เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เกียรติและศักดิ์ศรี สมบัติอันล้ำค่าที่สุดของมนุษย์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เกียรติและศักดิ์ศรี สมบัติอันล้ำค่าที่สุดของมนุษย์


เมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น พระองค์ทรงมอบเกียรติให้แก่เขาในระดับหนึ่ง โดยที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่มะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ให้ทำการก้มกราบ (ซุญูด) ต่อมนุษย์ และเกียรติยศที่ติดกายมาแต่กำเนิดของมนุษย์นี้ ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า มนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่มีค่าในทัศนะของพระผู้สร้าง ถึงขั้นที่ว่าพระองค์ได้ทรงแนะนำเขา ในฐานะตัวแทนของพระองค์บนโลกนี้ โดยพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

وَ لَقَدْ کرَّمْنَا بَنِی ءَادَم

"และแน่นอนยิ่ง เราได้บันดาลให้ลูกหลานของอาดัมมีเกียรติศักดิ์ศรี" (1)

       ด้วยกับคุณลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ ทำให้มนุษย์มีความประเสริฐเหนือสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย ดังนั้นมนุษย์จึงมีเกียรติศักดิ์ศรีมาโดยกำเนิด ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงมอบเป็นของขวัญแก่เขา และพระองค์ได้ทรงกำชับสั่งเสียอย่างมากมายให้พวกเขาพิทักษ์รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของกันและกัน มันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่ามากที่สุดสำหรับมนุษย์ การทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีจึงมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและจิตวิญญาณมากที่สุด

       เกียรติศักดิ์ศรีของแต่ละคนจึงนับว่าเป็นสมบัติที่สำคัญและมีค่าสูงส่งที่สุด หากใครก็ตามที่เกียรติและศักดิ์ศรีของเขาตกอยู่ในอันตรายหรือถูกทำลาย เขาจะรู้สึกหวาดกลัวและเกิดความทุกข์กังวลใจอย่างมาก สิ่งนี้จะเป็นบ่อเกิดของความป่วยไข้ทางจิตใจและจิตวิญาณของเขา เขาจะสูญเสียความสมดุลทางบุคลิกภาพของตนเองไป มันจะทำลายสายสัมพันธ์ทางสังคมของเขา และจะทำให้เขาเลือกและตัดสินใจที่จะปลีกตัวออกไปจากสังคม

       ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

الاانبئکم لم سمي المؤمن مؤمنا؟ لايمانه الناس علي انفسهم واموالهم، الا انبئکم من المسلم؟ من سلم الناس من يده و لسانه

“จะให้ฉันบอกกับพวกท่านไหมว่า ทำไมมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) จึงได้ชื่อว่า “มุอ์มิน” นั่นเป็นเพราะการที่เขาให้ความปลอดภัยแก่เพื่อนมนุษย์ในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา (และ) จะให้ฉันบอกกับพวกท่านไหมเล่าว่า ใครคือมุสลิม? (มุสลิม) ก็คือบุคคลที่เพื่อนมนุษย์จะปลอดภัยจากมือของเขาและลิ้น (วาจา) ของเขา” (2)

       เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องทำให้พี่น้องร่วมศรัทธาของตนเองอยู่ในความสงบสุขและปลอดภัยจากมือ (การทำร้าย) ของเรา และแน่นอนทุกคนจำเป็นจะต้องระมัดระวังการกระทำและพฤติกรรมของตนเอง เราจะต้องคิดอยู่เสมอว่า เมื่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงเป็นผู้ปกปิดข้อตำหนิและความผิดพลาดต่างๆ (ซัตตารุ้ลอุยูบ) พระองค์ทรงปกปิดข้อตำหนิและความผิดพลาดต่างๆ ของเราจากสายตาของปวงบ่าวของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงมอบความกรุณาอันยิ่งใหญ่เช่นนี้แก่เราในฐานะบ่าวของพระองค์ แล้วทำไมเราจึงจะทำให้เกียรติและบุคลิกภาพของมิตรสหายของเราต้องเกิดความเสียหาย ด้วยคำพูดและการกระทำของตัวเรา พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา พระองค์ทรงมีเกียรติศักดิ์ศรีสูงส่งที่สุด และพระองค์ไม่ทรงพึงพอพระทัยที่มนุษย์เราจะทำลายเกียรติศักดิ์ศรีของกันและกัน

       ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า ใครก็ตามที่ทำให้บ่าวผู้ศรัทธาของข้าต้องพบกับความต่ำต้อยไร้เกียรติ แน่นอนเขาได้ประกาศสงครามกับข้าแล้ว และใครก็ตามที่เขาได้เชิดชูเกียรติของบ่าวผู้ศรัทธาของข้า แน่นอนเขาจะปลอดภัยจากความโกรธกริ้วของข้า” (3)

      ในคำรายงานอีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

من اهان علی مؤمن بشطر کلمة لقی الله و بین عینیه مکتوب آیس من رحمة الله

“ใครก็ตามที่ดูถูกเหยียดหยามผู้ศรัทธาด้วยคำพูดเพียงคำเดียว เขาจะไปพบกับอัลลอฮ์ ในสภาพที่ระหว่างดวงตาทั้งสองของเขาจะถูกเขียนว่า ผู้สิ้นหวังจากความเมตตาของอัลลอฮ์” (4)

แหล่งที่มา :

[1] อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 70

[2] อิละลุชชะรอเอี๊ยะอ์, หน้าที่ 533, หมวดที่ 300, ฮะดีษที่ 2

[3] ซะวาบุลอะอ์มาล, มุฮัมมัด อิบนิอาลี อิบนิบาบะวัยฮ์, แปลโดย ซอดิก ฮะซันซอเดะฮ์, หน้าที่ 549

[4] ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 41

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม