เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปรัชญาอิสลามศึกษา ความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญา ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ปรัชญาอิสลามศึกษา ความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญา ตอนที่ 2


บทที่ 4
หัวข้อ : ความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญา ตอนที่ 2
ตอนเดิมที่แล้ว ได้อธิบายไปแล้วว่า ก่อนเข้าสู่เนื้อหาในปรัชญาอิสลาม จะต้องเข้าใจคำศัพท์เฉพาะเสียก่อน เพราะความเข้าใจต่อเนื้อหา จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าใจความหมายของคำที่ถูกใช้ไปในเนื้อหานั้น
หัวข้อ : คำพ้อง
คำพ้อง เป็นสิ่งที่โลดแล่นอย่างมีบทบาทสำคัญในทางวรรณกรรมและกวี แต่ในศาสตร์อื่นโดยเฉพาะปรัชญา คำพ้องกลับเป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นให้มีปัญหามากมายโดยเฉพาะคำพ้องความ เมื่อพิจารณาในความเป็นคำพ้องความจะพบว่าบางกรณีความหมายร่วมที่ใกล้เคียงกันจัดอยู่ในระดับที่ยากจะแยกแยะเป็นอย่างยิ่ง และตรรกวิบัติมากมาย คือสิ่งที่ปรากฎขึ้นเพราะผลจากการพ้องในลักษณะนี้ แม้แต่ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าทัศนะก็มีที่ติดหล่มอยู่ในปัญหาดังกล่าว
ด้วยเหตุผลนี้ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่บางท่าน เช่น อิบนุซีนา จึงได้วางเงื่อนไขก่อนเข้าสู่ประเด็นปรัชญาที่มีความละเอียดว่า จะต้องรู้แจ้งถึงคำศัพท์และความหมายต่างๆที่หลากหลาย รู้ถึงความแตกต่างในทางวิชาการของพวกเขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลงประเด็นและความผิดพลาด
คำอธิบายเพิ่มเติม
[1] ความลับของการยกคำพ้องขึ้นเป็นบทต้นๆ
 บทเปิดในตำราปรัชญาอิสลาม สายศอดรอ มักเริ่มต้นด้วยประเด็น “อิชติรอกลัฟซีย์วูญูด” แปลว่า “ว่าด้วยคำพ้องของคำว่าภวันต์/มี/ดำรงอยู่ เช่น ในบิดายาตุลฮิกมะฮ์ และนิฮายะตุลฮิกมะฮ์ ของอัลลามะอฺฏอบาฏอบาอีย์ ในบทที่สองขึ้นบทว่า “คำว่าวูญูดเป็นคำพ้องความ”( 1999,น.15)อัซฟารและรอฮิคเคมัคตูม (ญะวาดีออมูลี อับดุลลอฮ์,1997,ล.1,น.251)
เหตุที่ปรัชญาแถบอิสลามยกประเด็นเรื่องคำพ้องเป็นบทแรกๆมาเสนอก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและตรรกวิบัติในภายหลัง กล่าวได้ว่าปรัชญาที่ดีแม้จะละเอียดอ่อนและมีเนื้อหาหนัก แต่ก็คำนึงถึงผู้รับเนื้อหา เพราะหากต้องการส่งสาส์นที่ถูกต้องให้แก่ผู้ศึกษาให้ครบถ้วนกระบวนความ ในขั้นต้นสิ่งที่นักปรัชญาควรทำ คือ การช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจว่า ความหมายของแต่ละคำที่ถูกบรรจุไว้ในตัวบทสื่อถึงอะไร นี่คือประการแรก อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องคลี่คลายเรื่องคำศัพท์ก่อนเพราะปรัชญาอิสลามคือปรัชญาที่อ้างว่าสามารถพามนุษย์ไปถึง “ความจริง” ได้ และการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้ศึกษาไม่รู้ว่า คำแต่ละคำที่ปรากฎในตัวของปรัชญาคืออะไร นี่คือประการที่สอง และอีกเหตุผลเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ศึกษาเข้าใจปนกันระหว่างประเด็นในทางภาษากับประเด็นในทางความเป็นจริง จึงต้องอธิบายคำศัพท์ที่จำเป็นต้องใช้เหล่านี้ในตำแหน่งเฉพาะ
[2] คำพ้องคือคำพ้อง
มีข้อให้พิจารณาในเรื่องคำพ้องอยู่มาก หนึ่งในนั้นคือ คำพ้องคือคำพ้อง หมายถึง ตัวของคำว่า “คำพ้อง” ก็เป็นคำพ้องหนึ่งเช่นกัน เพราะคำพ้องถูกใช้ในสองศาสตร์คือ ภาษาศาสตร์ และ ปรัชญา คำพ้องในภาษาศาสตร์จะศึกษาเพื่อดูว่า คำแต่ละคำถูกกำหนดไว้สำหรับหนึ่งความหมาย หรือหลากความหมายไว้อย่างไร หากคำดังกล่าวใช้ได้กับหลายสิ่ง ก็จะกลายเป็นคำพ้องความ ปรัชญาอิสลามเรียกว่า มุชตะรักมะนาวี แต่หากคำดังกล่าวใช้ได้เพียงบางสิ่งเท่านั้น ก็จะกลายเป็นคำพ้องรูป ส่วนในปรัชญา คำพ้องจะเป็นเรื่องของ ความหลากหลาย/พหุภาพ กับ ความเป็นเอกภาพ/เดี่ยว ของความเป็นจริง (ณ ตอนนี้ยังไม่ถึงวาระแก่การเข้าสู่ประเด็นเนื้อหานี้ เราเพียงแต่ยกมาให้เห็นถึงความต่างเท่านั้น)ซึ่งจะไม่มีเรื่องคำพ้องในแง่ภาษาเข้ามาแทรกแซงหรือมีส่วนร่วมอีกต่อไป(ญะวาดีออมูลี อับดุลลอฮ์,1997,ล.1,น.252)
อ้างอิง ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ เล่ม 1 หน้า 64
เอกสารอ้างอิง
ฏอบาฏอบาอีย์ มูฮัมมัดฮูเซน. (1999). บิดายาตุลฮิกมะฮ์(ซะรออีย์ ซับเซวอรีย์) : ปฐมปรัชญา ฉบับของซะรออีย์ ซับเซวอรีย์). กุม-อิหร่าน : มุอัซซีซะฮ์อันนัชรุลอิสลามีย์
ญะวาดีออมูลี อับดุลลอฮ. (1997). รอฮิคเคมัคตูม ชัรฮ์ฮิกมัตมุตะอาลีย์ : อรรถาธิบายปรัชญาปรมัตถ์ The Explication Of Transcendent Philosophy. กุม-อิหร่าน : มัรกัสนัชเรอิสเราะอฺ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม