เตาฮีด11 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

เตาฮีด11 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

 

ความหมายของฮายาต ชีวิตหรือการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า

    หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจความจำเป็นในการที่มนุษย์จะต้องมีพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับหนของทางฟิตรัต การพิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าด้วยสติปัญญาเบื้องต้น ด้วยกับวิธีทางปรัชญา ได้รู้จักนิยามต่างๆของเตาฮีดและได้รู้จักอัลลอฮ์(ซบ) ในนาม”วาญิบุลวูญูด” และได้ทำความเข้าใจแนวความคิดต่างเกี่ยวกับ “กอดอและกอดัร” ของพระผู้เป็นเจ้าแล้วเนื้อหาต่อไปก็เข้าสู่การทำความเข้าใจ “ศีฟาต”คุณลักษณะต่างๆของพระผู้เป็นเจ้า
    - หนทางต่างๆที่สามารทำให้มนุษย์รู้จักคุณลักษณะต่างของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน
1 หนทางของสติปัญญาโดยตรง เหมือนกับที่ได้พิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าไปแล้ว ด้วยการเข้าใจความหมายต่างๆและกฏเกณฑ์จำเพาะสามารถทำให้พิสูจน์คุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าได้ในเบื้องต้น หลังจากที่ได้พิสูจน์พระผู้เป็นเจ้าในนามของวาญิบุลวูญูดด้วยวิธีทางปรัชญาหรือการใช้สติปัญญา เช่นเดียวกันด้วยกับการใช้สติปัญญาพินิจในวาญิบุลวูญูดทำให้พบคุณลักษณะต่างของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือศีฟัตซัลบียะฮ์ต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้วบททษฎีอัลลัตและมะลูล
2 หนทางของการพินิจพิจารณาและการใช้สติปัญญาเบื้องต้นไปยังโลก ไปยังระบบของโลก ทำให้สามารถเข้าใจคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นกัน ตัวอย่างด้วยการพินิจไปยังระบบระเบียบของโลก และประโยชน์แห่งเป้าหมายในการกสร้าง และความสมดุลของสรรพสิ่ง ทำให้พบว่า วาญิบุลวูญูดยังเป็นผู้ทรงรอบรู้ “อาลีม” และเป็นผู้ทรงวิทยปัญญา “ฮากีม”
3 หนทางแห่งการจากอัลกุรอานและฮาดีษรายงานต่างๆ วิธีนี้จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ยอมรับการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ยอมรับความเป็นศาสดาของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศล)ที่ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า และได้ยอมรับต่ออัลกุรอานแล้วจึงสามารถรู้จักคุณลักษณะต่างของพระผู้เป็นเจ้าได้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ววิชาการความรู้จากอัลกุรอานและฮาดีษมีความกว้างขว้างและลึกซึ้งโดยเฉพาะการรู้จักคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสติปัญญาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรู้จักได้อย่างสมบูรณ์
 4 หนทางแห่งการประจักษ์แจ้งด้วยจิตวิญญาณ ด้วยกับการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ การขัดเกลาในขั้นตอนต่างๆ อยู่ภายใต้ตักวาและอีหม่านจนไปถึงตำแหน่งหนึ่งที่เขาสามารถเห็นคุณลักษณะแห่งความสายงามและความสูงส่งของพระผู้เป็นนเจ้าด้วยกับดวงตาแห่งจิตวิญญาณ
- คุณลักษณะต่างๆของพระผู้เป็นเจ้าถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่หลายหมวดหมู่ในหมวดหมู่นี้ได้แบ่งคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าออกเป็นสองประเภทคือ“ศีฟาตซาตียะฮ์” และ”ศีฟาต ฟิอ์ลียะฮ์”
    - “ศีฟาตซาตียะฮ์” คือคุณลักษณะที่มีมาแต่เดิม อยู่คู่กับ”ซาต”ตัวตนของพระองค์มาแต่เดิม อย่างเช่น
“ฮายาต” ผู้ทรงดำรงอยู่มีมาแต่เดิมและดำรงอยู่ตลอดไป
“อิลม์” ผู้ทรงรอบรู้ มีความรู้มีมาแต่เดิม
“กุดเราะฮ์” อำนาจ พลัง เดชานุภาพ
    - “ศีฟาต ฟิอ์ลียะฮ์” คือคุณลักษณะที่มีมาแต่เดิมเช่นเดียวกันแต่ถูกสำแดงให้เห็นเมื่อเกิดการกระทำของพระองค์  เป็นความสัมพันธ์จำเพาะระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับสรรพสิ่ง เช่นความสัมพันธ์ในการทำให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นในขณะที่ก่อนหน้านั้นสรรพสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ก่อน จากตรงนี้ทำให้มนุษย์รู้จักพระผู้เป็นเจ้าในนามของ “คอลิก” พระผู้สร้าง เป็นคุณลักษณะเกิดมาจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นภายหลังที่พระองค์มีการกระทำของพระองค์ อย่างเช่น
“คอลิกียะฮ์” พระผู้ทรงสร้าง พระองค์ถูกรู้จักในนามพระผู้สร้างภายหลังที่พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง ทรงสร้างมนุษย์
“รูบูบียะฮ์” ผู้ทรงบริหาร บริบาล อภิบาล และในการบริหารก็มีคุณลักษณะที่แตกย่อยไปอีก เช่น
“อัรรอซิก”ผู้ทรงประทานปัจจัยยังชีพ
“อัลมุฮฺยี”ผู้ทรงให้ชีวิต  
“อัลมุมีต”ผู้ทรงให้ความตาย
“อัลฮาดี”ผู้ทรงชี้นำทาง
“อัลมาลิก“ ผู้ทรงเอกสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของ หลังจากที่พระองค์สร้างสรรพสิ่งขึ้นมา พระองค์ก็เป็นเจ้าของสิ่งนั้น และคุณลักษณะอื่นๆอีกมากมาย
    ใน”ศีฟาตซาตียะฮ์”(คุณลักษณะที่อยู่คู่กับอาตมันของพระองค์) มีศีฟาตหลักๆอยู่สามศีฟาตคือ “ฮายาต” (ผู้ทรงดำรงอยู่) “อิลมฺ”(ทรงรอบรู้) และ “กุดเราะฮ์” (ผู้ทรงอำนาจเดชานุภาพ)
- “อัลฮายาต” ผู้ทรงดำรงอยู่ ศีฟัตที่แตกย่อยออกมาคือ “อัลมุฮฺยี” ผู้ทรงให้ชีวิต ผู้ที่จะให้ชีวิตสิ่งอื่นได้นั้นต้องมีชีวิตก่อน “ อัลกอยยูม” ผู้ทรงยืนหยัดอย่างแท้จริง อย่างยาวนานตลอดไป จะเป็น “อัลกอยยูม”(ผู้ทรงดำรงอยู่อย่างตลอดไป)ได้ ก็หมายความว่าต้องมีชีวิตอยู่ด้วย “ฮายาต” (ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่) ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักฮายาตของพระผู้เป็นเจ้ามนุษย์ต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า“ฮายาต” ชีวิตก่อนซึ่งใช้ในสองความหมายด้วยกัน
   1 “พืช” ใช้กับพืชหมายถึงการเจริญเติบโต สิ่งใดก็แล้วแต่ที่มีการเจริญเติบโตด้วยตัวของมันเอง ตัวอย่างของต้นไม้จากเมล็ดค่อยๆเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบรูณ์ แต่บ้านไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีสิ่งมีชีวิตเพราะว่าบ้านไม่ได้เจริญเติบโตด้วยตัวของมันเอง บางครั้งอาจจะเจริญอย่างเดียวแต่ไม่โตก็ได้ ตัวอย่างเช่นต้นไม้ที่โตเต็มที่ไม่เติบโตอีกแล้วแต่ยังให้ผลให้ดอกอยู่เสมอเรียกว่าเจริญ
   2 “สัตว์” ใช้กับสัตว์หมายถึงการมี “ชูอูร” การรับรู้ และ “อิรอดัต” ความประสงค์ ความต้องการ และการมีชีวิตของมนุษย์อยู่ในนิยามอันนี้เช่นกัน นิยามของชีวิตระหว่างมนุษย์กับสัตว์นั้นไม่มีความแตกต่างกันคือ มี”ชูอูร"”และ “อิรอดัต” เหมือนกัน  มีการรับรู้และความต้องการเหมือนกัน สัตว์มีความรับรู้และความต้องการมนุษย์ก็มีความรับรู้และความต้องการ แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์คือ จาก”ชูอูร” การรับรู้ของมนุษย์ทำให้เกิด “อักลฺ”สติปัญญาที่สูงส่งขึ้นมา เมื่อมนุษย์มีสติปัญญาความต้องการของเขาก็จะดีงามและประเสริฐไปด้วยเช่นกัน มนุษย์มีความประเสริฐกว่าสัตว์ สัตว์ไม่รู้จักความเสียสละแต่มนุษย์รู้จักความเสียสละ มนุษย์รู้จักความเมตตาแต่สัตว์ไม่มีความรู้สึกไม่แคร์สิ่งใดๆ  
     ดังนั้นถามว่าจากนิยามอันใดที่สามารถใช้กับ “ฮายาต” ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าได้ นิยามที่ใช้กับพืชนั้นไม่สามารใช้ได้เพราะพระองค์ได้เพราะทรง”กามิล”ทรงสมบรูณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องการการ”ตากามุล”การพัฒนาไปสู่ความสมบรูณ์ใดๆอีก การเจริญเติบโตคือการพัฒนาไปสู่ความสมบรูณ์ ส่วนนิยามที่ใช้กับสัตว์และมนุษย์นั้นสามารถใช้กับพระผู้เป็นเจ้าได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงความหมายทั่วไป ไม่ใช่ความหมายที่ใช้กับสัตว์และมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง เพราะ “ชูอูร” และ “อิรอดัต” การรับรู้และความต้องการของสัตว์และมนุษย์มีขอบเขตจำกัดเป็นเรื่องของวัตถุและมีจุดสิ้นสุด สัตว์และมนุษย์มีความต้องการมีความปรารถนาแต่ในความเป็นจริงบางครั้งสิ่งเหล่านี่อาจจะไม่ได้รับตามความปรารถนาของพวกเขา เป็นความต้องการความปรารถนาที่มีขอบเขต ตัวย่างเช่นไม่มีมนุษย์คนใดต้องการเจ็บไข้ได้ป่วยแต่ก็ยังเจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่มีมนุษย์คนใดต้องการความยากจน แต่ยังมีคนจนอยู่    
    การมีชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้เกิดจากมี “รูฮฺ” จิตวิญญาณ และ”บาดัน” ร่างกายรวมกัน ถ้าแยกออกจากันเมื่อไรชีวิตในโลกนี้ก็จบสิ้นลง เมื่อชีวิตจบ “ชูอูร” และ “อิรอดัต” การรับรู้และความปรารถนาก็จบลงด้วยเช่นเดียวกัน แต่บนนิยามอันนี้ยังมีชีวิตอันอื่นอีกที่สูงส่ง  คือชีวิตที่เรียกว่า”มุญัรรอด” คือชีวิตที่อยู่เหนือวัตถุ ชีวิตที่นิรันดร์ ชีวิตที่บริสุทธิ์ ก็คือชีวิตของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นชีวิตที่มี “ชูอูร” และ “อิรอดัต” เป็นชีวิตที่มีการรับรู้และความต้องการความประสงค์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายถึงความหมายที่ใช้กับสัตว์และมนุษย์  การรับรู้และความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีขอบเขตใดๆมาจำกัด เป็นชีวิตที่ไม่ใช่วัตถุ ตัวอย่างของชีวิตที่ไม่ใช่วัตถุเช่น ชีวิตของ “มาลาอิกะฮ์” (เทวทูต) และ “รูฮ์” (จิตวิญญาณ) ในความเป็นจริงแล้ว ”รูฮ์” ไม่ใช่ตัวตนของชีวิต “รูฮ์” คือที่ที่ตัวตนของชีวิตอาศัยอยู่ในมัน วันหนึ่ง”รูฮ์” ก็ต้องตาย วันหนึ่งตัวตนของชีวิตจะออกจาก “รูฮ์”  เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถรับตัวตนของชีวิตได้โดยตรง ต้องเอาตัวตนของชีวิตใส่ไปใน “รูฮ์” ก่อนแล้วจึงเอา “รูฮ์” ใส่ในร่างกายของมนุษย์ในวันกียามัต “รุฮ์” ก็ต้องตายอีกครั้งหนึ่ง
     ชีวิตที่ไม่ใช่วัตถุเรียกว่า “มุญัรรอด”  เช่นชีวิตของมาลาอิกะฮ์(เทวฑูต) ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้มาจากการเชื่อโดยจำนนจากคำสอนทางศาสนา(อิลมุลตะอับบุดี) หมายถึงชีวิตต่างๆที่ไม่มีวัตถุ และมีชีวิตที่ไม่ใช่วัตถุอันหนึ่งที่สูงส่งที่สุดซึ่งเป็นชีวิตของ “วาญิบุลวูญูด” หรือพระผู้เป็นเจ้าเพราะได้ทำความเข้าใจไปแล้วว่าวาญิบุลวูญูดเป็นสิ่งอยู่เหนือกฏเกณฑ์ของวัตถุทั้งหมด การมีของมันมีมาแต่เดิม มีด้วยตนเอง มีอยู่ตลอดไป มีโดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งใด และชีวิตที่ไม่ใช่วัตถุ “มุญัรรอด” ของมาลาอิกะฮ์” และ”รูฮ์” ซึ่งทั้งมาลาอิกะฮ์และรูฮ์เป็น “มุมกินุลวูญูด” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมา  
     ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นอันเดียวกันกับอาตมัน(ซาต)ของพระองค์ ไม่ได้แยกออกจากอาตมันของพระองค์ แต่ชีวิตของมนุษย์และสัตว์เป็นชีวิตที่แยกออกจากตัวตนของมันที่ถูกเพิ่มเข้ามาที่หลัง ทั้งสองเพิ่งมีชีวิตในตอนที่มันถูกทำให้เกิดขึ้นมาและจะแยกออกจากมันอีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาตาย
 - ฮายาต ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าจากทัศนะของอัลกุรอาน
ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 255
اللَّهُ لَا إِلَاهَ إِلَّا هُوَ الْحَىُّ الْقَيُّومُ  لَا تَأْخُذُهُ سِنَةٌ وَ لَا نَوْمٌ
“พระองค์อัลลลฮ์ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงดำรงอยู่และทรงบริหารกิจการทั้งหลาย”
ซูเราะฮ์อัลฆอฟิรโองการที่ 65
هُوَ الْحَىُّ لَا إِلَاهَ إِلَّا هُوَ فَادْعُوهُ مخُْلِصِينَ لَهُ الدِّين‏
“พระองค์คือผู้ทรงมีชีวิต ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ดังนั้นจงวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของพระองค์”
    สองโองการดังกล่าวบ่งชี้ว่าชีวิตที่แท้จริงนั้นเป้นของอัลลอฮ์(ซบ)เท่านั้น และอัลกุรอานยืนยันว่าผู้ที่ให้ชีวิตกับชีวิตอื่นๆนั้นคืออัลลอฮ์เท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในสรรพสิ่งใดๆ ชีวิตของอัลลอฮ์อันเดียวกับอาตมันของพระองค์ มีมาแต่เดิมจะมีอยู่ตลอดไปและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งในอีกโองการหนึ่งก็ได้ยืนยันไว้ ในซูเราะฮ์อัลฟุรกอนโองการที่ 58
وَ تَوَكَّلْ عَلىَ الْحَىّ‏ِ الَّذِى لَا يَمُوت‏
“และเจ้าจงหมอบหมายต่อผู้ทรงชีวิตตลอดกา ผู้ซึ่งความตายไม่สามารถเกิดขึ้นกับพระองค์ได้”
     โองการดังกล่าวยืนยันว่าชีวิตของอัลลอฮ์(ซบ)เป็นชีวิตที่ไม่มีวันตาย ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะและสมควรยิ่งที่มนุษย์จะมอบหมายต่อพระองค์เพราะถ้าหากมนุษย์มีที่พึ่งพิงเช่นนี้ซึ่งเป็นผู้ที่การสูญสิ้นและการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นกับพระองค์ ชีวิตของมนุษย์ก็จะมีความสงบนิ่งมั่นคง จะเห็นได้ว่าอีกคุณลักษณะหนึ่งของอัลลอฮ์(ซบ)ที่ถูกกล่าวพร้อมกับฮายาตอยู่เสมอๆคือ “อัลกอยยูม” ซึ่งมีความหมายว่าสิ่งมีอยู่ที่การมีอยู่ของสรรพอื่นๆต้องพึ่งพิงไปยังมันซึ่งจะเห็นได้ว่าซิกร์หนึ่งที่เป็นที่แพร่หลายคือซิกร์ “ยาฮัยยุลกอยยูม”
ท่านอิมามอาลี(อ)ได้กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบาลาเฆาะฮ์คุฏบะฮ์ที่ 160 ถึงเป้าหมายในการรู้จักถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์(ซบ)คือการรู้จัก “ฮายาตและกอยยูม” ของพระองค์
فَلَسْنَا نَعْلَمُ كُنْهَ عَظَمَتِكَ إِلَّا أَنَّا نَعْلَمُ أَنَّكَ حَيٌّ قَيُّومُ لَا تَأْخُذُكَ سِنَةٌ وَلَا نَوْمٌ
“เราไม่สามารถรู้และเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้ทั้งหมด สิ่งเดียวที่เรารู้คือพระองค์ทรงมีชีวิตและดำรงอยู่ตลอดไป ความง่วงและการหลับไม่สามารถเกิดขึ้นกับพระองค์ได้”
อีกฮาดิษหนึ่งจากท่านอิมามมูซาอัลกาซิม(อ) จากอูศูลุลกาฟี เล่มที่ 1 หน้า 116
و کان الله حیا بلا حیاه حادثه و لا کون موصوف ولا کیف محدود ولا این موقوف ولا مکان ساکن بل حى لنفسه
“อัลลอฮ์ผู้ทรงดำรงอยู่ซึ่งดำรงมาแต่เดิมไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ และเป็นเอกเทศโดยที่ประมีคุณลักษณะใดเพิ่มยังพระองค์ได้ ชีวิตของพระองค์ไม่ต้องการที่อยู่ไม่ต้องการเวลาไม่ต้องการสถานที่ แต่ทว่าพระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ด้วยกับซาตของพระองค์เอง”

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)