เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

จัดงานวันเกิด รวมไปถึงการจัดงาน "เมาลิดนบี" เป็นสิ่งต้องห้ามได้อย่างไร?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

จัดงานวันเกิด รวมไปถึงการจัดงาน "เมาลิดนบี" เป็นสิ่งต้องห้ามได้อย่างไร?


นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่หน้าหยิบยกมาให้เกิดเป็นประเด็นความขัดแย้ง แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มสุดโต่งกลุ่มเล็กในบ้านเราจะไม่ยอมลดลาวาศอกเลย จึงทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทและขัดแย้งขึ้น จนถึงบัดนี้
ประการแรก.


การจัดงานเลี้ยงวันเกิดให้กับตัวเอง บุตรหลาน หรือให้กับผู้อาวุโสของอิสลาม จนไปถึงการจัดงานประสูตินบี(เมาลิดุลนบี)เป็นฮะรอม เป็นบิดอะฮ์ จริงหรือ..?
ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดในด้านตัวบทหรือหลักฐานในบทความนี้ เพราะเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่จะขอสรุปสั้น ๆว่า มุสลิมส่วนมากที่ได้จัดงานวันเกิด พวกเขามิได้มองว่าการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดเป็นไปในแง่ลบ หรือไม่ดีแต่อย่างไร
และเนื่องจากเราถือว่าการจัดงานฉลองวันเกิดให้แก่ผู้อาวุโสแห่งอิสลาม มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆเลย  เนื่องจากงานเหล่านี้หรือการให้ความสำคัญต่อการฉลองวันเกิด ทำให้ประชาชนได้รู้จักบรรดาคำสอน ความพยายามอุตสาหะ สาส์น และจริยธรรมของบรรดาท่านผู้นำเหล่านั้นดียิ่งขึ้น เพื่อประยุกต์ตนเองให้เข้ากับคำสอนเหล่านั้น
และเท่ากับเป็นการนำเสนอท่านเหล่านั้นเพื่อให้สังคมได้รู้จักอีกครั้ง และเป็นการทำให้ประชาชาติมุสลิมมีความสนุกสนานรื่นเริง ประกอบกับได้นำเอาวิถีชีวิตของท่านเหล่านั้น มาเป็นแบบอย่าง หรือปลุกเร้าประชาชนให้ตื่นตัวในทุกปี
จากจุดนี้เองที่เรามีความเห็นต่าง และไม่เห็นด้วยกับวะฮ์ฮาบีที่ต่อต้านการจัดงานเฉลิมฉลองวันประสูตินบี ศ. โดยกล่าวโจมตีว่าการจัดงานดังกล่าว เป็นบิดอะฮ์ (อุปโลกน์) ขึ้นใหม่ในอิสลามและฮะรอม,
ด้วยเหตุผลที่ว่า บิดอะฮ มิได้ครอบคลุมภารกิจซึ่งประชาชนรู้ว่า มิได้มีกฎเกณฑ์อันใดมาจากพระเจ้าในเรื่องนั้น เพื่อจะได้กล่าวว่านั้นเป็นซุนนะฮ์ที่ฮะรอม.
ประการที่สอง.
การจัดงานฉลองวันเกิดมีผลในแง่บวก, เนื่องจากได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติอิสลาม กับบรรดาผู้นำศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในโลกอิสลาม และสิ่งนี้กลายเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกับท่านเหล่านั้น ได้นำเอาแบบอย่างของพวกเขา ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยแนวคิด ประสบการณ์ สาระอันเป็นแก่สาร มาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัว และเป็นแบบอย่างแก่ชีวิตของพวกเขา
และอีกด้านหนึ่งอัลลอฮ์ ซ.บ. มิได้ทรงสั่งห้ามโดยถือว่าการจัดงานฉลองวันเกิด วันตรุษ และการแสดงความสุขสันต์ต่อกันเป็นสี่งฮะราม หรือการปฏิบัติตามแบบอย่าง เฉกเช่น การนำเอาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตที่ผลิตขึ้นมา ซึ่งชีวิตมนุษย์คุ้นเคย ต้องใช้ประโยชน์ และต้องใช้ชิวิตอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านั้น ถือว่าไม่เป็นไร
การจัดงานวันเกิดให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก.
ปัญหาเรื่องการจัดงานฉลองวันเกิดสำหรับบุคคลหนึ่ง, ถือว่าเป็นสภาพของการแสดงความเป็นมิตร และความใกล้ชิด ซึ่งบุคคลหนึ่งได้จัดขึ้นเนื่องจากตัวเขาได้ย่างก้าวเข้ามาสู่โลก หรือเพื่อสำเหนียกการดำเนินชีวิตตลอดระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา เราไม่ต้องการทำร้ายประเพณีเหล่านี้ แม้ว่าเราจะไม่ยอมรับการนำเข้าประเพณีของคนอื่นโดยการปฏิบัติตามเยี่ยงคนตาบอด เนื่องจากโดยหลักการแล้วเชื่อว่า ประเพณีและแบบอย่างต่างๆ ต้องมีรากที่มาที่ลุ่มลึกเพื่อสร้างความชัดเจนแก่ประชาชาติ แต่หลังจากได้รับรู้ประเพณีเหล่านี้แล้ว หรือประเพณีเหล่านี้ได้ถูกจัดขึ้นในสังคมแล้ว เราสามารถทำให้มีความสมบูรณ์เกิดขึ้นได้ เช่น งานฉลองวันเกิดบุตรหลานของตน เราสามารถดัดแปลงเป็นงานขอบคุณต่อพระเจ้า ที่พระองค์ทรงโปรดประทานความโปรดปราน และชีวิตแก่เราตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เป็นโอกาสหนึ่งสำหรับการกล่าวสรรเสริญต่อพระองค์ ด้วยวิธีการเฉกเช่นที่ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน อ. อะฮ์ลุลบัยต์นบี ได้ต้อนรับยามรุ่งอรุณในตอนเช้าและยามพลบค่ำ โดยกล่าวว่า
وَهَذَا يَوْمٌ حَادِثٌ جَدِيدٌ، وَهُوَ عَلَيْنَا شَاهِدٌ عَتِيدٌ، إنْ أحْسَنَّا وَدَّعَنَا بِحَمْد، وَإِنْ أسَأنا فارَقَنا بِذَمّ.
วันนี้คือ วันเกิดขึ้นใหม่ วันซึ่งเพิ่งจะมาถึงใหม่ เป็นวันซึ่งได้ยืนยันต่อการกระทำของเรา ถ้าหากเรากระทำสิ่งดีขอให้เราจากวันนี้ด้วยการสรรเสริญพระองค์, แต่ถ้าเรากระทำชั่วร้ายขอให้เราแยกออกจากความชั่วร้ายนั้นด้วยเถิด”
ดังนั้น เราสามารถดัดแปลงประเพณีที่เกิดขึ้นใหม่ หรืองานฉลองวันเกิดของบุคคล ให้เป็นงานที่คู่ควรเหมาะสมต่อการสรรเสริญขอบคุณพระเจ้า ที่พระองค์ได้ดูแลเขาตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน,
อีกทั้งเป็นโอกาสดีสำหรับการคิดใคร่ครวญว่า เขาได้ใช้ชีวิตไปอย่างไรตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และชีวิตที่เหลือเขาควรจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีได้อย่างไร และจงรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงวิงวอนต่อพระองค์ว่า :
اللَّهُمَّ اجْعَلْ مُسْتَقبَلَ أمري خيراً مِنْ مَاضيهْ وَخَيْرَ أَعْمَالِيْ خَوَاتِيمَها وَخَيْرَ أَيَّامِي يَوْمَ أَلْقَاكَ فِيهَ
โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้ก้าวเดินต่อไปของเรามีแต่ความดีงาม ดีกว่าอดีตที่ผ่านมา โปรดทำให้วันสุดท้ายของเราเป็นวันที่ดีที่สุด และโปรดทำให้วันต่างๆ ของเราเป็นวันพบกับพระองค์”
ด้วยเหตุนี้, การจัดงานวันเกิดสำหรับตนเองหรือบุตรหลาน, ถ้างานนั้นไม่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุหร่าย หรือไม่ขัดต่อชัรอียฺ บทบัญญัตทางศาสนา เช่น ไม่มีการขับกล่อมบรรเลงเพลงที่ฮะราม เต้นรำ และอื่นๆ ...ร่วมอยู่ในงาน ถือว่าไม่เป็นไร

 

บทความโดย เชคอันซอร เหล็มปาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม