เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปฏิบัติการของชาวยิวในการต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) (ตอนที่ 2)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


ปฏิบัติการของชาวยิวในการต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) (ตอนที่ 2)


ความพยายามในการป้องกันการลอบสังหารมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

1) การอยู่ห่างไกลจากมักกะฮ์ :

         ถึงตอนนี้อับดุลมุฏฏอลิบมีภารกิจที่สำคัญ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับความรักอย่างมากจากมารดา จากตาและปู่ของท่าน อับดุลมุฏฏอลิบได้สูญเสียอับดุลลอฮ์ลูกชายสุดที่รักของตนไป และอามินะฮ์ลูกสาวของวะฮับก็กลายเป็นม่ายหลังจากแต่งงานได้เพียงสองเดือน ผลจากการแต่งงานครั้งนี้ก็คือเด็กผู้ชายที่น่ารักมาก แต่ความสำคัญของการปกป้องเด็กน้อยผู้นี้ก็ชัดเจนยิ่งสำหรับผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องเขาเช่นกัน เขาไม่ปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมักกะฮ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกองคาราวานค้าขายและผู้แสวงบุญเข้าออกตลอดเวลา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้อับดุลมุฏฏอลิบจึงต้องคิดหาวิธีแก้ไข ก็คือการแยกเขาออกไปจากมักกะฮ์ ซึ่งนั่นก็จะต้องเป็นความลับอย่างมากและเขาจะต้องอยู่ห่างจากสายตาของผู้อื่น ดังนั้นพวกเขาจึงมอบหมายท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ให้กับแม่นมเพื่อให้เลี้ยงดูท่านในดินแดนที่ห่างไกลจากมักกะฮ์และดูแลท่านอย่างเป็นความลับ เมื่อดูจากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะพบว่านักประวัติศาสตร์ได้ให้เหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการมอบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ให้อยู่ในการเลี้ยงดูของแม่นม เหตุผลต่างๆ อย่างเช่น การที่แม่ของท่านไม่มีน้ำนมให้ดื่มกิน สภาพน้ำและอากาศของมักกะฮ์เลวร้ายไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก และเป็นขนบธรรมเนียมของชาวอาหรับที่จะมอบลูกให้แม่นมเลี้ยงดู ซึ่งทั้งสามเหตุผลนี้ได้ถูกวิจารณ์อย่างง่ายดาย :

        ก) เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า หากมารดาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่มีน้ำนมให้ท่านดื่มกิน พวกเขาควรจะต้องหาแม่นมของเด็กจากชาวมักกะฮ์เพื่อให้ท่านเติบโตอยู่กับพวกเขา

        ข). สภาพน้ำและอากาศในมักกะฮ์เลวร้ายเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด? สภาพน้ำและอากาศที่เลวร้ายนี้เกิดขึ้นเป็นเวลาถึงห้าปีหรือไม่? ในกรณีที่ว่าสภาพน้ำและอากาศในมักกะฮ์เลวร้ายเป็นเวลาหลายปีในช่วงนั้น ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ จากประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึง นอกจากนี้หากเป็นเช่นนั้นจริง ชาวมักกะฮ์หรืออย่างน้อยลูกๆ ของพวกเขาทั้งหมด ก็ควรอพยพไปยังดินแดนอื่นซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น

        ค). หากเป็นขนบธรรมเนียมของชาวมักกะฮ์จริงในการฝากเด็กไว้กับแม่นม แล้วเหตุใดชาวอาหรับคนอื่นๆ จึงไม่ฝากลูกของตนไว้กับแม่นม แม้แต่บรรดาผู้ที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หรือหลังจากนั้นก็ไม่มีใครถูกมอบให้อยู่ในการเลี้ยงดูของแม่นม มีรายงานว่าแม่ของท่านฮัมซะฮ์ได้ให้นมแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นระยะหนึ่ง ทำไมท่านฮัมซะฮ์ซึ่งแก่กว่าท่านศาสดาเพียงสองเดือนถึงไม่ถูกมอบให้แม่นมเป็นผู้เลี้ยงดู? นอกจากนี้ทารกจะกินนมแม่เพียงสองปี ทำไมพวกเขาถึงส่งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไปให้ฮะลีมะฮ์เลี้ยงดูเป็นเวลาถึงห้าปี? ดังนั้นตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า เนื่องจากการเข้าออกเมืองมะดีนะฮ์ของคนแปลกหน้าเป็นเรื่องปกติ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะทำการลอบสังหารผู้คนในเมืองนี้ ดังนั้นหนทางเดียวสำหรับอับดุลมุฏฏอลิบคือการแยกท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไปอยู่ในสถานที่ห่างไกลจากสายตาของผู้คน

        แต่เหตุใดอับดุลมุฏฏอลิบจึงนำมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กลับมายังมักกะฮ์หลังจากผ่านไปห้าปี? ในประวัติศาสตร์ มีเหตุผลบางประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเช่นใน หะดีษที่เรียกว่า "ชักกุศศ็อดริ์" (شق الصدر) (การผ่าออก) ได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงที่ท่านศาสดาอยู่กับฮะลีมะฮ์ ในขณะอายุประมาณ 4-5 ขวบ ท่านได้ออกไปเลี้ยงแกะกับลูกๆ ของนาง ในช่วงเวลานั้นมีชายชุดขาวสองคนมาหาและจับตัวท่านผ่าหน้าอกของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และนำหัวใจของท่านออกมาแล้วนำเอาก้อนเลือดก้อนหนึ่งออกมาจากมันแล้วบอกว่านี่คือส่วนของชัยฏอนที่ต้องการจากเจ้า จากนั้นเขาก็ล้างส่วนนั้นในถาดทองคำด้วยน้ำซัมซัมแล้วก็จากไป เด็กๆ วิ่งไปหาฮะลีมะห์และตะโกนว่า มุฮัมมัดถูกฆ่าแล้ว (1)

         หลังจากนั้น ฮะลีมะห์ก็พาเขากลับไปหาปู่ของเขา และพูดกับอับดุลมุฏฏอลิบว่า “ฉันไม่สามารถดูแลลูกของท่านได้แล้วเพราะเขาถูกญินรังควาน” อับดุลมุฏฏอลิบก็รับเขาไว้ (2) ดูเหมือนว่า หะดีษนี้ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนแกนหลักของเรื่องไป ในความเป็นจริง เหตุผลที่พาท่านศาสดากลับไปยังนครมักกะฮ์ก็เนื่องจากพวกเขาได้พบตัวท่านศาสดาแล้วและต้องการที่จะลักพาท่านไปด้วย รายงานอื่นๆ ก็ยืนยันประเด็นนี้ (3) พื้นที่นั้นไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ดังนั้นฮะลีมะฮ์จึงไม่สามารถปกป้องท่านศาสดาได้อีกต่อไป หากชาวยิวได้ถามท่านศาสดามูซา (โมเสส) ถึงชื่อของแม่นมของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แน่นอนพวกเขาก็จะตามพบท่านในสัปดาห์แรก แต่ที่ต้องใช้เวลายาวนานถึงห้าปีในการค้นหาศาสดา ก็เนื่องจากการขาดข้อมูลของชาวยิวเกี่ยวกับเรื่องนี้ และก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดความบกพร่องขึ่นในมักกะฮ์ในการปกปิดความลับที่เกี่ยวกับท่านศาสดา จึงทำให้พวกเขาได้ตามพบท่าน นับจากนี้ไป อับดุลมุฏฏอลิบก็กลายเป็นผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์ปกป้องท่านศาสดา

2) การพิทักษ์ปกป้องอย่างต่อเนื่อง :

         หลังจากที่ฮะลีมะฮ์ได้นำท่านศาสดากลับไปยังอับดุลมุฏฏอลิบ เขาได้รับช่วงการคุ้มครองท่านศาสดาด้วยตัวเอง พฤติกรรมของอับดุลมุฏฏอลิบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการปกป้องเด็กผู้นี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับเขา โดยที่แม้แต่ในช่วเวลาการประชุมของดารุลนัดะฮ์เขาก็พาท่านไปด้วยและให้ท่านนั่งในที่ของตน หลังจากอับดุลมุฏฏอลิบ การคุ้มครองท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อยู่ในความรับผิดชอบของอบูฏอลิบ ทำให้อบูฏอลิบต้องหยุดทำการค้าขายเป็นเวลาถึงสี่ปี จนกระทั่งเกิดภาวะกันดารและขาดแคลนอาหารขึ้นในมักกะฮ์ อบูฏอลิบจึงตัดสินใจเดินทางไปทำการค้าขายและพาท่านศาสดาไปด้วย ในการรายงานเรื่องราวของ “บุฮัยรอ” นักบวชชาวคริสต์ก็มีความขัดแย้งกันอย่างมากจนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการบิดเบือนและเบี่ยงเบนเรื่องราวนี้ ขณะที่ในการค้นพบสองประเด็น ก็ทำให้เรื่องราวนี้น่าสนใจมาก :

1. การแพร่กระจายข่าวคราวเกี่ยวกับท่านศาสดาในวันนั้นและระดับการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย

2. ระดับของอันตรายจากชาวยิวที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้นมีมากถึงขนาดที่ “บุฮัยรอ” ก็รับรู้ถึงเรื่องนี้ และขอให้อบูฏอลิบนำท่านกลับไปยังบ้านเมืองของตน เพื่อไม่ให้ชาวยิวได้พบตัวท่าน เนื่องจากไม่มีชาวคัมภีร์คนใดที่จะไม่รู้ว่าท่านประสูติแล้ว ดังนั้นหากพวกเขาได้เห็นท่านย่อมจะต้องรู้จักท่านอย่างแน่นอน คำเตือนของบุฮัยรอแสดงถึงความรู้สึกในอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ความเป็นปฏิปักษ์ของชาวยิวที่มีท่านศาสดานั้นถึงขนาดที่บุฮัยรอซึ่งเป็นนักบวชคริสเตียนก็เข้าใจถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และเขาคิดว่าอบูฏอลิบไม่รู้ในเรื่องนี้ อบูฏอลิบได้พาท่านศาสดากลับไปจากที่นั่น และเป็นที่น่าสนใจว่า หลังจากนั้นชาวยิวเจ็ดคนได้มายังบุฮัยรอเพื่อที่ลอบสังหารท่านศาสดา ที่สำคัญก็คือหลังจากเหตุการณ์นี้ อบูฏอลิบไม่เคยออกเดินทางไปทำการค้าขายอีกเลย (4)

         อบูฏอลิบไม่ย่นย่อในการพิทักษ์ปกป้องท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยไหวพริบที่สมบูรณ์ เขาจะกินอาหารในสำรับก่อนศาสดาเพื่อตรวจสอบดูว่าในอาหารนั้นมียาพิษหรือไม่ จากนั้นจึงส่งอาหารให้ท่านศาสดา ในตอนกลางคืนเขาจะนอนข้างมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และให้เด็กๆ นอนข้างๆ เขาด้วย เพื่อว่า หากศัตรูพยายามที่จะลอบสังหารท่านในตอนกลางคืน เขาก็จะตื่นขึ้น อบูฏอลิบจะเดินเข้าไปในทุกสถานที่ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีศัตรู (5) สภาพการณ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ดำเนินไปเช่นนี้จนกระทั่งอายุ 25 ปี เมื่อถึงวัยนี้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ขอที่จะทำการค้าขาย ถึงตอนนี้ท่านเป็นคนหนุ่มที่ไม่มีใครกล้าที่จะลอบสังหารท่านอีกต่อไปแล้ว และแน่นอนว่าท่านศาสดาก็รู้เกี่ยวกับแผนการของชาวยิวด้วย แผนการของชาวยิวที่จะสะกัดกั้นการประสูติของท่านศาสดาและการลอบสังหารท่านก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงก้าวเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของปฏิบัติการ ซึ่งนั่นก็คือเพื่อสะกัดกั้นการแผ่ขยายของอิสลามและการพิชิตบัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม) โดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

แกะรอยชาวยิวในสงครามต่างๆ ของมุชริกีนกับท่านศาสดา (ขั้นตอนที่สองของปฏิบัติการของชาวยิว)

         วิธีการของชาวยิวก็คือการชักนำพวกมุชริกีน (ผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) เข้ามาสู่สนามก่อนที่พวกเขาจะเริ่มปฏิบัติการต่อต้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ข้อเท็จจริงที่ว่าในโองการที่ 82 ของซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ ได้กล่าวถึงชาวยิวก่อนและตามด้วยมุชริกีน แสดงให้เห็นถึงการยอมตามในลักษณะหนึ่ง กล่าวคือชาวยิวเป็นแกนหลักและความเป็นปฏิปักษ์ของพวกมุชรีนนั้นเป็นเรื่องรอง ดังนั้นในการฏิบัติการของพวกมุชริกีนในการต่อต้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เราจำเป็นต้องค้นหาเบาะแสของแผนสมคบคิดของชาวยิวในมักกะฮ์ สิ่งนี้มีความชัดเจนในกรณีของสงครามอุฮุดและสงครามค็อนดัก แต่ในสงครามบะดัรนั้น เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์อย่างมากจึงจะค้นพบเบาะแสดังกล่าว

         ด้วยการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไปยังมะดีนะฮ์ ทำให้มักกะฮ์ต้องอยู่ในความตกตะลึง ท่านศาสดาได้ใช้ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในเมืองมะดีนะฮ์ ชาวมักกะฮ์ไม่เคยเห็นรัฐบาล และโดยปกติสงครามของพวกเขาจะเป็นสงครามภายใน ตรงจุดนี้เองความคิดของชาวยิวจึงได้เข้ามามีส่วยช่วยพวกมุชริกีน อบูญะฮัลได้เสนอแนะให้โจมตีมะดีนะฮ์และได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปข่มขู่ท่านศาสดา จดหมายนี้ถูกส่งไปถึงมือท่านศาสดา 29 วันก่อนเกิดสงครามบะดัร (6) เมื่อพิจารณาข้อความในจดหมายฉบับนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของชาวอาหรับญาฮิลียะฮ์ เราสามารถสรุปได้ว่าถ้อยคำเหล่านี้ได้ถูกชี้แนะแก่อบูญะฮัลจากกลุ่มที่เราเรียกว่า ”ยะฮูด” (ชาวยิว)

1) สงครามบะดัร :

          เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดสงครามนั้น บรรดานักประวัติศาสตร์กล่าวว่า : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ปิดกั้นเส้นทางของคาราวานค้าขายของกุเรช เพื่อที่จะทำให้พวกเขาจะประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและจะถูกบังคับให้ยอมรับศาสนาอิสลาม จากนั้นพวกมุชริกีนก็ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องตนเอง และท่านศาสดาก็สังหารพวกเขาทั้งหมด แต่เมื่อทำการค้นคว้าตรวจสอบเกี่ยวกับสงครามบะดัร เราจะพบว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่เป็นสงครามเชิงรุก แต่เป็นสงครามเพื่อการป้องปรามอย่างแท้จริง เนื่องจากบรรดาผู้นำของพวกมุชริกีนต้องการที่จะใช้ผลกำไรจากการค้าขายนี้ในการจัดเตรียมกองทัพเพื่อทำสงครามกับท่านศาสดา ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่านักรบส่วนใหญ่ในสงครามบะดัรก็คือนายทุนของคาราวานค้าขายดังกล่าว

          พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอนุมัติการญิฮาดแก่ท่านศาสดา (7) อบูซุฟยานต้องการหยุดกองคาราวานไว้ที่บะดัร แต่เขาได้พบว่าท่านศาสดาและกองกำลังของท่านได้สกัดกั้นกองคาราวานอยู่ และทราบถึงเส้นทางและเวลาของการเดินทางของคาราวาน เขาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางของคาราวานและหนีไป และในเวลาเดียวกันเขาก็ส่งผู้สื่อสารไปยังมักกะฮ์เพื่อให้ชาวมักกะฮ์จะส่งกองกำลังมาคุ้มครองความปลอดภัยให้คาราวาน กองกำลังคุ้มครองความปลอดภัยของมักกะฮ์ซึ่งกำลังเคลื่อนพลมาตามถนนสายหลักจึงไม่พบคาราวาน แต่กลับเผชิญหน้ากับกองทัพของอิสลาม และสงครามจึงได้เกิดขึ้น

         กองทัพมักกะฮ์คือกลุ่มผู้นำมุชริกีนและบรรดานายทุนรายใหญ่ของเมืองมักกะฮ์ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้กับอิสลามและขัดขวางไม่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้ารับอิสลาม และหากกำแพงของคนกลุ่มนี้พังทลายลง อิสลามก็จะแผ่ปกคลุมไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับอย่างรวดเร็ว และสงครามและการเข่นฆ่าต่างๆ ที่จะติดตามมาก็จะไม่เกิดขึ้น หากชาวมุสลิมมีความเข้าใจที่เพียงพอและปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) งานของพวกมุชริกีนก็คงจะจบสิ้นลงนับตั้งแต่ช่วงแรก น่าเสียดายที่กองกำลังของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่มีความเข้าใจเช่นนั้น เนื่องจากช่วงเวลาหลังจากความปราชัยของกองทัพผู้ปฏิเสธพระเจ้า ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการที่จะทำลายบรรดาผู้นำของพวกมุชริกีนให้สิ้นซาก แต่ทันใดนั้นเองสงครามก็ยุติลงโดยไม่มีคำสั่งในเรื่องนี้จากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เหตุผลของเรื่องนี้ก็คือการถูกจับกุมเป็นเชลยศึกของพวกมุชริกีนจำนวนหนึ่ง โองการอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาในบริบทนี้เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนถึงความสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญดังกล่าว :

ما کانَ لِنَبِيٍّ أَنْ یَکُونَ لَهُ أَسْری حَتَّی یُثْخِنَ فِی الْأَرْضِ تُرِیدُونَ عَرَضَ الدُّنْیا وَ اللَّهُ یُرِیدُ الْآخِرَةَ وَ اللَّهُ عَزِیزٌ حَکِیمٌ، لَوْ لا کِتابٌ مِنَ اللَّهِ سَبَقَ لَمَسَّکُمْ فِیما أَخَذْتُمْ عَذابٌ عَظِیمٌ

"ไม่บังควรแก่ศาสดาคนใดที่เขาจะมีเชลยศึกไว้ (รียกค่าไถ่ ขณะที่ฝ่ายตนยังอ่อนแออยู่) จนกว่าเขาจะได้สู้รบกับศัตรูจนได้รับชัยชนะในแผ่นดินเสียก่อน พวกเจ้าต้องการผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยของโลกนี้ แต่อัลลอฮ์ทรงต้องการปรโลก และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงปรีชาญาณ หากว่าไม่มีบันทึกจากอัลลอฮ์ล่วงหน้าอยู่ก่อน แน่นอนการลงโทษอันมหันต์ก็ประสบแก่พวกเจ้าแล้ว เนื่องในสิ่งที่พวกเจ้าได้ยึดเอา” (8)

บทบาทของชาวยิว :

          บางคนเชื่อว่าความละโมบของชาวมุสลิมในกองทัพอิสลามเป็นสาเหตุและแรงจูงใจในการจับกุม เชลยศึกครั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นนี้มีรายงานว่า ชาวอันซอรบางคนมาหาท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และขอให้ท่านหยุดการฆ่าเชลยศึกและปล่อยตัวพวกเขาเพื่อแลกกับค่าไถ่ และพวกเขาก็ยืนกรานในคำขอของตน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ตอบพวกเขาว่า : หากเราทำเช่นนั้น ในปีหน้าเราก็จะถูกฆ่าจำนวนเท่ากับพวกเขา พวกเขากล่าวว่า : ก็ไม่ป็นไร ในปีนี้เราจะเอาค่าไถ่จากพวกเขาและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของโลกนี้ และปีหน้าหากเราจะเป็นชะฮีด เราก็จะไปสวรรค์ (9) การไม่เชื่อฟังคำสั่งของท่านศาสดาโดยบรรดาเหล่านักรบแห่งบะดัร ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง ดังนั้นเราจึงต้องค้นหาเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านี้ แนวโน้มที่ชาวยิวในมะดีนะฮ์ต้องการและติดตามมาโดยตลอดนั่นคือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะต้องไม่ได้รับชัยชนะโดยเร็ว หากบรรดามุชริกีนถูกทำลายในบะดัร ชาวยิวก็จะล่มสลายลงอย่างรวดเร็วและพวกมุนาฟิกีนก็จะไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้เช่นกัน พวกมุนาฟิกีนในมะดีนะฮ์ต้องการยืดเวลาออกไป ดังนั้นชัยชนะของขบวนการอิสลามจึงจำเป็นต้องล่าช้าออกไป

         ดังนั้น จำเป็นต้องค้นหาบรรดาตัวการของการไม่เชื่อฟังคำสั่งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นี้ในหมู่ชาวยิวและบรรดามุนาฟิกีนในมะดีนะฮ์ เนื่องจากมีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ เป็นที่แน่นอนว่าชาวยิวไม่สามารถดำเนินการโดยตรงในเรื่องนี้ได้ ดังนั้นแล้วใครคือตัวการโดยตรงของการสร้างบรรยากาศให้เกิดการจับกุมเชลยในหมู่ชาวมุสลิม? เนื่องจากรายงานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ไม่ชัดเจนนัก เพื่อตอบคำถามนี้ เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์ประเด็นต่างๆ โดยรอบของสงครามบะดัร ในที่นี้เราจะมาค้นหาร่องรอยของเรื่องนี้จากเรื่องราวที่บันทึกไว้โดยฏอบารีที่อิบนุอบิลหะดีดก็ได้อ้างไว้ด้วยเช่นกัน หลังจากเล่าเรื่องคำขอของกุเรชที่ขอให้อบูบักร์และอุมัรเป็นสื่อกลางในเรื่องเกี่ยวกับเชลย ฏอบารีได้กล่าวเสริมว่า : หลังจากสงครามเกิดความขัดแย้งระหว่างอบูบักรและอุมัรว่าจะฆ่าพวกเขาหรือจะให้พวกเขามีชีวิตอยู่... (ในตอนท้ายของหะดีษได้กล่าวว่า) และท่านศาสดาได้อ่านโองการที่ 118 ของซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ (10)  หลังจากเล่าเรื่องนี้แล้ว อิบนุอบิลหะดีได้กล่าวว่า : โองการที่ 118 ของซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ ซึ่งท่านศาสดาได้อ่านนั้นได้ถูกประทานลงมาในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในขณะที่สงครามบะดัรเกิดขึ้นในปีที่ฮิจเราะฮ์ศักราชที่สอง ดังนั้นจะสามารถยอมรับได้อย่างไรว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ให้เหตุผลด้วยโองการนี้?! จากนั้นเขาก็แสดงความสงสัยในเนื้อหาและความถูกต้องของหะดีษนี้ (11)

           เราไม่พบในแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่ว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เชิญบรรดาสาวกมาประชุมและขอความเห็นเกี่ยวกับชะตากรรมของเชลย และโดยพื้นฐานแล้ว คำถามก็คือว่า เหตุใดจึงมีเพียงสองคนนี้เท่านั้นที่มาหาท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และพูดคุยกับท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้? ทำไมไม่มีการกล่าวถึงบุคคลอื่นๆ อย่างเช่น ท่านอาลี (อ.) และมิกดาดในเรื่องนี้เลย? หากเป็นแค่เพียงการแสดงความคิดเห็นแล้วทำไมทั้งสองคนถึงยืนกรานอย่างมากที่จะทำให้ความคิดเห็นของตนถูกยอมรับและปฏิบัติตาม? พวกเขาไม่รู้หรือว่าวิธีการแสดงความคิดเห็นแบบนี้โดยที่คนแรกพูดให้การช่วยเหลือบรรดาเชลยศึกแล้วก็ออกไป และคนที่สองได้เข้ามาขอให้ออกคำสั่งประหารชีวิต และกระทั่งการกระทำเช่นนี้ดำเนินซ้ำอยู่หลายครั้ง จนทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความใจร้อน หุนหันพลันแล่น และบรรยากาศเกิดความตึงเครียดขึ้นและในที่สุดท่านศาสดาไม่สามารถดำเนินการตามความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเชลยศึกได้? อย่างไรก็ตาม ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้บรรดาศัตรูของอิสลามได้รับความรอดพ้นและเปิดโอกาสให้พวกเขาดำเนินการก่อสงครามนองเลือดแห่งอุฮุดในปีถัดมาได้ จากเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้เราไม่สามารถรู้สึกได้หรือว่ากระบวนการจับกุมเชลยศึกได้ถูกวางแผนไว้ก่อนแล้ว?

2) สงครามอุฮุด :

          ปฏิบัติการครั้งที่สองของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับพวกมุชริกีนคือ สงครามอุฮุด บรรดาผู้นำชาวยิวได้มาที่มักกะห์และโดยการเจรจากับอบูซุฟยาน พวกเขาได้ปลุกปั่นอบูซุฟยานและให้คำมั่นสัญญาว่าในกรณีที่มีปฏิบัติการสงครามอีกครั้ง พวกเขาพร้อมจะประสานความร่วมมือและเข้าสู่สงครามพร้อมกับพวกเขา ในปีต่อมาอบูซุฟยานได้รวบรวมทหาร 3,000 นายเพื่อทำการต่อสู้ เขาพร้อมกับทหาร 3,000 นายและสตรีอีกจำนวนหนึ่งได้จัดเตรียมเสบียงและเปิดตัวกองทัพมุชริกีนอีกครั้ง ข่าวเกี่ยวกับกองทัพนี้ไปถึงท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ท่านจึงปรึกษากับบรรดาสาวกของท่าน ประการแรก ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เสนอแนะให้ทำสงครามในมะดีนะฮ์และเปลี่ยนสงครามให้เป็นสงครามในเมือง เนื่องจากองทัพของพวกมุชริกีนมีจำนวนมากมายและมียุทโธปกรณ์ทางทหารมากกว่า และหากทำสงครามในพื้นที่โล่งกว้างพวกเขาจะสามารถตีวงและปิดล้อมเราได้ แต่ถ้าเราทำสงครามในเมืองเนื่องจากเรารู้พื้นที่ของการปฏิบัติการได้ดีกว่า กองทัพของศัตรูเมื่อเข้าสู่ถนนและตรอกซอยต่างๆ ของมะดีนะฮ์พวกเขาก็จะแตกกระจายและอ่อนแอลง ในทางกลับกัน ชาวเมืองทุกคนจะมีส่วนร่วมในสงคราม และเราสามารถใช้กำลังทั้งหมดได้ (12) แต่ซอฮาบะฮ์ (สาวก) บางคนไม่ยอมรับความคิดเห็นของท่าน และถือว่าสงครามในเมืองนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย (13)

           บรรดาซอฮาบะฮ์ควรนำเหตุผลเชิงตรรกะมาโต้แย้งความคิดเห็นอันหนักแน่นของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางการทหาร แต่ตามที่มีรายงานไว้ในประวัติศาสตร์ ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามกับความเห็นของท่านศาสดานั้นเป็นเรื่องของการถือทิฐิและไร้เหตุผล ความอ่อนแอของเหตุผลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อปกปิดความเป็นจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นในที่นี้ และไม่มีอะไรอื่นนอกจากการบีบบังคับให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ออกจากเมือง หากสงครามนี้เกิดขึ้นในเมือง แน่นอนยิ่งว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงด้วยการเป็นคุณแก่ท่านศาสดา และความปราชัยที่พวกมุชริกีนควรจะได้รับตั้งแต่ในสงครามบะดัรแล้วนั้นก็จะต้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในที่นี้ และการล่มสลายของพวกตั้งภาคีจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้

          ในรายงานได้กล่าวว่า ขณะที่อบูซุฟยานกำลังมุ่งหน้ามายังมะดีนะฮ์ เขาได้สังเกตเห็นบรรดาสายลับของศาสดา (ซ็อลฯ) และรู้สึกวิตกกังวลว่า หากชาวมุสลิมได้รับรู้ข่าวการโจมตีของกองทัพจำนวนมากของพวกมุชริกีน พวกเขาจะตั้งรับอยู่ในเมือง (14) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม อบูซุฟยานก็ยังคงเดินทางต่อไป ประเด็นนี้ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้หรือว่าเขามั่นใจตั้งแต่ก่อนนำกองทัพมาสู่สงครามแล้วว่ากองทัพของอิสลามจะต้องออกมาทำสงครามนอกเมือง? กล่าวอีกนัยหนึ่ง กรณีที่ว่าเขารู้อยู่ก่อนแล้วว่าบางคนจะบีบบังคับให้ท่านศาสดาออกไปนอกเมืองนั้น มันไม่ได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของเขากับมุสลิมบางคนหรอกหรือ?

         ในระหว่างการปรึกษาหารือ ได้เกิดความแตกแยกและความเห็นขัดแย้งกันในระหว่างประชาชน อย่างเช่น อับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ บินซะลูล และบรรดาสหายของเขายืนกรานที่จะอยู่ในเมือง (15) และเห็นด้วยกับความเห็นของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่มีบางคนได้คัดค้านความคิดเห็นนี้ ในที่สุดท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ตกลงที่จะออกจากเมือง หลังจากนมาซแล้ว ท่านศาสดาก็กลับไปที่บ้านของท่านเพื่อสวมใส่เสื้อผ้าและชุดเกราะและจัดเตรียมอาวุธ และบุคคลอีกสองคนก็กลับไปที่บ้านของตนพร้อมกับท่านด้วย (16) ในช่วงเวลานี้เอง ประชาชนรู้สึกเสียใจกับการกระทำของตนที่ว่า ทำไมพวกเขาจึงบีบบังคับให้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ออกไปทำสงครามนอกเมือง เมื่อท่านศาสดาออกมาจากบ้าน บรรดาผู้ที่คัดค้านการทำสงครามในเมืองก็เข้ามาหาท่านและแสดงความสำนึกเสียใจของตนต่อท่าน แต่ท่านศาสดาก็ไม่ยอมรับและกล่าวว่า : ฉันได้เรียกร้องในเรื่องนี้แล้ว แต่พวกท่านก็ไม่ยอมรับมัน ไม่เป็นการเหมาะสมสำหรับผู้เป็นศาสดาที่หลังจากสวมชุดเกราะแล้วจะถอดมันออกจนกว่าจะได้ทำการต่อสู้กับศัตรู (17) ในที่นี้มีคำถามว่า ทำไมในตอนแรกประชาชนถึงตัดสินใจที่จะออกไปทำสงครามนอกเมือง แต่แล้วพวกเขากลับเสียใจและคิดเปลี่ยนใจ?

         คำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคนสองคนที่กลับเข้าไปในบ้านพร้อมกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในขณะไปสวมชุดเกราะกระนั้นหรือ? ในช่วงที่ทั้งสองคนนี้อยู่ในหมู่ประชาชน ความคิดเห็นของประชาชนคือการออกไปทำสงครามนอกเมือง แต่เมื่อพวกเขาแยกตัวออกไปจากประชาชนในช่วงเวลาหนึ่ง ความคิดเห็นของประชาชนก็เปลี่ยนไปทันที! ดังนั้น แกนหลักที่ทำให้ประชาชนคัดค้านทัศนะแรกของท่านศาสดาคือคนสองคนนี้ แต่เมื่อทั้งสองออกไปจากประชาชน ประชาชนกลับตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามความคิดเห็นของท่านศาสดา

          ประเด็นที่ควรแก่การไตร่ตรองก็คือว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเห็นชอบต่อการทำสงครามในเมือง แต่เหตุใดในเมื่อฝ่ายไม่เห็นชอบกลับใจจากการคัดค้านแล้วท่านจึงไม่เปลี่ยนการตัดสินใจที่จะออกไปนอกเมือง?  ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทราบดีว่าการเปลี่ยนทัศนะความเห็นของประชาชนนั้นเกิดจากการไม่อยู่ของบุคคลสองคนนั้น และด้วยการกลับมาของคนทั้งสองและการพูดหว่านล้อมและชักจูงอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปได้ว่าประชาชนก็จะเปลี่ยนความเห็นไปอีกครั้งหนึ่ง และในอีกช่วงเวลาหนึ่งพวกเขาจะเปลี่ยนความเห็นไปได้อีก ในความเป็นจริงแล้ว ทัศนะในการออกไปรบนอกเมืองนั้นไม่ได้มาจากประชาชน แต่พวกเขาถูกชักจูง เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาในสงครามบะดัรที่ความคิดเรื่องการจับกุมเชลยไว้แลกค่าไถ่ก็ได้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขา

ข่าวลือการถูกสังหารของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :

         ในสถานการณ์วิกฤตของการสู้รบ ทันใดนั้นเองก็มีเสียงร้องตะโกนขึ้นว่า ท่านศาสดาถูกสังหารแล้ว ชาวมุสลิมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการทำสงครามครั้งนี้อยู่ก่อนแล้ว ด้วยการได้ยินข่าวดังกล่าวพวกเขาจึงพากันหนีทัพ และกองกำลังของพวกมุชริกีนทั้งหมดก็ได้รับการปลดปล่อย แม้แต่ศัตรูเองก็เชื่อข่าวลือนี้ เรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอย่างมาก กระทั่งอบูซุฟยานเองก็ไม่รู้ว่าท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ (18) ตามตำราทางประวัติศาสตร์ ชัยฏอนได้ส่งเสียงร้องและเข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์หลายครั้ง :

1-ในคืนของการทำสัตยาบันอัลอะกอบะฮ์ในมินา เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ลงนามในสัญญากับชาวมะดีนะฮ์ ชัยฏอนก็ส่งเสียงร้องว่า : โอ้ หมู่ชนชาวกุเรชและอาหรับเอ๋ย! นี่คือมุฮัมมัด ผู้ที่ต้องการทำสัญญากับชาวยัษริบเพื่อทำสงครามกับพวกเจ้า ทำให้พวกมุชริกีนตื่นขึ้นมาและบุกโจมตีที่นั่น  

2- ในการประชุมวางแผนที่พวกเขาต้องการจะลอบสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น ชัยฏอนได้เข้ามาในรูปของชายชราจากชาวเมืองนัจด์ และเสนอแนะให้รวบรวมเผ่าทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล้างแค้น (19 )  

3- ในสงครามอุฮุด มีรายงานจากอุมัรว่า ชัยฏอนได้ตะโกน (20)

         เราควรจะต้องสงสัยเกี่ยวกับเสียงร้องเหล่านี้ของชัยฏอน ประเด็นนี้มีเพียงนักประวัติศาสตร์เท่านั้นที่กล่าวถึงและไม่มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) ใดๆ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ จุดประสงค์จากคำว่า “ชัยฏอน” นั้นหมายถึงอิบลีสจริงๆ และมันได้กระทำสิ่งเหล่านี้จริงหรือไม่ หรือเราควรจะค้นหาชัยฏอนที่เป็นมนุษย์ ในความเป็นจริงแล้ว ในทุกที่ของประวัติศาสตร์สิ่งใดก็ตามทึ่ถูกอ้างว่าเป็นการกระทำของชัยฏอนนั้น ควรจะต้องใส่เครื่องหมายคำถามมันไว้ก่อน และจะต้องถือว่ามันเป็นการปกปิดอำพรางของนักประวัติศาสตร์  โดยพื้นฐานแล้ว จากมุมมองทางเทววิทยาและปรัชญา เป็นไปได้หรือไม่ที่ชัยฏอนจะปรากฏตัวในลักษณะเช่นนี้และสร้างความเบี่ยงเบนให้เกิดขึ้นในเส้นทางของสัจธรรม?

          บุคคลที่ร้องตระโกนในสงครามอุฮุดว่า ท่านศาสดาถูกสังหารแล้วนั้นไม่อาจจะเป็นญิน (ชัยฏอน) ได้อย่างแน่นอน และเราก็มั่นใจด้วยว่า เสียงร้องตะโกนนี้ไม่ได้เกิดจากพวกมุชริกีน เพราะหากข่าวนี้มาจากกลุ่มมุชริกีนจริงแล้ว อบูซุฟยานก็จะไม่ลังเลสงสัยเลยว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และในระหว่างการต่อสู้ เขาได้ถามท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งกำลังสู้รบอยู่นั้นว่า มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ดังนั้นคำพูดนี้จะต้องเกิดจากหน่วยแซกซึมที่อยู่ภายในหมู่ชาวมุสลิมซึ่งต้องการให้ปฏิบัติการนี้ยุติลงโดยเกิดความเสียหายต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และฝ่ายกองทัพอิสลาม

แหล่งอ้างอิง :

1. อัล มุสนัด, อะห์มัด อิบนุ ฮันบัล, เล่ม 3, หน้า 121, 149, 288

2. อัซซีเราะตุนนะบะวียะฮ์, อิบนุฮิชาม, เล่มที่ 1, หน้า 165

3. อัซซีเราะตุนนะบะวียะฮ์, อิบนุฮิชาม, เล่ม 1, หน้า 108 และตารีค อัฏฏอบารี, เล่ม 1, หน้า 574

4. บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 410

5. อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 407

6. ตารีค อัฏฏอบารี, เล่ม 1, หน้า 40

7. ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ / อายะฮ์ที่ 39

8. ซูเราะฮ์อัล อันฟาล / อายะฮ์ที่ 67 และ 68

9. มุนตะฮัลอามาล, อับบาส กุมมี, เล่มที่ 1, หน้า 126 และ 270

10. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อบีลหะดิด, เล่ม 14, หน้า 173

11. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลหะดีด, เล่มที่ 14, หน้าที่ 173

12. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อบิลหะดีด, เล่ม 14, หน้า 223

13. มุนตะฮัลอามาล, อับบาส กุมมี, เล่ม 1, หน้า 111

14. อัลมะฆอซี, อัลวากิดี, เล่มที่ 1, หน้า 205

15. อัลมะฆอซี, อัลวากิดี, เล่มที่ 1, หน้า 219

16. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลหะดีด, เล่ม 14, หน้า 225

17. อัลมะฆอซี, อัลวากิดี, เล่มที่ 1, หน้า 214

18. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลหะดีด, เล่มที่ 14, หน้า 244

19. มุนตะฮัลอามาล, อับบาส กุมมี, เล่ม 1, หน้า 273

20. ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลหะดีด, เล่ม 15, หน้า 27

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม