เตาฮีด 20 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

เตาฮีด 20 (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

 

(  การตั้งภาคีและการทำบาป )
    จากการพิจารณาไปยังผลต่างๆของการตั้งภาคีที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของมนุษย์ แหล่งกำเนิดของความผิดบาปต่างๆ แหล่งกำเนิดของความชั่วร้ายต่างๆล้วนมาจากการตั้งภาคี การทำบาปหมายถึงการที่มนุษย์ปฏิบัติตามคำสั่งของสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์(ซบ) ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ตรงกับความพึ่งพอใจของอัลลอฮ์(ซบ) บางครั้งสิ่งที่เขาปฏิบัติตามอาจจะเป็น ไชฏอน กิเลสใฝ่ตำ มนุษย์ที่ชั่วร้าย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การทำบาป แก่นแท้ของการทำบาปคือการดื้อดึงและละเมิดคำสั่งของอัลลอฮ์(ซบ) ซึ่งรากฐานของการเกิดความบาปทั้งหมดนั้นมาจากการตั้งภาคีในการอิบาดัต แต่ทว่าบุคคลที่มีความศรัทธาต่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติอิบาดัตแล้วในการปฏิบัติของเขาคือการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์(ซบ) และคำสั่งของบุคคลที่อัลลอฮ์(ซบ) มีความพึ่งพอใจต่อพวกเขาเท่านั้น และเขาจะไม่ก้มหัวให้กับคำสั่งของสิ่งอื่นๆ จากการพิจารณาเห็นได้ว่ารากเหง่าและแหล่งกำเนิดของบาปต่างๆคือการตั้งภาคีซึ่งตรงกันข้ามกับการศรัทธาต่อความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และความศรัทธาต่อพระอวเจ้าองค์เดียวสามารถเป็นพลังช่วยให้มนุษย์ละทิ้งบาปต่างๆได้ และจะปกป้องมนุษย์จากปฏิบัติตามสิ่งอื่นนอกจากพระองค์   
  -  เนื้อหาอื่นๆเกี่ยวกับการตั้งภาคีจากทัศนะของอัลกุรอาน
1.อัลกุรอานได้ปฏิเสธการมีภาคีของพระองค์ไว้อย่างชัดแจ้ง
ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 162 163
قُلْ إِنَّ صَلَاتىِ وَ نُسُكِى وَ محَْيَاىَ وَ مَمَاتىِ لِلَّهِ رَبّ‏ِ الْعَالَمِين‏
لَا شرَِيكَ لَهُ  وَ بِذَالِكَ أُمِرْتُ وَ أَنَا أَوَّلُ المُْسْلِمِين‏
“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด(ศ็อล) แท้จริงการนมาซของฉันและการอิบาดัตของฉันและการมีชีวิตของฉันและการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮ์(ซบ)พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล” “ไม่มีภาคีใดๆแก่พระองค์และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกบัญชาและข้าพระองค์คือบุคคลแรกจากในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย”
    โองการดังกล่าวท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) ได้รับบัญชาให้ประกาศถึงความความบริสุทธิ์ที่สมบูรณ์ในการปฏิบัติอิบาดัต และหลักจากนั้นก็ได้อธิบายต่อว่าไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธถึงภาคีทุกประเภท ไม่ว่าภาคีในอาตมันของพระองค์ ภาคีในการกระทำของประองค์ ภาคีในการอิบาดัตต่อพระองค์ ภาคีในการอภิบาลของพระองค์ ภาคีในการสร้างของพระองค์ ภาคีในการวางบทบัญญัติของพระองค์ กล่าวโดยรวมคือพระองค์บริสุทธิ์จากทุกภาคี และอัลกุรอานอีกจำนวนหนึ่งปฏิเสธการมีหุ้นส่วนการมีภาคีในการปกครองของพระองค์ ในซูเราะฮ์อัลอิสรออ์ โองการที่  111
وَ قُلِ الحَْمْدُ لِلَّهِ الَّذِى لَمْ يَتَّخِذْ وَلَدًا وَ لَمْ يَكُن لَّهُ شَرِيكٌ فىِ الْمُلْكِ وَ لَمْ يَكُن لَّهُ وَلىِ‏ٌّ مِّنَ الذُّلّ‏ِ  وَ كَبرِّْهُ تَكْبِيرَا
“และจงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด การสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์(ซบ)ซึ่งไม่ทรงตั้งพระบุตรและมีภาคีใดๆรวมกับอำนาจของพระองค์”
 2.การตั้งภาคีคือความเชื่อที่ไม่มีรากฐานที่มั่นคงใดๆ จากทัศนะของอัลกุรอานการตั้งภาคีทั้งหมดมาจากรากฐานที่ไม่มีวิทยะปัญญาใดๆ อย่างเช่นจากซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 151
سَنُلْقِى فىِ قُلُوبِ الَّذِينَ كَفَرُواْ الرُّعْبَ بِمَا أَشرَْكُواْ بِاللَّهِ مَا لَمْ يُنزَِّلْ بِهِ سُلْطَنًا
“เราจะโยนความกลัวเข้าไปในหัวใจของบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นเนื่องจากการที่พวกเขาให้มีภาคีแก่อัลลอฮ์(ซบ) ซึ่งพระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆมายืนยันในสิ่งนั้น...”
ซูเราะฮ์อัลฮัญจ์ โองการที่ 71
وَ يَعْبُدُونَ مِن دُونِ اللَّهِ مَا لَمْ يُنزَِّلْ بِهِ سُلْطَانًا
“และพวกเขาเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์(ซบ)ซึ่งพระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆลงมาแก่พวกเขา”
   สองโองการดังกล่าวได้ยืนยันว่าความเชื่อของบรรดาผู้ตั้งภาคี และวิถีชีวิตของพวกเขาวางอยู่บนความไร้วิทยะปัญญาใดๆ เป็นความเชื่อเป็นวิถีชีวิตที่ไม่มีหลักฐานทางสติปัญญามารับรอง
3.การตั้งภาคีคือบาปที่ไม่ได้รับการอภัย โองการอัลกุรอานจำนวนหนึ่งยืนยันว่าการตั้งภาคีเป็นบาปเดียวที่ไม่รับการอภัย ซูระฮ์อันนิสาอ์ โองกางที่ 48
إِنَّ اللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَ يَغْفِرُ مَا دُونَ ذَالِكَ لِمَن يَشَاءُ  وَ مَن يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدِ افْترََى إِثْمًا عَظِيمًا
“แท้จริงอัลลอฮ์(ซบ)จะทรงไม่อภัยโทษแก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้ภาคีขึ้นแก่พระองค์และพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่สิ่งอื่นนอกจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮ์(ซบ)แน่นอนเขาได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น”
    โองการดังกล่าวได้แยกการตั้งภาคีจากบาปอื่นๆถ้าหากเอาบาปต่างๆวางไว้บนตาชั่งฝั่งหนึ่งและการตั้งภาคีวางไว้อีกฝั่งหนึ่งแน่นอนว่าการตั้งภาคีมีน้ำหนักที่มากกว่า
4.จุบจบของการตั้งภาคี
    อัลกุรอานได้เตือนและแจ้งข่าวร้ายแก่บรรดาผู้ตั้งภาคีว่าจะประสบกับบั้นปลายที่เลวร้าย ผลร้ายหนึ่งของการตั้งภาคีคือจะทำให้อามั้ลการกระทำและรางวัลความดีของมนุษย์นั้นสูญเปล่า ถ้าหากบุคคลหนึ่งตลอดชีวิตเขาอยู่กับการปฏิบัติอิบาดัตต่ออัลลอฮ์(ซบ)และทำความดีต่างๆแต่ในช่วงปั้นปลายของชีวิตเขาได้ตั้งภาคีขึ้นกับอัลลอฮ์(ซบ)และได้จากโลกนี้ไปในสภาพของผู้ตั้งภาคี การกระทำรางวัลแห่งความดีของเขาก็จะสูญเปล่า ในซูเราะฮ์อัซซุมัร โองการที่ 65 ได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้
وَ لَقَدْ أُوحِىَ إِلَيْكَ وَ إِلىَ الَّذِينَ مِن قَبْلِكَ لَئنِ‏ْ أَشْرَكْتَ لَيَحْبَطَنَّ عَمَلُكَ وَ لَتَكُونَنَّ مِنَ الخَْاسِرِين‏
“และแน่นอนเราได้มีวะฮีมายังเจ้า(มูฮัมหมัด)และมายังบรรดาศาสดาก่อนหน้าเจ้าหากเจ้าตั้งภาคีกับอัลลอฮ์(ซบ)แน่นอนการงานของเจ้าก็จะสูญเปล่าและแน่นอนเจ้าจะอยู่ในหมู่ชนผู้ขาดทุน”
    เป็นที่แน่นอนว่าเป้าหมายคู่สนทนาที่แท้จริงที่ของพระองค์
ประชาชาติของบรรดาศาสดาต่างๆ แต่ทว่าเพื่อจะเน้นถึงผลร้ายของการตั้งภาคีอัลกุรอานได้ยกตัวอย่าง (ถึงแม้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้) ว่าแม้แต่บรรดาศาสดาถ้าหากทำการตั้งภาคีความเหน็ดเหนื่อยในการเผยแพร่และความดีทั้งหมดก็จะสูญเปล่าและสุดท้ายก็จะพบกับความขาดทุน และอัลกุรอานได้อธิบายว่าจุดจบของการตั้งภาคีคือการที่จะตกเป็นชาวนรก ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 72
إِنَّهُ مَن يُشرِْكْ بِاللَّهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَ مَأْوَئهُ النَّارُ  وَ مَا لِلظَّلِمِينَ مِنْ أَنصَار
“แท้จริงผู้ใดให้มีภาคีแก่อัลลอฮ์(ซบ)แน่นอนพระองค์จะให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา และที่พำนักของเขาคือนรก และจะไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆสำหรับบรรดาผู้อธรรม”
    เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุต่างๆของการเกิดชีริกการตั้งภาคีที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและกว้างขว้าง โยเฉพาะการตั้งภาคีที่เกดขึ้นจากบรรดาผู้นำผู้ปกครองที่อรรม (ฏอฆูต) ซึ่งจะส่งผลกว้างขว้างเป็นอย่างมาก ดังนั้นเห็นได้ว่าภารกิจแรกภารกิจกิจหลักหนึ่งของบรรดาศาสดาหลังจากที่เชิญชวนมนุษย์เช้าสู่การศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียวแล้วคือการนำมนุษย์ออกห่างจากการตั้งภาคี หนึ่งในสาเหตุหลักสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการตั้งภาคีในสังคมมาจากผู้นำผู้ปกครองที่อธรรม “ฏอฆูต” ซึ่งในซูเราะฮ์อันนะล์ โองการที่ 36 ได้กล่าวไว้
وَ لَقَدْ بَعَثْنَا فىِ كُلّ‏ِ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللَّهَ وَ اجْتَنِبُواْ الطَّغُوتَ
“พระองค์ทรงส่งศาสดามาในทุกประชาชาติ เมื่อนำพวกเขาเข้าสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ) และออกห่างจากผู้นำที่อธรรม (ฏอฆูต)”
     ฏอฆูต คือ หมายถึงผู้นำที่เป็นศัตรูของศาสดา ฏอฆูตมีอำนาจมากในการทำให้เกิดชีริก(การตั้งภาคี) เช่นเมื่อฏอฆูตเห็นประชาชนเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็อยากให้ประชาชนเคารพภักดีพวกเขาด้วย ก็เลยนำตัวเองขึ้นเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า ขึ้นปกครองเหมือนกับว่าเขาเป็นพระเจ้า มีหลายรูปแบบบางครั้งมาในรูปแบบของอวตารอ้างเป็นบุตรของพระเจ้า บางครั้งมาในรูปแบบการแบ่งภาค  และบางครั้งที่ยิ่งหนักขึ้นเป็นอีกคือตั้งตนเป็นพระเจ้าเอง เช่นตัวอย่างฟิรอูนที่ประกาศตนเป็นพระเจ้า ว่า “ฉันคือพระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่ง”
    ฏอฆูต คือคนที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากอัลลอฮ์(ซบ)ในการปกครอง เป้าหมายของศาสดาไม่ได้มาแย่งชิงอำนาจของฏอฆูตแต่มาล้มฏอฆูต  มานำประชาชนออกห่างจากฏอฆูต เพราะฏอฆูตมีอิทธิพลมากในการทำให้ประชาชนตั้งภาคี ถ้าศาสดามาแย่งอำนาจของฏอฆูต ก็ต้องมาด้วยกองทัพอันยิ่งใหญ่แต่ในประวัติศาสตร์เห็นได้ว่าศาสดามาเพียงตัวคนเดียว หรือบางครั้งมาพร้อมสหายแค่คนเดียว

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)