คุณลักษณะสองประการของท่านอับบาส ในคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ)


คุณลักษณะสองประการของท่านอับบาส ในคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ)


    ท่านอับบาส (อ.) ไม่เคยหวั่นไหวในเส้นทางที่ท่านเลือก และท่านไม่เคยอ่อนแอ แต่ท่านยังคงเดินต่อไปในเส้นทางนี้ด้วยความเข้มแข็งมากขึ้น จวบจนกระทั่งเป็นชะฮีด และบรรลุตำแหน่งสูงสุดในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้าและอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)

    ในเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทซิยาเราะฮ์ของท่านอับบาส (อ.) ในคำกล่าวของท่านอิมามซอดิก (อ.) เราจะอ่านว่า :

أَشْهَدُ أَنَّكَ لَمْ تَهِنْ وَلَمْ تَنْكُلْ، وَأَنَّكَ مَضَيْتَ عَلَى بَصِيرَةٍ مِنْ أَمْرِكَ مُقْتَدِياً بِالصّالِحِينَ، وَمُتَّبِعاً لِلنَّبِيّينَ

 "ข้าพเจ้าขอเป็นสักขีพยานว่าท่านไม่เคยท้อแท้และไม่เคยอ่อนแอ และแท้จริงท่านได้จบชีวิตลงบนความเข้าใจที่เฉียบแหลมต่อกิจการของท่าน โดยที่ท่านเป็นผู้ดำเนินรอยตามบรรดาผู้มีคุณธรรมและเป็นผู้ปฏิบัติตามปวงศาสดา" (1)

สำหรับข้อความที่กล่าวว่า «أَنَّكَ لَمْ تَهِنْ» นั้นหมายความว่า "แท้จริงท่านไม่ท้อแท้ " หมายถึง ไม่ว่าจะในด้านร่างกาย เจตนารมณ์ และความศรัทธา ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَ لَا تَهِنُوا وَ لَا تَحْزَنُوا وَ أَنتُمُ الْأَعْلَوْنَ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِینَ

"และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าเศร้าโศกไปเลย และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่เหนือกว่า หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา" (2) 

    บางทีท่านอิมามซอดิก (อ.) ชี้ถึงคุณลักษณะนี้ของท่านอับบาส (อ.) โดยอ้างอิงถึงโองการของอัลกุรอานนี้ กล่าวคือคุณลักษณะข้อนี้ที่โองการอัลกุรอานข้างต้นได้กล่าวถึงนั้นปรากฏอยู่ในตัวท่าน โองการนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ศรัทธานั้นจะต้องไม่อ่อนแอ ไม่ท้อแท้และไม่เศร้าโศกไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่ง โองการนี้เจาะจงสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา ที่เมื่อพวกเขาถูกโจมตีโดยศัตรูและคิดว่าตามรูปการแล้วพวกเขาจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในสนามรบ ในขณะที่เหตุการณ์ทั้งหมดในโลกนั้นล้วนอยู่ในการกำกับดูแลและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์

ความประเสริฐของท่านอบุลฟัฎลิ์ (อ.) ในตราชูของอัลกุรอานและหะดีษ

    ท่านอับบาส (อ.) ผู้ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดของบรรดาผู้ศรัทธา ไม่เคยหวั่นไหวในเส้นทางที่ท่านเลือกหรือในสำนวนของบทซิยาเราะฮ์นี้ «لَمْ تَنْكُلْ» กล่าวคือท่านไม่เคยอ่อนแอ แต่ยังคงเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ด้วยความเข้มแข็งมากขึ้น จวบจนกระทั่งท่านได้เป็นชะฮีดและบรรลุตำแหน่งสูงสุดในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้าและอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)

แหล่งที่มา :

1. อัลมิซาร, เชคมุฟีด, หน้า 123

2. อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 139

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ