เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การตักลีด (ยึดถือปฏิบัติตามผู้อื่น) ในทัศนะอิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


การตักลีด (ยึดถือปฏิบัติตามผู้อื่น) ในทัศนะอิสลาม


    ในทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบความเชื่อต่าง ๆ มากมาย ได้ปรากฏให้เห็นในหมู่มนุษยชาติทั้งหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แต่ละกลุ่มชนต่างเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติไปสู่รูปแบบการศรัทธาและความเชื่อถืออันเป็นเฉพาะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเหนือมนุษย์ทุกคนที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับหลักการต่าง ๆ ในการศรัทธาและเชื่อถือของตนเอง

การตักลีดในอุศูลุดดีน หรือ หลักศรัทธา

    เป็นที่รู้จักกันดีว่า การตักลีด (ยึดถือปฏิบัติตามผู้อื่น) ในอุศูลุดดีนหรือหลักศรัทธานั้น ไม่เป็นที่อนุญาตและเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    อุศูลุดดีน (รากฐานศาสนา) และ อุศูลุลมัศฮับ (หลักความศรัทธาในนิกาย) คือประมวลหลักศรัทธา อันได้แก่

    เตาฮีด (หลักเอกภาพในพระผู้เป็นเจ้า) อัดล์ (หลักความยุติธรรมในพระผู้เป็นเจ้า) นุบูวะฮ์ (หลักความเป็นศาสดาของบรรดาศาสนทูตแห่งพระเจ้า) อิมามะฮ์ (หลักความเป็นผู้นำหลังจากศาสดาองค์สุดท้าย) และมะอาด (หลักความเชื่อในวันแห่งการฟื้นคืนชีพหรือวันกิยามะฮ์) ทั้งหมดนั้นคือ รากฐานและโครงสร้างที่สำคัญของศาสนาอิสลาม

    ด้วยเหตุนี้ ในทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบความเชื่อต่าง ๆ มากมาย ได้ปรากฏให้เห็นในหมู่มนุษยชาติทั้งหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แต่ละกลุ่มชนต่างเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติไปสู่รูปแบบการศรัทธาและความเชื่อถืออันเป็นเฉพาะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเหนือมนุษย์ทุกคนที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับหลักการต่าง ๆ ในการศรัทธาและเชื่อถือของตนเอง เพื่อจะได้สามารถปกป้องหลักการศรัทธาของตนเองจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ผิด ๆ ของผู้ที่มีเจตนาร้าย และเพื่อให้ยืนหยัดอยู่บนหลักการแห่งการเชื่อถือของตนเองได้อย่างมั่นคง โดยสรุปคือ เขาจะไม่ถูกชักจูงไปสู่ทิศทางต่าง ๆ ในทุกๆวัน

    แท้ที่จริงแล้ว คำกล่าวที่ว่า แต่ละบุคคลจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับหลักศรัทธาและความเชื่อถือของตนเอง จากเหตุผลและข้อพิสูจน์ต่าง ๆ นั้น มิได้หมายความว่า เขาจะต้องทุ่มเทเวลาในชีวิตของเขาเป็นเวลาหลายปี สำหรับการศึกษาวิชาการต่าง ๆ ทางด้านศาสนา และอ่านหนังสือในเชิงพิสูจน์ หรือในแนวปรัชญาเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการเพียงพอแล้วที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับหลักการศรัทธาของตน โดยอาศัยเหตุผลอย่างง่าย ๆ  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุผลที่มีความหนักแน่นและก่อให้เกิดความมั่นใจอย่างแท้จริง ดังเช่นเรื่องเล่าที่รู้จักกันดี ซึ่งหญิงชราผู้หนึ่งถูกถามในขณะที่นางกำลังง่วนอยู่กับการปั่นกรอด้ายว่า

    “ท่านมีหลักฐานอันใด สำหรับการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า"

    ทันทีหญิงชราผู้นั้นก็ละมือของนางจากกงล้อที่ใช้ปั่นด้าย และเมื่อกงล้อหยุดนิ่งจากการหมุน นางก็ได้กล่าวขึ้นว่า

    “ในเมื่อกงล้อเล็ก ๆ นี้ ยังไม่อาจที่จะหมุนต่อไปได้ โดยปราศจากผู้ที่หมุนมัน ดังนั้นเราจะสามารถกล่าวได้อย่างไรว่า โลกและจักรวาลที่มีความยิ่งใหญ่ ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวและหมุนอยู่นี้ มันหมุนได้เอง โดยปราศจากผู้หมุนและผู้บริหารมัน หรือว่ามันจะหมุนต่อไปโดยปราศจากผู้กระทำการหมุน”

การตักลีด เป็นที่อนุญาตเฉพาะในเรื่องของฟูรูอุดดีน (ศาสนปฏิบัติ)

    เมื่อมนุษย์รู้จักกับการศรัทธาต่าง ๆ ของตนเอง ด้วยเหตุผลและข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้งแล้ว ในเรื่องที่เกี่ยวกับฟุรูอุดดีน ตัวอย่างเช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับการนมาซ การถือศีลอด การประกอบพิธีฮัจญ์ การติดต่อสัมพันธ์กันในระหว่างเพื่อนมนุษย์ และอื่น ๆ นั้น มนุษย์สามารถที่จะตักลีดตามมุจญ์ตะฮิด ญามิอุชชะรออิฏ ผู้ซึ่งชำนาญเป็นพิเศษในสาขาวิชาฟิกฮ์ (หลักนิติศาสตร์อิสลาม) และในการอิสตินบาฏ (การนำเอาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าออกมาจากหลักฐานและตัวบททั้งหลาย)

    จุดประสงค์ของคำว่า “ตักลีด” นั้น ก็คือ การย้อนกลับไปยังผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ หมายความในทำนองเดียวกันที่ว่า ในทุก ๆ กิจการงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่มีความรู้เพียงพอในกิจการนั้น ๆ เขาจะต้องไปขอคำปรึกษาหารือ และขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่เขาป่วยไข้ เขาก็ย่อมจะต้องไปหาแพทย์ หรือถ้าเขาปรารถนาที่จะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง เขาก็ต้องไปหาวิศวกรและช่างก่อสร้าง ในทำนองเดียวกันนี้ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟุรูอุดดีน และข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากตัวเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หมายถึงเขาไม่ใช่มุจญ์ตะฮิด จำเป็นที่เขาจะต้องย้อนกลับไปหามุจญ์ตะฮิด ญามิอุชชะรออิฏ เพื่อขอคำปรึกษาหารือจากท่าน และเขาจะยึดถือเอาทัศนะและการจำแนกแยกแยะของท่านเกี่ยวกับบทบัญญัติต่าง ๆ ทางศาสนา โดยนำมันมาเป็นรูปแบบแห่งการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของตนเอง

อธิบายคำศัพท์

    อุศูลุดดีน  คือบรรดาหลักการศรัทธาต่างๆของศาสนา ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ได้ 2 ความหมายได้แก่

1.ความหมายโดยทั่วไป

    มักใช้ตรงข้ามกับคำว่า ฟุรูอุดดีน (ศาสนปฏิบัติ) อันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่าง ๆ และความหมายโดยทั่วไปของคำว่า อุศูลุดดีน นี้จะครอบคลุมบรรดาหลักการศรัทธาทั้งหมด

2.ความหมายเฉพาะ

    จะจำกัดอยู่แต่เพียงหลักการศรัทธาที่สำคัญที่สุด ซึ่งบรรดาศาสนาที่ถูกประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้านั้น จะมีส่วนร่วมกันในหลักการศรัทธาดังกล่าว อันได้แก่หลักการศรัทธา 3 ประการคือ เตาฮีด นุบูวะฮ์ และ มะอาด

    อุศูลุลมัซฮับ คือบรรดาหลักการศรัทธาของแต่ละนิกายทางศาสนา ตัวอย่างเช่น อัดล์และอิมามะฮ์ ซึ่งจะถูกรวมเข้ากับหลักการศรัทธา 3 ประการดังกล่าว โดยทั่วไปแล้ว อุศูลุลมัซฮับ นั้น จะเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งทางความเชื่อในระหว่างมัซฮับ แต่ละมัซฮับจะกำหนดอุศูลุลมัซฮับของตนเองขึ้นมา เพื่อที่จะจำแนกตนเองออกจากแนวทางอื่นๆ ถ้าหากเราจะพิจารณาให้ดีแล้ว อุศูลุลมัซฮับ ก็คือ อุศูลุดดีน ตามความหมายทั่วๆไป

    มุจญ์ตะฮิด คือ นักวิชาการศาสนาชั้นสูง ผู้สามารถวินิจฉัย หรือวิจัยบทบัญญัติทางศาสนา

    มุจญ์ตะฮิด ญามิอุชชะรออิฏ คือมุจญตะฮิด ผู้ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้งมวล ซึ่งประชาชนสามารถกระทำการยึดถือปฏิบัติตาม (ตักลีด) ได้

    อิสตินบาฏ การดึงหรือการนำเอาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าออกมาจากหลักฐานและตัวบททั้งหลาย อันได้แก่ คัมภีร์อัล กุรอาน และ วจนะ (ฮะดีษ) ต่าง ๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล) ตลอดจนบรรดาทายาทผู้บริสุทธิ์ (มะอ์ซูม) ของท่าน

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม