บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 1

บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 1


             ในยุทธศาสตร์การทำสงครามในทุกสมรภูมิ  มีคำกล่าวที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง  หากเราต้องการชนะในสงครามจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องรู้จักศัตรูเป็นอย่างดี ซึ่งในตอนก่อนหน้านี้เราได้รู้จักชัยฏอนศัตรูตัวฉกาจไปเรียบร้อยแล้ว ในตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักกับศัตรูตัวใหม่ที่ร้ายกาจยิ่งกว่าชัยฏอนอีก นั่นคือ "นัฟซู"
 นัฟซู , ฮะวาอ์ หรืออะฮ์วาอ์ หมายถึงอารมณ์ใฝ่ต่ำและแรงปรารถนาที่พาไปสู่ด้านมืดของมนุษย์ เป็นตัวตนของเรา เป็นพลังด้านลบภายในที่นำพาชีวิตเราไปสู่ความมืดดำ  การต่อสู้กับความต้องการด้านมืดและอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์มีมาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีนักปราชญ์และศาสดาในประวัติศาสตร์หลายท่าน ที่สอนให้ต่อสู้กับแรงปรารถนาด้านมืดนี้ บ้างก็ใช้วิธีทรมานตัวเอง บ้างก็ใช้การครุ่นคิดเพื่อให้เห็นถึงผลร้ายของมัน บ้างก็ใช้สติปัญญา บ้างก็ใช้ศรัทธา บ้างก็ใช้การรักษาศีล แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้สติและสมาธิที่มั่นคง มีศาสตร์ด้านจริยศาสตร์ถูกเขียนขึ้นและรวบรวมเป็นตำรามากมาย บ้างก็ถูกรู้จักในนามของศาสตร์ด้านปรัชญาในความหมายที่กว้าง  บ้างก็เป็นคำสอนอยู่ในศาสนา   ทั้งในซีกโลกตะวันตก เช่นในอารยธรรมกรีกโบราณ ที่ถูกนำเสนอโดยโซคราเตส เพลโตและอริสโตเติ้ล หรือในซีกโลกตะวันออก เช่น ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู  ในศาสนาพุทธ และในศาสนาเชน และในศาสนาที่มีรากเหง้าจากอิบรอฮีม ไม่ว่าจะเป็น อิสลาม คริสต์ และยูดายก็มีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ในหลักคำสอน สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดของมันก็คือการละทิ้งสิ่งที่เรียกว่าบาป เพราะการจะหลีกเลี่ยงจากบาปนั้นย่อมต้องสู้กับจิตใจของตนเอง
ในศาสนาอิสลามเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้หลายต่อหลายที่ด้วยกัน ในบางโองการสั่งให้เราระมัดระวังตัวเป็นพิเศษจากนัฟซู (ศึกษาซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์/105) มีรายงานจากท่านศาสดาแห่งอิสลามถึงขั้นที่ว่า "ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดนั้นคือนัฟซู" ท่านศาสดายังได้สั่งกำชับให้ทำสงครามกับนัฟซู เหมือนกับที่ต้องทำสงครามกับศัตรู  ทำไมนัฟซูจึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากมายเช่นนี้  มนุษย์หลายคนต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นการต่อสู้กับจิตใจตนเอง    เหตุผลที่ต้องคอยระมัดระวังและต้องต่อสู้ก็เพราะถ้าปล่อยมันไว้ มันมีอิทธิพลถึงขั้นที่สั่งการให้มนุษย์ประพฤติในสิ่งที่ชั่วร้ายได้ (ศึกษาซูเราะฮ์ยูซุฟ/53)
 นัฟซู ถูกอธิบายถึงมุมที่เป็นด้านมืดของจิตใจมนุษย์  เป็นอารมณ์ใฝ่ต่ำ เป็นแรงปรารถนาด้านมืด มันร้ายกาจยิ่งกว่าชัยฏอน   สิ่งที่นัฟซูต่างจากชัยฏอนคือ ชัยฏอนเป็นสิ่งเร้าที่มาจากภายนอก(บางครั้งก็เข้าไปกระซิบกระซาบในหัวอกของมนุษย์ วางไข่ ฟักเป็นตัว ครอบงำอิริยาบถของมนุษย์) ส่วนนัฟซู เป็นอารมณ์ความรู้สึก แรงปรารถนาที่มาจากภายในของมนุษย์ จะเรียกว่ามันคือตัวเราเลยก็ไม่ผิดนัก
นัฟซูมีหลายประเภทด้วยกัน มีทั้งทางบวกและทางลบ  แต่ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงมักจะเป็นทางลบ มีทั้งนัฟซูที่คอยตักเตือนเรา คอยต่อว่าและประณามเรา(นัฟซุล เลาวามะฮ์) นัฟซูที่ลากเราลงสู่ความต่ำต้อย   เป็นนัฟซูที่น่ากลัวที่สุด คือนัฟซูที่สั่งการพาเราไปสู่ความชั่ว (นัฟซุล อัมมาเราะฮ์) ซึ่งยากที่จะต่อสู้นอกจากได้รับความเมตตาจากพระองค์เท่านั้นที่จะทำให้เรารอดพ้น  ส่วนนัฟซู ที่เป็นด้านบวก ก็คือ จิตใจที่สงบมั่น เปี่ยมด้วยความรักและความศรทธาที่มีต่อพระองค์(นัฟซุล มุตมะอินนะฮ์) ซึ่งจะมีรายละเอียดติดตามมา
สิ่งที่ควรตระหนักคิดให้เป็นอย่างดีก็คือ การการทำบาปมักผ่านอิริยาบถทางร่างกาย โดยผ่านอวัยวะดังต่อไปนี้คือ ตา หู ปาก มือ เท้า ท้อง อวัยวะสืบพันธุ์  หมายถึงใช้อวัยวะเจ็ดส่วนนี้ ไม่ทางตรงหรือทางอ้อมไปสู่การทำบาป  อวัยวะต่างๆเหล่านี้ เปรียบเสมือนเครื่องมือหรือกองทัพที่อยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการของเราซึ่งเรียกว่าหัวใจ ประเด็นของมันก็คือใครเป็นผู้สั่งการมันและใครเป็นผู้ที่ควบคุมมันอยู่ ดังนั้นการยึดครองในส่วนนี้จึงมีความสำคัญที่สุด ถ้าชัยฏอนยึดครองได้ มันก็ตกเป็นกองทัพของชัยฏอน ถ้านัฟซูยึดครองได้กองทัพนี้ก็เป็นของนัฟซู (ถ้าชัยฏอนยึดครองได้ก็แสดงว่านัฟซูได้ยกให้กับมัน) และหากสติปัญญากับความศรัทธายึดครองมาได้ มันก็จะอยูภายใต้การบัญชาการที่พาไปสู่ด้านสว่างและความสูงส่งในความเป็นมนุษย์ แต่หากว่าไม่สามารถควบคุมมันได้ สมรภูมินี้เราก็คือผู้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ ฉะนั้นฐานที่มั่นนี้คือฐานที่มั่นที่สำคัญที่สุด ขอทิ้งท้ายด้วยฮะดิษบทหนึ่งที่ได้กล่าวถึง เรื่องของหัวใจว่า มันคือฮารัม(ขอบเขตที่ศักดิ์สิทธิ์)ของพระองค์ ดังนั้นอย่าให้ผู้ที่ไม่ใช่พระองค์เข้ามาอาศัยอยู่ในฮารัมนี้...


(ขอขอบคุณ จิตรา อินทร์เพ็ญ ในการเรียบเรียง)