เหตุการณ์วันที่ 12 มุฮัรรอม | คาราวานของเชลยแห่งกัรบาลาเดินทางผ่านเรือนร่างบรรดาชะฮีด

เหตุการณ์วันที่ 12 มุฮัรรอม | คาราวานของเชลยแห่งกัรบาลาเดินทางผ่านเรือนร่างบรรดาชะฮีด


    การมาถึงเมืองกูฟะฮ์ของเชลยแห่งกัรบาลาและการพาศีรษะ (ที่เสียบบนปลายหอก) ของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลา พร้อมด้วยบรรดาเชลยเดินเวียนไปรอบตลาดและตรอกซอยต่างๆ ของเมืองนี้ เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 12 ของมุฮัรรอม

       วันที่ 12 ของมุฮัรรอมในปีฮิจเราะห์ศักราช 61 เป็นวันเดียวกับที่กองคาราวานเชลยศึกแห่งกัรบาลา ซึ่งนำโดยท่านอิมามซัจญาด (อ.) และท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เข้าสู่เมืองกูฟะฮ์ เมืองซึ่งผู้คนของมันถูกกล่าวขานในเรื่องความอธรรมและความโหดร้ายผิดมนุษย์ และในช่วงเวลาหนึ่งพวกเขาได้ส่งจดหมายจำนวนมากและบ่อยครั้งไปยังท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพื่อเชื้อเชิญและเรียกร้องท่านให้เดินทางไปยังเมืองของพวกเขา แต่ระหว่างทางและในทะเลทรายกัรบาลา พวกเขากลับจัดแถวเผชิญหน้าท่านอิมาม (อ.) และชักดาบทำสงครามสังหารท่านและบรรดาสหายผู้ช่วยเหลือของท่าน

การเข้าสู่เมืองกูฟะฮ์

       อุมัร อิบนุ ซะอัด ผู้ซึ่งสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม ได้ควบคุมตัวบรรดาสตรีและเด็กเป็นเชลยจากกัรบาลาไปยังกูฟะฮ์ ในขณะเดียวกัน ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ซึ่งล้มป่วยด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อปกป้องมิให้ชีวิตของท่านได้รับอันตรายในสงครามครั้งนี้ ก็อยู่ในหมู่เชลยเหล่านี้ด้วย

       ระยะทางระหว่างทะเลทรายกัรบาลาและสถานที่เป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จนถึงเมืองกูฟะฮ์นั้น ระยะทางประมาณ 80 ถึง 90 กิโลเมตร และอุมัร อิบนุ ซะอัดได้นำกองคาราวานเชลยไปถึงเมืองกูฟะฮ์ในตอนกลางคืน ดังนั้นในขณะที่กองคาราวานเข้าใกล้เมืองกูฟะฮ์นั้นก็พลบค่ำแล้ว และอุมัร อิบนุ ซะอัด จึงจำเป็นต้องพักค้างคืนใกล้ประตูทางเข้าเมืองกูฟะฮ์เพื่อที่เขาจะได้เข้าไปในเมืองในตอนเช้าและพาบรรดาเชลยแห่งกัรบาลาไปยังวังของอุบัยดิลลาฮ์ อิบนุซิยาด

       ตามที่ได้ถูกบันทึกไว้ในตำราอ้างอิงบางเล่ม อุมัร อิบนุ ซะอัดได้ส่งข่าวเกี่ยวกับกัรบาลาให้อุบัยดิลลาฮ์ อิบนุซิยาดรับรู้ผ่านผู้ส่งสาร และด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่เช้าวันที่ 12 ของเดือนมุฮัรรอม เมืองกูฟะฮ์จึงถูกปิดล้อมและปกป้องอย่างเข้มงวดโดยกองกำลังของอิบนุซิยาด และบรรดาสายลับของเขาติดตามและสอดส่องทุกการเคลื่อนไหวที่ต้องสงสัย ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครมีสิทธิ์ถืออาวุธหรือออกจากบ้านโดยพกพาอาวุธ

       เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงขึ้นในเมืองกูฟะฮ์ในวันที่ 12 ของเดือนมุฮัรรอม อุมัร อิบนุ ซะอัด ได้ไปถึง "ดารุ้ลอิมาเราะฮ์" ก่อนกองคาราวานและกองทัพของเขา บรรดาเจ้าหน้าที่ได้นำกองคาราวานเชลยแห่งกัรบาลาเข้ามาในเมือง ในสภาพที่เมืองกูฟะฮ์ในวันนั้นอยู่ภายใต้การปิดล้อมและการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

       ประชาชนที่จนถึงขณะนั้นยังไม่รู้ว่าใครกันที่ถูกนำตัวเข้ามาในเมืองของตนในฐานะเชลยสงคราม เมื่อพวกเขาเห็นกองคาราวาน พวกเขาก็พากันถามว่า : "พวกเจ้าเป็นเชลยจากดินแดนใดและชนเผ่าใด?" และพวกเขาก็ได้รับคำตอบว่า : "พวกเราคือเชลยจากครอบครัวของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)!"

ศีรษะของบรรดาชะฮีดและเชลยแห่งกัรบาลาถูกพาเวียนรอบเมืองกูฟะฮ์

       อุบัยดิลลาฮ์ อิบนุ ซิยาดได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของเขานำกองคาราวานของเชลยศึกแห่งกัรบาลา พร้อมด้วยศีรษะของบรรดาชะฮีดเดินเวียนไปรอบตลาดและตรอกซอยต่างๆ ของเมืองกูฟะฮ์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงจุดสูงสุดของความโหดเหี้ยมของเขา

       ในวันนั้นศีรษะของบรรดาชะฮีดได้ถูกแบ่งในระหว่างกองคาราวาน สิ่งนี้ทำเพื่อให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวต่ออุบัยดิลลาฮ์และความโหดเหี้ยมของเขามากยิ่งขึ้นและจะได้ไม่มีใครกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับเขา

       ในวันนั้น เมืองกูฟะฮ์ได้เห็นประชาชนซึ่งแต่ละคนมีสีหน้าแตกต่างกันไป คนกลุ่มหนึ่งได้ร้องไห้คร่ำครวญและรำพึงรำพันว่า ไฉนศีรษะของหลานชายของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และอิมามแห่งยุคสมัยของตนจึงถูกเสียบอยู่บนปลายหอก และกลุ่มหนึ่งจากคนโง่เขลาและไร้ยางอายต่างพากันหัวเราะและชื่นชมยินดีเพื่อมีส่วนร่วมในความยินดีกับบรรดาศัตรูของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.)

        บรรดาเจ้าหน้าที่และกองกำลังทหารของอุมัร อิบนุ ซะอัด ก็เดินเคียงคู่ไปกับกองคาราวานเชลยศึกแห่งกัรบาลานั้น เพื่อโอ้อวดและแสดงความภาคภูมิใจต่อผู้คนทั้งหลายว่า "พวกเราเองคือผู้ที่ยืนเผชิญหน้าต่อสู้กับฮุเซน (อ.) และเข่นฆ่าเขาอย่างเหี้ยมโหด"

การฝังศพของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลาโดยกลุ่มชนจากเผ่าบนีอะซัด

        ในบางริวายะฮ์ (คำรายงาน) เขียนไว้เช่นนี้ว่า เรือนร่างอันบริสุทธิ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสหายของท่าน ซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ในทะเลทรายกัรบาลา ได้ถูกฝังในวันที่ 12 หรือคืนวันที่ 13 ของเดือนมุฮัรรอม โดยคนกลุ่มหนึ่งจากบนี อะซัด ในขณะเดียวกัน ในบางริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้เน้นย้ำว่า เมื่อชนเผ่าบนี อะซัดกลุ่มนั้นได้ไปถึงยังกัรบาลา พวกเขาก็ได้เห็นหลุมฝังศพถูกจัดเตรียมไว้แล้วและพวกเขารู้ว่าจำเป็นต้องฝังบรรดาชะฮีดลงในสถานที่นั้น

       โดยรวมของบรรดาริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่กล่าวถึงการฝังศพของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลานั้น โดยทั่วไปเห็นพ้องต้องกันว่า กลุ่มแรกที่เข้าสู่กัรบาลาหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสหายผู้ช่วยเหลือของท่าน คือ สตรีกลุ่มหนึ่งจากเผ่าบนี อะซัด สตรีเหล่านี้ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กัรบาลากับสามีและครอบครัวของพวกนาง พวกนางได้เดินทางไปยังกัรบาลาเพื่อตักน้ำจากแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) เมื่อพวกนางพบเห็นร่างไร้ศีรษะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านในทะเลทรายกัรบาลา พวกนางก็พากันร้องไห้ค่ำครวญและกลับไปยังเผ่าของตนทันที และได้เล่าเรื่องราวให้บรรดาผู้ชายของตนฟัง

แหล่งอ้างอิง :

- นะฟะซุลมะฮ์มูม, เชคอับบาส กุมมี

- อัล ลุฮูฟ, ซัยยิดอิบนิฏอวูซ

- มักตะลุลฮุซัยน์ (อ.), บะห์รุลอุลูม

- มักตะลุลฮุซัยน์ (อ.), คอรัซมี

- อะอ์ยานุชชีอะฮ์, ซัยยิดมุห์ซิน อามีน

- นูรุลอัยน์ ฟี มัชฮะดิลฮุซัยน์ (อ.), อิสฟะรออีนี อิบรอฮีม บินมุฮัมมัด

- ออยิเนะฮ์ ดัร กัรบาลาสต์, มุฮัมมัดริฎอ ซังกะรี

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ

ที่มา

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม