บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู)ตอนที่ 8


บทเรียนการรู้จักศัตรู(นัฟซู)ตอนที่ 8


การรำลึกถึงพระเจ้าเท่านั้นที่จะร้บมือกับนัฟซูได้
        เราผ่านบทเรียนการต่อสู้กับนัฟซูตัวร้ายที่ซ่อนอยู่ด้านในของมนุษย์กันมาถึง 6 ภาคปฏิบัติเบื้องต้นแล้ว  ในตอนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ขั้นตอนที่ 7 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเรียนรู้ยุทธวิธีในการควบคุมกองทหารทั้ง7ของเราให้หลุดพ้นออกจากสิ่งที่เป็นบาป คือ(ตา หู มือ ปาก เท้า ท้อง อวัยวะเบื้องล่าง) เราจะไม่ใช้สายตามองในสิ่งที่ต้องห้าม เราจะไม่ใช้หูในการฟังเรื่องที่ไม่ดี เราจะไม่ใช้ปากในการเอ่ยวาจาที่ไม่ควรกล่าวออกไป เราจะไม่ใช้มือในการทำบาป เราจะไม่ใช้เท้าพาเราเดินไปสู่สถานที่ชั่วร้าย เราจะไม่กินในสิ่งที่ต้องห้ามหรือสิ่งที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง และเราจะไม่ละเมิดฝ่าฝืนในเรื่องเพศ ซึ่ง 7 สิ่งเหล่านี้ถูกควบคุมโดยศูนย์บัญชาการซึ่งก็คือหัวใจของเรานั่นเอง
    ว่ากันถึงขั้นตอนที่ 7 - การ"ตะซักกุ้ร" หรือ"ซิกร์"คือการรำลึก - อย่างที่เราได้ผ่านบทเรียนของการรู้จักศัตรูในเรื่องของการต่อสู้กับชัยฏอน เราได้เรียนรู้เทคนิคการล่อลวงของมัน ได้เรียนรู้การใช้กลวิธีอันหลากหลายแยบยลตั้งแต่การกระซิบกระซาบไปจนถึงวิธีการที่มันจะทำให้เรากลายเป็นพวกเดียวกับมันแล้วนั้น  ศัตรูตัวฉกาจอีกตัวที่เราต้องต่อสู้อย่างหนักคือนัฟซูที่อยู่ในตัวเรานั่นเอง นัฟซูในตัวเรามันจะคอยผลักดันแรงปรารถนาด้านมืดของเราให้ทำการละเมิดฝ่าฝืน ชักจูงให้ทำผิดบาป  ซึ่งศัตรูตัวฉกาจสองตัวนี้ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายคือต้องการให้เราออกห่างจากพระองค์  ซึ่งความร้ายกาจของมันนั้นถึงขั้นที่ว่าแม้แต่บรรดาผู้ที่มีศรัทธาก็อาจจะหลงกลมันได้ในบางคราวเช่นกัน  ทางแก้ก็คือการรำลึกถึงพระองค์อยู่สม่ำเสมอ  
      เพราะหากว่าเรารำลึกถึงพระองค์อยู่ทุกชั่วขณะจิต เราไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปกับสิ่งยั่วยุ สิ่งเร้าในโลกดุนยา  เราก็จะไม่มีช่องว่างให้กับแรงปรารถนาด้านมืดได้ทำงาน  และการที่จะรู้จักการรำลึกให้ดียิ่งขึ้น เราต้องเรียนรู้จากสิ่งตรงกันข้ามกับมัน ซึ่งสิ่งตรงกันข้ามของการรำลึกก็คือ การหลงลืมและการหลับใหล 2 สิ่งนี้ถือเป็นตัวทำลายการรำลึกถึงพระองค์ ถ้าสองสิ่งนี้เข้าครอบงำเมื่อไหร่หนทางในการต่อสู้กับนัฟซูมืดมนลงทันที  อัลกุรอานได้กล่าวเตือนว่า "จงอย่าเป็นเหมือนบุคคลที่ลืมอัลลอฮ์ เพราะพระองค์จะทำให้พวกเขาลืมตัวของพวกเขาเอง(ศึกษาซูเราะฮ์หัชร์/19)  ถ้ามนุษย์ลืมตัวเองก็ถือว่าจบ เพราะหนทางที่จะก้าวเดินสู่การต่อสู้คงไม่หลงเหลืออีกแล้ว การรำลึกถึงอัลลอฮ์ถือเป็นเกราะป้องกันเราจากศัตรู ไม่ว่าจะเป็นชัยฏอนหรือนัฟซู หากเราเดินตามหนทางที่อัลลอฮ์ทรงชี้ทางนำให้ เราย่อมสามารถรับมือได้ และก็ไม่ต้องกลัวหรือกังวลกับเรื่องใดๆอีก
       อิมามโคมัยนีได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องของการรำลึกถึงพระองค์ว่า  หากว่าเราได้รำลึกถึงว่าชีวิตของเรา ใครเป็นผู้ที่ให้มา ทุกสิ่งจำเป็นแม้กระทั่งอากาศที่เราหายใจ ใครที่เป็นผู้ให้  และเมื่อรำลึกถึงแล้วก็ต้องทำการขอบคุณ  ขนาดในชีวิตปกติทั่วไป หากเราได้รับของจากใครสักคนเรายังต้องขอบคุณ แต่นี่พระองค์เป็นผู้ให้ เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าทุกสรรพสิ่งที่เราเห็นใครเป็นผู้ที่สร้างขึ้น ใครที่เป็นผู้ขับเคลื่อนระบบระเบียบต่างๆที่มีอยู่ ก็ให้นึกถึงความเมตตาของพระองค์ ท่านเน้นให้รำลึกถึงความเมตตาและความโปรดปรานต่างๆที่พระองค์ทรงมอบให้กับเรา ในอัลกุรอานได้กล่าวเน้นในเรื่องการรำลึกถึงพระองค์ไว้ว่า:"โอ้บรรดาผู้มีศรัทธา จงรำลึกถึงอัลลอฮ์ด้วยการรำลึกอย่างมากมาย"(ซูเราะฮ์ อะห์ซาบ/41) พระองค์เป็นผู้บอกเองว่าถ้าอยากรอดจากชัยฏอนก็ให้รำลึกถึงพระองค์ หนึ่งในการรำลึกคือ "จงดำรงนมาซ เพราะนมาซคือการรำลึกพระองค์"(ศึกษาซูเราะฮ์ตอฮา/14) เพราะในเวลานมาซจะเป็นเวลาระหว่างเรากับพระองค์เพียงเท่านั้น ซึ่งในบทเรียนความลี้ลับของนมาซเราได้อธิบายถึงแก่นแท้ในแต่ละอิริยาบถตั้งแต่เริ่มทำวุฏูอ์ ว่าทุกสิ่งที่เราทำล้วนกลับไปสู่หัวใจที่มีแต่พระองค์ทั้งสิ้น
     บางรายงานกล่าวว่าการรำลึกถึงพระองค์อย่างมากมายนั้น คือการรำลึกด้วยการกล่าวซิกร์ดังในการนับตัสบีห์ของท่านหญิงฟาติมะฮ์ คือจำนวนในการกล่าว อัลลอฮุอักบัร - 34 ครั้ง อัลฮัมดุลิลลาฮ์ - 33 ซุบฮานัลลอฮ์ - 33 แม้การกล่าวรำลึกจะเป็นสิ่งที่สำคัญแต่การเข้าถึงแก่นแท้ของเรื่องนั้นสำคัญยิ่งกว่า หากเราเข้าใจความหมายการกล่าวตัสบีห์ของเราก็จะมีความหมาย  หากความหมายก็ไม่เข้าใจ แก่นแท้ก็เข้าไม่ถึง ทุกๆการกระทำของเราก็ย่ำอยู่กับที่ เป็นเพียงแค่การปฏิบัติด้วยความเคยชินตามคำสั่ง                
การรำลึกถึงที่แท้จริงคือการรำลึกถึงทุกอิริยาบถ  ไม่ว่าจะเดิน จะนอน จะนั่ง จะกิน จะฟัง ในขณะที่อิบาดัตก็คือสมาธิและใจที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ได้สิ่งดีงามมาในชีวิตก็รำลึกถึงพระองค์พร้อมขอบคุณ ในขณะที่พบเจอปัญหาและอุปสรรคก็รำลึกด้วยกับความอดทน แต่เรามักจะทำด้วยกับความเคยชิน เราไม่กระตือรือร้น ไม่ชอบพัฒนาตัวเอง บางทีเราใช้เหตุผลที่ว่าเราถ่อมตนไม่ชอบแข่งกับใคร  แต่ในเรื่องการพัฒนาทางจิตวิญญาน ควรแข่งขัน  เราควรกระตือร้นในเรื่องการพัฒนาและยกระดับจิตใจ ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า "จงแข่งขันรีบเร่งในทำความดี" {ศึกษา ซูเราะฮ์มาอิดะฮ์/48) สุดท้ายประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่จะได้จากการรำลึกถึงพระองค์ก็คือ "เมื่อพวกเจ้ารำลึกถึงฉัน ฉันก็รำลึกถึงเจ้า"(ซูเราะฮ์บาก่อเราะฮ์/152) การที่พระองค์รำลึกถึงเราถือเป็นการเพิ่มพลังพิเศษ ถือว่าอยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์โดยตรง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรารำลึกถึงพระองค์ ไม่มีผลที่ชัยฏอนจะเข้ามากระซิบกระซาบ นัฟซูเองก็ไม่อาจเข้ามาควบคุมเราได้ สรุปแบบสั้นๆก็คือการรำลึกถึงพระองค์อย่างแท้จริงย่อมสามารถรับมือทั้งกับชัยฏอนทั้งกับนัฟซูได้อย่างไม่ยากเลย...

(ขอขอบคุณ จิตรา อินทร์เพ็ญ ในการเรียบเรียง)