อัดลฺอิลาฮี 6 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)

อัดลฺอิลาฮี 6 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)

 

อะไรคือข้อพิสูจน์ว่า “การงานของพระผู้เป็นเจ้ามีความยุติธรรมและมีฮิกมะฮ์”?
    พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงมีอำนาจ(กุดรัต) และทรงมีเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร) อย่างสมบูรณ์  หมายความว่า ไม่มีอำนาจใดอยู่เหนืออำนาจและเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ของพระองค์ ทุกสรรพสิ่งไม่ได้บังเกิดมาจากการบีบบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับในรูปแบบใดก็ตาม
หากการงานนั้นมาในรูปแบบสิ่งแวดล้อม เจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร) ที่มีสภาวะแวดล้อมที่เป็นตัวเสริม หรือเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจนั้น ถือว่าการตัดสินใจนั้นเป็นเจตนารมณ์เสรี ที่ไม่สมบูรณ์เพราะมีสภาพแวดล้อมเข้ามาแทรกแซงในการตัดสินใจ
จะเห็นได้ว่า สำหรับพระผู้เป็นเจ้า การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เกิดมาจากการถูกบังคับ หรือเชิญชวน หรือสภาวะสนับสนุน หมายความว่า พระองค์มีเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ สภาพแวดล้อมรูปแบบใดก็ตามไม่สามารถส่งผลใดๆต่อพระองค์ได้
ดังนั้น “พระองค์คือ ผู้ทรงสัมบูรณ์”(สมบูรณ์ยิ่ง) , ผู้ทรงกามาล(พระองค์คือผู้สมบูรณ์) “กามาล” คือ อะไรก็ตามที่เป็นความสมบูรณ์
ขอยกตัวอย่าง ความสมบูรณ์ในเรื่องของความรู้ (อิลมฺ)ของพระองค์
สำหรับพระองค์ ‘อิลมฺ’ จึงเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ พระองค์ก็คือความรู้ที่สมบูรณ์ และ เป็นความรู้ที่สมบูรณ์โดยไม่พึ่งพิงความรู้ใดๆจากที่อื่น
    ดังนั้น เมื่อพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ (กุดรัต) และทรงมีเจตนารมณ์เสรี (อิคติยาร) ที่สมบูรณ์ แน่นอนความประสงค์ (อิรอดัต)ที่สมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้น เพราะว่าเป็นความประสงค์ (อิรอดัต) ที่มาจากผู้ที่มีอำนาจและเจตนารมณ์เสรีอย่างสมบูรณ์
 เมื่อมนุษย์เข้าใจว่าพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ พระองค์เป็นผู้ทรงมีเจตนารมณ์เสรีและเป็นผู้ทรงมีความประสงค์ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งแท้จริงแล้วไม่ได้มาจากการถูกบีบบังคับ หรือจากสภาวะหนึ่งสภาวะใดมามีส่วนร่วมในพระประสงค์ของพระองค์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า พระประสงค์ของพระองค์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ทั้งในเรื่องให้เป็นหรือไม่ให้เป็น ให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ให้ทำหรือไม่ให้ทำ สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากพระประสงค์ของพระองค์ที่สมบูรณ์โดยไม่มีปัจจัยใดๆ เข้ามามีส่วนร่วมในพระประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น
    หากมองในด้าน ‘ฮิกมะฮ์’ อัลลอฮ์(ซบ)เป็นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงวิทยปัญญา(ฮากีม) และทรงผู้ทรงรอบรู้(อาลีม) ที่สัมบูรณ์
ดังนั้น พระประสงค์ของพระองค์เป็นพระประสงค์ที่มาจากความรอบรู้และมาจากวิทยปัญญาที่สมบูรณ์และถูกต้อง พระประสงค์ของพระองค์จะไม่มีวันไร้สาระ ฉะนั้น เมื่อพระองค์กำหนดสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่มนุษย์ สิ่งนั้นมีฮิกมะฮ์(ปรัชญาของเป้าหมาย) เพราะมาจากผู้ทรงวิทยปัญญา(ฮากีม)โดยแท้จริง เมื่อมีฮิกมะฮ์ จึงเป็นความยุติธรรมโดยอัตโนมัติ
    “เป้าหมายในการเรียนเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า” เพื่ออะไร?
 คำตอบคือ เพื่อหาความยุติธรรมทั้งหมดของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสรรพสิ่ง  บางครั้งความยุติธรรมถูกถามหาในเรื่องบางเรื่อง บางคนถามหาในเรื่องหนึ่ง บางคนถามหาในอีกเรื่องหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า เรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ คือความยุติธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ มันเกิดขึ้นมาจากอะไร?
คำตอบคือ เกิดมาจากความประสงค์ของพระองค์  พระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวข้อง (ตะอัลลุก) เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกๆเรื่องในชีวิตของมนุษย์ ถ้าพระองค์ไม่ประสงค์ ไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นมาได้ มนุษย์ไม่มีสิทธิ์บอกว่าในเรื่องนี้หรือเรื่องนั้นพระองค์ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเหตุผลที่ว่าพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวข้องไปยังทุกๆเรื่อง ถึงแม้ว่าเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นประสพอารมณ์ของมนุษย์และบางเรื่องก็ไม่ประสพอารมณ์ของมนุษย์
    โดยส่วนมากมนุษย์จะถามหาความยุติธรรมในเรื่องที่ไม่ประสพอารมณ์(ความพึงพอใจในลักษณะถูกจริต)ของมนุษย์  เมื่อมนุษย์พบเจอเรื่องที่ไม่ประสพอารมณ์ เจอเรื่องที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดการถามหาความยุติธรรมจากพระองค์ว่า ความประสงค์ของพระองค์ยุติธรรมแล้วหรือ?
จะเห็นได้ว่า เรื่องที่ไม่ประสพอารมณ์ในชีวิตของมนุษย์มีมากมายและหลากหลาย มนุษย์บางคนไม่ประสพอารมณ์ถึงขั้นถามว่า สร้างฉันมาทำไม? หรือบางคนพูดว่าฉันอยากเป็นผู้ชาย ให้ฉันเกิดมาเป็นผู้หญิงทำไม?  หรือบางคนอยากเกิดมารวยแต่กลับเกิดมายากจน
การถามหาความยุติธรรมของพระองค์มีหลายรูปแบบ หรือบางครั้งถามว่า สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วสร้างอีกสิ่งนั้นขึ้นมาทำไมอีก ดูแล้วมันไม่ยุติธรรมเลย ขอยกตัวอย่าง มีนักปราชญ์ของบางศาสนาท่านหนึ่ง ได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าไม่ฉลาดและไม่ยุติธรรม”
เขาเขียนว่า “เมื่อพระเจ้าสร้างหนูขึ้นมา แล้วสร้างแมวขึ้นมาอีกทำไม ? เพราะสัตว์ 2 ชนิดนี้พระองค์สร้างมาเพื่อเบียดเบียนซึ่งกันและกัน พระเจ้าทำให้หนูถูกแมวกิน พระเจ้าทำให้แมวกินหนู หนูถูกสร้างมาให้แมวกินทำไม?”
    เรายอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาบนโลก เกิดขึ้นมาจากพระประสงค์ของพระองค์ ในซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ โองการที่ 51
“قُلْ لَنْ يُصِيبَنَا إِلَّا مَا كَتَبَ اللَّهُ لَنَا هُوَ مَوْلَانَا ۚ”
ความว่า “จงกล่าวเถิดมูฮัมมัด ไม่มีสิ่งใดประสบกับพวกเรา เว้นแต่สิ่งที่พระองค์ได้กำหนดให้แก่เราแล้ว”
     คำตอบ คือ เบื้องต้นมนุษย์ต้องทำความเข้าใจโดยภาครวม  ซึ่งหัวข้อหลักคือ มนุษย์จะถามหาความยุติธรรมของพระองค์ได้นั้น ประการแรก เขาจะต้องยอมรับในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าก่อน หากการคุยกับบุคคลที่ยังไม่ยอมรับในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า จำเป็นจะต้องทำให้เขาเชื่อในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าก่อน จึงจะพูดกันในเรื่องของความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้  ซึ่งเนื้อหาของมันอยู่ในวิชาเตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) เมื่อเขาเชื่อว่ามีพระเจ้า เชื่อในรายละเอียดต่างๆของพระองค์ เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นเอกะ เมื่อเขาเข้าใจเตาฮีดแล้ว เราจึงมาทำความเข้าใจถึงความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าต่อไปได้
    หัวข้อหลักๆในเตาฮีดที่ต้องนำมาสู่การทำความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า คือ อาลีม (พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้)
 ประโยค “พระองค์ทรงรอบรู้” เราได้พิสูจน์ไปแล้วในวิชาเตาฮีดว่า พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ เมื่อพระองค์ทรงรอบรู้ ความประสงค์ (อิรอดัต) ของพระองค์ก็เกิดมาจากความรอบรู้อย่างสมบูรณ์
คำว่า “สมบูรณ์” คือ ไม่ต้องเพิ่มเติมใดๆ พระองค์ไม่จำเป็นต้องแสวงการพัฒนาไปสู่ความบริบูรณ์ใดๆอีก [บริบูรณ์ คือ ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีมากกว่านี้แล้ว]
พระองค์สมบูรณ์มาแต่เดิม ไม่ต้องการสิ่งใดแล้วในทุกเรื่อง และเช่นเดียวกันความรู้ของพระองค์สมบูรณ์ ไม่มีความผิดพลาดใดๆ ไม่มีความบกพร่องใดๆ และนอกจากพระองค์ทรงรอบรู้แล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ทรงวิทยปัญญาที่สมบูรณ์ (ฮากีม) คือ ทรงมีวิทยปัญญา มีเหตุมีผล
ดังนั้น เมื่อพระองค์ประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นกับมนุษย์และกับทุกสรรพสิ่งแล้ว แสดงว่า มาจากความรอบรู้ มาจากความมีวิทยปัญญาของพระองค์ หากพระองค์ประสงค์จึงมีปรัชญาของเป้าหมาย“ฮิกมะฮ์”อยู่ นอกจากนั้นยังพบว่าในความประสงค์ของพระองค์นั้นมาจากอำนาจ(กุดรัต)และเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ที่สมบูรณ์ของพระองค์อีกด้วย
ฉะนั้น สิ่งที่ประสพกับมนุษย์ มันจึงไม่มีอะไรเลย นอกจากเพื่อความสมบูรณ์ คือ สมบูรณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกแง่มุม ที่พระองค์ทรงกำหนดให้บังเกิดนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของมนุษย์ทั้งสิ้น
 [ความประสงค์จากผู้ทรงสัมบูรณ์[สมบูรณ์ยิ่ง]จากผู้ทรงรอบรู้ที่สุด จากผู้ทรงวิทยปัญญาที่สุดนั้น ไม่มีอะไรนอกจากมีวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์)อยู่]
 ความสมบูรณ์ของมนุษย์คืออะไร?
ความสมบูรณ์ของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์ได้พัฒนาไปสู่ความดีทั้งหมด การที่มนุษย์ได้รวบรวมความดีงามทั้งหมดไว้ในตัวเอง และขจัดสิ่งไม่ดีงามทั้งหมดออกไปจากตัวเอง การได้พัฒนาไปสู่ความใกล้ชิดกับพระองค์ การได้ขัดเกลาพัฒนาจิตวิญญาณ ให้ได้เป็นบ่าวของพระองค์อย่างแท้จริง ความประสงค์ของพระองค์เพื่อสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้มนุษย์ไปสู่ความดีที่สูงสุด ไปสู่ตำแหน่งที่สูงสุด จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า “การงานของพระผู้เป็นเจ้ามีความยุติธรรมและมีฮิกมะฮ์”

สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)