อิมามฮุเซน (อ) แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (3)

อิมามฮุเซน (อ) แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (3)


การรับใช้บริการสังคม        

      อีกประการหนึ่งจากคุณลักษณะอันสูงส่งของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการและการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณของบรรดาบุคคลที่มีคุณลักษณะนี้ นั่นก็คือ การให้และการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การรับใช้บริการผู้อื่นคือวิถีทางอันเป็นสื่อที่จะนำพามนุษย์ไปยังพระผู้ เป็นเจ้าและความสมบูรณ์ต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณ และในทำนองเดียวกัน ถือเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลกนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ในตัวบทคำสอนต่างๆ ของอิสลามจึงเน้นย้ำเกี่ยวกับการรับใช้บริการและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก

การรับใช้บริการในคัมภีร์อัลกุรอาน

      ในวัฒนธรรมและหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ชี้ถึงกรณีตัวอย่างในเรื่องของการรับใช้บริการและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไว้อย่างมากมาย ดังตัวอย่างเช่น อินฟาก (การใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) การทำดีต่อผู้อื่น (อิห์ซาน)

การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น การปกป้องบรรดาผู้อ่อนแอ ผู้ถูกกดขี่และผู้ถูกอธรรม การขจัดความต้องการของผู้อื่น การให้กู้ยืมและอื่นๆ ซึ่งจะขอชี้ให้เห็นบางส่วนจากกรณีเหล่านี้ไว้ในที่นี้

     1. อินฟาก (การให้) แก่ผู้อื่น : พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

لَن تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ

“พวกเจ้าจะไม่บรรลุสู่ความมีคุณธรรมได้เลย จนกว่าพวกเจ้าจะให้ในสิ่งที่พวกเจ้ารัก” (1)

     2. อิห์ซาน (การทำดีต่อผู้อื่น) : คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า

وَأَحْسِنُوا إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ

“พวกเจ้าจงปฏิบัติดี (ต่อผู้อื่น) เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ปฏิบัติดี” (2)

     3. การช่วยให้ผู้อื่น

وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือซึ่งกันและกันบนคุณธรรมและความยำเกรงเถิด” (3)

     4. การปกป้องบรรดาผู้ถูกกดขี่และผู้อ่อนแอ

وَمَا لَكُمْ لَا تُقَاتِلُونَ ف۪ي سَب۪يلِ اللّٰهِ وَالْمُسْتَضْعَف۪ينَ مِنَ الرِّجَالِ وَالنِّسَٓاءِ وَالْوِلْدَانِ

“และ มีสิ่งใดหรือที่ (ขัดขวาง) พวกเจ้าไม่ให้ทำการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์และบรราผู้อ่อนแอ (ผู้ถูกกดขี่)จากบรรดาบุรุษและสตรีและบรรดาเด็กๆ” (4)

การรับใช้บริการในริวายะฮ์ (คำรายงาน)

       ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ก็มีการส่งเสริมและเน้นย้ำในเรื่องของการรับใช้บริการและการให้ความช่วย เหลือผู้อื่นไว้ด้วยสำนวนต่างๆ ซึ่งจะขอยกเพียงบางตัวอย่างในที่นี้

      1. ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

مَلْعُونٌ مَلْعُونٌ مَنْ وَهَبَ اللَّهُ لَهُ مَالًا فَلَمْ يَتَصَدَّقْ مِنْهُ بِشَيْ‏ءٍ

“ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์ ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์ บุคคลที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานทรัพย์สินเงินทองให้แก่เขา แต่เขากลับไม่บริจาคทานใดๆจากมันเลย” (5)

       2. ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

سَيِّدُ الْقَوْمِ خَادِمُهُمْ

“นายของกลุ่มชน คือผู้รับใช้บริการพวกเขา” (6)

       3. ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

السيّدُ مَن تَحَمَّلَ أثقالَ إخوانِهِ

“บุคคลที่เป็นนาย คือบุคคลที่จะช่วยแบกรับปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ของพี่น้อง (ร่วมศาสนา) ของตนเอง” (7)

การรับใช้บริการและการช่วยเหลือสังคมในวิถีชีวิตของอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.)

      1. การสร้างแนวความคิด

         ในช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่ของท่านอิมามฮุเซน (อ.)นั้น ท่านไม่เพียงแค่ใช้จ่าย (อินฟาก) ทรัพย์สินเงินทองและการรับใช้บริการสังคมด้วยรูปแบบที่ดีที่สุดและสูงส่งที่สุดเพียงเท่านั้น แต่ทว่าท่านยังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการนำเสนอแนวความคิดและมุมมองอันสูงส่งของท่านเกี่ยวกับการรับใช้บริการสังคม และเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ที่ท่านได้กล่าวว่า

“โอ้ ประชาชนเอ๋ย พวกท่านทั้งหลายจงดำเนินชีวิตอยู่ในคุณธรรมความดีและจริยธรรมอันสูงส่งเถิด และจงรีบรุดเพื่อไขว่คว้าหาต้นทุนแห่งความสำเร็จไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) อย่าทำให้ตนเองต้องถูกตำหนิประณามด้วยกับความบกพร่อง และหากท่านทำดีต่อผู้ใด แต่เขาผู้นั้นไม่เห็นคุณค่าและไม่แสดงความขอบคุณ พวกท่านก็อย่าได้ใส่ใจใดๆ ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าจะทรงลงโทษตอบแทนเขาเอง และพระผู้เป็นเจ้านั้นคือผู้ทรงตอบแทนรางวัลที่ดีเยี่ยมที่สุด และเป็นผู้ให้ของกำนัลที่เลอเลิศที่สุด” จากนั้นท่านได้กล่าวต่อว่า

وَاعْلَمُوا أَنَّ حَوائِجَ النّاسِ إِلَيْكُمْ مِنْ نِعَمِ اللهِ عَلَيْكُمْ، فَلا تَمَلُّوا النِّعَمَ فَتَحُورَ نِقَماً

"ท่านทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า แท้จริงความต้องการต่างๆ ที่มนุษย์มีต่อท่านนั้น คือส่วนหนึ่งจากเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ของพระผู้เป็นเจ้าที่มอบให้แก่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้เบื่อหน่ายต่อความโปรดปรานเหล่านั้น (และอย่าปล่อยให้โอกาสของมันหลุดลอยไป) มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นโทษทัณฑ์ (แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่จะมาประสบกับพวกท่าน)” (8)

       ในฮะดีษ (วจนะ) บทเดียวกันนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พยายามสร้างแนวความคิดในเรื่องของการให้และการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์ต่อไปอีก โดยท่านกล่าวว่า

أَيُّهَا النَّاسُ: مَنْ جَادَ سَادَ، وَ مَنْ بَخِلَ رَذِلَ، وَ إِنَّ أَجْوَدَ النَّاسِ مَنْ أَعْطَى مَنْ‏ لَا يَرْجُوهُ

“โอ้ประชาชนเอ๋ย ผู้ใดที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (แก่เพื่อนมนุษย์) เขาก็จะเป็นนาย และผู้ใดที่ตระหนี่ถี่เหนียว เขาได้กระทำการอันต่ำทราม และมนุษย์ที่มีความเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่มากที่สุด คือบุคคลที่มอบให้แก่ผู้ที่ไม่ได้คาดหวัง (จากเขา)” (9)

      ทำนองเดียวกัน ท่านอิมาม (อ.) ยังชี้ให้เห็นถึงผลรางวัลและสิ่งตอบแทนที่ผู้รับใช้บริการแก่ประชาชนจะได้รับ โดยท่านกล่าวว่า

مَن سَعى في حاجَةِ أخيهِ المؤمنِ فكأنّما عَبدَ اللَّهَ تِسعَةَ آلافِ سَنةٍ ، صائماً نَهارَهُ قائماً لَيلَهُ

“ผู้ที่พยายามในการขจัดความต้องการของพี่น้องผู้ศรัทธาของเขา ประหนึ่งว่าเขาได้กระทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เป็นระยะเวลาถึงเก้าพันปี โดยการถือศีลอดในยามกลางวันและยืนหยัด (ในการนมาซและอิบาดะฮ์ต่างๆ) ในยามค่ำคืน” (10)

      ทำนองเดียวกันนี้มีปรากฏในคำรายงานอื่นที่ท่านชี้ให้เห็นว่าคนเรานั้นจำเป็นต้อง รักษาเกียติและศักดิ์ศรีของตนเอง ในการที่เราจะยื่นมือขอความช่วยเหลือจากใครนั้นจะต้องอยู่ในสภาวะที่จำเป็น จริงๆ โดยท่านกล่าวว่า

إِنَّ الْمَسْأَلَةَ لَا تَحِلُّ إِلَّا فِي إِحْدَى ثَلَاثٍ دَمٍ مُفْجِعٍ أَوْ دَيْنٍ مُقْرِحٍ أَوْ فَقْرٍ مُدْقِعٍ

“แท้จริงการขอความช่วยเหลือจะไม่เป็นที่อนุญาต  เว้นแต่หนึ่งในสามกรณี คือ 1) (ค่าใช้จ่ายและ)เงินค่าสินไหมทดแทนเลือด(ชีวิต) 2) หนี้สินที่หนักอึ้ง และ 3) ความยากจนที่จะนำไปสู่ความต่ำต้อย” (11)

       2. การให้ความช่วยเหลือในทางปฏิบัติ

          ในเนื้อหาต่อไปนี้ คือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากการรับใช้บริการและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ของท่านอิมามฮุเซน(อ.)ที่เราทุกคนควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

          ก) ชายชาวอันซอรผู้หนึ่งได้มาพบท่านอิมามฮุเซน(อ.) เขาต้องการที่จะขอความช่วยเหลือบางอย่างจากท่านอิมาม(อ.) แต่ยังไม่ทันที่จะกล่าวสิ่งใดท่านอิมามฮุเซน(อ.)ได้กล่าวขึ้นกับเขาว่า :

يا أخَا الأَنصارِ صُن وَجهَكَ عَن بِذلَةِ المَسأَلَةِ، وَارفَع حاجَتَكَ في رُقعَةٍ، فَإِنّي آتٍ فيها ما سارَّكَ إن شاءَ اللَّهُ.

“โอ้สหายชาวอันซอรเอ๋ย จงรักษาเกียรติของท่านจากการขออย่างเปิดเผย (โดยตรง) แต่จงนำเสนอความต้องการของท่านในรูปของจดหมาย แล้วฉันจะปฏิบัติตามในสิ่งที่จะทำให้ท่านพึงพอใจ อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)”

        ชายผู้นั้นจึงเขียนจดหมายฉับหนึ่งส่งไปถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า

“โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ข้าพเจ้า เป็นหนี้ชายผู้หนึ่งในจำนวนเงินห้าร้อยดีนาร์ (เหรียญทอง) และเจ้าหนี้ผู้นี้ยืนกรานที่จะให้ข้าพเจ้าจ่ายมันให้ได้ในตอนนี้ ท่านโปรดกรุณาพูดกับเขาให้ผัดผ่อนกำหนดเวลาที่ข้าพเจ้ามีความสะดวกมากกว่านี้ด้วยเถิด”

        เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) อ่านจดหมายดังกล่าว ท่านกลับไปยังบ้านของท่าน และหยิบถุงที่มีเงินอยู่หนึ่งพันดีนาร์ขึ้นมาและมอบให้แก่เขา จากนั้นท่านได้กล่าวว่า

        ห้าร้อยดีนาร์จงนำไปชดใช้หนี้สินของท่าน และอีกห้าร้อยดีนาร์ที่เหลือจงนำไปใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของท่าน และ (คราใดก็ตามที่ท่านต้องการความช่วยเหลือ) ท่านจงขอความช่วยเหลือในความจำเป็นของตนเองต่อบุคคลเพียงสามกลุ่มเท่านั้น คือ คนมีศาสนา คนที่เป็นสุภาพชนและคนที่มีเกียรติ (มีชาติตระกูล) สำหรับ คนที่มีศาสนานั้นเพื่อที่จะรักษาศาสนาของตนไว้ เขาจะช่วยขจัดความต้องการของเจ้า และคนที่เป็นสุภาพชนเขาจะรู้สึกละอายตนในความเป็นสุภาพบุรุษของเขา (หากไม่ให้การช่วยเหลือท่าน) และคนที่มีเกียรติ (และมีชาติตระกูล) เขารู้ดีว่าการที่ท่านบากหน้าไปหาเขานั้นท่านได้สูญเสียเกียรติของตนเอง ด้วยเหตุนี้ด้วยกับการช่วยเหลือแก่ท่านเขาจะช่วยพิทักษ์เกียรติให้แก่ท่าน” (12)

       และ เพื่อเป็นการรักษาเกียรติของบุคคลทั้งหลายนี่เอง บรรดาอิมาม (อ.) ทุกท่านของเรา รวมถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงมักจะไปให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ยากไร้ในยามค่ำคืนโดยลับตาผู้คน และในสภาพที่ปิดใบหน้าของตนเอง

       ข). ท่านอิมามฮุเซน (อ.) รับใช้บริการและให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาคนยากไร้จน กระทั่งหลังและแขนของท่านเป็นรอยฟกช้ำและเป็นบาดแผล เนื่องจากการแบกของหนักที่นำไปในช่วยเหลือดังกล่าว มีรายงานจากชุอัยบ์ บินอับดุรเราะห์มาน คอซาอี ซึ่งเขาได้เล่าว่า :

وُجِدَ عَلَى ظَهْرِ الْحُسَيْنِ بْنِ عَلِيٍّ يَوْمَ الطَّفِّ أَثَرٌ ، فَسَأَلُوا زَيْنَ الْعَابِدِينَ ـ أي الامام علي بن الحسين ( عليه السلام ) عَنْ ذَلِكَ ؟

فَقَالَ : " هَذَا مِمَّا كَانَ يَنْقُلُ‏ الْجِرَابَ عَلَى ظَهْرِهِ إِلَى مَنَازِلِ الْأَرَامِلِ وَ الْيَتَامَى وَ الْمَسَاكِين

 “ร่องรอยของความฟกช้ำได้ถูกพบเห็นบนหลังของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันแห่งฏ็อฟฟ์ (วันอาชูรอ) ประชาชนได้สอบถามท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) เกี่ยวกับสิ่งนั้น ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “(ร่องรอยดังกล่าว) เกิดจากการแบกถุงหนังบนหลังของท่าน (ในค่ำคืนทั้งหลาย) ไปตามบ้านของผู้ที่ไม่มีผู้อุปการะ บ้านของเด็กกำพร้าและบรรดาผู้ยากจนขัดสน” (13)

       ค). วันหนึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เดินทางไปยังบ้านของ “อุซามะฮ์ บินซัยด์” เพื่อเยี่ยมเขาซึ่งกำลังป่วยหนัก   เมื่อเขาเห็นท่านอิมาม (อ.) เขาถอนหายใจอย่างแรงและบอกกล่าวถึงความทุกข์โศกของตน ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวถามเขาว่า

وما غَمُّكَ يا أخي ؟

“อะไรคือความทุกข์โศกของท่านหรือ โอ้สหาย”

        อุซามะฮ์ กล่าวว่า “ความทุกข์โศกของข้าพเจ้าเกิดจากการมีหนี้สินจำนวนมากมาย ข้าพเจ้าเป็นหนี้อยู่หกพันดิรฮัม (เหรียญเงิน)”

        ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวว่า “ฉันจะรับผิดชอบหนี้สินของท่านเอง”

        อุซามะฮ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเกรงว่าจะต้องจากโลกนี้ไปโดยที่ข้าพเจ้าไม่ทันได้ชดใช้หนี้สินของตนเอง”

        ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า

لنْ تَمُوتَ حَتّى اقضيها عنك

“ท่านจะยังไม่ตายจนกว่าฉันจะชดใช้หนี้สินให้ท่านเสียก่อน” (14)

       ง). วันหนึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินทางไปยังสวนของตนพร้อมกับบรรดาสาวก ทาสชายผู้หนึ่งของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งมีนามว่า “ซอฟี”

            เขาเป็นผู้ดูแลสวนนั้น ท่านอิมาม (อ.) ไปถึงสวนแห่งนั้น โดยที่ทาสผู้นั้นไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ท่านอิมาม (อ.) เห็นเขากำลังง่วนอยู่กับการรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารของเขาทำให้ท่านอิมาม (อ.) เกิดความสนใจ เนื่องจากทุกชิ้นของขนมปังที่เขาหยิบขึ้นมานั้น ครึ่งหนึ่งเขาจะฉีกและโยนให้สุนัขที่อยู่กับเขา

           ทันใดนั้นเขาก็ได้รู้ว่าท่านอิมาม (อ.) มาที่นี่ ท่านอิมาม (อ.) ได้ถามเขาว่า

“ทำไมเจ้าจึงต้องโยนครึ่งหนึ่งของขนมปังให้แก่สุนัขทุกครั้งที่เจ้าจะกินมัน”

          ทาสผู้นั้นกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าคือทาสรับใช้ของท่านและเป็นผู้ดูแลสวนนี้ และสุนัขตัวนี้ก็เป็นผู้เฝ้าสวนนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อข้าพเจ้าจัดสำรับอาหาร สุนัขตัวนี้นั่งมองมายังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าละอายใจที่จะปล่อยให้มันอยู่ในสภาพที่หิวโหย ในขณะที่ข้าพเจ้ารับประทานอาหารจนอิ่ม ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงแบ่งขนมบังนี้อย่างเท่าเทียม (ให้แก่มัน)”

          จากคำตอบของทาสผู้นี้ ที่ทำให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต้องร้องไห้ พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า

ان كان كذلك فانت عتيق لله تعالی ووهبت لك الفي دينار

“เมื่อเป็นเช่นนี้ ดังนั้นเจ้าคือผู้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้วในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง และฉันจะมอบเงินจำนวนสองพันดีนาร์ (เหรียญทอง) ให้กับเจ้า”

        ทาสผู้นั้นกล่าวว่า “แม้ท่านจะปลดปล่อยข้าพเจ้าให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะไม่จากท่านไปไหน ข้าพเจ้าจะขออยู่เป็นคนดูแลสวนของท่านนี้ต่อไป”

        เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เห็นถึงความจงรักภักดีของเขาเช่นนั้น ท่านจึงยกสวนทั้งหมดนั้นให้แก่เขา และกล่าวว่า

“มนุษย์ผู้มีเกียรตินั้น การกระทำของเขาจะต้องเป็นสิ่งยืนยันคำพูดของเขา ฉันยกสวนนี้พร้อมด้วยสิ่งที่มีอยู่ในสวนทั้งหมดให้กับเจ้าแล้ว ดังนั้นเจ้าจงถือว่าบรรดาสหาย(สาวก) ของฉันเหล่านี้คือแขกของฉัน เจ้าจงให้เกียรติต่อพวกเขาด้วยเถิด แล้วอัลลอฮ์จะทรงให้เกียรติแก่เจ้าในวันชาติหน้า พระองค์จะทรงให้จริยธรรมและมารยาทของเจ้ามีความงดงามและมีความจำเริญ” (15)

แหล่งอ้างอิง

(1) ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน : อายะฮ์ที่ 92 ; พิจารณาเพิ่มเติมได้จาก ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 254 และ 272 ; ซูเราะฮ์อัลฮะดีด : อายะฮ์ที่ 7 ; ซูเราะฮ์อัซซะบะอ์ : อายะฮ์ที่ 39

(2) ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 195 ; ซูเราะฮ์อันนะห์ลุ : อายะฮ์ที่ 16 ; ซูเราะฮ์อัซซุมัร : อายะฮ์ที่ 10

(3) ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ : อายะฮ์ที่ 2

(4) ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ : อายะฮ์ที่ 75 และ 98

(5) มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 512, ฮะดีษที่ 6238

(6) มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เชคซุดูก, เล่มที่ 4, หน้า 326

(7) ฆุร่อรุลฮิกัม, อับดุลวาฮิด อามาดี, ฮะดีษที่ 9621

(8) กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้า 29 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้า 121, ฮะดีษที่ 4 ; อะฮ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 620 ; เมาซูอะฮ์ กะลิมาตุลอิมามุลฮุเซน (อ.), หน้า 82, ฮะดีษที่ 32

(9) กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้า 29 ; เมาซูอะฮ์ กะลิมาตุลอิมามุลฮุเซน (อ.), หน้า 82, ฮะดีษที่ 32

(10) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 74, หน้า 315, ฮะดีษที่ 73 ; เมาซูอะฮ์ กะลิมาตุลอิมามุลฮุเซน (อ.), หน้า 84, ฮะดีษที่ 33

(11) เมาซูอะฮ์ กะลิมาตุลอิมามุลฮุเซน (อ.), หน้า 759-760

(12) ตุฮะฟุลอุกูล, หน้า 430

(13) มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 45, ฮะดีษที่ 501

(14) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 189

(15) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 194

แปลและเรียบเรียง เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ