วิลายะตุลลอฮ์(อำนาจการปกครองของอัลลอฮ์) สู่อำนาจวิลายะตุลฟะฮ์กิห์

วิลายะตุลลอฮ์(อำนาจการปกครองของอัลลอฮ์) สู่อำนาจวิลายะตุลฟะฮ์กิห์


โดย เอกภาพ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

วิลายะตุลลอฮ์(อำนาจการปกครองของอัลลอฮ์) สู่อำนาจวิลายะตุลฟะฮ์กิห์

divider

 

วิลายะตุลลอฮ์(อำนาจการปกครองของอัลลอฮ์)ที่พระองค์ได้มอบให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. สู่อำนาจวิลายะตุลฟะฮ์กิห์

(1)- การเชื่อฟังนบี ศ.และปฎิบัติตามท่านโดยดุษฎี คือคำสั่งของอัลลอฮ์

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่ใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงประทาน “วิลายะฮ์ตัชรีอี” ให้แก่ท่านศาสดา ศ. ฉะนั้นจึงไม่เป็นข้อถกเถียงใด ๆ ทั้งสิ้นในหมู่ชาวมุสลิม ที่ว่าท่านศาสดา ศ. คือผู้ปกครองกิจการงานของบรรดามุสลิม (วะลียุอัมริลมุสลิมีน) เป็นผู้นำ (อิมาม) และเป็นนายเหนือชีวิตของประชาชาชาตินี้ ดังระบุไว้ในซูเราะห์ อัลนิซาฮ์ อายะที่ 59

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ

บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย จงเชื่อฟังปฎิบัติตามอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังปฎิบัติตามร่อซูลเถิด

ตัวท่านศาสดา ศ. เองก็ได้กล่าวไว้ว่า

مَنْ أَطَاعَنِي فَقَدْ أَطَاعَ اللَّهَ ، وَمَنْ عَصَانِي فَقَدْ عَصَى اللَّهَ

ผู้ใดที่ได้เชื่อฟังปฎิบัติตามฉัน แน่นอนว่าเขากำลังเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์อยู่ และผู้ใดที่ฝ่าฝืนฉัน แน่นอนถือว่าเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮ์

นี้คือตำแหน่ง ตัชเรี้ยะอ์ ที่พระองค์ได้มอบให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. และคิดว่าในประเด็นนี้คงจะชัดเจน และไม่มีความจำเป็นต้องแสดงหลักฐานเพิ่มเติมอีก

ข้อควรรู้ เมื่อกล่าวว่าท่านศาสดา ศ. มีตำแหน่ง “ตัชเรี๊ยะอ์” กล่าวคือ ท่านมีอำนาจในการประกาศแจ้ง (อิบลาฆ) บทบัญญัติและคำสั่งสอนต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งการอนุมานและการออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาได้
และภายหลังจากท่านศาสดา ศ. แล้ว บรรดาอิมามมะอ์ซูม อ. ก็มีสิทธิ์อำนาจดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดเหล่านี้มิได้หมายความว่า ท่านศาสดา ศ. ได้กำหนดบทบัญญัติเหล่านี้ขึ้นด้วยตัวของท่านเอง หากแต่ว่าท่านศาสดา ศ. ได้กำหนดบทบัญญัติเหล่านี้มาตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และโดยผ่านวะฮ์ยู (วิวรณ์) และท่านได้แจกแจงมันให้ประชาชนได้รับรู้ กล่าวอีกสำนวนหนึ่งที่ชัดเจนกว่าก็คือว่า ความรู้ของท่านศาสดา ศ. นั้น คือความรู้แห่งพระผู้เป็นเจ้า และจะไม่มีข้อผิดพลาดและแผกเพี้ยนใด ๆ ทั้งสิ้น

(2)- อุลิลอัมริ เท่านั้น ที่การเชื่อฟังปฏิบัติตาม เท่ากับการเชื่อฟังอัลลอฮ์ และ ร่อซูลฯ

หากพิจารณาในสำนวนของการปฏิบัติตามและเชื่อฟัง “อุลิลอัมริมิงกุม” ในสำนวนอายะฮ์ข้างต้น เป็นประโยคเชื่อมต่อคำสั่งก่อนหน้านี้ที่ให้เชื่อฟังอัลลอฮ์ และเชื่อฟังร่อซูล ด้วยประโยคคำสั่งซ้ำกับอักษร อะฎอฟ (เวาฮ์) กล่าวคือ อัลลอฮ์ได้มีคำสั่งใช้ว่า “จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ จงเชื่อฟังร่อซูล และ อุลิน-อัมริ-มิงกุม وأطيعوا أولي الأمر منكم ด้วยใช้การเชื่อมประโยคด้วย อักษร วาว เป็นตัวเชื่อมใจความความหมายเข้าด้วยกันกับประโยคก่อนหน้านี้ และเมื่อการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอัลลอฮ์ ซ.บ. และร่อซูลฯ เป็นไปโดยไร้เงื่อนไข เรียกว่า إطاعة مُطلَقَة

ฉะนั้น ส่วนการเชื่อฟังปฏิบัติตาม อุลิลอัมริ มิงกุม ก็ต้องเป็นไปโดยไร้เงือนไข สิ่งนี้บ่งบอกว่า อุลิลอัมริ มิงกุม จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก ผู้ที่อัลลอฮ์ได้มอบตำแหน่งผู้บริสุทธิ์(มะซูม)แล้วเท่านั้น อันได้แก่ชาวผ้าคลุมกิซาฮ์ หรือ บรรดาอิมาม 12 ที่ถูกระบุไว้ในวจนะของท่านนบีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์(วะฟาต) ของท่านศาสดาแห่งอิสลามภาระหน้าที่นี้(วิลายะฮ์ตัชรีอี)ถูกส่งต่อให้กับ บรรดาอิมามมะฮ์ซูม ทั้ง 12 ท่าน ดังที่ปรากฎในอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น

(3)- จากวิลายะตุลลอฮ์ สู่ วิลายะตุลฟะฮ์กิห์

ชาวมุสลิมที่เป็นชีอะฮ์นั้น โดยการอนุมัติและโดยพระบัญชาของอัลลอฮ์ ซ.บ. พวกเขาได้ประกาศว่า “วะลียุอัมริมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) มิใช่ใครอื่น นอกจากท่าน อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ อ. และลูกหลานผู้บริสุทธิ์ของท่าน กล่าวคือ อิมามสิบสองท่าน เป็น “วะลียุอัมริมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ศ. และสองภารกิจหน้าที่ของท่านศาสนทูต ศ. อันได้ การประกาศบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น ตกเป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบของบรรดาอิมามทั้งสอบสองคน ที่ประชาชาติจะต้องเชื่อฟังปฏิบัติาม ดังปรากฎในวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ศ.

ขยายความว่า ผู้ศรัทธาในแนวทางแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ เชื่อว่า ท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ อ. คือ วะลียุอัมริลมุสลิมีน (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) และในทัศนะของชีอะฮ์ วะลียุอัมริลมุสลิมีน นั้น มีหน้าที่ดำเนินการตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นรูปธรรม และภายหลังจากท่านอิมามอะลี อ. ก็เป็นท่านอิมามฮะซัน อ. และต่อจากนั้นก็เป็นท่านอิมามฮุเซน อ. และท่านต่อ ๆ มาจนกระทั่งถึงท่านอิมามมะฮ์ดี อ.ญ.
ดังนั้น จวบจนถึงยุคสมัยของอิมามฮะซันอัสกะรีย์ อ. นั้น ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทว่าภายหลังจากการเป็นชะฮีดของอิมามฮะซันอัสการีย์ อ. แล้วนััน ยุคแห่งการเร้นกายระยะสั้น (ฆ็อยบะฮ์ ซุฆรอ) ของท่านอิมามมะฮ์ดี อ. ได้มาถึง
หลังจากการเสียชีวิตของ ฮะซัน อัสการี ผู้คนสามารถติดต่อกับอิมามมะฮ์ดีได้โดยผ่านตัวแทนทั้งสี่ท่าน และศัพท์เชิงวิชาการที่เรียกขานกันว่า ตัวแทนเฉพาะ (นาอิบุลคอส) หรือ เนาวาบ อัรบะฮ์ ซึ่งทั้ง 4 ท่านถูกแต่งตั้งโดยตัวของท่านอิมาม อ. เอง ดังปรากฏในริวายะฮ์มากมาย เช่น

فِی خَبَرٍ طَوِیلٍ مَشْهُورٍ قَالُوا جَمِیعاً اجْتَمَعْنَا إِلَى أَبِی مُحَمَّدٍ الْحَسَنِ بْنِ عَلِیٍّ ع نَسْأَلُهُ عَنِ الْحُجَّةِ مِنْ بَعْدِهِ وَ فِی مَجْلِسِهِ أَرْبَعُونَ رَجُلًا فَقَامَ إِلَیْهِ عُثْمَانُ بْنُ سَعِیدِ بْنِ عَمْرٍو الْعَمْرِیُّ فَقَالَ لَهُ یَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ أُرِیدُ أَنْ أَسْأَلَکَ عَنْ أَمْرٍ أَنْتَ أَعْلَمُ بِهِ مِنِّی فَقَالَ لَهُ اجْلِسْ یَا عُثْمَانُ فَقَامَ مُغْضَباً لِیَخْرُجَ فَقَالَ لَا یَخْرُجَنَّ أَحَدٌ فَلَمْ یَخْرُجْ مِنَّا أَحَدٌ إِلَى [أَنْ‏] کَانَ بَعْدَ سَاعَةٍ فَصَاحَ ع بِعُثْمَانَ فَقَامَ عَلَى قَدَمَیْهِ فَقَالَ أُخْبِرُکُمْ بِمَا جِئْتُمْ قَالُوا نَعَمْ یَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ قَالَ جِئْتُمْ تَسْأَلُونِّی عَنِ الْحُجَّةِ مِنْ بَعْدِی قَالُوا نَعَمْ فَإِذَا غُلَامٌ کَأَنَّهُ قِطَعُ قَمَرٍ أَشْبَهُ النَّاسِ بِأَبِی مُحَمَّدٍ ع فَقَالَ هَذَا إِمَامُکُمْ مِنْ بَعْدِی وَ خَلِیفَتِی عَلَیْکُمْ أَطِیعُوهُ وَ لَا تَتَفَرَّقُوا مِنْ بَعْدِی فَتَهْلِکُوا فِی أَدْیَانِکُمْ أَلَا وَ إِنَّکُمْ لَا تَرَوْنَهُ مِنْ بَعْدِ یَوْمِکُمْ هَذَا حَتَّى یَتِمَّ لَهُ عُمُرٌ فَاقْبَلُوا مِنْ عُثْمَانَ مَا یَقُولُهُ وَ انْتَهُوا إِلَى أَمْرِهِ وَ اقْبَلُوا قَوْلَهُ فَهُوَ خَلِیفَةُ إِمَامِکُمْ وَ الْأَمْرُ إِلَیْهِ

ฉะนั้นถ้าหากชาวมุสลิมมีปัญหาใด ๆ ก็จะไปหาตัวแทน (นาอิบ) เหล่านี้ของท่านอิมาม อ. เพื่อให้ช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาของพวกเขา ทั้งนี้ เนื่องจากท่านอุษมาน บิน ซะอีด อัมรี (และนาอิบ อีกสามท่าน) นั้นมีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับท่านอิมามมะฮ์ดี อ. และจะขอความช่วยเหลือจากท่านอีกต่อหนึ่ง แต่ด้วยกับการเสียชีวิตลงของเนาวาบคนที่ 4 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการ เร้นกายระยะยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์ กุบรอ) ปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเช่นกัน วะลียุลฟะกีฮ์ คือ ตัวแทนของท่านศาสดา ศ. และอิมาม อ.

วิลายะฮ์ของบรรดาฟะฮ์กิห์ คือ วิลายะฮ์ที่มาจากอัลลอฮ์ที่ถ่ายทอดผ่านท่านนบี ศ. และบรรดาอิมาม อ. ?

ในประเด็นอำนาจ(วิลายะฮ์)ที่ถูกมอบให้แก่ฟะฮ์กิห์ นั้นมีในขอบข่ายเรื่องใดบ้าง และมีขอบเขตอำนาจแค่ไหน(ไว้บทความต่อไปจะมาลงรายละเอียดในเรื่องนี้)ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาของวันนี้ ที่ต้องการจะเขียน ข้าพเจ้าจึงขอสงวนสิทธิ์ไว้ก่อน แต่สิ่งที่สามารถจะระบุได้ตอนนี้ก็คือ อำนาจของการออกคำวินิจฉัยบทบัญญัติทางศาสนาในยุคแห่งการเร้นกายระยะยาวถูกมอบหมายผ่านพวกท่าน(บรรดาฟะฮ์กิฮ์) ดังปรากฏในวจนะของอิมาม อ. มากมายในเรื่องนี้ เช่น วจนะของอิมาม อ. ที่สั่งแก่ชีอะห์ของท่านว่า

“ดังนั้น ผู้ใก็ตามจากบรรดาฟะกีฮ์ที่เป็นผู้ปกป้องตนเอง เป็นผู้พิทักษ์ศาสนาของตน เป็นผู้ขัดแย้งกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของตน และเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น จำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องปฏิบัติตาม (ตักลีด) เขา และคุณลักษณะดังกล่าวนั้นจะไม่มี นอกจากเพียงบางคนจากบรรดาฟะกีฮ์ ชาวชีะอะฮ์เท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจากพวกเรา” (วะซาอิลุชชีอะฮ์, ของท่านฮุรรุลอามิลี, เล่มที่ 27, หน้า 131)

ประโยคที่ระบุชัดเจนในริวายะฮ์ว่า พวกเขามีอำนาจในการออกคำวินิจฉัย ก็คือ ประโยคนี้ فللعوام أن يقلدوه ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไปจำเป็นที่จะต้องปฎิวัติตามคำวินิจฉันของเขา(บรรดาฟะฮ์กิห์)

สรุปคำพูดในส่วนนี้ ก็คือว่า ในยุคฆ็อยบะฮ์ [การเร้นกายของท่านอิมามมะฮ์ดี อ.] นี้ บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ อ. ด้วยกับการวางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เราสามารถใช้หลักเกณฑ์และบรรทัดฐานเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ตลอดไป และจะเป็นสื่อนำเราไปสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ในชีวิต และท่านเหล่านั้นได้แนะนำ อำนาจแห่งฟะฮ์กิห์ “วะลียุลฟะกีฮ์” ไว้ในฐานะตัวแทนของพวกท่าน ที่พวกเราจะต้องปฏิบัตตาม

ข้อควรรู้ เมื่อมีการกล่าวว่า อำนาจแห่งฟะฮ์กิห์ คือตัวแทนของท่านศาสดา ศ. และท่านอิมามมะอ์ซูม อ. ในยุคแห่งการเร้นกายครั้งยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์กุบรอ) นั้น จุดประสงค์ไม่ได้หมายถึงการเป็นตัวแทน หรือสืบทอดตำแหน่งทางด้านจิตวิญญาณ และเช่นเดียวกันนี้ ตำแหน่ง “วะลียุลฟะกิฮ์” นั้น มิได้อยู่ในระดับเดียวกันกับตำแหน่งของท่านอิมามมะอ์ซูม อ. ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าท่านอิมามมะอ์ซูม อ. นั้นเป็นผู้ที่มีฐานะตำแหน่งอันสูงส่ง ณ พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งสูงส่งกว่าตำแหน่ง วิลายะฮ์ที่มีอยู่ในฟะฮ์กิห์เป็นอย่างมาก
และไม่มีนักคิดและนักวิชาการ (อุละมาอ์) ของชีอะฮ์ท่านใดกล่าวว่า ตำแหน่งวิลายะฮ์ที่มีอยู่ในฟะฮ์กีห์ นั้นมีความใกล้เคียงกับตำแหน่งทางจิตวิญญาณแห่งอิมามะฮ์