มาร่วมจัดงานเมาลิดนบีกันเถิด?

มาร่วมจัดงานเมาลิดนบีกันเถิด?


 


ในขณะที่วะฮาบีห้ามจัดการเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)) ผู้คุณวุฒิของพี่น้องซุนนีหลายท่านถือว่าคืนวันประสูติของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ประเสริฐกว่าค่ำคืนแห่งก็อดร์และเน้นย้ำถึงความสำคัญของวันประสูติท่านศาสดา(ศ็อลฯ)
ความขัดแย้งระหว่างศาสนาและความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์คือสองปัจจัยที่ทำลายความสามัคคีของชาวมุสลิม
 สิ่งที่เป็นอันตรายต่อความสามัคคีของประชาชาติอิสลาม เกิดจากปัจจัยสองประการได้แก่ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งในด้านศาสนา ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และความกลัวทางการเมืองเกิดจากปัจจัยแรงดึงดูดและผลักไสในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ตัวการสำคัญคืออิทธิพลของต่างชาติอย่างอเมริกาและยุโรปในโลกอิสลาม ความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่ระหว่างประเทศอิสลามและระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาค
 แต่ประเด็นต่อไปคือความขัดแย้งระหว่างศาสนาในระดับความเชื่อความศรัทธา (อะกออิด)และนิติศาสตร์(ฟิกฮ์) และความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นภายในประเทศระหว่างพลเมืองที่มีศาสนาแตกต่างกันระหว่างศาสนาที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ เป็นต้น
 สัปดาห์แห่งเอกภาพ หมายถึง ชีอะฮ์และซุนนีควรมีความสามัคคีปรองดองกันในจุดร่วมเดียวกัน
 สัปดาห์แห่งเอกภาพเป็นสัญลักษณ์ของความเห็นอกเห็นใจ ศีลธรรม และความยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมและภราดรภาพของชาวชีอะห์และซุนนี ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่าสัปดาห์แห่งเอกภาพเป็นสัญลักษณ์ของการให้สัญญากับแนวทางและวิธีการของศาสนาอิสลามตามแนวของอิมามและผู้นำ สัปดาห์แห่งเอกภาพหมายความว่าชีอะฮ์และซุนนีควรมีความสามัคคีในจุดร่วมเดียวกันและดำเนินการเพื่อขจัดความขัดแย้งและเผชิญหน้ากับศัตรูร่วมกัน ได้แก่ ยิวไซออนิสต์
ในสถานการณ์เช่นนี้ มุฟตีมุสลิมบางนิกาย เช่น วะฮาบี ประกาศว่าการจัดงานฉลองการประสูติของท่านศาสดาเป็นฮะรอม เพราะการเฉลิมฉลองนี้จัดขึ้นภายใต้สัปดาห์แห่งเอกภาพซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการละทิ้งความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีอะฮ์และซุนนี ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างนิกายนั้นคือสิ่งที่สร้างผลประโยชน์ให้กับพวกเขา
ตามหลักฐานจากรายงาน(ริวายัต) ชีอะฮ์จะฉลองวันเกิดท่านศาสดา แต่วะฮาบีถือว่าฮะรอม
บางนิกายสั่งห้ามการฉลองวันประสูติของท่านศาสดาและถือเป็นฮะรอมตามหลักการศาสนา!!เพื่อทำลายความสามัคคี ในขณะที่สิ่งนี้ ขัดกับอัลกุรอาน
วะฮาบีได้สร้างข้อสงสัยและความคลุมเครือเกี่ยวกับประเด็นการเฉลิมฉลองการประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ว่าเป็นบาปในศาสนาและเป็นการปฏิบัติที่ต้องห้าม
ส่วนชาวชีอะฮ์เฉลิมฉลองวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ)) และตามหลักฐานการรายงาน(ริวายัต)มากมาย
อัลกุรอานกล่าวถึงคำอธิษฐานของศาสดาอีซา(อ.) ว่า:
 قَالَ عِیسَى ابْنُ مَرْیَمَ اللَّهُمَّ رَبَّنَا أَنْزِلْ عَلَیْنَا مَائِدَةً مِنَ السَّمَاءِ تَکُونُ لَنَا عِیدًا لِأَوَّلِنَا وَآخِرِنَا وَآیَةً مِنْکَ وَارْزُقْنَا وَأَنْتَ خَیْرُ الرَّازِقِینَ

“อีซาบุตรมัรยัมกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์พระผู้อภิบาลของพวกเราได้โปรดประทานสำรับอาหารจากฟากฟ้าลงมายังพวกเรา เพื่อเป็นของกำนัลวันรื่นเริงสำหรับคนแรกของเราและคนสุดท้ายของเรา และเป็นสัญญาณหนึ่งจรากพระองค์และได้โปรประทานปัจจัยยังชีพแก่เหล่าข้าพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงประทานปัจจัยที่ดีที่สุด”
สองประเด็นสำคัญที่ได้รับจากโองการนี้ได้แก่:
ประเด็นแรก มีการใช้คำว่าอีด (عِید)เนื่องจากมีการประทานความโปรดปรานหนึ่งลงมาจากฟากฟ้า และเมื่อพระเจ้าแห่งสากลโลกได้ตอบรับดุอาของศาสดาอีซา(อ.) กระทั่งได้มีการรำลึกให้วันนั้นเป็นวันอีด
ประเด็นที่สอง คือเพื่อเป็นการเทิดเกียรติวันที่ความโปรดปรานได้ถูกส่งลงมายังคนรุ่นต่อไป แม้ว่าคนรุ่นหลังจะไม่ได้รับประทานอาหารสวรรค์นั้นก็ตาม แต่การมีอยู่ของความโปรดปรานแห่งท่านศาสดาและการตอบรับดุอาของท่านศาสดามีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าเพื่อที่จะขอบคุณสำหรับความโปรดปรานในอดีต คนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต ยังต้องเทิดเกียรติวันครบรอบนั้น
 ตอนนี้คำถามคือ การประทานความโปรดปรานหนึ่ง(สำรับอาหาร)จากสวรรค์มีความสำคัญมากกว่าหรือการที่พระเจ้าผู้ทรงเมตตาทรงสร้างบ่าวผู้มีควาจำเริญทางหนึ่งขึ้นและกลายเป็นศาสดาท่านสุดท้ายและชี้นำทางอันนิรันดร์ของสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย!
ซุนนีซึ่งแตกต่างจากวะฮาบีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการวันประสูติของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)
คำถามสำคัญคือ ซุนนีให้ความสำคัญกับวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)หรือไม่? หรือพวกเขาถือว่าการฉลองวันครบรอบการประสูติเป็นอุตริกรรมและฮะรอม ?
ในทางตรงกันข้ามกับวาฮาบี ชาวซุนนี ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวันครบรอบวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) บรรดานักวิชาการอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงของพี่น้องซุนนีหลายท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือของพวกเขา ว่าค่ำคืนวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)มีความสูงส่งและประเสริฐกว่าค่ำคืนอื่นๆตลอดทั้งปีแม้กระทั่งค่ำคืนแห่งก็อดร์ ที่นิกายต่างในอิสลามถือว่าค่ำคืนแห่งก็อดร์เป็นคำคืนที่ประเสริฐและมีความพิเศษอย่างมาก
พระเจ้าผู้ทรงเมตตาตรัสว่า:  لَیْلَةُ الْقَدْرِ خَیْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ
“ค่ำคืนแห่งก็อดร์นั้นประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน” (อัลกุรอานบทอัลก็อดร์ โองการที่ 3) ตามคัมภีร์อัลกุรอาน คืนแห่งก็อดร์นั้นประเสริฐกว่าพันเดือน ซึ่งเท่ากับแปดสิบสามปี ด้วยการตีความนี้ การให้เกียรติวันประสูติของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ย่อมประเสริฐกว่านั้นเสียอีก
ทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิที่โดดเด่นของพี่น้องซุนนีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองการประสูติของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)
นักประวัติศาสตร์ชาวซุนนี อิซอมี ชาฟิอี กล่าวเกี่ยวกับวันประสูติของศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)มีความสำคัญและความเหนือกว่าค่ำคืนแห่งก็อดร์ไว้ในหนังสือของเขาอย่างน่าสนใจว่า: "ในการเปรียบเทียบ ความเหนือกว่าของค่ำคืนแห่งก็อดร์และคืนวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ว่าคืนไหนประเสริฐกว่ากัน? สามารถตอบได้ว่าค่ำคืนวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ประเสริฐกว่าค่ำคืนแห่งก็อดร์ด้วยเหตุผลสามประการดังนี้
 เหตุผลแรก คืนวันของท่านศาสดามีความประเสริฐ เนื่องจากการปรากฏตัวของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ขึ้นบนโลกใบนี้ ส่วนค่ำคืนแห่งก็อดร์มีความสำคัญเนื่องจากสิ่งที่ถูกมอบให้แก่ท่าน
  เหตุผลที่สอง ค่ำคืนแห่งก็อดร์มีความสำคัญเนื่องจากการลงมาของบรรดามะลาอิกะฮ์ แต่คืนวันประสูติของศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) มีเกียรติเพราะการปรากฏตัวของท่าน และแน่นอนว่าการมาของท่านศาสดานั้นย่อมประเสริฐกว่าการมาของสรรพสิ่งอื่นทั้งหมด
 เหตุผลที่สาม ค่ำคืนแห่งก็อดร์มีความจำเริญสำหรับประชาชาติอิสลาม แต่คืนวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) มีความจำเริญแก่สรรพสิ่งทั้งหมดภายในโลกนี้ เพราะท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) คือความเมตตาต่อโลกทั้งมวล อัลกกุรอานกล่าวว่า:
وَمَا أَرْسَلْنَاکَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِینَ
"และเราไม่ได้ส่งเจ้ามานอกจากเพื่อความเมตตาต่อโลกทั้งหลาย"(อัลกุรอานบทอัมบิยา โองการที่ 107)
นักวิชาการสุซุนนีถือว่าวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ประเสริฐกว่าค่ำคืนแห่งก็อดร์และอิสรอมิอ์รอจ
นะวะวี ได้เขียนไว้ใน นิฮายะตุซซินว่า: คืนวันประสูติของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ประเสริฐกว่าคืนอิสรออ์และคืนก็อดร์ เพราะคืนวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คือเหตุผลหลักของการมีค่ำคืนแห่งก็อดร์และคืนอิสรออ์
ความประเสริฐของคืนก็อดร์เหนือกว่าค่ำคืนอื่นๆ ของปี
จากสิ่งที่กล่าวมาเป็นที่ชัดเจนว่าการระลึกถึงวันประสูติของท่านศาสดา ในหมู่ชาวชีอะฮ์และซุนนี ถือเป็นหลักการ และนักวิชาการซุนนีกล่าวว่าคืนนี้ประเสริฐกว่าคืนอื่น ๆ เพราะตำแหน่งและตัวตนของศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ)
เอกภาพของอิสลามไม่ได้หมายถึงการรวมศาสนาให้เหลือเพียงหนึ่งเดียว แต่หมายถึงความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ปฏิบัติตามนิกายต่างๆ ที่แตกต่างกันในอิสลาม มีโองการจากอัลกุรอานและหะดีษมากมายจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ)) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาสามัคคีในหมู่ชาวมุสลิม ดังนั้นช่วงเวลาระหว่างวันที่ 12 ของเดือนรอบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นวันเกิดของท่านศาสดาตามสายรายงานของพี่น้องซุนนี และวันที่ 17 ของเดือนรอบีอุลเอาวัล ตามสายรายงานของชีอะฮ์ ท่านอิมามโคมัยนี จึงได้ให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งเอกภาพซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีมากขึ้นในหมู่ชาวมุสลิม

 

เชคอิมรอน พิชัยรัตน์/เรียบเรียง