ความสำนึกเสียใจ ผลของการรับข้อมูลที่ผิด

ความสำนึกเสียใจ ผลของการรับข้อมูลที่ผิด

 

ยุคของการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารการประพฤติปฏิบัติตามข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ได้รับมานั้น จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและขุ่นเคืองใจ อีกทั้งจะเป็นสาเหตุของความสำนึกเสียใจของผู้กระทำเสียเอง

       ในโลกยุคของการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร ผู้คนต้องเผชิญกับข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ข่าวที่ไม่จริง และความอคติของสื่อมากมายบนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อการรับความรู้ที่ถูกต้องนั้น ผู้คนจำเป็นต้องมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อแยกแยะข่าวจริงออกจากข่าวปลอม

        ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอานมีคำแนะนำเกี่ยวกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ตัวอย่างเช่นในอัลกุรอานบท (ซูเราะฮ์) อัซซุมัร พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า :

فَبَشِّر عِبَادِ ٱلَّذِينَ يَستَمِعُونَ ٱلقَولَ فَيَتَّبِعُونَ أَحسَنَهُ

“ดังนั้นจงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของข้า บรรดาผู้ที่รับฟังคำพูด แล้วปฏิบัติตามสิ่งดีที่สุดของมัน” (1)

        ในทางตรงกันข้าม ในกุรอานบท (ซูเราะฮ์) อัลฮัจญ์ พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงตำหนิและปรามผู้ปฏิเสธศรัทธาและผู้ ตั้งภาคีจากการกระทำที่ปราศจากความมั่นใจและความรู้ โดยกล่าวว่า :

وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يُجَادِلُ فِي اللَّهِ بِغَيْرِ عِلْمٍ وَلَا هُدًى وَلَا كِتَابٍ مُنِيرٍ

"และในหมู่ประชาชนมีผู้ที่โต้เถียงในเรื่องเกี่ยวกับอัลลอฮ์โดยปราศจากความรู้ ปราศจากการนำทาง และคัมภีร์ที่ให้ความกระจ่าง" (2)

        ในกุรอานบทอัลหุญุรอต พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงชี้ถึงผลของการตัดสินใจและการกระทำที่รีบด่วนและขาดความรู้ว่านำไปสู่ความขุ่นเคืองใจและก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้อื่น โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَى مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดมายังพวกเจ้า ก็จงตรวจสอบเถิด มิเช่นนั้นแล้วพวกเจ้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่กลุ่มชนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำลงไป”

เชิงอรรถ :

1. อัลกุรอานบทอัซซุมัร โองการที่ 17 และ 18

2. อัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 8

3. อัลกุรอานบทอัลหุญุรอต โองการที่ 6

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ