อัดลฺอิลาฮี 5 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)

อัดลฺอิลาฮี 5 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)


  นิยามที่เราได้มา คือ การสร้างความสมดุลในสรรพสิ่ง และมีฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญาหรือปรัชญาของเป้าหมาย)ความเหมาะสมความมีเหตุมีผล ความถูกต้องที่สุดที่ควรจะเป็นไปตามนั้น เช่น สมมุติ ถ้านักเรียนคนหนึ่งนั่งเฉยๆไม่ได้ทำผิดอะไร ต่อมาครูกลับทำโทษเขา ย่อมเกิดคำถามจากนักเรียนว่าทำไมครูลงโทษเขา? และหากครูตอบว่า  “ไม่มีอะไรแค่วิสาสะต้องการลงโทษ”
 อย่างนี้ถือว่าไม่มีฮิกมะฮ์(ปรัชญาของเป้าหมาย) แต่หากครูตอบนักเรียนคนนั้นว่า เพราะเธอทำผิดมา นักเรียนไม่ควรมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ถือว่าการลงโทษนั้นมีฮิกมะฮ์ มีความถูกต้อง เมื่อการใด มีฮิกมะฮ์แล้ว โดยปริยายมันก็จะมีความยุติธรรมอยู่ในตัว
 การสร้างสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้าก็เช่นเดียวกัน ถ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาเหมือนกันหมดถือว่ามีฮิกมะฮ์หรือไม่? ความเหมือนกันหมดจะทำให้อะไรเกิดขึ้น? ในข้อเท็จจริง พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างมีความหลากหลาย
ประการหนึ่งในฮิกมะฮ์(ปรัชญาของเป้าหมาย) ก็คือเพื่อมนุษย์สามารถจะจำแนกแยกแยะได้ถูกต้อง
สมมุติว่า บุคคลหนึ่งมีบุตรสิบคน ทุกคนเหมือนกันหมด  ย่อมทำให้เกิดความสับสน  แยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นใคร  
    ฉะนั้น ดุลยภาพหรือความสมดุลที่แท้จริงนั้น เรียกร้องไปสู่ความแตกต่างและความหลากหลาย หากปราศจากซึ่งความสมดุลย่อมไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้   และหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในจักรวาล คือ ความแตกต่างและความหลากหลาย  
สมมุติว่า หากในสังคมทุกคนรวยกันหมด สังคมจะมีปัญหาได้เพราะไม่มีความแตกต่าง ความไม่แตกต่างนั้นคือ ปัญหา ความจนกับความรวยต้องถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้
      หากจะกล่าวถึงในความประณีตของพระองค์นั้นไซร์ แม้แต่การวางบทบัญญัติก็มีความแตกต่าง  การกำหนดภาระหน้าที่ต่อบุคคล เช่น การจ่ายซะกาต(จ่ายทาน) คนรวยจำเป็นต้องจ่ายทาน  ส่วนคนจนหากไม่มีความสามารถก็ไม่ต้องจ่ายและไม่ถือเป็นการผิดบาป  หรือ การประกอบพิธีฮัจญ์ถือเป็นข้อบังคับวาญิบสำหรับทุกคนที่มี ความพร้อมในทรัพย์สินและร่างกาย   ขณะเดียวกันคนที่ไม่มีความพร้อมไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด  การจำแนกหน้าที่บางกรณีขึ้นอยู่กับเพศสภาพและ บางกรณีขึ้นอยู่กับความสามารถ
  คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึง การกำหนดภาระหน้าที่แก่มนุษย์ ไว้อย่างหลากหลาย ตามความสามารถของแต่บุคคล
 ตัวอย่าง  ในซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 286
“لا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفسًا إِلّا وُسعَها”
“พระองค์จะไม่กำหนดหน้าที่แก่ผู้ใด เว้นแต่ตามความสามารถของเขาผู้นั้น”
 “วุซอัต” (وسعت) หมายถึง ความกว้างในการรองรับ บุคคลที่มีพื้นที่รองรับที่กว้าง คือ มีความสามารถที่มาก ก็ควรมีภาระหน้าที่ที่มากด้วย ส่วนบุคคลที่มีความสามารถน้อยภาระหน้าที่ก็ควรน้อยตาม  
สิ่งนี้ถือเป็นความยุติธรรมประการหนึ่ง   เพราะมนุษย์บนโลกนี้มีความแตกต่างกัน มีบุคคลจำนวนหนึ่งมีหน้าที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้  ปฏิวัติสังคม ลุกขึ้นมาโค่นล้มผู้ปกครองที่อธรรม แต่ในบางหมู่ชนหากยังไม่มีความสามารถ พระองค์ก็จะกำหนดไปตามความสามารถ  “วุซอัต” ของพวกเขา หรือเช่น การนมาซตะฮัดญุดเป็นวาญิบข้อบังคับสำหรับบรรดาศาสดา จะขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว แต่กลับไม่ได้เป็นวาญิบต่อมนุษย์โดยทั่วไป เพราะพวกเขายังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะได้ตื่นขึ้นนมาซทุกคืน
ในบทซูเราะฮ ยุนุซ โองการ ที่ 54 กล่าวว่า...
“وَقُضِيَ بَيْنَهُم بِالْقِسْطِ وَهُمْ لاَ يُظْلَمُونَ”
“ถูกกำหนดในระหว่างพวกเขาด้วยความยุติธรรม และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมใดๆ”
  ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดด้วยความยุติธรรม หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกกำหนดในหมู่มนุษย์นั้นมีฮิกมะฮ์ของความยุติธรรมอยุ่  เพราะหนึ่งในการจะเข้าใจความยุติธรรมของพระเจ้าได้ดี คือการมีฮิกมะฮ์   คือ เข้าใจปรัชญาของเป้าหมายในเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าด้วย เพราะในโลกความเป็นจริงมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย มีคนจน คนรวย คนหล่อไม่หล่อ ร่างกายปกติหรือพิการ และเพื่อที่จะเข้าใจถึงฮิกมะฮ์(ปรัชญาแห่งเป้าหมาย)ในความแตกต่างเหล่านี้
ในซูเราะฮ์ ยาซีน โองการที่ 54 กล่าวว่า
“فَالْيَوْمَ لَا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَيْئًا وَلَا تُجْزَوْنَ إِلَّا مَا كُنتُمْ تَعْمَلُونَ”
“ในวันนั้นไม่มีชีวิตใดจะถูกอธรรมแต่อย่างใด และพวกเจ้าจะไม่ได้รับการตอบแทนใดนอกจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ปฏิบัติไว้”
ความยุติธรรมของพระองค์นั้นมีตั้งแต่โลกนี้ไปจนถึงโลกหน้า สัจธรรมที่บอกว่ายุติธรรมคือ
 “ในวันนั้นจะไม่มีการอธรรมแก่ผู้ใด” หมายถึง ในวันกิยามัตนั้นไม่มีเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มนุษย์จะไม่ได้รับความยุติธรรม และไม่มีการตอบแทนใดๆเว้นแต่สิ่งที่มนุษย์ได้กระทำมาแล้ว และ ความยุติธรรมจะดำรงอยู่ตลอดไป

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)