ศึกษาอิมามัต ผ่านหนังสือมนุษย์ 250 ปี โดยอิมามคาเมเนอีย์ 18

ศึกษาอิมามัต ผ่านหนังสือมนุษย์ 250 ปี โดยอิมามคาเมเนอีย์ 18

 

มนุษย์ 250 ปี 
หมวดที่ 1 ยุคต้นแห่งอิมามัต
บทที่ 9 ชีวิตและบุคลิกภาพของอมีรุลมุอฺมีนีน อลัยฮิสลาม
หมายเลข 82 ลัยลาตุลมะบีต คืนแห่งความกล้าหาญ

ความเดิมตอนที่แล้ว
อิมามคาเมเนอีย์ ชี้ให้เห็นว่าในช่วงยุคต้นของอิสลาม ภารกิจของท่านศาสดา(ศ็อล) และท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)ไม่ได้เพียงแค่การต่อสู้ด้านเดียว แต่ยังมีด้านความอดทนอดกลั้นที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน มีหลายคนยอมตาย ยอมเข้าสู้ในสนามรบ แต่ทนฟังการดูถูกเหยียดหยามไม่ได้ แต่กับทั้งสองท่านพวกท่านไม่เพียงแต่จะยืนเป็นคนสุดท้ายของสนามรบ แต่ยังอดทนอดกลั้นต่อการดูถูกเหยียดหยามและการก่นด่าประนามด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รากฐานของอิสลามเจริญเติบโตงอกงาม

หัวข้อ ลัยลาตุลมะบีต ค่ำคืนแห่งความกล้าหาญ
ภารกิจที่ยากที่สุดในช่วงการฮิจเราะฮ์ของท่านศาสดา(ศ็อล)ตกเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) ซึ่งก็คือ การอพยพเหล่าสตรีและฟะวาฏิม[1] โดยท่านศาสดา(ศ็อล)เป็นผู้มอบหมายภารกิจดังกล่าวให้กับอิมามด้วยตัวของท่านเอง  หลังจากนั้นท่านจึงค่อยอพยพตนไปสู่กะบาอฺและมะดีนะฮ์ ในระหว่างนั้น มีอยู่ค่ำคืนหนึ่งที่มีการวางแผนกันอย่างแยบยลเพื่อลอบสังหารท่านศาสดา(ศ็อล)ในบ้านหลังหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือชายผู้กล้าที่จะมาทำหน้าที่ทำลายแผนการร้ายของพวกเขา เพราะพวกเขา(ฝ่ายศัตรูของท่านศาสดา)เริ่มรู้สึกแล้วว่า พวกเขาไม่สามารถทำอะไรเพื่อหยุดยั้งท่านศาสดา(ศ็อล)ได้ คนกลุ่มนี้จึงวางแผนสมคบคิดกันว่าให้ทุกเผ่ามีส่วนร่วมในการลอบฆ่าด้วยการเลือกคนจากแต่ละเผ่ามารวมตัวกันแล้วกรูกันไปที่บ้านของท่านศาสดา (ศ็อล)จากนั้นก็ร่วมมือกันสับฟันท่านเป็นชิ้นๆแล้วจึงค่อยสลายตัวไปในเงามืด (นี่คือแผนที่วางไว้ ซึ่งหากแผนสำเร็จ บนีฮาชิมจะไม่สามารถล้างแค้นได้)บนีฮาชิม จะเลือกล้างแค้นเผ่าไหน เพราะทุกเผ่าต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในการเผชิญหน้าบนีฮาชิมไปเสียทั้งหมด (หากทำตามแผนนี้) ปัญหาใหญ่ที่แต่ละเผ่าไม่กล้าเผชิญหน้ากับบนีฮาชิมโดยตรง ก็จะหมดไป (เพราะเป็นการบีบให้บนีฮาชิมไม่ได้รบกับเผ่าเดียว แต่ต้องรบกับเผ่าอาหรับทั้งหมดที่ร่วมมือกัน)
คืนนั้นเองท่านศาสดา(ศ็อล)ก็ตัดสินใจอพยพ อันที่จริงแล้วท่านศาสดา(ศ็อล)ได้ตระเตรียมการสำหรับการอพยพไว้เรียบร้อยแล้ว (ท่านกล่าวเสริมว่า) อย่างไร้ก็ตามประเด็นว่าท่านศาสดา(ศ็อล) เลือกคืนนั้นเพราะเหตุผลนี้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาศึกษากันในที่นี้
อย่างไรก็ดี หากสายลับของพวกเขารู้ว่า บนเตียงนอนของนบี  ในบ้านของนบีไม่มีใครอยู่เลย หรือ ท่านศาสดา(ศ็อล)ได้ออกไปแล้ว คนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนแผน หากพวกเขารู้ว่าท่านศาสดา(ศ็อล)ได้กำลังออกไป พวกเขาจะออกไปสกัดท่านล่วงหน้า(อย่างแน่นอน)
ทั้งผู้ที่จะสลับตัวแทนท่านศาสดา(ศ็อล)และการเสนอแผนการโดยมีท่านศาสดา(ศ็อล)ร่วมอยู่ด้วยจึงเกิดขึ้น (ฝ่ายของศาสดา)มีอยู่สองทางเลือกด้วยกัน ทางเลือกแรก คือ (ให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้)เลือกช่วยชีวิตท่านศาสดา(ศ็อล)และสละชีวิตของตนเองแทนท่าน และทางเลือกที่สอง คือ ป้องกันไม่ให้แผนการอพยพถูกเปิดเผยซึ่งถือว่าสำคัญยิ่งกว่า เพื่อให้ท่านศาสดา(ศ็อล) สามารถปฏิบัติการฮิจรัตในขณะที่คนกลุ่มนี้กำลังปิดล้อมได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ครานั้นเองท่านศาสดา(ศ็อล)จึงเสนอถามว่า ใครจะทำภารกิจนี้ ? แล้วท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) ก็ตอบว่า “ฉันเอง” ท่านศาสดา(ศ็อล) กล่าวต่อว่า หากเจ้าต้องการให้ชีวิตของข้าฯปลอดภัย นั่นเท่ากับเจ้าต้องทำให้ชีวิตของเจ้าตกอยู่ในอันตราย  (ท่านอมีรุลมุอฺมีน(อ)ตอบกลับท่านศาสดา(ศ็อล) อย่างไร) ท่านไม่ได้ตอบว่า และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ[2] ชีวิตของของฉันก็เหมือนกับชีวิตของท่าน ท่านไม่ได้ตอบว่า คืนนี้บังเอิญฉันติดงาน จึงมานอนแทนท่านไม่ได้แล้ว ไว้วันหลังฉันค่อยมานอนแทนท่าน แต่ท่านกลับตอบด้วยความจริง ตอบอย่างชัดเจน โอ้รอซูลุลลอฮ์ ฉันจะไปนอนที่เตียงของท่านเอง ฉันจะตอบรับความเสี่ยงและอันตรายนี้เอง จากนั้นท่านก็ได้ไปนอนแทนที่ท่านศาสดา(ศ็อล)
เป็นไปได้ที่อาจจะมีใครกล่าวว่า (ใช้ภาษาพูด)ช่วงนั้นท่าน(อิมาม)ยังหนุ่ม สำหรับคนหนุ่มที่กล้าหาญแบบนี้(การทำแบบนี้)ย่อมไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว (สำหรับผู้ที่คิดเช่นนี้) สิ่งหนึ่งที่ท่านต้องพิจารณาคือ บ้านหลังนั้นเป็นบ้านที่มีขนาดแคบ เล็ก และมืด ไม่มีแสงไฟ มันไม่ใช่สิ่งที่จะพูดว่า พอเปิดประตูบ้านแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าเข้าใจผิด ไม่เลย มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น  ท่านยังคงนอนอยู่บนเตียงนั้นแม้ท่านจะไม่หลับก็ตาม ส่วนพวกคนที่มาเองก็ไม่รู้ว่าใครกันกำลังนอนอยู่ เมื่อพวกเขากรูกันเข้ามาในบ้าน เมื่อนั้นภารกิจของท่านก็สำเร็จเสร็จสิ้น มันคือ การเสียสละอย่างแท้จริง ตรงตามความหมายที่แท้จริง และท่านอิมามอาลี(อ)ได้เลือกพลีเพื่อการนั้น ท่านไปและอยู่ที่นั่น ซึ่งในภายหลังมีโองการถูกประทานลงมาเนื่องด้วยเหตุการณ์นี้ของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ) โองการนั้นคือ
وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يَشْرِي نَفْسَهُ ابْتِغَاءَ مَرْضَاتِ اللَّهِ

“และในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ที่ขายตัวของของเขา ทั้งนี้เพื่อแสวงหาความพอพระทัยของอัลลอฮ์ “[3]
ซึ่งเป็นโองการที่ถูกประทานมาในวาระการต่อสู้(มุญาฮิดะฮ์)และการเสียสละของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) นี่คือมิติหนึ่งของอามั้ลที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจลืมได้ แต่ยังมีอีกมิติหนึ่ง ซึ่งมีความหมายต่อเรายิ่งนัก  นั่นก็คือ #การทำภารกิจถูกที่ถูกเวลา ของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) จนกลายเป็นสิ่งกำหนดให้กลายเป็นความภาคภูมิในการต่อสู้ตลอด 13 ปี ซึ่งได้ขยับไปสู่ขั้นแห่งการพัฒนา(จากความเข้าใจของผู้แปล ประโยคนี้หมายถึง เส้นทางการพัฒนาอิสลาม ใช้การฮิจเราะฮ์เป็นตัวกำหนด และการฮิจเราะฮ์เกิดขึ้นได้และพัฒนาอิสลามหลังจากนั้น เกิดขึ้นได้ เพราะท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ)นอนแทนที่ท่านศาสดา(ศ็อล)ในคืนนั้น) ท่านศาสดา(ศ็อล) ได้เคลื่อนไหวทั้งๆที่มีศัตรูผู้รุกรานรายล้อมท่านจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่งสู่มวลมิตรที่ได้ให้สัตยาบันต่อท่าน ทุกคนต่างปรารถนาจะอยู่กับผู้นำของตนในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ ทุกคนต่างปรารถนาจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ทำความรู้จักกับสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ ประชาชนอยากรู้จักท่าน สายตาของมวลชนล้วนจับจ้องไปที่ท่านศาสดา(ศ็อล)  นี่คือช่วงเวลาที่ท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) ตอบรับภารกิจนี้ และได้ยืนหยัดบนเจตจำนงค์ของตนเอง ซึ่งหากท่านต้องการจะสรุปเรื่องนี้ในหนึ่งประโยคแล้ว  ประโยคนั้นก็คือ
“การอิฏออัตโดยบริสุทธิ์และการยอมจำนนโดยดุษฎีเบื้องหน้าบัญชาของผู้เป็นนาย”
อัลกุรอ่านกล่าวว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا ادْخُلُوا فِي السِّلْمِ كَافَّةً
บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในการยอมจำนนโดยทั่วทั้งหมดเถิด[4]
ทั้งผองจงเข้าสู่การตัสลีมโดยดุษฎีเถิด และจงออกมาจากประตูแห่งการยอมจำนน นี่คือมุมมองหนึ่งจากภารกิจของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)
เชิงอรรถหนังสือ
[1] ฟะวาฏิม(فواطم)เป็นพหูพจน์ของคำว่า ฟาฏิมะฮ์ (فاطمة) ในหนังสือประวัติศาสตร์ระบุว่า ท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)ได้รับมอบหมายจากท่านศาสดา(ศ็อล)ให้ทำหน้าที่ในการอารักขาและปกป้องท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ)บุตรีของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล) มารดาของท่านอิมาม ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัด และบุตรีของอาท่านศาสดา ฟาฏิมะฮ์บิน ซุเบร บิน อับดุลมุตตอลลิบ โดยอารักขาและนำพาพวกเขาจากมักกะฮ์ไปสู่เมืองมะดีนะฮ์
[2] ซูเราะฮ์ บะกอเราะฮ์ 195
[3] ซูเราะฮ์ บะกอเราะฮ์ 207
[4] ซูเราะฮ์ บะกอเราะฮ์ 208 ในภาษาไทย(แอนดรอย)แปลว่า จงเข้าอยู่ในความสันติโดยทั่วทั้งหมด แต่ในภาษาฟารซี(อันศอรียาน,อิลาฮีย์กัมเชะฮ์,อายาตี,อ.มะการิม.อัลลามะอ์ฏอบาฏอบาอีย์ชี้ว่า) อัซซิลม์ (السلم)  ไม่ได้แปลว่า สันติ แต่แปลว่า จำนน,ยอมจำนน,ยอมเชื่อฟัง
สรุปเนื้อหา
1.ในช่วงเปลี่ยนยุคสมัย หรือ ช่วงฮิจเราะฮ์ ท่านอิมามอาลี(อ)คือ ผู้ที่มีบทบาทในการสนับสนุน ปกป้อง และช่วยเหลือท่านศาสดา(ศ็อล)มากที่สุด พิสูจน์ได้จาก สองภารกิจ ภารกิจแรกคือ การอารักขาดูแลสตรีและฟะวาฏิม ภารกิจที่สอง คือ การนอนแทนท่านศาสดาในค่ำคืนลัยลาตุลมะบีต
2.ในตัวบทกล่าวถึง ค่ำคืนลัยลาตุลมะบีต มีประเด็นที่ท่านอิมามคาเมเนอีย์ได้ชี้ให้เห็นอยู่ 4 ประเด็น 1) แผนร่วมกันฆ่า คือ การวางแผนอันแยบยลของศัตรูเพื่อสังหารศาสดา เพื่อไม่ให้บนีฮาชิมล้างแค้นได้ 2) ทางเลือกของท่านศาสดา(ศ็อล)และมวลมิตรในการรับมือ ได้แก่ การให้ตัวแทนสละชีวิตแทนท่านศาสดา(ศ็อล) และ การปิดข่าวการฮิจเราะฮ์ไม่ให้รั่วไหล 3) บทบาทของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)ในการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการสละชีพของตนเองเพื่อปกป้องท่านศาสดา(ศ็อล) 4) การวิเคราะห์สถานการณ์ในค่ำคืนนั้น ที่ชี้ให้เห็นว่า ภารกิจของท่านอิมามอาลี (อ) มีมิติที่สะท้อนออกมาได้อย่างมากมายและมีความซับซ้อน อันได้แก่ เจตนารมณ์ของอิมาม,สภาวะของสังคมในยุคนั้น,การส่งสายลับมาสืบสถานการณ์จากฝ่ายศัตรู,สภาพของสถานที่,การตอบรับของท่านอมีรุลมุอฺนีน(อ) และ โองการอัลกุรอ่านที่ถูกประทานลงมา อันเนื่องมาจากการพลีของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ),การเป็นแบบอย่างของผู้ที่ทำกิจถูกที่ถูกเวลา และอื่นๆ


อ้างอิง มนุษย์ 250 ปี เล่ม 3 หน้า 81-83