บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 2


 บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 2


สงครามที่ใหญ่ที่สุดคือการทำญิฮาดกับนัฟซู


        คุณประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการรู้จักศัตรูได้เป็นอย่างดีก็คือความพร้อมในการรับมือ การเรียนรู้ที่จะรู้จักศัตรูที่เฝ้าคอยโจมตีและชักพาเราให้หันเหออกจากพระองค์  สิ่งที่เราจะได้คือเราจะได้รู้ทันและมีการเตรียมความพร้อมที่จะจัดการกับศัตรู  และอีกหนึ่งศัตรูที่ร้ายกาจยิ่งกว่าชัยฏอนก็คือนัฟซู  ในโลกนี้มีตำรามากมายที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อที่จะอธิบายถึงที่มาที่ไปและเพื่อทำความรู้จักกับนัฟซู  อธิบายถึงอิทธิพลของมันที่มีต่อมนุษย์ นัฟซูเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมา(ศึกษาเรื่องราวของกอบีนและฮาบีนในอัลกุรอาน อัลมาอิดะฮ์ /27-31) เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเชื่อฟังและการละเมิดฝ่าฝืน แต่ทว่าหลายๆเรื่องมันย้อนกลับมาสู่เราเพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา  หากเราใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือใช้แรงปรารถนาที่นำพาเราไปสู่ด้านมืด
         ในศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องนัฟซูอย่างมาก  ดังจะได้เห็นประโยคอมตะและแสนคลาสสิคของท่านนบีที่กล่าวไว้เกี่ยวกับนัฟซูว่า “ใครก็ตามที่รู้จักตัวเขาเองเท่ากับเขารู้จักอัลลอฮ์”   ในคัมภีร์กุรอานเองก็ตักเตือนไว้ว่า “จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้า(ที่จะอย่าลืม จงคิด ใคร่ครวญอยู่เสมอ) ในเรื่องตัวของสูเจ้าเอง”(อัลมาอิดะฮ์/105)  เพราะบางคนแมัจะใช้เวลาทั้งชีวิตก็ไม่สามารถรู้จักตัวเองได้  บางคนตามหาได้ทุกสิ่งแต่ไม่เคยตามหาตัวเอง  สิ่งที่ขาดหายไปคือตัวเราเอง  มนุษย์เกิดมาเติบโตและเรียนรู้ถึงสิ่งต่างๆแต่ไม่รู้จักตัวเองแล้วเราจะรู้จักสิ่งอื่นได้อย่างไร  ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองเราจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร  เคยตั้งคำถามกับตัวเองมั๊ยว่าเราค้นพบตัวเองหรือยัง? ไม่ใช่แค่รู้จักตามบัตรประชาชน ชื่ออะไร?เกิดวันไหน?บ้านอยู่ที่ไหน?เป็นลูกเต้าเหล่าใคร? รู้แบบนั้นมันไม่ทำให้เรารู้จักแก่นแท้ของตัวเราเองได้หรอก
        ในเรื่องของนัฟซูเองแม้จะมีสองด้านด้วยกันคือ นัฟซุลอัมมาเราะฮ์(ด้านลบ) และนัฟซุลมุตมาอินนะฮ์(ด้านบวก) แต่นัฟซูที่เราตัองการจะนำเสนอและพูดถึงในบทเรียนต่อไปนี้คือนัฟซูในมุมที่เป็นด้านลบ ด้านที่เป็นศัตรู ที่มันสามารถสั่งไปให้เราเดินไปในทางที่ชั่วร้าย มีแต่ความมืดมน


           เรามีคำสอนให้ต่อสู้กับนัฟซู ซึ่งเรื่องของการต่อสู้กับนัฟซูมีศาสนาและนักปราชญ์อื่นเคยพูดมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่แตกต่างคืออิสลามใช้คำว่า”ญิฮาด” คำๆนี้นบีใชั เพราะมีเป้าหมายในการต่อสู้ในหนทางของพระองค์ เป็นการต่อสู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนา เนื่องจากฝั่งตรงข้ามคือผู้ที่ต่อตัานพระองค์ เป็นสงครามที่ศักดิ์สิทธิ์  คนที่ตายในสงครามศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เราทราบกันว่าไม่ต้องฆุซุล(อาบน้ำศพ) ไม่ต้องกะฟั่น(ห่อผ้าคลุมศพ) เขาคือชะฮีด ฮะดิษจากนบีตอนที่ได้ส่งกองทัพน้อยออกไปรบ เมื่อกองทัพนั้นกลับเข้ามานบีก็ชื่นชมว่า “ยินดีต้อนรับที่ได้ประสบความสำเร็จกับฮิญาดเล็ก แต่ที่เจ้าจะต้องเจอคือญิฮาดใหญ่” จึงได้มีคนถามขึ้นว่า แล้วอะไรคือญิฮาดใหญ่? ท่านได้ตอบว่าญิฮาดนั้นคือญิฮาดกับนัฟซู"  ฮิญาดใหญ่คือการต่อสู้กับตัวเอง หลายคนงงว่าพวกเขาออกไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้รับชัยชนะกลับมายังเรียกว่าญิฮาดเล็กอีกหรือ? แต่ความหมายที่ลึกลงไปในเรื่องญิฮาดใหญ่คือ เพราะหลายคนอาจประสบความสำเร็จในญิฮาดเล็ก แต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จกับฮิญาดใหญ่ได้เพราะการต่อสู้กับตัวเองนั้น ยากยิ่งกว่า การเตรียมเข้าสู่ญิฮาดใหญ่ เริ่มจากต่อสกับเรื่องเล็กๆในชีวิตประจำวัน เช่น การตื่นนอนสาย ใช้เวลาทั้งวันในการนอน นอนแข่งกับแสงแดดจนตะวันบ่ายคล้อย ตื่นมาก็หมดเวลาที่จะทำสิ่งอื่น , เล่นเกมทั้งวันจนหมดเวลาทึ่จะคิดทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์ให้กับชีวิต  เราต้องฝึกที่จะต่อสู้กับจิตด้านมืดของตัวเอง ก่อนที่นัฟซูจะพาดำดิ่ง
      

การต่อสู้กับนัฟซูอย่างแรกที่ต้องทำคือการตื่นรู้  บรรดาอาริฟที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านอิรฟานกล่าวว่าการจะต่อกับจิตใจตนเอง เริ่มก้าวแรกเลยคือต้องตื่นรู้  เราไม่สามารถก้าวเดินไปได้หากยังไม่มีการตื่นรู้  ต้องเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร  การเจอกับญิฮาดเล็ก(สงครามเล็ก)ก่อนออกไปรบยังต้องมีการเตรียมพร้อม ทหารต้องวิ่งออกกำลังกายเรียกความฟิต ต้องฝึกอาวุธให้เชี่ยวชาญ ต้องเรียนรู้ยุทธศาสตร์การรบ ต้องรู้จักศัตรู ส่วนญิฮาดใหญ่(สงครามใหญ่)ยิ่งหนักกว่า เราต้องเตรียมตัวเป็นเท่าทวีคูณ การทำสงครามกับนัฟซูมิใช่แค่การทำสงครามกับศัตรูทั่วไป หากแต่สมรภูมินี้เป็นสมรภูมิรบที่ศักดิ์สิทธิ์ หากเราพิชิตศัตรูที่มีนามว่านัฟซูลงได้นั่นหมายถึงการที่เราคือบ่าวที่ได้อยู่ใกล้ชิดยังพระองค์ เราจะได้พบหนทางแห่งความดีงามและความผาสุกที่แท้จริง...

(ขอขอบคุณ จิตรา อินทร์เพ็ญ ในการเรียบเรียง)