เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บรรทัดฐานความปราชัยและชัยชนะในทัศนะของอิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บรรทัดฐานความปราชัยและชัยชนะในทัศนะของอิสลาม

 

    คำสองคำที่เรามักพูดถึงกันอยู่เสมอเมื่อมีสงครามเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงครามและการสู้รบได้ยุติลง นั่นก็คือคำว่า “ความพ่ายแพ้” และ “ชัยชนะ” โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะมองดูผลของสงครามและการต่อสู้แค่เพียงภาพภายนอกหรือเปลือกนอกของมันเท่านั้น แล้วก็จะตัดสินว่าฝ่ายใด “แพ้” และฝ่ายใด “ชนะ” ฝ่ายใดก็ตามที่ประสพความเสียหาย มีผู้คนล้มตายมากกว่า หรือถูกทำลายอย่างราบคาบ ฝ่ายนั้นก็คือ “ผู้พ่ายแพ้” และฝ่ายตรงข้ามคือ “ผู้ได้รับชัยชนะ” นี่คือ มุมมองของมนุษย์ทั่วไป

         คำถามมีอยู่ว่า “มนุษย์มีบรรทัดฐานอะไรเป็นเครื่องวัดว่า กองทัพฝ่ายหนึ่งประสพความสำเร็จ (คือได้รับชัยชนะ) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งประสพความล้มเหลว (คือพ่ายแพ้)” บางทีดูผิวเผินแล้วอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่า ฝ่ายใดแพ้และฝ่ายใดชนะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

         มุมมองของสติปัญญาและในมุมมองของศาสนาอิสลาม ถือว่าบรรทัดฐานการวัดผลของการต่อสู้ศึกสงคราม มิได้อยู่ที่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ทางด้านภายนอกหรือด้านวัตถุ เมื่อสงครามนั้นๆ ยุติลง แต่กรณีเช่นนี้ สติปัญญาจะถามว่า “กองทัพทั้งสองฝ่ายได้เข้าสู่สนามศึกด้วยเป้าหมายอะไร?” และเมื่อสงครามยุติลง และเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไปไม่ว่าจะด้วยเวลาอันสั้นหรือยาวนานก็ตาม ฝ่ายใดสามารถไปถึงยังเป้าหมายที่ตนเองกำหนดไว้ได้สำเร็จ? ศาสนาก็จะกล่าวว่า “การต่อสู้อย่างมีเป้าหมายและด้วยความบริสุทธิ์ใจของผู้ที่มีศรัทธา ไม่มีคำว่า “พ่ายแพ้” นอกจากว่าการต่อสู้นั้นได้เบี่ยงเบนไปจากแนวทางแห่งสัจธรรม”

        เมื่อพิจารณาและใคร่ครวญถึงเป้าหมายอันสูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และรับรู้ถึงผลอันชัดแจ้งในการยืนหยัดต่อสู้และการพลีชีวิตของท่านในวัน “อาชูรอ” แล้ว มาดูว่าคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงผลของการต่อสู้ไว้อย่างไร?

        ในคัมภีร์อัลกุรอานมีหลายโองการที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ ดังตัวอย่างซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงบัญชาต่อท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ว่า

قُلْ هَلْ تَرَبَّصُونَ بِنَا إِلَّا إِحْدَى الْحُسْنَيَيْنِ

 “ (โอ้ มุฮัมมัด) จงประกาศเถิด! พวกท่านรอคอย (และคาดหวัง) สิ่งใดที่จะมาประสพกับพวกเรากระนั้นหรือ? (ไม่มีสิ่งใดจะมาประสพกับพวกเราอย่างแน่นอน) เว้นเสียแต่หนึ่งจากสองความดีงามเท่านั้น (นั่นคือชัยชนะในการทำศึกหรือการเป็นชะฮีดในหนทางของอัลลอฮ์)” (1)

         ลักษณะที่เลวร้ายประการหนึ่งของมุนาฟิกีน (พวกกลับกลอก) นั่นก็คือ หากมีความดีงามใดๆ มาประสพกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และบรรดาสาวกของท่าน พวกเขาจะรู้สึกกระวนกระวายและไม่พอใจ ในทางตรงกันข้าม หากมีความทุกข์ยากหนึ่งๆ มาประสพกับท่าน พวกเขาก็จะรู้สึกปีติยินดี อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้สอนท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้ตอบโต้บุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ด้วยคำพูดประโยคสั้นๆ ว่า “พวกท่านกำลังรอคอยและคาดหวังสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นกับพวกเรากระนั้นหรือ? ไม่มีสิ่งใดจะมาประสพกับพวกเรา เว้นแต่หนึ่งจากสองความดีงามเท่านั้น”

        สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้นไม่มีทางตัน หนทางแรกของพวกเขา คือ การต่อสู้ (ญิฮาด) ด้วยกับความบริสุทธิ์ใจ และจบลงด้วยกับความปราชัยของฝ่ายศัตรู และจะรอรับผลรางวัลของการต่อสู้และความเหนื่อยยากจากการต่อสู้ และรับเกียรติยศและความภาคภูมิใจทั้งในโลกนี้และปรโลก

        หรือหนทางที่สอง นั่นคือ การลิ้มรสความหวานชื่นแห่งการเป็นชะฮีด ด้วยเจตนา (เหนียต) ที่บริสุทธิ์และหัวใจที่กระหาย และในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น คือ การมีชีวิตที่นิรันดร และรอรับความโปรดปรานต่างๆ จากอัลลอฮ์ (ซบ.) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

وَلَا تَحْسَبَنَّ الَّذِينَ قُتِلُوا فِي سَبِيلِ اللَّهِ أَمْوَاتًا بَلْ أَحْيَاءٌ عِندَ رَبِّهِمْ يُرْزَقُونَ فَرِحِينَ بِمَا آتَاهُمُ اللَّهُ مِن فَضْلِهِ

“และเจ้าจงอย่าคิดว่าบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์นั้นตาย ทว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ องค์อภิบาลของพวกเขา ในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพ พวกเขามีความปลาบปลื้มต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่พวกเขาจากความโปรดปรานของพระองค์…” (2)

       และภายหลังจากการเป็นชะฮีดของบรรดามุอ์มิน เลือดของชะฮีดหรือผลต่างๆ ของการเป็นชะฮีดก็จะปรากฏขึ้นในสังคม และจะนำมาซึ่งเป้าหมายอันสูงส่งของการต่อสู้นั้น

อีกโองการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “ชัยชนะ” และ “ความพ่ายแพ้” ในทัศนะของอิสลามนั้นมิได้วัดกันที่ผลทางด้านวัตถุหรือผลทางด้านภายนอกเมื่อสงครามและการต่อสู้ได้ยุติลงเพียงอย่างเดียว แต่อิสลามมองดูว่า ผู้ที่ทำการต่อสู้นั้นมีเป้าหมายอย่างไร และต่อสู้ในหนทางของใคร หากเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่บริสุทธิ์และมีเจตนาบริสุทธิ์ และเป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องหลักธรรมอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาคือผู้ประสพความสำเร็จและได้รับชัยชนะไม่ว่าเขาจะต้องประสพกับชะตากรรมเช่นไรก็ตาม

        ในอัลกุรอานบทอันนิซาอ์ อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า

 وَمَن يُقَاتِلْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَيُقْتَلْ أَوْ يَغْلِبْ فَسَوْفَ نُؤْتِيهِ أَجْرًا عَظِيمًا

“และผู้ใดที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ไม่ว่าเขาจะถูกฆ่าหรือจะพิชิตก็ตาม ในไม่ช้าเราจะให้รางวัลอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (3)

         โองการนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผลบั้นปลายของผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) คือหนึ่งจากความดีงามสองประการ นั่นคือ

1) ชะฮาดะฮ์ คือการถูกสังหารในหนทางของอัลลอฮ์

2) มีชัยชนะเหนือฝ่ายศัตรู

         ทั้งสองรูปแบบนี้ (หมายถึงทั้งในกรณีของการถูกสังหารและการได้รับชัยชนะ) เขาจะได้รับผลรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์ (ซบ.)

         ในที่นี้จะเห็นได้ว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ไว้เพียงสองรูปแบบเท่านั้น (คืออาจถูกสังหารหรืออาจได้รับชัยชนะ) แต่ความเป็นไปได้ในรูปแบบที่สามซึ่งได้แก่ “ความพ่ายแพ้” อัลลอฮ์ (ซบ.) มิได้กล่าวถึง และในหนทางดังกล่าวนี้เองอัลลอฮ์ (ซบ.) ต้องการชี้ให้เห็นโดยนัยว่า ผู้ที่ต่อสู้และทำศึกในหนทางของพระผู้เป็นเจ้านั้น ไม่มีคำว่า “พ่ายแพ้”

        บุคคลที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างมั่นคงในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) คำว่า “ปราชัย” หรือ “ความพ่ายแพ้” ในทางวัตถุไม่มีความหมายใดๆ สำหรับเขา บ่อยครั้งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงทำให้บรรดาผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของพระองค์มีชัยชนะเหนือศัตรูในการศึกสงครามของพวกเขา แต่เราก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ผลต่างๆ ของชัยชนะในลักษณะนี้จะมีมากไปภาคผลของการยืนหยัดต่อสู้อย่างมั่นคงจนกระทั่งได้รับการเป็นชะฮีด

       เราจะเห็นได้จากขบวนการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แม้ว่าในภายนอกกองทัพของท่านจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบจากฝ่ายศัตรู ท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสาวกของท่านได้กลายเป็นชะฮีด บรรดาสตรีและเด็กๆ รวมทั้งอะฮ์ลิลบัยต์ของท่านต้องถูกจับเป็นเชลย แต่ผลของมันนั้นมากมายและยิ่งใหญ่กว่าสงครามที่ได้รับชัยชนะเหนือข้าศึกในยุคแรกๆ ของอิสลามเสียด้วยซ้ำไป

เป้าหมายในการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

        เป้าหมายการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นเดียวกัน มิได้อยู่ที่ชัยชนะทางด้านภายนอกหรือทางด้านวัตถุ ดังจะเห็นได้จากคำพูดและสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่าน ดังนั้นท่านจึงได้ตัดสินใจต่อสู้โดยไม่คำนึงว่าผลภายนอกของการต่อสู้นั้นจะจบลงอย่างไร!

        ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า

 وَاللَّه اِنِّي لاَرْجُو اَنْ يَكُونَ خَيْراً مااَرادَاللَّهُ بِنا قُتِلْنا اَمْ ظَفَرْنا

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! แท้จริงฉันมุ่งหวัง (และมั่นใจ) ว่า สิ่งที่อัลลอฮ์ประสงค์จะให้ประสพกับพวกเรานั้นคือสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าเราจะถูกฆ่าหรือเราจะได้รับชัยชนะ” (4)

        ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือว่าบรรดาผู้ที่พลีชีพของตนเองในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า คือผู้ที่ได้รับชัยชนะโดยแท้จริง เพราะการเป็นชะฮีดคือ “ชัยชนะ” และ “ความสำเร็จ” อันยิ่งใหญ่ (เฟาซุนอักบัร) ส่วนบรรดาผู้ที่ล้าหลังและเบี่ยงเบนออกไปจากกองคาราวานของบรรดาชะฮีด พวกเขาจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากชัยชนะและความสำเร็จ และการมีชีวิตอยู่ในลักษณะเช่นนี้ในทัศนะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือเป็น “ความปราชัย” และ “ความอัปยศ” ที่ขมขื่นที่สุดในชีวิต

         ขณะที่เคลื่อนขบวนออกจากมะดีนะฮ์ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เรียกหากระดาษและปากกา ท่านได้เขียนสาส์นฉบับหนึ่งถึงบรรดาบนีฮาชิมด้วยประโยคสั้นๆ แต่แฝงไปด้วยเนื้อหาสาระและความหมายอันสูงส่ง

         ภายหลังจากการกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ (ซบ.) ท่านได้กล่าวว่า

... فإنّه مَنْ لَحِقَ بي مِنكم إستُشهِد, وَمَن تَخَلّفَ عَنّي لَمْ يَبلغ الفَتْح، والسّلام

“แท้จริงผู้ใดก็ตามจากพวกท่านที่เข้าร่วมสมทบกับฉัน เขาก็จะได้รับชะฮีด และผู้ใดที่ละทิ้ง (จากการเข้าร่วมในครั้งนี้) เขาจะไปไม่ถึงซึ่งชัยชนะ วัสลาม” (5)

         ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่มีเป้าหมายอื่นใดในการยืนหยัดต่อสู้ นอกจากการทำให้สัจธรรมและศาสนาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ดำรงอยู่ เป็นการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และเป็นการปกป้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และท่านก็สามารถไปถึงยังเป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยความสำเร็จ แม้ว่าตัวท่านและมิตรสหายของท่านจะต้องถูกสังหารลงในวันอาชูรอ ในแผ่นดินกัรบะลาอ์ก็ตาม

          ท่านอิมามฮุเซน (อ.) สามารถกระชากหน้ากากแห่งความชั่วร้ายของบนีอุมัยยะฮ์ออกได้ด้วยความสำเร็จ ท่านสามารถทำลายสภาวะแห่งความหวาดกลัวของประชาชนในการที่จะลุกขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองที่อธรรมและกดขี่ลงได้ ท่านสามารถปลุกจิตวิญญาณและความสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่ออิสลามและต่อประชาชาติมุสลิมให้เกิดขึ้นในหัวใจของเหล่าศรัทธาชนทั้งหลาย และที่สุดแล้ว ด้วยกับเลือดอันบริสุทธิ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านสามารถปลุกเร้าจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ (ญิฮาด) และการพลีอุทิศตนในหนทางแห่งสัจธรรม และการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมคำสอนอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติมุสลิมได้

         ทั้งหมดเหล่านี้คือเป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในขบวนการต่อสู้แห่งอาชูรอของท่าน และเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้บรรลุสู่ความเป็นจริง ดังนั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือโฉมหน้าของผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างแท้จริงในสนามศึกแห่งกัรบะลาอ์ ดังนั้น “ชัยชนะ” จึงมิใช่การพิชิตศึกสงครามได้เพียงอย่างเดียว แต่ “ชัยชนะ” ของเลือดที่มีเหนือคมหอกและคมดาบทั้งหลายต่างหากที่ถือเป็น “ชัยชนะ” และ “ความสำเร็จ” ขั้นสูงสุด

         วันหนึ่งในนครมะดีนะฮ์ อิบรอฮีม บุตรของฏ็อลฮะฮ์ ได้ถามท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ด้วยเจตนาที่จะเย้ยหยันถากถางท่านว่า “ในเหตุการณ์แห่งอาชูรอนั้น ใครคือผู้ได้รับชัยชนะ?”

         ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้ตอบด้วยคำพูดประโยคสั้นๆ ว่า

إذَا دَخَلَ وَقْتُ الصَّلَاةِ فَأذّنْ وَ أَقِمْ، تَعْرِفُ الغَالِبَ

“เมื่อเวลาของการนมาซมาถึง เจ้าก็จงอะซานและจงอิกอมะฮ์เถิด แล้วเจ้าก็จะได้รู้ว่าใครคือผู้ชนะ” (6)

         หมายความว่า สนามศึกแห่งกัรบะลาอ์ คือการทำสงครามระหว่าง ความศรัทธา (อีมาน) กับ การปฏิเสธ (กุฟร์) และ สัจธรรม (ฮักก์) กับ ความมดเท็จ (บาฏิล) และศัตรูนั้นมีเป้าหมายที่จะลบล้างทำลาย “กะลิมะตุลลอฮ์” (ดำรัสแห่งพระผู้เป็นเจ้า) แต่บิดาของฉันได้ย่างก้าวเข้าสู่สนามศึกสงครามเพื่อพิทักษ์นามชื่อแห่งพระผู้เป็นเจ้าและศาสนทูต และเพื่อปกป้องอำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) และความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ดังนั้น เมื่อเสียงอะซาน (การประกาศเชิญชวนสู่การนมาซ) ได้ดังขึ้น เมื่อการนมาซได้ถูกยืนขึ้น และคุณธรรมความดีทั้งหลายได้ถูกปฏิบัติสืบต่อไปในสังคมมนุษย์ เจ้าก็จะรู้ได้ว่า บรรดาศัตรูของท่านสามารถไปถึงยังเป้าหมายของพวกเขาที่ต้องการจะลบเลือนร่องรอยต่างๆ ของวะฮ์ยูของอัลลอฮ์ (ซบ.) ได้หรือไม่?

แหล่งที่มา :

    1. อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 52
    2. อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 169-170
    3. อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 74
    4. อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่ม 1, หน้า 597
    5. มะนากิบ อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่ม 4, หน้า 76
    6. มักตะลุลฮุซัยน์, มุก็อรร็อม, หน้า 370

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีมประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม