อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม

    อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม

 

อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ" รู้จักกันดีในนามว่า "อบูฏอลิบ" คือ หัวหน้าเผ่าบะนีฮาชิมและเป็นบิดาของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ท่านและ "อับดุลลอฮ์" บิดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถือกำเนิดมาจากมารดาคนเดียวกัน ชื่อของท่านคือ “อิมรอน” และเนื่องจากบุตรชายคนโตของท่านคือ “ฏอลิบ” ประชาชนจึงเรียกท่านว่า “อบูฏอลิบ” (บิดาของฏอลิบ) หลังจากการเสียชีวิตของ “อับดุลมุฏฏอลิบ” บิดาของท่าน ท่านจึงได้รับผิดชอบการอุปการะเลี้ยงดูท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

    ท่านอบูฏอลิบ (อ.) ได้ให้การสนับสนุนและปกป้องท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อย่างเต็มที่และไม่เคยทอดทิ้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แม้แต่ช่วงเวลาเดียว บรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) ชาวมักกะฮ์จะทำร้ายและทรมานบุคคลที่ไม่มีกลุ่มชนและเผ่าของตัวเองหรือผู้คอยให้การคุ้มครองอย่างรุนแรง จนกระทั่งบรรดาบุคคลอย่างเช่น ยาซิรและซุมัยยะฮ์ ภายใต้การทรมานต่างๆ ของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ที่สามารถแบกรับความอดทนเอาไว้ได้และยอมเป็นชะฮีด และคนอีกกลุ่มหนึ่งต้องอพยพไปยังแผ่นดินหะบะชะฮ์ (เอธิโอเปียในปัจจุบัน) แต่ชาวกุเรช (มุชริกีน) ก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ และทั้งหมดเหล่านี้เป็นหนี้บุญคุณต่อการปกป้องคุ้มครองต่างๆ อย่างจริงจังของท่านอบูฏอลิบ (อ.)

    นโยบายที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนของอบูฏอลิบ (อ.) ในการสนับสนุนและคุ้มครองท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ทำให้ชาวกุเรช (มุชริกีน) หมดความอดทน จนกระทั่งทำให้พวกเขาตัดสินใจคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจต่อชาวมุสลิม และชาวมุสลิมถูกบังคับให้ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ใน “หุบเขาอบูฏอลิบ” ในที่สุดตัวท่านอบูฏอลิบเองไม่สามารถแบกรับการกดดันและการบีบครั้นที่รุนแรงที่เกิดขึ้นกับท่านในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ทำให้ท่านล้มป่วยและเสียชีวิตลงในหุบเขานั้น [1]

    หลังจากการเสียชีวิตของท่านอบูฏอลิบ (อ.) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เนื่องจากขาดผู้คุ้มครอง ต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่ยากลำบากแสนเข็ญที่สุด และท้ายที่สุดบรรดามุชริกีนชาวกุเรชเนื่องจากไม่มีท่านอบูฏอลิบแล้ว พวกเขาได้ตัดสินใจที่จะสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ด้วยการช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าทำให้ท่านศาสดาล่วงรู้ถึงแผนการร้ายของพวกเขา จึงสามารถเอาชีวิตรอดไปได้อย่างปลอดภัยและได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์

    แม้ว่าจะด้วยกับการสนับสนุนและการคุ้มครองต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ของท่านอบูฏอลิบที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ก็มีชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่ไร้ความเป็นธรรมบางส่วนเชื่อว่าท่านเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า)

    คำตอบแรก : ด้วยกับการให้การสนับสนุนและการคุ้มครองอย่างเต็มที่ของท่านอบูฏอลิบที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ท่านจะจากโลกนี้ไปโดยปราศจากศรัทธา (อีหม่าน)? หากจะตอบว่าการปกป้องคุ้มครองของท่านอบูฏอลิบต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เนื่องมาจากความรักความผูกพันที่มีต่อเผ่าพันธุ์และกลุ่มชนของตนเองเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นเราก็จะขอถามว่า อบูละฮับซึ่งเป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคี) และเป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธพระเจ้า) และซูเราะฮ์หนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในการตำหนิประณามเขานั้น ไม่ใช่เครือญาติที่ใกล้ชิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หรือ? แล้วทำไมท่านอบูฏอลิบหรือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงไม่ปกป้องเขาเนื่องจากความรักและความผูกพัน (ตะอัซซุบ) ทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์?

    คำตอบที่สอง : ท่านอบูฏอลิบได้กล่าวบทกวีที่สวยงามมากบทหนึ่งไว้ในการสนับสนุนท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมต่อความเป็นศาสดา (นุบูวะฮ์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า :

لیعلم خیار الناس ان محمداً            نبی کموسی والمسیح بن مریم

اتانا بهدی مثل ما اتیا به                  فکل بامر الله یهدی و یعصم

     “มนุษย์ผู้มีเกียรติทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า แท้จริงมุฮัมมัดเป็นศาสดา เช่นเดียวกับมูซาและมะซีห์ บินมัรยัม

      เขาได้นำมาซึ่งทางนำ เช่นเดียวกับที่ศาสดาทั้งสองได้นำมา

ทุกท่านเหล่านั้นจะชี้นำและปกป้อง (มนุษย์) จากการกระทำบาป ด้วยพระบัญชาของอัลลอฮ์”

تمنیتم ان تقتلوه و انما                 امانیکم هذی کاحلام نائم

نبی اتاه الوحی من عند ربه          و من قال لا یقرع بها سن نادم

“(โอ้บรรดาหัวหน้าเผ่ากุเรชเอ๋ย) พวกท่านคาดหวังว่าจะสังหารเขา (มุฮัมมัด) ได้ แท้จริงสิ่งนี้เป็นเพียงความเพ้อฝันของพวกท่าน เหมือนกับความฝันของผู้นอนหลับเท่านั้น

    เขาคือศาสดาที่วะห์ยู (วิวรณ์) จากพระผู้อภิบาลของเขาได้มายังเขา และผู้ใดที่กล่าวว่า ไม่ใช่! เขาจะต้องขบฟันด้วยความสำนึกเสียใจ” [2]

    ในบทกวีเหล่านี้ ท่านอบูฏอลิบ (อ.) ได้ถือว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อยู่ในฐานะเดียวกับท่านศาสดามูซาและอีซา (อ.) และสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความศรัทธา (อีหม่าน) ของท่านต่อความเป็นศาสดาของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

    สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือว่า “ซัยนี ดะห์ลาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้อธิบายถึงบทกวีที่สวยงามเหล่านี้ไว้ในหนังสือของตนว่ามาจากคำพูดของท่านอบูฏอลิบ ดังนั้นด้วยกับบทกวีที่สวยงามที่รายงานโดยนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์นี้ เป็นไปได้หรือที่ท่านอบูฏอลิบจะจากโลกนี้ไปในสภาพที่เป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า)?

    คำตอบที่สาม : อัศบัฆ บินนะบาตะฮ์ เล่าว่า : ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า :

والله ما عبد أبي ولا جدّي عبد المطّلب ولا هاشم ولا عبد مناف صنماً قطّ

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! บิดาของฉันและปู่ของฉัน อับดุลมุฏฏอลิบและฮาชิมและอับดุลมะนาฟ ไม่เคยเคารพบูชารูปปั้นเลย”

    เมื่อมีผู้ถามว่า :

فما كانوا يعبدون؟

“แล้วพวกเขาเคารพบูชาสิ่งใด?”

    ท่านกล่าวว่า :

كانوا يصلّون إلى البيت على دين إبراهيم متمسّكين به

          “พวกท่านทำนมาซโดยผินหน้าไปยังบัยตุลลอฮ์ ตามแนวทางของศาสนาของอิบรอฮีมที่พวกท่านยึดมั่นต่อมัน” [3]

    อิบนุอบิลหะดีด มุอ์ตะซิลี กล่าวว่า : มีสายรายงานมากมายโดยที่บางคนได้รายงานจากอับบาส บินอับดุลมุฏฏอลิบ และบางคนรายงานจากอบูบักร บินอบีกอฮาฟะฮ์ว่า ท่านอบูฏอลิบไม่ได้จากโลกนี้ไป จนกระทั่งท่านได้กล่าว :

لا اله الاّ الله، محمّد رسول الله

          “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัด คือศาสนทูตของอัลลอฮ์” [4]

    คำตอบที่สี่ : มีผู้ถามท่านอิมามซัจญาด (อ.) เกี่ยวกับความศรัทธา (อีหม่าน) ของอบูฏอลิบ ท่านตอบว่า :

واعجباً إن الله تعالى نهى رسوله أن يقر مسلمة على نكاح كافر وقد كانت فاطمة بنت أسد من السابقات الى الإسلام ولم تزل تحت أبي طالب حتى مات

“ช่างน่าประหลาดใจยิ่งนัก! แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงห้ามศาสนทูตของพระองค์ที่จะคงสภาพสตรีมุสลิมอยู่ในการนิกาห์ (สมรส) กับชายผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) ในขณะที่ฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัดเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รีบรุดในการเข้ารับอิสลาม กลับยังคงสภาพอยู่ภายใต้ (การเป็นภรรยาของ) อบีฏอลิบ จนกระทั่งท่านเสียชีวิต” [5]

    หลักฐานทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านอบูฏอลิบได้ปิดบังอำพรางความศรัทธา (อีหม่าน) ของตนเองจากบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ด้วยเหตุผลและเป้าหมายบางประการ เพื่อว่าจะสามารถทำให้ท่านสามารถปกป้องและคุ้มครองท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ดียิ่งขึ้น

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ