เตาฮีด10 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

เตาฮีด10  (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

 

     จากความศรัทธาเรื่องเตาฮีดอัฟอาลีและเตาฮีดอิซติกลาลี “การกระทำทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมาจากอำนาจของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว” และ “ผลของการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจของพระองค์เพียงผู้เดียว พระองค์ผู้ทรงเป็นเอกเทศในการกำหนดผลของการกระทำทั้งหมด” นำไปสู่การทำเข้าใจเรื่อง กอดอ กอดัร ของอัลลอฮ์(ซบ)
    ความหมายของ “กอดอและกอดัร”
“กอดัร” คือ การกำหนดปริมาณ จำนวน โองการที่ใช้ในการอธิบายคำว่า “กอดัร” ในซูเราะฮฺฟัญรฺ โองการที่ 16
وَ أَمَّا إِذَا مَا ابْتَلَئهُ فَقَدَرَ عَلَيْهِ رِزْقَهُ فَيَقُولُ رَبىّ‏ِ أَهَانَن‏
“แต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงทดสอบเขา พระองค์ทรงกำหนด(กอดัร)ให้การครองชีพของเขาเป็นที่คับแคบแก่เขา เขาก็จะกล่าวว่าพระผู้อภิบาลของฉันทรงเหยียดหยามฉัน”
 คำว่า قَدَرَ  จากโองการนี้ให้ความหมายว่าการกำหนดปริมาณ จำนวน
    “กอดอ” คือ การกำหนดให้เกิด การตัดสิน การทำให้ถึงจุดสุดท้ายที่สมบรูณ์ เมื่อ กอดอกับกอดัรมาร่วมกัน หมายความว่า “ตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นตามที่ได้กำหนดปริมาณหรือจำนวนเอาไว้” ตัดสินไปตามปริมาณและจำนวนที่ได้กำหนดไว้ เช่นสมมติกำหนดให้มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตในโลกนี้หกสิบปีเป็น(กอดัร) และการทำให้เขามีชีวิตถึงหกสิบปีแล้วก็ตายไปอันนี้คือ(กอดอ)โองการหนึ่งอธิบายความหมายของ “กอดอ”  ซูเราะฮฺบะกอเราะฮฺ โองการที่ 117
بَدِيعُ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ  وَ إِذَا قَضىَ أَمْرًا فَإِنَّمَا يَقُولُ لَهُ كُن فَيَكُون‏
“พระองค์ผู้ทรงเนรมิตชั้นฟ้าและแผ่นดิน และเมื่อพระองค์ทรงตัดสินใจจะให้สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว(กอดอ)สิ่งใดแล้วก็เพียงแค่ประกาศิตต่อสิ่งนั้นว่าจงเป็นแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นขึ้น”
    โองการนี้ชี้ให้เห็นว่าคำว่า  قَضىَ การตัดสินจะทำให้สิ่งใดให้เกิดขึ้น การทำให้สิ่งไหนึ่งไปสู่จุดสุดท้ายหรือจุดสมบูรณ์ของมัน และการที่กำหนดผลของสิ่งต่างๆนั้นเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวไม่มีใครมีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ มนุษย์มีสิทธิ์เลือกทำในปฐมเหตุเท่านั้น
    ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกอดอและกอดัรของอัลลอฮ์(ซบ)แบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลักๆ
- พวก ”อาชาอิเราะฮฺ” เข้าใจเรื่อง กอดอ กอดัร แบบ “ญับร”
   “ญับร” คือ ความเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีสิทธ์เลือกทำอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างอัลลอฮ์(ซบ)เป็นผู้กำหนดเอง
    พวก “อาชาอิเราะฮ์” เชื่อว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพระองค์เป็นผู้ทรงกำหนดโดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆได้ เมื่อเชื่อแบบนี้พวกเขาก็นำไปสู่การปฏิเสธสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์(อิคติยาร) พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิเลือกทำอะไร ถ้าหากจะได้อะไรเดี่ยวพระองค์ก็จะให้เอง พวกเขาดำเนินชีวิตไปตามยถากรรม ในชีวิตไม่มีการกระตือรือร้นขนขวายใดๆ
       ดังนั้น เมื่ออาชาอิเราะฮ์มีทัศนะปฏิเสธ  “อิคติยาร” (สิทธิในการเลือก) ความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เกิดขึ้น  เพราะเมื่อพวกเขาเชื่อว่า หากจะมีอะไรเกิดขึ้น  พระผู้เป็นเจ้าก็จะบันดาลให้เอง  สมมติบุคคลหนึ่งจะร่ำรวยขึ้นมา  พระองค์ก็จะบันดาลให้บุคคลนั้นร่ำรวยขึ้นมาเอง  
  ในเมื่อพวก “อาชาอิเราะฮ์” ปฏิเสธสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์(อิคติยาร) เราจะพิสูจน์การมีอยู่ของสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์ ด้วยความรู้ “ฮูศูรี” คือความรู้โดยตัวตนของมนุษย์เองว่าเขามีสิทธิในการเลือก ความรู้ที่มนุษย์รู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นความรู้ที่อยู่ด้านในเป็นความรู้ที่ไม่ต้องมีใครบอกกล่าวสั่งสอน เช่นการรับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆของมนุษย์เอง เช่น ความสุข ความสงบ ความเศร้าโศกเสียใจ ความเบิกบาน เรารับรู้ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ด้วยตัวเราเองว่ามันมีอยู่ และในเรื่องของ “อิคติยาร”(อิสะเสรีในการเลือก)ก็เช่นกัน  มนุษย์รับรู้ได้ว่าเขามีสิทธิในการเลือก เช่น เมื่อเข้าสู่วัยที่สมควรต่อการแต่งงาน ไม่มีใครมาบังคับให้เขาแต่งงานกับใคร หรือกำหนดวันเวลาในการแต่งงาน หรือมนุษย์โดยตัวของเขาเองนั้นเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์เลือกในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่นเขาเลือกเองในการที่เรียนด้านศาสนาหรือเรียนด้านอื่นๆ ทั้งหมดล้วนมาจากการเลือกอย่างเสรี(อิคติยาร)ของมนุษย์เอง
    โดยตัวตนมนุษย์รู้ว่าเขามีสิทธิ์ทำสิ่งต่างๆ แต่บางครั้งการที่มนุษย์ไม่สามารถทำในบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก เขามีสิทธิ์ที่จะเลือก เพียงแต่เขาไม่มีความสามารถเพียงพอ เขายังไม่เข้มแข้งพอในการทำสิ่งนั้นๆ
    อีกข้อสงสัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์ข้อสงสัยข้อโต้แย้งที่ว่า  สภาพแวดล้อม พันธุกรรม อาหาร และสิ่งอื่นๆสิ่งต่างๆเหล่านี้ต่างหากที่มีผลในการเลือกของมนุษย์ โดยตัวตนของมนุษย์เขาไม่ได้มีสิทธิ์ในการเลือกใดๆ ข้อสงสัยต้องการจะบอกว่าปัจจัยภายนอกต่างหากที่ทำให้มนุษย์เลือกทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่มาจากตัวของมนุษย์เอง สมมติตัวอย่างเช่น คนที่สามารถบริจาคได้เพราะพ่อแม่ของเขาปลูกฝังมา เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ดีครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการบริจาคเขาจึงบริจาคได้ ไม่ใช่ว่าเขาเลือกที่จะบริจาคเอง เพราะเขามีพันธุกรรมที่ดี
    คำตอบในข้อสงสัยนี้คือ สิทธิ์ในการเลือกนั้นมันอยู่ในความเป็นมนุษย์ทุกคนในความเป็นจริงเราจะพบว่าในสังคมที่ชั่ว ก็มีคนดีอยู่และในสังคมที่ดีก็มีคนไม่ดีอยู่ ในครอบครัวที่ดีก็มีคนไม่ดีอยู่ และในครอบครัวที่ไม่ดีก็มีคนที่ดีอยู่ ถ้าหากบอกว่าสภาพแวดล้อมมีผลอย่างสมบรูณ์ต่อชีวิตต่อสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์แล้วเราก็จะไม่พบคนดีในสังคมที่ชั่วร้ายและเราก็จะไม่พบคนชั่วในสังคมที่ดี มีตัวอย่างอย่างมากมาย ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีสิทธิในการเลือก แต่ในบางครั้งการเลือกเป็นคนดีในบางสังคมนั้น ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงคนที่อ่อนแอก็คล้อยตามสังคมนั้นไป คนที่เข้มแข้งก็สามารถเป็นคนดีได้ในสังคมที่ชั่ว ยิ่งการเป็นคนดียากลำบากมากเท่าไรผลตอบแทนรางวัลก็มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นสรุปได้ว่าโดยตัวของมนุษย์เองเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์เลือกในการทำสิ่งต่างๆได้ สภาพแวดล้อมมีผลแค่เพียงส่วนหนึ่งสิทธิ์ในการเลือกของมนุษย์
- พวก “มุฮฺตะซิละฮฺ” เข้าใจ กอดอ กอดัรแบบ “ตัฟวีฎ”
    “ตัฟวีฎ” คือความเชื่อที่ตัดขาดจากอำนาจการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร)อย่างสมบรูณ์ ไม่ต้องพึ่งพิงพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด เชื่อว่าถ้าหากมนุษย์ทำส่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว มันต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ปฏิเสธการเป็นผู้กำหนดผลของการกระทำของอัลลอฮ์(ซบ) เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์เสร็จแล้วประองค์จะไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆอีก พระองค์ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในการกระทำของมนุษย์ แต่หากเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์หรือผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น แม้บางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์เลือกกระทำเองแล้วและตั้งใจกระทำอย่างดี แต่ผลลัพธ์ในสิ่งนั้นกลับยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ได้รับผลจากการกระทำนั้นๆตามที่หวังมีให้อย่างมากมาย เช่น สมมุติว่าบุคคลหนึ่ง ขยันขันแข็งในการทำงานอย่างหนักเพื่อหวังความมั่งคั่ง แต่เขาอาจยังคงจนอยู่เหมือนเดิม ไม่ร่ำรวยเหมือนบางคน   หากพิจารณาจากตรรกะทั่วไป เหตุเป็นเช่นใดผลของของมันย่อมเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงในชีวิตมนุษย์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
    กรณีข้อสมมติข้างต้น  บุคคลที่ทำงานหนักทุกคนกลับไม่ใช่บุคคลที่ร่ำรวยทุกคน  เราจึงเห็นได้ว่าความเชื่อว่ามนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือกและรับผลของมันเองอย่างสมบูรณ์  โดยพระเจ้าไม่ได้เข้าแทรกแซงใดๆ  จึงเป็นทัศนะที่ขัดกับความเป็นจริง เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง   ทั้งนี้กลับทำให้ มนุษย์สามารถรับรู้ได้ว่า อำนาจในการเลือกและผลของมันนั้น  แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว เพราะอำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของพระองค์ผู้ทรงอภิบาล ทรงควบคุมและทรงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านั้น
   - ส่วนอีกทัศนะหนึ่งเป็นความเชื่อของแนวทางชีอะห์ ซึ่งเป็นทัศนะที่เป็นทางสายกลาง
จากฮาดิษของอิมามศอดิก(อ) ในบิฮารุลอันวาร เล่มที่ 4 หน้าที่ 197
"لا جبر ولا تفویض بل أمر بین الأمرین
“ไม่ใช่ทั้ง”ญับร์”(กลุมที่ปฏิเสธสิทธิ์เสรีในการเลือกของมนุษย์) และไม่ใช่ทั้ง”ตัพวีฎ”(กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีในการเลือกโดยที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการงานของเขาอีก)แต่ทว่ามันคือเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสอง”
       คือ การเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิ์ในการเลือก(อิคติยาร)ในการกระทำสิ่งต่างๆพร้อมรับการเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้กำหนดผลของการเลือกของเขา พระองค์เป็นผู้ประทานความสำเร็จ ในสิ่งที่มนุษย์เลือกทำ  
    กลุ่มแนวนี้ปฏิเสธทัศนะที่สุดโต่งของสองกลุ่มข้างต้น โดยอธิบายว่า มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร) ในการกระทำใดๆที่อยู่ภายในกรอบของศาสนา แต่ผลของการเลือกนั้นจะเกิดขึ้นหรือเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับการควบคุมอภิบาลและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งมีความขยันมั่นเพียรในการทำงาน แต่เขาก็จะไม่กล่าวอย่างมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น  พระองค์คือผู้ประทานให้  มนุษย์จึงทำได้เพียงเลือกกระทำหรือไม่กระทำเท่านั้น   แต่โดยทั่วไปแล้ว  พระองค์จะให้เกิดขึ้นตามตรรกะและเหตุผล โดยวิถีทางธรรมชาติของโลก
     ชีอะห์เชื่อว่าก่อนที่ “กอดอและกอดัร”จะเกิดขึ้นได้นั้น มันต้องมีปฐมเหตุ (มุกอดดิมะฮ์) ของมันก่อน อยู่เฉยๆแล้วเกิดขึ้นเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ละปฐมเหตุ(มุกอดดิมะฮ์)ก็จะนำไปสู่กอดอและกอดัรที่แตกต่างกันไป เมื่อปฐมเหตุ(มุกอดดิมะฮ์)เปลี่ยน กอดอกอดัรของมันก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
    เช่น ปฐมเหตุของการเกิดขึ้นของมนุษย์ ต้องผ่านการแต่งงาน ต้องผ่านการปฏิสนธิ ต้องได้รับอาหาร ต้องได้รับปัจจัยต่างๆอย่างมากมาย ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆอย่างมากมายและสุดท้ายจะเกิดเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ได้นั้นอยู่ที่การทำคลอดถ้ารอดชีวิตมาได้ก็ออกมาเป็นมนุษย์แต่ถ้าไม่รอดชีวิตก็จบลง การกอดอและกอดัรของพระองค์นั้นมีขั้นตอน สถานที่ มีเวลา แต่ผลของการกระทำต่างๆเป็นสิทธิ์ของพระองค์ในการกำหนดจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด มนุษย์มีสิทธิ์แค่เลือกในการทำปฐมเหตุต่างๆ พระองค์จะกำหนดไปตามปฐมเหตุที่มนุษย์เลือก พระองค์จะให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ให้ประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับพระประสงค์พระองค์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ให้เกิดขึ้นนั้นมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่
     เช่นถ้ามนุษย์อยากรวยขั้นตอนแรกเขามีสิทธ์ที่เลือกปฐมเหตุที่นำไปสู่ความรวย คือการทำงาน ต้องขยัน ส่วนเขาจะรวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกอดอกอดัรของพระองค์ ไม่ใช่อยากรวยแล้วไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ถ้าพระองค์กำหนดให้เขารวยเดี่ยวเขาก็รวยเอง ความเชื่อแบบนี้นั้นไม่ถูกต้อง และเช่นกันเมื่อเขาทำงาน ตั้งใจขยันแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะรวยร้อยเปอร์เซนต์อย่างแน่นอนเลย จะรวยหรือไม่รวยนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดของพระองค์ และในเรื่องอื่นๆก็เช่นเดียวกัน มนุษย์มีสิทธิ์แค่เลือกทำปฐมเหตุ ในการนำไปสู่ความรวย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลของมันจะเกิดไปตามปฐมเหตุนั้นๆ เว้นแต่บางครั้งพระองค์ไม่ให้เกิด มันมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่ บางครั้งอาจหมายถึงถ้าพระองค์ให้สิ่งนั้นกับเขา จะส่งผลต่อการความปลอดภัยต่อความศรัทธาของเขา หรืออื่นๆ เพราะพระองค์รู้ว่าการไม่ให้นั้นมีผลดีมากกว่าต่อเขา
    -รายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับ “กอดอ” กอดัร”
- “กอดอ กอดัรอิลมี” คือความรู้ของพระองค์เกี่ยวกับปฐมเหตุ(มุกอดดิมะฮ์) ในการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งต่างๆ และเป็นความรู้ที่แน่นอน ถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด พระองค์ทรงรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต พระองค์ทรงรู้ว่าปฐมเหตุ(มุกอดดิมะฮ์)ต่างๆเหล่านั้นตั้งแต่ในตอนที่สิ่งนั้นยังไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น
- “กอดอ กอดัรอัยนี” คือการตัดสินให้สิ่งนั้นเกิ  ดขึ้นตามลำดับขั้นตอนต่างๆของสิ่งนั้นๆ หรือตัดสินไม่ให้เกิดขึ้น บนพื้นฐานความรู้ของพระองค์ในปฐมเหตุต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)