควรจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเพราะการค้นพบและความเข้าใจของแต่ละสำนักคิดแตกต่างกัน “การที่มีคนพูดว่าความยุติธรรมควรจะเป็นแบบนี้ มีหลักการแบบนี้” ก็คือคำวินิจฉัยของบุคคลผู้นั้นถึงตัวตนของความยุติธรรม คำวินิจฉัยของมนุษย์อาจผิดพลาดได้ อาจล้าหลังได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ความยุติธรรมในแบบที่มันเป็นจริง จะไม่มีอยู่เลย จะผิดพลาด และล้าหลัง สิ่งที่มนุษย์ทั้งหมดที่สนใจในเรื่องความยุติธรรม คือ ความยุติธรรมในแบบที่มันเป็น แต่เมื่อสำนักคิดหนึ่งอธิบายมันออกมา ความยุติธรรมนั้นก็จะกลายเป็น ความยุติธรรมในแบบที่เราคิดว่าควรจะเป็น ซึ่งบางครั้ง ก็ไม่ใช่ความยุติธรรมในแบบที่มันเป็นเสมอไป
การที่มีคนบอกว่า สิ่งนั้นดี หรือ สิ่งนี้ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่า มันจะดีหรือไม่ดีไปตามคำพูดของคนเสมอไป ถ้าหากมันคือสิ่งที่ดี มันก็ดีในตัวของมันเอง  และการที่คนเรามองมันต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า ความดีที่มันมีนั้น จะไม่มีอยู่จริง หรือ ไม่แน่นอน
ประการที่ ๒ ปัจจัยที่ทำให้คำอธิบายและมุมมองเกี่ยวกับความยุติธรรมแตกต่างกัน
  ปัจจัยที่ ๑ การให้น้ำหนักของเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ในทางญาณวิทยา
  เครื่องมือที่มนุษย์ใช้เข้าถึงความรู้ได้แก่ ประสาทสัมผัส-วิทยาศาสตร์, สติปัญญา,ประวัติศาสตร์ และวิวรณ์(สำหรับผู้ที่ยอมรับว่าวิวรณ์จากศาสนา ถือเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้)และสามัญสำนึก เช่น ประสาทสัมผัส เป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้แรกที่มีติดตัวมาแต่แรกเกิด แต่สามารถผิดพลาดได้ สติปัญญา ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเข้าถึงความรู้ ผิดพลาดได้แต่ในเรื่องที่มีสถานะยังเป็นทฤษฎี แต่จะไม่ผิดพลาดหากเป็นสัจพจน์ ในส่วนของวิวรณ์ จะเป็นการได้ความรู้มา ผ่านผู้ที่เป็นตัวแทนของสิ่งมีอยู่อันศักดิ์สิทธิ์ มีสถานะเดียวกันกับสัจพจน์ หากพิสูจน์ได้ว่าวิวรณ์ที่ได้ว่าผู้ส่งมีอยู่จริง,ถูกส่งผ่านมาอย่างถูกต้อง,และเนื้อหาไม่ถูกดัดแปลง  และ วิทยาศาสตร์ เป็นคุณภาพที่ถูกพัฒนาจากประสาทสัมผัส ผิดพลาดได้หากมีทฤษฎีใหม่ที่เหมาะสมกว่ามาล้มล้าง น้ำหนักของเครื่องมือที่ต่างกันมีผลทำให้ ความยุติธรรม ถูกตัดสินต่างกัน
  แนวคิดที่หนึ่ง เช่น ปฏิฐานนิยม หรือ เดวิดฮูม ตัดสินว่า เครื่องมือทางญาณของมนุษย์ที่มีค่า คือ ประสาทสัมผัส-วิทยาศาสตร์ แต่เพียงสิ่งเดียวโดยปฏิเสธคุณค่าของเครื่องมืออื่นๆ หรือ ให้น้ำหนักน้อยกว่า จะทำให้มีผลถึงการให้น้ำหนักว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง กล่าวคือ “ตามหลักการนี้ สิ่งใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ย่อมมีคุณค่าและมีจริงในตัวของมันเอง และสิ่งใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ย่อมไม่จริงและไม่มีคุณค่าในตัวของมันเอง “ทำให้คิดว่า” ความยุติธรรม จัดเป็นค่านิยมหนึ่งในศีลธรรม ซึ่งค่านิยมทางศีลธรรมไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แม้แต่ค่านิยมเดียว”จึงมีผลทำให้ผู้ที่ยึดตามสำนักคิดนี้ ตัดสินว่า ความยุติธรรมไม่มีจริง และเป็นเพียงแค่คำที่ถูกนำมาใช้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ในสังคม
หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้คือ มีแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ไม่มีทางผิดพลาด อย่างอื่นผิดพลาดได้ทั้งหมด อย่างอื่นเชื่อถือไม่ได้
 แนวคิดที่สอง ที่ตัดสินว่า ไม่ได้มีแต่วิทยาศาสตร์ ประสาทสัมผัสแต่เพียงสิ่งเดียวที่สามารถเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ให้กับมนุษย์ได้อย่างมีน้ำหนัก สามัญสำนึกก็ถือเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้ตัดสินว่า ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกของมนุษย์ทุก ๆ คน
  กลุ่มนี้เริ่มจากการพิจารณาว่า สามัญสำนึกคืออะไร และได้คำตอบว่า สามัญสำนึกมีอัตลักษณ์ที่มั่นคงสามประการด้วยกัน ได้แก่
-ไม่จำเป็นต้องมีใครสอน
-มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย
-ไม่ขึ้นกับขนบธรรมเนียมประเพณี
   และด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมเป็นค่านิยมที่มีลักษณะสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของสามัญสำนึกทั้งสามประการ กล่าวคือ ไม่ต้องมีคนสอนก็สามารถรับรู้ได้ว่าการกดขี่ การถูกรังแกเป็นสิ่งที่ผิด และความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง,ทุกยุคทุกสมัยผู้คนต่างก็เรียกร้องความยุติธรรม,ความยุติธรรมไม่ได้ขึ้นกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติใดชาติหนึ่ง จึงให้ข้อสรุปว่า ความยุติธรรมมาจากสามัญสำนึกของมนุษย์นั่นเอง
การให้น้ำหนักที่เหมาะสมที่สุด คือ หลักการของแนวคิดที่สอง
  เพราะหากยึดตามทัศนะที่หนึ่ง จะถูกหักล้างด้วยเหตุผลดังนี้
  ข้อที่ ๑ : หลักการที่ระบุว่า “สิ่งใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ย่อมมีคุณค่าและมีจริงในตัวของมันเอง และสิ่งใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ย่อมไม่จริงและไม่มีคุณค่าในตัวของมันเอง” ตัวของประพจน์นี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะมีหลายสิ่งมากมายที่มนุษย์เรายอมรับว่ามีอยู่จริง แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์ เช่น วิญญาณของพวกเขาเอง  หรือ “ความเป็นฉัน” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด   
สำหรับทุกๆคน
ค่าทางจริยศาสตร์ เช่น ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความรัก,สิ่งที่วิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้,สิ่งที่วิทยาศาสตร์พบว่าไม่มีความหมาย แต่กลับมีความหมายสำหรับมนุษย์,ประพจน์ในคณิตศาสตร์,ประพจน์ในตรรก,ประพจน์ในปรัชญา ซึ่งสามารถยืนยันถึงความเป็นจริง และมีความหมาย แต่ไม่ได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ ปฏิฐานนิยมยอมอ่อนข้อเปลี่ยนจาก “สิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ย่อมไม่มีความหมาย” เป็น “สิ่งที่วิทยาศาสตร์ ชี้ว่าเป็นไปได้ ย่อมมีความหมาย” เพื่อไม่ให้ตรรกวิทยา กับ คณิตศาสตร์ถูกตัดออกไป แต่การเปลี่ยนคำในประพจน์ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานี้หมดไป คาร์ล ปูเปอร์ ปฏิฐานนิยมรุ่นหลัง จึงแก้หลักการใหม่เป็น “สิ่งใดก็ตามที่สามารถหักล้างได้ในทางวิทยาศาสตร์ ย่อมมีความหมาย” แต่ถึงจะปรับหลักการให้กว้างขึ้น ผลก็คือ หลักการไม่ใช่หลักการที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความจริงได้เลย เพราะการชี้ว่า สิ่งที่สามารถหักล้างได้-มีความหมาย ครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริง
  ข้อที่ ๒ : ประพจน์ใน คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์เป็นประพจน์ที่ไม่ได้มาจากเครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์ แต่มาจากสติปัญญา ด้วยเหตุนี้การปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ หรือ การวินิจฉัยว่า วิทยาศาสตร์คือเครื่องมือที่มีความน่าเชื่อถือเพียงเครื่องมือเดียวในทางญาณวิทยา มีผลทำให้ต้องละทิ้งคณิตศาสตร์ และตรรกศาสตร์ไปโดยปริยาย เพราะคำตอบและวิธีการล้วนมาจากเครื่องมือสติปัญญา
  ข้อที่ ๓ : วิธีการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ อิงอยู่บนหลักการอุปนัย หมายถึง การสรุปผลที่มาจากการค้นหาความจริงโดยผ่านการสังเกต การทดลอง การทำซ้ำ เพื่อสร้างสมมติฐานนิรนัย หรือ หลักการ และนิรนัยซึ่งเป็นที่อิง เป็นฐาน และเป็นเสาของวิทยาศาสตร์ โดยตัวของมันเอง ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริง ที่สามารถยืนยันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะคำตอบบางข้อที่วิทยาศาสตร์มอบให้จะมีโอกาสถูกต้อง 99 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม หากมี 1% ที่ยังหลงเหลืออยู่ ย่อมชี้ว่า ความจริง-ความเท็จในเรื่องดังกล่าว ยังไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วิทยาศาสตร์ที่เป็นอุปนัย ถูกทำให้เป็นนิรนัยในทางญาณวิทยา กล่าวคือ วิธีของวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถให้คำตอบแก่ผู้ค้นคว้าได้ 100% ในทุกเรื่อง แต่มันกลับถูกทำให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ย่อมถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และอะไรที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ย่อมผิดพลาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  ทั้ง ๆ ที่วิธีการหาคำตอบเป็นวิธีให้เหตุผลแบบ  นิรนัย ที่ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
  ด้วยเหตุผลสามข้อการให้น้ำหนักแค่วิทยาศาสตร์ และ ประสาทสัมผัส โดยตัดเครื่องมืออื่น ๆ ที่มนุษย์มีออกไป จึงไม่ถูกต้องและเป็นการเอียงข้างอย่างสมบูรณ์ ทุกเครื่องมือล้วนใช้แสวงหาความรู้ได้เพียงแต่แตกต่างที่ระดับและวิธีการ
คำตอบที่ดีที่สุดของประเด็นนี้ ก็คือ การยอมรับว่า ทุกเครื่องมือทางญาณวิทยาของมนุษย์ สามารถใช้แสวงหาความรู้ และมีน้ำหนักที่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด เพียงแต่แต่ละเครื่องมือ ต้องใช้กระบวนการที่แตกต่างกันไปอย่างเหมาะสมกล่าวคือ
-หากชุดความรู้เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส หรือ การจะเข้าถึงได้ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประสาทสัมผัสก็จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด
-หากชุดความรู้เกี่ยวข้องกับสติปัญญา เช่น ตรรก คณิตศาสตร์ ปรัชญา เหตุผล หรือ ปรัชญาจริยศาสตร์ เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด คือ สติปัญญา
-หากชุดความรู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งต้องอาศัยคำบอกเล่าที่น่าเชื่อถือเป็นตัวนำทาง เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด คือ ประวัติศาสตร์ หรือ การรายงาน
-หากชุดความรู้เกี่ยวข้องกับ เมตาฟิสิกต์ หรือ สิ่งพ้นญาณวิสัยทั่วไปของมนุษย์ เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดคือ วิวรณ์
แต่ละเครื่องมือมีบทบาทที่สามารถใช้ได้ในชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือนั้น และไม่ได้หมายความว่า หากเครื่องมือนึงใช้ได้ต้องปฏิเสธเครื่องมืออื่น ๆ ที่เหลือ เพียงแต่ใช้ได้ในวาระและประพจน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องมือนั้น
  วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้ค่าที่เป็นจริงได้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในทุกกรณี เพราะตั้งอยู่บนหลักการอุปนัย ซึ่งเปิดให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ดังนั้นการปฏิเสธเครื่องมือทางญาณอื่น ๆ เว้นไว้แต่วิทยาศาสตร์ จึงถือเป็นการปิดประตูความรู้ให้แคบลง ดังนั้นทัศนะที่สมเหตุสมผลที่สุดคือ การยอมรับว่าทุกเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ของมนุษย์ล้วนสามารถใช้งานได้ และมีความหมาย ทั้งวิทยาศาสตร์ สติปัญญา ประสาทสัมผัส ประวัติศาสตร์ และวิวรณ์ เพียงแต่แต่ละเครื่องมือสามารถใช้ได้ต่างกันต่างวาระ ในระดับที่แตกต่างกัน
ปัจจัยที่ ๒ ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมขึ้นอยู่กับความเข้าใจเรื่องโลกทัศน์
  เหตุผลสำคัญประการต่อมา ที่ทำให้มนุษย์เราเข้าใจความยุติธรรมแตกต่างกันเกิดจากโลกทัศน์ และความเข้าใจต่อโลกที่แตกต่างกัน เช่น เหตุผลนิยมเข้าใจว่าโลกนี้ดำเนินไปตามหลักของเหตุผล
  หากนิยมไปทางเฮเกลนิยมก็จะพยายามอธิบายว่า โลกเคลื่อนไปแบบวิถี Thesis - Antithesis อยู่เสมอ ความเข้าใจแบบนี้มีผลต่อการเข้าใจว่าความยุติธรรม เป็นค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจนกว่ามันจะไปถึง Synthesis ของมัน
  หากนิยมไปทางประสบการณ์นิยม ปฏิฐานนิยม วัตถุนิยม ก็จะยึดว่าโลกเคลื่อนไปตามกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ถูกต้องในวาระของมัน แต่ที่เลยเถิดไป คือ การสรุปเหมารวมว่า คุณค่าทางจริยธรรม อย่างความยุติธรรม ความเมตตา และอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์มโนขึ้นมาเอง
  หากนิยมไปทางสัจนิยมแบบ อุตรปรัชญา หรือ ฮิกมัตมุตะอาลียะฮ์ ของมุลลาศอดรอ (Transcendent theosophy or al-hikmat al-muta’āliyah) ก็จะตัดสินว่า ความยุติธรรมเป็น มโนทัศน์ทางจริยศาสตร์ ที่มีอยู่จริง แต่ภาวะการมีอยู่จริงของมันเกิดจากภาวะการมีอยู่จริงของมนุษย์ในเบื้องต้น ผู้เขียนเติมคำว่า “เบื้องต้น”เพื่อชี้ว่า ในช่วงเริ่มต้น เราอาจเห็นว่า ศัพท์ในทางจริยศาสตร์ มีจริงขึ้นมา เพราะ ผลกระทบหรือการสร้างผลกระทบที่มนุษย์กระทำ แต่ใน “ปัจฉิม” ความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นผลของความเป็นจริงของสิ่งมีอยู่ที่อยู่ในระดับสูงสุด และหลักการในการพิสูจน์ว่าอะไรมีจริง ไม่ใช่มีแต่ในโลกแห่งความคิด คือ การดูที่ผลกระทบ หากสิ่งนั้น มีผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งดังกล่าวย่อมมีจริงในรูปแบบของมันเอง แต่หากไม่มีผลสิ่งดังกล่าวย่อมไม่มีจริง เช่นไฟในความคิด กับ ไฟในความเป็นจริง ต่างกันตรงที่ ไฟในความคิดไม่มีผลของความร้อนตามมา แต่ไฟในความเป็นจริงจะมีความร้อนเกิดขึ้น และด้วยหลักการเดียวกัน ความยุติธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำศัพท์ เพราะมีผลเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ตัวตันของมันจะไม่ได้ปรากฏเป็นรูปร่างเหมือนสิ่งของหรือวัตถุ ทว่ารูปแบบการดำรงอยู่ของมันมีลักษณะเดียวกันกับ ประพจน์ในอภิปรัชญา นั่นคือ ภาคแสดงของมันดึงออกมาจากโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนตัวตนของมันอยู่ในโลกของมันเอง
จะเห็นว่า แต่ละโลกทัศน์สามารถสร้างความแตกต่างต่อความยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง แต่ถึงแม้จะมีทัศนะที่แตกต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า ที่ถูกต้องจะไม่มีอยู่ ซึ่งเราจะละประเด็นนี้ไว้ และขอกล่าวถึงในบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
  ปัจจัยที่ ๓ อัตตาของมนุษย์ และอิทธิพลทางการเมือง สื่อ
ปัจจัยสำคัญอีกแง่หนึ่งที่ทำให้ “ความยุติธรรม”ถูกตีความไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ก็คือ อิทธิพลทางการเมือง,อุดมการณ์ทางการเมือง,แนวคิดทางการเมือง สื่อ เช่น หากยึดแนวคิดแบบนาซี การปฏิบัติอย่างยุติธรรม ต่อชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวอารยัน ก็คือ การวางสถานะที่ไม่ใช่มนุษย์ผู้สูงส่งสำหรับพวกเขา หรือ  หากมีแนวคิดแบบไซออนิสต์ มนุษย์จำพวกอื่นที่ไม่ใช่ชาวยิว เปรียบเสมือนกับปศุสัตว์ หรือแม้จะมีหลักการทางการเมืองร่วมกัน แต่หากนิยมนโยบายพรรคต่างกัน ก็สามารถทำให้แนวคิดเรื่องความยุติธรรมแตกต่างกันได้ เช่น อนุรักษ์นิยม กับ หัวสมัยใหม่ เดโมแครต กับ ลีพับลีกัน หรือ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตาม ดังนั้นส่วนที่ต้องแก้ปัญหาจึงจะต้องเริ่มต้นจากการวิพากษ์ และยกระดับ”ความยุติธรรม”ให้อยู่เหนืออิทธิพลทางการเมือง จอน รอส์ล มองเห็นปัญหานี้ จึงพยายามยกระดับ”ความยุติธรรม”ให้อยู่เหนืออิทธิพลของทุกสิ่ง ด้วยการเสนอทฤษฎีม่านแห่งความไม่รู้ แต่วิธีของเขาก็ไม่ถูกต้อง มันเป็นเพียงการหนีจากปัญหาหนึ่งเพื่อไปเจอกับอีกปัญหา ซึ่งเราได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อ สีสันความยุติธรรม ในทัศนะของจอน รอส์ล ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องความเข้าใจต่อความยุติธรรม จึงไม่ใช่การหนีไปสู่การตัดสินบนพื้นฐานของความไม่รู้ แต่คือ การหนีไปสู่สามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ซึ่งก็คือเครื่องมือหนึ่งของญาณวิทยาที่มนุษย์ทุกคนครอบครอง
ประการที่ ๓ เหตุผลที่ความยุติธรรมต้องมาจากสามัญสำนึก
แนวคิดที่ผู้เขียนนำเสนอคือ ความยุติธรรมที่ถูกต้อง ต้องมาจากสามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ เพราะ สามัญสำนึก ไม่ขึ้นกับวัฒนธรรม ยุคสมัย การเวลา และไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดมาสอน มันจึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออิทธิพลทางการเมือง และเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างมีจุดร่วมเดียวกันในมุมมองศีลธรรม อาจมีคำถามตามมาว่า หากทุกคนมีมุมมองทางด้านศีลธรรม หรือ ความยุติธรรมเหมือนกัน แล้วเหตุใด คนเราจึงเห็นผิดชอบชั่วดีต่างกัน คำตอบของผู้เขียนอยู่ในประการที่สองที่ได้กล่าวมาข้างต้น และเพิ่มเติมคือโดยพื้นฐานแล้วก่อนมนุษย์ทุกคนจะถูกย้อมไปด้วยสีสันทางความคิดเรื่องศีลธรรม หรือ ความยุติธรรม พวกเขามีความคิดในเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน และมันก็ยังคงมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ทว่าสังคม สิ่งแวดล้อมรอบตัว สภาพของชีวิต การทำความผิด และ อิทธิพลทางความคิดที่พวกเขาได้รับมา ทำให้ศีลธรรมอันบริสุทธิ์ถูกกลบฝัง กระทั่งถึงจุดหนึ่งศีลธรรมเหล่านั้น ก็จะไม่สำคัญต่อพวกเขา หรือ ถูกลืมเลือนจากจิตใจ เช่น การลักขโมย เดิมที่สามัญสำนึกบอกกับเรา มนุษย์เราไม่มีสิทธิไปครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมิชอบ เช่นเดียวกับที่ผู้อื่นไม่มีสิทธิมาครอบครองทรัพย์สินของเรา โดยมิชอบ และหากกระทำก็เท่ากับไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น ความรู้สึกไม่ดีต่อการเอาเปรียบผู้อื่นจะเข้ามานั่งในจิตใจของเขา แต่หากเขาได้รับการสอนมาว่า เขาได้รับสิทธิพิเศษในการลักสิ่งของของผู้อื่น เพราะโลกนี้ไม่ยุติธรรมต่อเขา ทำให้ชีวิตของเขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก การลักขโมยทรัพย์สินจากผู้ที่ร่ำรวย ก็ไม่ใช่ความผิด หรือ การถูกสอนว่า คนรวยทุกคนคือคนชั่ว การขโมยทรัพย์สินของเขาถือว่ายุติธรรมต่อสังคมแล้ว หากเชื่อในคำสอนเช่นนี้ การขโมยก็จะไม่ใช่ความ อยุติธรรมในสายตาของผู้นั้นอีกต่อไป
แต่หากพิจารณาด้วยตาแห่งสามัญสำนึก แม้แต่การหยิบฉวยน้ำดื่มของสุนัข ก็ถือเป็นการเอาเปรียบและอยุติธรรมต่อมัน ดังนั้น ผู้ที่สามารถสอนเราได้ดีที่สุดว่า พฤติกรรมใดยุติธรรม พฤติกรรมใด อยุติธรรม ก็คือ สามัญสำนึกของมนุษย์เอง เพียงแต่สำหรับมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมด้วยคำสอนที่หลอกลวง จำต้องได้รับการชะล้างความคิดที่เป็นพิษต่อพวกเขาเสียก่อน ซึ่งในศาสนาอิสลาม เรียกว่า ยักเซาะ หมายถึง การตื่น ตื่นจากมายาคติ เพื่อกลับสู่ความเป็นจริงของชีวิต และเมื่อรู้ตัวว่าผิดพลาดไป ขั้นตอนต่อไปคือ การเตาบัต หมายถึง การกลับตัวกลับใจ และหนึ่งในการกลับใจก็คือ การกลับใจไปสู่สามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปว่า ความยุติธรรมต้องมาจากสามัญสำนึก เพราะหากไม่มาจากแหล่งนี้แล้ว การตัดสินว่าอะไรคือยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรม จะไม่มีทางเท่าเทียมกัน เห็นร่วมกัน หรือ มีมติเป็นเอกฉันท์ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์เราสามารถกลับไปใช้ความยุติธรรมที่มาจากสามัญสำนึกได้สำเร็จ ขั้นตอนต่อไปก็คือ การเทียบกับอุดมการณ์ทางสังคม และการเมือง และโลกทัศน์ เพื่อดูว่า โลกทัศน์ และอุดมการณ์ใด เหมาะสมกับความยุติธรรมจากสามัญสำนึกที่สุด ก็จะได้ระบบที่ดีที่สุดสำหรับสร้างความกระบวนการความยุติธรรม ผู้เขียนมีข้อทิ้งท้ายว่า การจะเทียบระหว่างความยุติธรรมแบบบริสุทธิ์ กับระบบความคิดที่เหมาะสม (ไม่ว่าจะเป็นระบบที่มาจากศาสนา หรือ ไม่ก็ตาม) อาจผิดพลาดได้ และนำเขาไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้านด้วยกันสำหรับผู้ที่ต้องการตัดสินชี้ขาดด้วยความรู้ในทางเหตุผล แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้หรือค้นคว้าได้อย่างลึกซึ้งถึงขนาดสามารถวินิจฉัยได้ ขอเพียงใช้สามัญสำนึก และเหตุผลที่เพียงพอ ก็สามารถหาคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง

 

ผู้เขียน: Muhammadbehesti Thamrongsab
แหล่งที่มา เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา