สามเงื่อนไขสำคัญสำหรับการมีความศรัทธาที่สมบูรณ์


สามเงื่อนไขสำคัญสำหรับการมีความศรัทธาที่สมบูรณ์


    ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้อธิบายถึงคุณลักษณะต่างๆ ที่สมบูรณ์ของความศรัทธาของคนเรา ว่า เมื่อเขาพึงพอใจ ความพึงพอใจของเขาจะไม่ทำให้เขาเข้าสู่สิ่งที่ไร้สาระ เมื่อเขาโกรธ ความโกรธของเขาจะไม่ทำให้เขาออกจากสัจธรรม เมื่อเขามีอำนาจ เขาจะไม่รับเอาสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิ์ของเขา 

ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้อธิบายถึงคุณลักษณะต่างๆ ที่สมบูรณ์ของความศรัทธาของคนเรา โดยกล่าวว่า :

 ثَلَاثُ خِصَالٍ مَنْ كُنَّ فِيهِ اسْتَكْمَلَ خِصَالَ الْإِيمَانِ إِذَا رَضِيَ لَمْ يُدْخِلْهُ رِضَاهُ فِي بَاطِلٍ وَ إِذَا غَضِبَ لَمْ يُخْرِجْهُ الْغَضَبُ مِنَ الْحَقِّ وَ إِذَا قَدَرَ لَمْ يَتَعَاطَ مَا لَيْسَ لَهُ.

"คุณลักษณะสามประการที่มีอยู่ในตัวใครก็ตาม เขาได้ทำให้คุณลักษณะของความศรัทธาสมบูรณ์แล้ว :

1. เมื่อเขาพึงพอใจ ความพึงพอใจของเขาจะไม่ทำให้เขาเข้าสู่สิ่งที่ไร้สาระ

2. เมื่อเขาโกรธ ความโกรธของเขาจะไม่ทำให้เขาออกจากสัจธรรม

3. เมื่อเขามีอำนาจ เขาจะไม่รับเอาสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิ์ของเขา" (1)

คุณลักษณะ 3 ประการของการมีความศรัทธา (อีหม่าน) ที่สมบูรณ์สำหรับคนเรา ตามวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)  คือ :

     1. เมื่อมีความพึงพอใจ มีความปีติยินดีและมีความรักชอบในสิ่งใด มันจะต้องไม่เป็นเหตุทำให้เขาเข้าใกล้ความชั่วและกระทำบาป เขาจะต้องวางความพึงพอใจและความรักชอบนั้นให้อยู่ในขอบเขตและกรอบของบทบัญญัติศาสนาและสติปัญญา เพราะมิเช่นนั้นมันจะทำให้เขาโอนเอียงไปสู่สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ในความเป็นจริงแล้ว ความรักชอบในสิ่งต่างๆ จะต้องไม่เป็นเหตุทำให้ดวงตาที่มองเห็นสัจธรรมและความเข้าใจที่ลึกซึ้งของพวกเขาเกิดความมืดบอด

     2. เมื่อมีความโกรธและความเครียดแค้นชิงชัง มันจะต้องไม่ทำให้เขาออกจากคำพูดที่เป็นสัจธรรม เพราะเมื่อคนเรามีความโกรธ มักจะไม่สามารถควบคุมตนให้อยู่ในสัจธรรมและความถูกต้องได้ ดังนั้นเขาจะตัดสินใจตามอารมณ์ใฝ่ต่ำและความโกรธที่ชักนำไป

     3.เมื่อเขามีอำนาจและมีพลังความสามารถ เขาจะต้องไม่ล่วงล้ำออกไปจากความยุติธรรม เขาจะต้องไม่ล่วงละเมิดสิ่งต่างๆ ที่มิใช่เป็นสิทธิ์ของตนเอง เขาจะต้องวางบรรทัดฐานพฤติกรรมต่างๆ ของเขาไว้บนพื้นฐานของตักวา (ความยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และยึดหลักความยุติธรรม โดยที่เขาจะไม่ล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า

 

ที่มา :

    อัลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 239

ส่วนหนึ่งจากคุตบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ