คุณค่าของการรำลึกถึงความตายและชีวิตในปรโลก


คุณค่าของการรำลึกถึงความตายและชีวิตในปรโลก


 เกี่ยวกับความสำคัญและคุณค่าของการรำลึกถึงความตาย การฟื้นคืนชีพและชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในปรโลกนั้น มีโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่ทรงคุณค่าจำนวนมากได้กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่า

سُئِلَ رَسُولُ اللّهِ صلی الله علیه و آله اَیُّ الْمُؤْمِنِینَ اَکْیَسُ. فَقالَ أَکْثَرُهُمْ ذِکْرا لِلْمَوْتِ وَأَشَّدُّهُمْ لَهُ اسْتِعْدادا

     มีผู้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ผู้ศรัทธาที่ฉลาดที่สุดคือใคร” ท่านตอบว่า “ผู้ที่รำลึกถึงความตายมากที่สุดในหมู่พวกเขา และเตรียมพร้อมตนสำหรับความตายมากที่สุด”

بِسْمِ اللَّـهِ الرَّ‌حْمَـٰنِ الرَّ‌حِيمِ

وَ اذْكُرْ عِبادَنا إِبْراهيمَ وَ إِسْحاقَ وَ يَعْقُوبَ أُولِي الْأَيْدي وَ الْأَبْصارِ إِنَّا أَخْلَصْناهُمْ بِخالِصَةٍ ذِكْرَى الدَّارِ

“และจงรำลึกถึงปวงบ่าวของเรา คืออิบรอฮีม อิสหาก และยะอฺกู๊บ ผู้มีมือ (พลังอำนาจ) และมีสายตา (วิจารณญาณ) แท้จริงเราได้ทำให้พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจ ด้วยคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง นั่นคือการรำลึกถึงปรโลก”

(อัลกุรอานบทซ๊อด โองการที่ 45-46)

อธิบายประเด็นและคำสอนต่างๆ ของโองการ

    การแนะนำแบบอย่างที่เหนือกว่าสำหรับการดำเนินชีวิต

    ในช่วงเริ่มต้นของสองโองการนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกล่าวถึงศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์สามท่าน และทรงชี้ถึงคุณลักษณะที่ทรงคุณค่าสองประการของศาสดาทั้งสามท่านนี้ไว้ ในการแนะนำศาสดาทั้งสามนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายถึงคุณลักษณะพิเศษของพวกท่านไว้เช่นนี้ว่า

أُولِي الْأَيْدي وَ الْأَبْصارِ

“ผู้มีมือ (พลังอำนาจ) และมีสายตา (วิจารณญาณ)”

    ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี ได้เขียนอธิบายโองการนี้ไว้ในหนังสือตัฟซีร “อัลมีซาน” ว่า

    โองการนี้ได้แสดงการยกย่องสรรเสริญบรรดาศาสดาที่ถูกกล่าวนามไปนั้น ว่าเป็นผู้ที่มี “มือ” (อัยดีย์) และ “สายตา” (อับซ๊อร) คำว่า “มือ” และ “สายตา” ที่ควรคู่ต่อการยกย่องสรรเสริญได้นั้น จะต้องเป็นมือและสายตาของมนุษย์ (หามิเช่นนั้นแล้วสรรพสัตว์ทั้งหลายก็มีมือและสายตาเช่นเดียวกัน) และ (มือและสายตาดังกล่าว) จะต้องถูกใช้งานไปในกรณีต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมันขึ้นมาเพื่อกรณีเหล่านั้น และบุคคลดังกล่าวนั้นจะต้องใช้มือและสายตาของตนเองไปในหนทางของความเป็นมนุษย์ (และมนุษยธรรม) ของตน

    โดยสรุปแล้วเขาได้ใช้มือของเขาไปในการกระทำสิ่งที่เป็นความดีงาม (อะอ์มาล ซอและห์) และทำให้ความดีงามทั้งหลายหลั่งไหลไปสู่ (มนุษย์) ผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และเขาได้ใช้สายตาในการแยกแยะแนวทางต่างๆ ที่สะอาดบริสุทธิ์และปลอดภัยออกจากแนวทางที่จะนำไปสู่ความหายนะ และนำพาตนไปสู่สัจธรรม ไม่ใช่ว่าสัจธรรมและความหลงผิดจะเป็นที่คลุมเครือและไม่มีความแตกต่างใดๆ สำหรับเขา

    ดังนั้นการที่พระองค์ทรงตรัสว่า อิบรอฮีม อิสหากและยะอ์กูบเป็นผู้มีมือและมีสายตานั้น ในความเป็นจริงแล้ว ต้องการที่จะเปรียบเปรยให้เห็นว่า บรรดาผู้ที่ถูกเอ่ยนามนั้นเป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในการเชื่อฟังและการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และเสริมสร้างความดีงามแก่เพื่อนมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน สายตา (วิจารณญาณและวิสัยทัศน์) ของท่านเหล่านั้น ในการจำแนกแยกแยะความเชื่อและการกระทำที่เป็นสัจธรรมและความถูกต้องนั้นมีเข้มแข็งอย่างมาก [1]

ความจำเป็นในการมีวิสัยทัศน์และสายตาที่มองเห็นสัจธรรม

    ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่บรรดานักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ให้คำอธิบายไว้เกี่ยวกับโองการนี้ สามารถแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งทางศาสนาที่มีต่อการกำเนินชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากดูเหมือนว่าการมีดวงตาที่เป็นวัตถุ (ตาเนื้อ) เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่อาจถูกนับว่าเป็นสิ่งที่ควรคู่ต่อการยกย่องสรรเสริญและมีคุณค่าสำหรับผู้ใดได้

    ในทำนองเดียวกัน การสูญเสียมันก็ไม่อาจถูกนับว่าเป็นความบกพร่องในคุณค่าและความสมบูรณ์ทางด้านจิตวิญญาณสำหรับบุคคลทั้งหลายได้ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า จุดประสงค์จากคำว่า «وَالْأَبْصارِ» (บรรดาผู้มีสายตา) ในโองการนี้ คือสายตาแห่งการมองเห็นสัจธรรมและความมีวิสัยทัศน์ทางศาสนาที่จะสามารถแยกแยะความจริงออกจากความเท็จ และแยกแยะสัจธรรมออกจากความหลงผิด ในความเป็นจริงแล้ว การที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสรรเสริญคุณลักษณะข้อนี้ ก็เพื่อจะส่งเสริมปวงบ่าวของพระองค์ให้มีคุณลักษณะดังกล่าวนั่นเอง

ความจำเป็นในการรำลึกถึงชีวิตนิรันดร์และการฟื้นคืนชีพ

    ในส่วนถัดไปของโองการนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแนะนำปวงบ่าวที่เป็นคนดีของพระองค์ ว่าเป็นผู้ที่รำลึกถึงความตายและชีวิตในปรโลกเสมอ โดยตรัสว่า

 إِنَّا أَخْلَصْناهُمْ بِخالِصَةٍ ذِكْرَى الدَّارِ

“แท้จริงเราได้ทำให้พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจ ด้วยคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง นั่นคือการรำลึกถึงปรโลก”

(อัลกุรอานบทซ๊อด โองการที่ 46)

     ในโองการนี้พระผู้เป็นเจ้าทรงแนะนำการรำลึกถึงความตาย วันแห่งการฟื้นคืนชีพและชีวิตในปรโลก ว่าเป็นสื่อช่วยเสริมสร้างความบริสุทธิ์ใจแก่บุคคลเหล่านี้ การรำลึกถึงที่พำนักในปรโลกอยู่ตลอดเวลานั้นจะทำให้มนุษย์เข้าใกล้สถานะของความบริสุทธิ์ใจ (มะกอม อิคลาศ) ในการเคารพภักดีและความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เองปวงบุรุษแห่งพระเจ้านั้นจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องต่อโลกอันเป็นนิรันดร์ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้พวกเขามีมุมมองที่ถูกต้องต่อโลกนี้และต่อชีวิตทางด้านวัตถุ จะไม่ตกเป็นทาสและการหลอกลวงของภาพภายนอกที่สวยงามของมัน

คุณประโยชน์ของการรำลึกถึงปรโลกในการดำเนินชีวิต

    เกี่ยวกับความสำคัญและคุณค่าของการรำลึกถึงการฟื้นคืนชีพและชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในปรโลกนั้น มีโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่ทรงคุณค่าได้กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่า

سُئِلَ رَسُولُ اللّهِ صلی الله علیه و آله اَیُّ الْمُؤْمِنِینَ اَکْیَسُ. فَقالَ أَکْثَرُهُمْ ذِکْرا لِلْمَوْتِ وَأَشَّدُّهُمْ لَهُ اسْتِعْدادا

มีผู้ถามท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ผู้ศรัทธาที่ฉลาดที่สุดคือใคร” ท่านตอบว่า “ผู้ที่รำลึกถึงความตายมากที่สุดในหมู่พวกเขา และเตรียมพร้อมตนสำหรับความตายมากที่สุด” [2]

    ในคำสอนทางด้านจริยธรรมของอิสลามได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของการรำลึกถึงความตายและชีวิตในปรโลกเอาไว้ ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นบางส่วนไว้ในที่นี้

ช่วยปรับสมดุลกิเลส ตัณหาและความใคร่

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

ذِکْرُ الْمَوتِ یُمِیتُ الشَّهَواتِ فِی النَّفْسِ وَیَقْطَعُ مَنابِتَ الْغَفْلَةِ وَیُقَوِّی النَّفْسَ بِمَواعِدِ اللّهِ وَیُرِقُّ الطَّبْعَ وَیَکْسِرُ اَعْلامَ الْهَوَی وَیُطْفِی ءُ نارَ الْحِرْصِ وَیُحَقِّرُ الدُّنْیا

“การรำลึกถึงคามตายนั้นจะทำลายกิเลสในจิตใจ จะตัดรากเหง้าของความเผอเรอ จะทำให้จิตใจเข้มแข็งต่อสัญญาต่างๆ ของอัลลอฮ์ จะทำให้อารมณ์อ่อนไหว จะทำลายสัญลักษณ์ต่างๆ ของอารมณ์ใฝ่ต่ำ จะดับไฟแห่งความโลภหลง และจะทำให้มองเห็นโลกเป็นสิ่งไร้ค่า” [3]

ช่วยเสริมสร้างความองอาจและความกล้าหาญ

    ในบทอัลบากอเราะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงชี้ถึงการเผชิญศึกกันระหว่างกองทัพของฏอลูต (ซาอูล) และญาลูต (โกไลแอท) โดยที่ท้ายที่สุดแล้ว กองทัพที่มีกำลังพลจำนวนมหาศาลของฏอลูตก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพที่มีจำนวนเพียงน้อยนิดของญาลูต ในการพรรณนาถึงคุณลักษณะของกองทัพของญาลูตนั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความเชื่อมั่นในวันแห่งการฟื้นคืนชีพและชีวิตในปรโลกของพวกเขา โดยพระองค์ทรงตรัสว่า

قالَ الَّذينَ يَظُنُّونَ أَنَّهُمْ مُلاقُوا اللَّهِ كَمْ مِنْ فِئَةٍ قَليلَةٍ غَلَبَتْ فِئَةً كَثيرَةً بِإِذْنِ اللَّهِ وَ اللَّهُ مَعَ الصَّابِرينَ

“บรรดาผู้ที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะได้พบกับอัลลอฮ์นั้นได้กล่าวว่า มากมายเท่าใดแล้ว ที่กลุ่มคนจำนวนน้อยเอาชนะเหนือกลุ่มคนจำนวนมากได้ ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ทรงอยู่กับผู้อดทนทั้งหลาย”

(อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 249)

ปัจจัยที่สำคัญในการเสริมสร้างความสมถะและไม่ยึดติดกับโลก

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า

أكثِروا ذِكرَ المَوتِ ؛ فإنّهُ ما أكثَرَ ذِكرَ المَوتِ إنسانٌ إلاّ زَهِدَ في الدُّنيا

“ท่านทั้งหลายจงรำลึกถึงความตายให้มาก เพราะแท้จริงไม่มีมนุษย์คนใดรำลึกถึงความตายอย่างมากมาย นอกจากว่าเขาจะเป็นผู้มีความสมถะในโลกนี้” [4]

การฟื้นฟูสภาพของหัวใจ

    มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

أكثِروا ذِكرَ المَوتِ ، فما مِن عَبدٍ أكثَرَ ذِكرَهُ إلاّ أحيا اللّهُ  قلبَهُ وهَوَّنَ علَيهِ المَوتَ

“ท่านทั้งหลายจงรำลึกถึงความตายให้มาก เพราะไม่มีบ่าวคนใดที่รำลึกถึงความตายอย่างมากมาย นอกจากว่าอัลลอฮ์จะทรงฟื้นฟูหัวใจของเขา และจะทำให้ความตายง่ายดายสำหรับเขา” [5]

แหล่งอ้างอิง :

[1] ตัรญุมะฮ์ อัลมีซาน, เล่มที่ 17, หน้าที่ 322

[2] ตัรญุมะฮ์ อัลมีซาน, เล่มที่ 10, หน้าที่ 221

[3] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 6, หน้าที่ 133, ฮะดีษที่ 32

[4] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 82, หน้าที่ 167, ฮะดีษที่ 3

[5] กันซุ้ลอุมมาล, ฮะดีษที่ 42105

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ