ปรัชญาอิสลามศึกษา ความหมายของคำว่า วิทยาศาสตร์และปรัชญา ตอนที่ 1

ปรัชญาอิสลามศึกษา ความหมายของคำว่า วิทยาศาสตร์และปรัชญา ตอนที่ 1


บทที่ 4 : ความหมายของคำว่า วิทยาศาสตร์และปรัชญา
 ก่อนศึกษาประเด็นหลัก เราจะกล่าวถึง คำพ้อง(مشترک لفظی)ทั้งคำพ้องรูป และคำพ้องความเสียก่อน เนื่องด้วยประเด็นนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ และการละเลยไม่ใส่ใจยังมีผลทำให้เกิดตรรกวิบัติและการใช้งาน(คำต่างๆ)เหล่าอย่างไม่ถูกต้อง
 การพ้องคำ(اشتراک لفظی)
ทุกภาษา(เท่าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้)ล้วนมีคำศัพท์บางประเภทซึ่งแต่ละคำจะมีความหมายทางภาษา,ความหมายถึงจารีต(อุรฟี(عرفی)-คำที่คนในสังคมหรือยุคสมัยนั้นกำหนดให้ใช้ความหมายนั้น เช่น อยากกินข้าวแดงไหม ฟังแล้วรู้ในทันทีว่า ผู้ถามไม่ได้ต้องการสื่อถึงอาหาร แต่หมายถึง การเข้าคุกเข้าเรือนจำ แต่หากประโยคนี้ถูกพูดในภาษาอื่น หรือในยุคสมัยอื่น อาจจะไม่สื่อถึงความหมายนี้)และความหมายเชิงวิชาการอย่างหลากหลาย (ภาวะเช่นนี้)เรียก(ในทางปรัชญาอิสลาม)ว่า มุชตะรักลัฟซีย์(มุชตะรัก(مشترک) แปลว่า ร่วม,พ้อง,สิ่งที่ร่วมกับสิ่งอื่น ส่วนลัฟซีย์(لفظی) แปลว่า คำหรือคำศัพท์ เป็นคำสนธิ หมายถึง คำพ้องในภาษาไทย)ดังเช่นในภาษาฟารซีคำว่า ดูช(دوش) หมายถึง เมื่อคืนก่อน,ไหล่ และยังใช้หมายถึงฝักบัวสำหรับอาบน้ำ และคำว่า ชีร(شیر)หมายถึง สิงโต,นม และท่อน้ำ ดั่งกวีบทนี้ของเมาลานา
آن یکی شیر است اندر بادیه               و آن یکی شیر است اندر بادیه
آن یکی شیر است که آدم می خورد       و آن یکی شیر است کادم می درد
นั่นก็ชีรในทะเลทราย*****โน่นก็ชีรในทะเลทราย
ชีรหนึ่งนั่น มันกินคน*****ชีรหนึ่งนั้น คนกินมัน
อธิบายเพิ่มเติม
[1] ความผิดพลาดของนักปรัชญาและคนที่ไม่รู้ความแตกต่างของคำศัพท์ในทางปรัชญาที่มักเกิดขึ้นเสมอ คือ การไม่เข้าใจคำศัพท์ที่ถูกใช้ใน “มะตั่น” ของปรัชญาอย่างถูกต้อง (ท่านจะเรียกมะตั่นนี่ว่า Text หรือ ตัวบทก็ได้ เพราะสื่อถึงสิ่งเดียวกัน) เพราะการจะเข้าใจได้ว่า นักปรัชญาคนนั้นคนนี้พูดว่าอย่างไร พูดอะไร ต้องเข้าใจก่อนว่าคำศัพท์ที่ถูกใช้หมายถึงอะไร
[2] อันที่จริงแล้วปัญหาข้อหนึ่งข้างบนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวงการปรัชญาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแทบจะทุกวงวิชาการ และที่มักพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง คือ วงการแปลอัลกุรอ่านและฮาดิษ บางท่านที่ไม่ทราบด้วยบริสุทธิ์ใจจึงเข้าใจความหมายของผู้พูดอย่างไม่ถูกต้องจึงตีความพระวัจนะในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านอย่างผิดๆ ตีความปาฐกถาของศาสดา,อิมามอาลี(ขอความสันติพึงมีแด่ท่านทั้งสองและวงศ์วาน)และอื่นๆร้อยพันตัวอย่างอย่างไม่ถูกต้อง เช่นคำว่า กุนฟายากุน(کن فیکون)ซึ่งเป็นคำตรัสของพระองค์ที่มุสลิมต่างได้ยินบ่อยครั้ง แปลว่า จงเป็นแล้วมันจึงเป็น บางกลุ่มเข้าใจว่า กุนฟายากูน เป็นประโยคคำพูด จะพูดประโยคหนึ่งได้ ต้องใช้ปาก เลยคิดไปว่า อัลลอฮ มีปาก (แม้จะเติมคำว่า ปากที่ไม่ใช่มัคลู๊คก็ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาใดๆเลย เพราะผลของการตัดสินว่ามีปากที่เป็นมัคลู๊กและไม่เป็นมัคลู๊ก ความขัดแย้งในตัวเอง)
เมื่อเข้าใจคำศัพท์อย่างผิดๆ ก็จะทำให้เข้าใจความหมายอย่างผิดๆ เมื่อเข้าใจความหมายอย่างผิดๆ ก็จะทำให้การตัดสินหรือให้คุณค่าต่อเรื่องนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง จะขอยกตัวอย่างในวงการปรัชญาอิสลาม เช่นคำว่า วูญูด(وجود)
คำว่า วูญูด ในปรัชญาอิสลาม ภาษาอังกฤษแปลคำนี้ว่า Being ตามที่ตำรามุอฺญัมฟัลซาฟีย์ของญะมีล สุลัยบอได้เทียบศัพท์ไว้ แต่ภาษาไทยแปลคำนี้ว่า ภวันต์ กับ การดำรงอยู่ คำว่า อยู่-มี-ดำรง เป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนทั่วไปจึงไม่มีปัญหาให้ต้องมาคลี่คลายทีหลัง แต่คำว่า “ภวันต์” แรกเห็นหากไม่คุ้นเคยหรือคุ้นชินกับคำนี้เลย ก็ไม่อาจเข้าใจได้ในทันทีว่านักปรัชญาต้องการสื่ออะไรกันแน่ จนอาจเข้าใจไปว่า ภวันต์หมายถึง ภาวะ สื่อถึง สภาพของอะไรบางอย่าง และเมื่อท่านอ่านข้อความที่ระบุว่า
“ปฐมปรัชญาอิสลาม คือ ปรัชญาที่มุ่งศึกษาภวันต์ในฐานะที่เป็นภวันต์” ท่านอาจจะไม่เข้าใจ หรือ อาจเข้าใจว่า ปรัชญาอิสลามศึกษาภาวะในฐานะที่เป็นภาวะ ซึ่งไม่อาจคลายความสงสัยในปัญญาของท่านได้เลย เพราะท่านจะถามต่อไปว่า แล้วภาวะนี้คืออะไร และทำไมต้องเติมคำว่า “ในฐานะที่เป็นภวันต์” ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะท่านเข้าใจว่า ภวันต์ หมายถึง ภาวะ
ตัวอย่างที่สองขอให้ท่านสมมติตนเองว่า ท่านคือ คู่สนทนาของข้อความในชุดนี้
หากมีผู้มาขยายความให้ท่านเข้าใจว่า “ทุกอย่างบนโลกนี้มองได้สองด้าน ด้านหนึ่งคือ ด้านที่เป็นภวันต์ของมัน อีกด้านคือด้านที่เป็นสารัตถะของมัน”
แรกที่ได้อ่านประโยคนี้หากไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย ท่านอาจจะยังจับประเด็นไม่ได้ในทันที แต่หากเราถามท่านว่า
“ท่านมีอยู่จริงหรือไม่”
ท่านตอบว่า “ฉันมีอยู่จริง”
จากนั้นเราถามท่านต่อว่า “ท่านคือมนุษย์ใช่หรือไม่” ท่านตอบว่า “ใช่”
โดยธรรมชาติแล้วท่านจะรู้สึกว่า สองคำถามนี้กำลังถามถึงสิ่งเดียวกันคือตัวท่านเอง แต่หากมองให้ลึกซึ้งกว่านี้ในโลกแห่งปัญญา(เราไม่ได้เติมคำนี้เพื่อตกแต่งประโยคให้ดูสวยหรู “ในโลกแห่งความคิด” หมายถึง โลกแห่งความคิดในจิตของท่านที่สามารถแยกสรรพสิ่งออกเป็นสองด้าน ซึ่งทำเช่นนี้ไม่ได้ “ในโลกนอกความคิด”)  ท่านจะเห็นว่าสองคำถามนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้านหนึ่งคือการถามถึงการมีอยู่ของท่าน ส่วนอีกด้านคือการถามถึงสิ่งที่นักปรัชญาเรียกกันว่า สารัตถะของตัวท่าน จากนั้นท่านได้ยินเราพูดต่อว่า “สิ่งที่เป็นตัวแท้ของท่านไม่ใช่สารัตถะแต่คือการดำรงอยู่ของท่านเอง” ท่านอาจจะไม่เห็นความต่างกันเพราะคิดว่า สารัตถะกับการดำรงอยู่คือสิ่งเดียวกัน แต่หากเราถามท่านว่า
“ตอนนี้เรากำลังจินตนาการถึงสัตว์ที่มีงวง มีงา,หูใหญ่เหมือนใบลาน ตัวใหญ่กว่าคนหลายเท่า ท่านคิดว่า สัตว์ที่เรากำลังจินตนาการถึงตัวนี้คืออะไร ?
ท่านตอบ “ช้าง” จากนั้นเราถามท่านต่อว่า ช้างที่อยู่ในความคิดของเราขณะนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ? ท่านตอบว่าไม่มี เพราะมันอยู่ในความคิด
ตรงนี้ท่านจะเห็นแจ้งว่า ระหว่างการถามถึง “สารัตถะ” ที่ท่านตอบว่า ช้าง กับการถามถึงภาวะการดำรงอยู่ของสารัตถะนั้นที่ท่านตอบว่า “ไม่มี” ไม่ใช่เรื่องเดียวกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นสารัตถะจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการดำรงอยู่หากมองผ่านกระบวนการพิสูจน์ของปรัชญาอิสลาม
นึ่คือสองตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อนุบทของการไม่เข้าใจคำศัพท์อย่างที่ควรจะเข้าใจ คือ การได้มาซึ่งความคิดที่ผิดพลาดเสมอ
ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ เล่ม 1 หน้า 64
อยาตุลลอฮ์ มิศบาฮ์ ยัซดี