เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เตาฮีด 9 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เตาฮีด 9 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

 

นิยามต่างๆของเตาฮีด เอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า
    การศรัทธาต่อความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และการเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียวไม่ได้จำเพาะอยู่แค่เพียงศาสนาอิสลาม แต่ทว่าบรรดาศาสดาทั้งหมดเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์เข้าสู่เตาฮีดเข้าสู่การเคารพพระเจ้าองค์เดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าอิสลามนำเสนอวิชาการต่างๆของอิสลามหรือเรื่องเตาฮีดซ้ำกับบรรดาศาสดาก่อนหน้าโดยไม่มีข้อแตกต่างใดๆเลย รากฐานของศาสนาจากฟากฟ้าหรือศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดนั้นเชิญชวนมนุษย์เข้าสู่ความศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเนื้อหาทางวิชาการของอิสลามนั้นได้มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน และฮาดีษรายงานต่างๆจากบรรดาอะฮ์ลุลเบต(อ)ซึ่งมีความสมบูรณ์กว่าทุกๆศาสนาก่อนหน้า และเป็นเนื้อหาที่มีความลึกซึ้งกว้างขว้างกว่า โดยไม่มีศาสนาใดจะเทียบเคียงได้และเป็นเนื้อหาที่ให้ประโยชน์ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ทุกชนชั้นทุกอาชีพ ทั้งสามัญชนทั่วไปหรือนักวิชาการ เนื่องจากศาสนาอิสลามคือศาสนาสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นศาสนาสุดท้ายแน่นอนว่าต้องเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด
    - “เตาฮีดนะศะรี” คือ ความเชื่อความศรัทธาที่เข้มแข็งต่อความเป็นเอกะความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งความเป็นเอกเอกภาพในตัวตน(ซาต) ความเป็นเอกภาพของคุณลักษณะและความเป็นเอกภาพในการกระทำของพระองค์ ถ้าหากความศรัทธาอันนี้หยั่งลึกเข้าไปสู่หัวใจของมนุษย์มันก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติและการกระทำของมนุษย์
  - “เตาฮีดอะมะลี” คือการปฏิบัติการกระทำของมนุษย์ที่วางอยู่บนความศรัทธาในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบจำเพาะ เช่นการเคารพภักดีเป็นผู้เป็นเจ้า การอิบาดัตต่อพระองค์ การมีความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าที่วางอยู่บนความศรัทธาต่อความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว และไม่เคารพพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์
   -  นิยามของเตาฮีด ตามหลักภาษา คำว่าเตาฮีดให้ความหมายว่า ความเป็นเอกะ ความเป็นเอกภาพ
    - นิยาม ของ เตาฮีด ตามหลักวิชาการ
1- การปฏิเสธการมีจำนวน (ตะอัดดุด) การปฏิเสธการมีภาคต่างๆ ของพระเจ้า ซาตของพระองค์นั้นเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนพระองค์ ปฏิเสธการมีพระเจ้าหลายองค์ เพราะการมีพระเจ้าสององค์หรือหลายๆองค์จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในระบบต่างๆของโลก พระเจ้าองค์หนึ่งจะสร้างและอภิบาลแบบหนึ่ง อีกองค์หนึ่งจะสร้างและอภิบาลอีกแบบหนึ่ง โลกก็จะพินาศ ไม่มีใครยอมใคร ถ้าเกิดองค์ไหนยอมผู้ที่ยอมก็ไม่ใช่พระเจ้าที่แท้จริง  และในความเป็นจริงเราเห็นได้ว่าโลกไม่ได้ขัดแย้งกัน โลกมีระบบระเบียบ ดำเนินไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน โองการอัลกุรอานได้ยืนยันถึงความเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนซาตของพระองค์ ในซูเราะฮ์ ชูรอ โองการที่ 11
لَيْسَ كَمِثْلِهِ شىَ‏ْءٌ  وَ هُوَ السَّمِيعُ الْبَصِير
 “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินและทรงมองเห็น”
2- การปฏิเสธการประกอบ (ตัรกีบ) เพราะว่า คุณลักษณะ (ซีฟัต) กับตัวตน (ซาต) ของพระองค์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และในระหว่างคุณลักษณะต่างๆของพระองค์ก็มีความเป็นอันเดียวอันมีความเป็นหนึ่งเดียวกันแต่ในด้านของความหมายแต่ละคุณลักษณะมีความแตกต่างกัน การประกอบกันก็หมายถึงสิ่งนั้นเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ทำความเข้าใจไปแล้วการประกอบเป็นคุณลักษณะของวัตถุ ต้องการสถานที่ และอยู่ภายใต้กฎของเวลา ในขณะที่วาญิบุลวูญูดหรือพระผู้เป็นเจ้านั้นอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งได้พิสูจน์ไปแล้วว่าวาญิบุลวูญูดมีมาแต่เดิมและมีอยู่ตลอดไป
3- การปฏิเสธคุณลักษณะที่เพิ่มเข้ามาที่หลัง  การเพิ่มมาใหม่หมายถึงว่าสิ่งๆนั้นยังไม่สมบูรณ์ ยังต้องการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์อีก ซึ่งอยู่ภายใต้กฎของเวลาและเป็นลักษณะของวัตถุ ในขณะที่ได้พิสูจน์ไปแล้วว่าวาญิบุลวูญูดหรือพระผูเป็นเจ้านั้นทรงสมบูรณ์มาแต่เดิม คุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ทั้งหมดมีอยู่แต่เดิมในซาต(ตัวตน)ของพระองค์แต่จะถูกสำแดงเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าพระองค์เพิ่งมีคุณลักษณะนั้น ตัวอย่างเช่นเมื่อบ่าวของพระองค์ทำผิดและได้ขอภัยโทษและเตาบัตอย่างแท้จริง พระองค์ก็สำแดงความเป็นผู้อภัยแก่บ่าวของพระองค์
4- “เตาฮีด อัฟอาลี” คือทุกการกระทำ เป็นการกระทำของพระองค์เพียงองค์เดียว ไม่มีหุ้นส่วนใดๆหรือการช่วยเหลือใดๆในการกระทำของพระองค์ และจะไม่มีการกระทำใดสามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ด้วยความประสงค์และความต้องการของพระองค์ พระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวพระองค์เอง ในการสร้าง ในการอภิบาล และการประทานปัจจัยยังชีพ  และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใด อาจมีคำถามว่าในความเป็นจริงเห็นได้ว่ามีมนุษย์เป็นผู้กระทำหรือเป็นแหล่งเกิดการกระทำการงานต่างๆมากมาย รวมทั้งบรรดามาลาอิกะฮ์ที่มีหน้าที่ต่างๆ คำตอบคือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจทำให้เกิดสิ่งใดๆได้เลยเว้นแต่อำนาจของพระองค์ที่พระองค์มอบให้กับสิ่งเหล่านี้ ผู้กระทำเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศในการกระทำของตน เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้การกระทำของพระองค์ ซูเราะฮ์ อลอันฟาลโองการที่ 17 ได้ยืนยันเนื้อหานี้ไว้
فَلَمْ تَقْتُلُوهُمْ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ قَتَلَهُمْ  وَ مَا رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ رَمَى‏
“พวกเจ้ามิได้ฆ่าพวกเขาหรอก  แต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ทรงฆ่าพวกเขา และเจ้าไม่ได้ขว้างหรอกในขณะที่เจ้าขว้างแต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ขว้าง”
    โองการนี้ถูกประทานลงมาในฮิจเราะฮ์ที่สองหลังจากเหตุการณ์สงครามบะดัร ซึ่งวันนั้นมุสลิมเพียงน้อยนิดสามารถมีชัยเหนือบรรดาผู้ตั้งภาคีได้ ในโองการให้ความหมายว่าผู้ที่ฆ่าผู้ที่ขว้างบรรดามุชรีกีนที่แท้จริงคืออัลลอฮ์(ซบ)ผู้กระทำที่แท้จริงคืออัลลอฮ์(ซบ)
5- “เตาฮีด อิสติกลาลี” คือ ผลของการกระทำต่างๆนั้นเกิดมาจากการกำหนดและการอนุมัติของพระองค์ทั้งหมดโดยเอกเทศอย่างสมบรูณ์ ผู้ที่เป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์คือพระองค์เท่านั้น พระองค์มีความเป็นเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆ โองการในซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โฮงการที่ 110
إِذْ قَالَ اللَّهُ يَاعِيسىَ ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتىِ عَلَيْكَ وَ عَلىَ‏ وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدتُّكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكلَِّمُ النَّاسَ فىِ الْمَهْدِ وَ كَهْلًا  وَ إِذْ عَلَّمْتُكَ الْكِتَابَ وَ الحِْكْمَةَ وَ التَّوْرَئةَ وَ الْانجِيلَ  وَ إِذْ تخَْلُقُ مِنَ الطِّينِ كَهَيَْةِ الطَّيرِْ بِإِذْنىِ فَتَنفُخُ فِيهَا فَتَكُونُ طَيرَْا بِإِذْنىِ  وَ تُبرِْئُ الْأَكْمَهَ وَ الْأَبْرَصَ بِإِذْنىِ  وَ إِذْ تخُْرِجُ الْمَوْتىَ‏ بِإِذْنى‏ضهسه
“จงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮ์ตรัสแก่อีซาบุตรของมัรยัมว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้าและมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนโดยที่เจ้าพูดกับประชาชนในขณะที่อยู่ในเปล และขณะที่ข้าได้สอนคัมภีร์ เตารอต อินญีล และวิทยปัญญาให้แก่เจ้า และขณะที่เจ้าสร้างขึ้นจากดินดั่งรูปนก ด้วยอนุมัติของข้าเมื่อเจ้าเป่าไปรูปยังนกนั้นมันก็กลายเป็นนกที่มีชีวิตด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้ารักษาคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด และคนที่เป็นโรคผิวหนังให้หายด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้าฟื้นชีวิตให้แก่คนตยด้วยอนุมัติของข้า…”
    จากโองการดังกล่าว การให้ชีวิตแก่คนตาย การรักษาโรค การเป่าวิญญาณ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์ คำว่า “บิอิสนี” คือด้วยการอนุมัติของฉัน หมายถึงด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์ พระองค์เป็นเอกเทศในการอนุมัติสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น
    นิยามในข้อ 4 และข้อ 5 นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมั่นในสองข้อนี้อย่างแท้จริงนั้นคือ
1 ทำให้มนุษย์มอบการอิบาดัตเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว ทำให้มนุษย์มีพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนา
 ซูเราะฮฺ ฮัมดฺ โองการที่ 5 ได้กล่าวไว้ว่า
إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَ إِيَّاكَ نَسْتَعِين‏
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราของความช่วยเหลือ”
2 ทำให้มนุษย์มอบความเกรงกลัว และความไว้วางใจ(ตะวักกัล) ต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
     อาจจะเกิดคำถามเรื่องนี้มันขัดกับความเชื่อของชีอะห์หรือไม่ว่า ถ้าชีอะห์เชื่อเช่นนี้ เชื่อว่าพระองค์คือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผู้ทรงกำหนดผลของการกระทำต่างๆ ผู้ทรงเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆและทรงเอกเทศในการอนุมัติและกำหนดผลของการกระทำ ทำไมชีอะห์จึงมีการขอผ่านสื่อ(ตะวัซซุล)อีก ทำไมไม่ขอต่อพระองค์ผู้ทรงอำนาจโดยตรง ไม่ขัดกับอำนาจของพระองค์หรือ
    คำตอบคือไม่ขัด เพราะการขอผ่านสื่อกลางนั้นพระองค์ใช้ให้ขอ ซึ่งโองการที่ยืนยันคือ ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 35
يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُواْ اتَّقُواْ اللَّهَ وَ ابْتَغُواْ إِلَيْهِ الْوَسِيلَةَ وَ جَاهِدُواْ فىِ سَبِيلِهِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُون‏
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์และจงแสวงหาสื่อไปยังพระองค์ และจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์(ซบ)เผื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ”
    คือเชื่อว่าบรรดาสื่อกลางเหล่านั้นซึ่งสื่อกลางที่ชีอะห์หมายถึงและเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดคือบรรดาอะฮฺลุลเบต(อ)พวกท่านเหล่านนั้นได้รับอำนาจมาจากอัลลอฮฺ (ซบ) และเหตุผลที่ต้องขอผ่านสื่อกลางเหล่านั้น  เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะให้มนุษย์รู้จักพวกท่านเหล่านั้น ว่าบุคคลใดบ้างที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ผู้ใดที่มีเกรียติ ณ.พระองค์มากที่สุด  การที่มนุษย์รู้ว่ามีมนุษย์กลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความสูงส่งเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์มากที่สุดนั้นมันเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสูงส่งด้วย และเพื่อป้องกันการ ยโสโอหัง (ตะกับบุร)ของมนุษย์บางคน เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่ามีมนุษย์ผู้สูงส่งที่สุดอยู่

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม