ยุทธวิธีภารกิจ การขับเคลื่อน การรีบเร่งและแข่งขันก่อความดี

ยุทธวิธีภารกิจ การขับเคลื่อน การรีบเร่งและแข่งขันก่อความดี

 

คำแนะนำสั่งสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการกระทำในสิ่งที่เป็นความดีงามและการปฏิบัติ (อะมั้ลซอและห์) ที่ดีนั้น ขั้นตอนแรกนั้นคือ “การขับเคลื่อน” (ฮะรอกัต) จากนั้นคือ “การรีบเร่ง” (ซุรอะฮ์) และหลังจากนั้นคือ “การแข่งขัน” (ซิบเกาะฮ์)....

          พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า

فَاسْتَبِقُواْ الْخَیرَاتِ

 “ดังนั้น พวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีทั้งหลายเถิด” (1)

          คำแนะนำสั่งสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการกระทำในสิ่งที่เป็นความดีงามและการปฏิบัติ (อะมั้ลซอและห์) ที่ดีนั้น ในขั้นตอนแรกนั้นคือ “การขับเคลื่อน” (ฮะรอกัต) จากนั้นคือ “การรีบเร่ง” (ซุรอะฮ์) และหลังจากนั้นคือ “การแข่งขัน” (ซิบเกาะฮ์)

          การขับเคลื่อน (ฮะรอกัต) ก็คือการเริ่มต้นในการกระทำภารกิจหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นความดีงามซึ่งครอบคลุมถึงการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) และสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะฮับ) รวมทั้งการประดับประดาตนด้วยคุณลักษณะงดงามและน่าสรรเสริญทางด้านจริยธรรมและศีลธรรม

          การรีบเร่ง (ซุรอะฮ์) หรือความรวดเร็วในการกระทำภารกิจการงานต่างๆ นั้นก็คือ เมื่อใดก็ตามที่โอกาสในการทำความดีอย่างหนึ่งได้อำนวยแก่เรา เราจะต้องรีบเร่งกระทำสิ่งนั้นในช่วงเวลาของมัน อย่าปล่อยให้ความดีงามหรือการกระทำสิ่งนั้นพลาดพลั้งไปจากตัวเรา ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กำชับอยู่เสมอว่า

إِذَا هَمَمْتَ بِخَیْرٍ فَبَادِرْ فَإِنَّك لَا تَدْرِی مَا یَحْدُثُ

 “เมื่อใดที่ท่านได้ตัดสินใจกระทำความดีหนึ่งๆ แล้ว ดังนั้นท่านก็จงรีบเร่ง (ทำมัน) เถิด เพราะแท้จริงท่านไม่รู้ดอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น (กับท่านหลังจากนั้น)” (3)

          ส่วนการแข่งขัน (ซิบเกาะฮ์) หมายถึง การแซงหน้าผู้อื่นในการทำความดี ซึ่งอาจเป็นไปได้ในสองลักษณะ คือ

          ลักษณะแรก ได้แก่ การแข่งขันชิงชัยหรือการแซงหน้าในการกระทำความดีหนึ่งๆ ก่อนบุคคลอื่นๆ โดยที่คนเหล่านั้นก็ประสงค์จะทำความดีนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น รีบรุดแซงหน้าบุคคลอื่นในการล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าของตนเองเพื่อควักเงินออกมาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ยากจนขัดสนตามขอบเขตแห่งกำลังความสามารถของตนเอง

          ลักษณะที่สอง ก็คือ การชิงชัยและการแซงหน้าผู้อื่นในด้านปริมาณของความดีงามนั้นๆ ในลักษณะเช่นนี้คือ เราจะแซงหน้าบุคคลอื่นๆ ในการทำความดีหรือในการมีคุณลักษณะที่ดีงามทางด้านจริยธรรม ซึ่งพวกเขาก็ทำความดีหรือมีคุณลักษณะที่ดีงามนั้นๆ อยู่เช่นเดียวกัน   

          ตัวอย่างเช่น เราจะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนมากกว่าคนอื่น มีความซื่อสัตย์มากกว่าคนอื่น และมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าคนอื่น เป็นต้น

          คัมภีร์อัลกุรอานได้แจ้งข่าวดีต่อปวงผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ถึงตำแหน่งแห่งความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า

وَالسَّابِقُونَ السَّابِقُونَ أُوْلَئك الْمُقَرَّبُونَ

 “และบรรดาผู้ที่รีบรุดทำความดีก่อน ซึ่งก็จะเป็นผู้ได้รับการตอบแทนก่อน พวกเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด (อัลลอฮ์)” (5)

แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์  โองการที่ 148

(2) พิจารณาเพิ่มเติมจากอัลกุรอาน บทอัลมุอ์มินูน : อายะฮ์ที่ 51

(3) พิจารณาเพิ่มเติมจาก, อัลกุรอาน บทอาลุอิมรอน โอวการที่ 114 และ 133

(4) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้า 142

(5) อัลกุรอาน บทอัลวากิอะฮ์ โองการที่ 10 และ 11

 

บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ