เตาฮีด 15 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

เตาฮีด 15 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

 


รูบูบียะฮ์ การอภิบาลบริหารของพระผู้เป็นเจ้า


      “รูบูบียะฮฺ”  การอภิบาล การบริหาร  ส่วนผู้ที่อภิบาลนั้นเรียกว่า “รอบบุน” หมายถึงผู้อภิบาลที่มี “อิคติยาร” สิทธิ์เสรีและความเป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์ปรารถนาสิ่งใดพระองค์ก็สร้างมารถทำได้ในทันที การเป็นผู้อภิบาลที่สมบูรณ์นั้นต้องมีความเป็นเจ้าของ “ลาลิกียะฮ์” อย่างแท้จริงด้วย เพราะถ้าหากไม่ได้เป็นเจ้าของสรรพสิ่งนั้นๆอย่างแท้จริงก็ไม่สามารถอภิบาลสรรพสิ่งได้อย่างเอกเทศและสมบูรณ์
- พิสูจน์ความเป็นผู้อภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ)
1 การอภิบาลที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้นั้นเมื่อผู้อภิบาลเป็นเจ้าของสรรพสิ่งอย่างแท้จริงด้วย ถ้าหากไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริงไม่สามารถอภิบาลสรรพสิ่งได้อย่างเป็นเอกเทศและสมบูรณ์ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงของสรรพสิ่งก็คือพระผู้สร้างสรรพสิ่งเหล่าขึ้นมาและสรรพสิ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของพระผู้สร้าง ดังนั้นเมื่อผู้อภิบาลคือผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงก็คือผู้สร้าง ดังนั้นผู้อภิบาลก็คือผู้เดียวกับพระผู้สร้าง และได้พิสูจน์ไปแล้วว่าพระผู้สร้างมีเพียงหนึ่งเดียวก็คืออัลลอฮ์ดังนั้นก็หมายความว่าพระผู้อภิบาลก็มีแค่หนึ่งเดียว  
2 “รูบูบียะฮ์” คือการบริหารการอภิบาลการจัดระบบระเบียบ สมมุติว่ามีพระผู้อภิบาลหลายองค์ และแต่ละองค์ก็มีอำนาจอภิบาลเป็นของตัวเองอย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าพระผู้อภิบาลแต่ละองค์มีระบบจักรวาลเป็นของตัวเอง ในขณะที่เห็นได้ว่าในความเป็นจริงระบบระเบียบจักรวาลอยู่ภายใต้อำนาจหนึ่งเดียว มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้ความเป็นหนึ่งเดียวกันของระบบจักรวาลที่ยืนยันว่าพระผู้อภิบาลที่แท้จริงของมันหนึ่งมีแค่หนึ่งเดียว  นั่นก็คืออัลลอฮ์(ซบ) และโองการที่มาสำทับคือซูเราะฮอัมบิยาอ์ โองการที่ 22
لَوْ كاَنَ فِيهِمَا ءَالهَِةٌ إِلَّا اللَّهُ لَفَسَدَتَا  فَسُبْحَانَ اللَّهِ رَبّ‏ِ الْعَرْشِ عَمَّا يَصِفُون‏
 “ถ้าหากในชั้นฟ้าและแผ่นดินมีพระเจ้าอื่นนอกจากอัลลอฮ์แล้วมันทั้งสองจะพินาศอย่างแน่นอน อัลลอฮ์ผู้อภิบาลแห่งบัลลังก์ มหาบิริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขาเสกสรรปั้นแต่ง”
    การเป็นผู้อภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ)หมายถึง การนำสิ่งต่างๆไปสู่ความสมบรูณ์ของมัน การนำสิ่งต่างไปสู่ความ “กามาล”ของสิ่งนั้นๆ ทั้งความสมบรูณ์ทางด้านวัตถุและความสมบรูณ์ทางด้านจิตวิญญาณ ผู้ที่สามารถบริหารอภิบาลสิ่งต่างได้ดีที่สุดคือผู้ที่ได้สร้างสรรพสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพราะรู้กลไกรายละเอียดของสิ่งนั้นดีที่สุด ตัวอย่างเช่นพ่อแม่ที่ให้กำเนิดบุตรขึ้นมา พ่อแม่ย่อมรู้จักบุตรของตัวเองดีที่สุด รู้จักลักษณะนิสัยของบุตรดีที่สุด พ่อแม่รู้วิธีการจัดการและอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูที่ดีที่สุดที่ ดังนั้นอัลลอฮ์(ซบ)ก็เช่นกันสรรพสิ่งต่างนั้นเกิดขึ้นมาจากการสร้างของพระองค์ และแน่นอนว่าพระองค์คือผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าจะอภิบาลสรรพสิ่งนั้นๆอย่างไรพระองค์รู้ดีว่าจะนำสรรพสิ่งเหล่านั้นไปสู่ความสมบูรณ์อย่างไร  พระองค์คือ “รอบบุลอาละมีน” พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล หมายถึงพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหมดขึ้นมาและทรงอภิบาลด้วยตนเอง     การอภิบาลและการสร้างนั้นต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การอภิบาลที่สมบรูณ์จะเกิดขึ้นได้นั้นเมื่อพระผู้อภิบาลและพระผู้สร้างคือผู้เดียวกัน   “มนุษย์ควรมอบการเคารพภักดีแก่พระผู้เป็นเจ้าที่สร้างเขามาและทรงอภิบาลเขาไปสู่ความสมบรูณ์”
   -  การ “รูบูบียะฮ์” การอภิบาล การบริหารของพระองค์นั้นแบ่งออกเป็นสองประเภท
- “รูบูบียะฮ์ตัชรีอี” หมายถึงการวางชารีอัต กฎเกณฑ์ บทบัญญัติทางศาสนา เพื่อชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสมบรูณ์ของความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่นการส่งบรรดาศาสดาลงมาชี้นำ อบรม สั่งสอนมนุษย์ แจ้งข่าวดี แจ้งถึงบทลงโทษที่หนักหน่วง สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งใดที่ต้องห้าม การอภิบาลแบบนี้นั้นใช้กับสิ่งที่มีชีวิตที่มีการรับรู้และความปรารถนา(ชูอูรและอิรอดะฮ์) ซึ่งก็คือมนุษย์และญิน และนำคำสอนต่างๆของศาสดานั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ เช่นการห้ามกินของสิ่งที่เป็นนายิส “สิ่งที่สกปรกตามหลักการศาสนา” ซึ่งจะมีผลเสียทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ทำให้เป็นโรคร้ายต่างๆและทำให้จิตวิญญาณมืดบอด หรือบทบัญญัติเรื่องของการนมาซ ถือศีลอด การเคารพภักดีพระองค์หรืออิบาดัตอื่นๆเพื่อเป็นอาหารทางจิตวิญญาณเพื่อให้มนษย์พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งสิ้น  เป็นการขัดเกลาจิตวิญญาณของมนุษย์เช่นเป้าหมายและมรรคผลของนมาซที่ปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮ์ฏอฮาโองการที่ 15
وَ أَقِمِ الصَّلَوةَ لِذِكْرِى‏
“จงนมาซเพื่อรำลึกถึงฉัน”
ซูเราะฮ์อัลอังกาบูต โองการที่ 45
إِنَّ الصَّلَوةَ تَنهَْى‏ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَ الْمُنكَرِ
 “แท้จริงการนมาซจะยับยั้งจากความชั่วและความโสมม”  
ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 45
وَ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبرِْ وَ الصَّلَوةِ  وَ إِنهََّا لَكَبِيرَةٌ إِلَّا عَلىَ الخَْاشِعِين‏
“จงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซเถิด แท้จริงการนมาซนั้นเป็นสิ่งยิ่งใหญ่นอกจากผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น”
ซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูน โองการที่ 1-2
      الَّذِينَ هُمْ فىِ صَلَاتهِِمْ خَاشِعُون‏      ‏ قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُون
“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นได้ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ซึ่งมีความนอบน้อมถ่อมตนในนมาซของพวกเขา”
- “รูบูบียะฮ์ตักวีนี”  คือการอภิบาล การบริหารทางธรรมชาติ เช่นการทำให้เกิด การทำให้ตาย การทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น การทำให้ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การทำให้เกิดกลางวันกลางคืน การทำให้ฝนตกแดดออกหิมะตก หรือเกิดสัยุปราคาจันทรุปราคา การทำให้ดวงดาวต่างๆโคจร การทำให้เกิดเป็นมนุษย์ การทำให้เป็นผู้หญิง การทำให้เป็นผู้ชาย
- ความเป็นเอกะในการอภิบาลของพระผู้เป็นเจ้าจากทัศนะของอัลกุรอาน
อัลกุรอานได้เน้นถึงความเป็นเอกะในการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) ด้วยคำว่า พระผู้อภิบาลของทุกๆสรรพสิ่ง “รอบบุลอาละมีน” “رَبّ‏ِ الْعَلَمِين‏” ซึ่งปรากฏอยู่ในอัลกุรอานเป็นจำนวนหลายครั้ง และคำว่า “รอบบุน” เพียงอย่างเดียวปรากฏอยู่ในอัลลกุรอานเกือบหนึ่งพันครั้ง สรุปคือทุกๆสรรพสิ่งอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระองค์ อัลลอฮ์(ซบ) ได้บัญชาแก่ท่านศาสดามูฮํมมัด(ศล) ว่าให้แนะนำพระองค์ในถานะพระผู้อภิบาลแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดินทั้งหลาย ในซูเราะฮ์อัรเราะด์ โองการที่ 16
قُلْ مَن رَّبُّ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ قُلِ الله‏
“จงกล่าวเถิดโอ้มูฮัมมัด ใครคือพระผู้อภิบาลแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน จงกล่าวเถิด อัลลอฮ์”
   อย่างไรก็ตามความเป็นผู้อภิบาลองพระองค์นั้นไม่ได้เฉพาะอยู่แค่ชั้นฟ้าและแผ่นดินแต่หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหมด
ซุเราะฮ์อัศอฟฟาต โองการที่ 125 126
أَ تَدْعُونَ بَعْلًا وَ تَذَرُونَ أَحْسَنَ الخَْالِقِين اللَّهَ رَبَّكمُ‏ْ وَ رَبَّ ءَابَائكُمُ الْأَوَّلِين‏‏
“พวกท่านเคารพสักการะเทวรูปและทอดทิ้งการนมัสการอัลลอฮ์ผู้ทรงสร้างที่ดีที่สุดกระนั้นหรือ” “อัลลอฮ์คือพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าและพระผู้อภิบาลบรรพบุรุษของพวกเจ้าแต่เก่าก่อน”
    เห็นได้ว่าอัลกุรอานได้ปฏิเสธการอภิบาลที่เป็นเอกเทศของสิ่งอื่นทั้งหมด
    หนึ่งในภารกิจหลักของบรรดาศาสดาคือการใช้เหตุผลในการยืนยันถึงความเป็นเอกะในการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) ตัวอย่างหนึ่งจากท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ) เรื่องราวการถกเถียงโต้แย้งระหว่างท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)กับพระราชาองค์หนึ่งซึ่งตามฮาดีษหมายถึงนัมรูดเรื่องราวดังกล่าวปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 258
أَ لَمْ تَرَ إِلىَ الَّذِى حَاجَّ إِبْرَاهِمَ فىِ رَبِّهِ أَنْ ءَاتَئهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِمُ رَبىّ‏َِ الَّذِى يُحْىِ وَ يُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْىِ وَ أُمِيتُ  قَالَ إِبْرَاهِمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتىِ بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بهَِا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِى كَفَرَ  وَ اللَّهُ لَا يهَْدِى الْقَوْمَ الظَّالِمِين‏
“เจ้า(มูฮัมมัด) มิได้มองดูผู้ที่โต้แย้งกับอิบรอฮีมในเรื่องพระผู้อภิบาลของเขาดอกหรือ เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงให้เขาเป็นพระราชา และเขาได้โต้แย้งกับท่านศาสดาอิบรอฮีมในเรื่องพระผู้อภิบาล อิบรอฮีมได้กล่าว่า พระผู้เป็นเจ้าของฉันคือผู้ให้ชีวิตและผู้ทำให้ตาย และเขาก็กล่าวว่าข้าก็ให้ชีวิตและให้ตายได้ อิบรอฮีมกล่าว่าแท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันนั้นทรงให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออก ดังนั้นท่านจงทำให้มันขึ้นจากขึ้นตะวันตกเถิด และผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นได้รับความงงงวย และอัลลอฮ์จะไม่ทรงนำทางบรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย”
    จากโองการดังกล่าวนัมรูดได้อ้างว่าเขาเป็นพระผู้อภิบาลองค์หนึ่งเทียบเคียงอัลลอฮ์ ท่านศาสดาอิบรอฮีมต้องการที่จะพิสูจน์ว่านัดรูดไม่ใช่พระผู้อภิบาลที่แท้จริง โดยชี้ให้เห็นสถานะภาพและอำนาจของอัลลอฮ์(ซบ)ซึ่งได้กล่าว่า พระผู้อภิบาลของฉันคือผู้ที่ให้ชีวิตและผู้ให้ความตายที่แท้จริง นัมรูดได้แสดงความเจ้าเลห์โดยสั่งให้ทหารไปนำตัวนักโทษจากคุกมาสองคนและได้ปล่อยคนหนึ่งให้เป็นอิสระและอีกคนหนึ่งนัดรูดสั่งให้ฆ่า และด้วยด้วยการกระทำนี้นัมรูดได้อ้างว่าตัวเองก็สามารถให้ชีวิตและสามารถทำให้ตายได้ ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาอิบรอฮีมได้กล่าวถึงอำนาจในการอภิบาลของพระผู้เป็นเจ้าอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนว่านัมรูดไม่สามารถทำได้ ท่าศาสดาอิบรอฮีมได้ชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ และได้กล่าวว่าพระผู้อภิบาลของฉันทรงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออก ถ้าหากท่านคือพระผู้อภิบาลและมีอำนาจจริงก็จงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันตก เมื่อมาถึงตรงนี้นัดรูดก็นิ่งเงียบต่อหลักฐานและเหตุผลที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมนำมาไม่สามารถตอบคำถามต่อไปได้ ก็เป็นที่เพียงในการพิสูจน์ว่าอำนาจในการอภิบาลอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นของอัลลอฮ์แต่เพียงผู้เดียว

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)