การปฏิบัติอิบาดะฮ์ของท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎

การปฏิบัติอิบาดะฮ์ของท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎


ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ ‎(ซ.) ‎‎ อะกีละฮ์ บนีฮาชิม (สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งบนีฮาชิม) ผู้เป็นแบบอย่างของความอดทนและการยืนหยัด ท่านได้รักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความสงบมั่นไว้ได้อย่างลึกซึ้ง โดยท่านสามารถอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากทั้งมวลในตลอดชีวิตของตนได้

‎    มุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) ที่แท้จริง คือผู้ซึ่งในท่ามกลางกระแสที่โหมกระหน่ำของเหตุการณ์และในสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ‎ที่ยากลำบาก ในช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจของมนุษย์ตกเป็นเป้าของภัยพิบัติและบะลาอ์ (การทดสอบ) แทนที่จะร้องทุกข์ โอดครวญและประท้วง แต่เขาจะรักษาอีหม่าน (ความศรัทธา) และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าไว้ด้วยความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยทำให้มนุษย์เกิดความสงบมั่นและยืนหยัดอย่างมั่นคงในการเผชิญหน้ากับปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา

‎ ‎الَّذينَ آمَنُوا وَ تَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُمْ بِذِكْرِ اللَّهِ أَلا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ

‎“บรรดาผู้ที่มีศรัทธาและหัวใจของพวกเขาสงบมั่นด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์ พึงรู้เถิดว่าด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้นที่หัวใจทั้งหลายจะสงบมั่น” (อัลกุรอาน บทอัรเราะอ์ดุ โองการที่ 28)‎

‎    ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ ‎(ซ.) ‎‎ อะกีละฮ์ บนีฮาชิม (สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งบนีฮาชิม) ผู้เป็นแบบอย่างของความอดทนและการยืนหยัด ท่านได้รักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความสงบมั่นไว้ได้อย่างลึกซึ้ง ‎โดยท่านสามารถอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากทั้งมวลในตลอดชีวิตของตนได้ ตัวอย่างเช่น :‎

‎    ก. แม้แต่ในยามค่ำคืนของการเป็นชะฮีดและการจำพรากของท่านอิมามฮุเซน ‎(ซ.) ‎‎ ลูกๆ และพี่น้องผู้เป็นที่รักของตน ซึ่งเป็นค่ำคืนที่วิกฤตและแสนเจ็บปวดที่สุดในชีวิตนั้น ท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ ก็ไม่ละทิ้งจากการนมาซตะฮัจญุดและการทำอิบาดะฮ์ในยามดึกสะงัด มีรายงานจากฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านอิมามฮุเซน ‎(ซ.) ‎‎ ซึ่งกล่าวว่า :‎

‎ ‎وَ اَمَّا عَمَّتِی زِینَب فَاِنَّهَا لَم تَزَل قَائِمَةٌ فِی تِلکَ اللَّیلَة اَی عَاشِرَة مِنَ المُحَرَّمِ فِی مِحرابِها تَستغیث اِلَی رَبِّهَا

‎“และท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ อาของฉัน ในค่ำคืนนั้น หมายถึงคำคืนของวันที่สิบมุฮัรร็อม นางก็ยังคงยืนอยู่ในมิห์รอบ (สถานที่ทำอิบาดะฮ์) ของนางเช่นเคย เพื่อวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระผู้อภิบาลของนาง” (1)‎

‎    ข. ในวันอาชูรออ์ ท่านอิมามฮุเซน ‎(ซ.) ‎‎ ผู้ซึ่งเป็นมะอ์ซูม (ผู้บริสุทธิ์จากบาป) และเป็นสื่อแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะอำลาต่อท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ ผู้เป็นน้องสาวนั้น ท่านกล่าวคำพูดประโยคหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งในการยอมตนเป็นบ่าวและการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) พระผู้เป็นเจ้าของท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ โดยที่ท่านกล่าวว่า :‎

‎ ‎يا اُخْتاه! لا تَنْسِني في نافلةِ اللَّيْل

‎“โอ้น้องสาวของพี่! อย่าลืมพี่ในนมาซนาฟิละฮ์ในยามค่ำคืน (ของเธอ)” [2]‎

‎    ค. ท่านอิมามซัจญาด ‎(ซ.) ‎‎ ได้กล่าวเกี่ยวกับชีวิตของท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ ว่า :‎

‎ ‎اِنَّ عَمَّتي زَيْنَب کانَتْ تُؤَدّي صَلَواتِها مِنْ قِيام، اَلفَرائِضَ وَ النَّوافِلَ، عِنْدَ مَسيرِنا مِنَ الکُوفَةِ اِلَي الشّامِ، وَ ‏في بَعْضِ المَنازِل تُصَلّي مِنْ جُلُوسٍ… لِشِدَّةِ الجُوعِ وَ الضَّعْفِ مُنْذُ ثَلاثِ لَيالٍ لاَنَّها کانَتْ تَقْسِمُ ما يُصيبُها ‏مِنَ الطَّعامِ عَلَي الاَطْفالِ، لِاَنَّ القَوْمَ کانُوا يَدْفَعُونَ لِکُلِّ واحِدٍ مِنّا رغيفاً واحِداً مِنَ الخُبْزِ فِي اليَوْمِ وَ اللَّيلَة

‎“แท้จริงซัยนับ อาของฉันได้ยืนนมาซทั้งที่เป็นฟัรฎู (ภาคบังคับ) และนาฟิละฮ์ (อาสา) ในตลอดการเดินทางของเราจากเมืองกูฟะฮ์จนถึงเมืองชาม และในบางสถานที่พักท่านจะนั่งนมาซ… เนื่องจากความหิวโหยและความอ่อนแอที่รุนแรง เป็นเวลาสามคืนที่นางได้แบ่งสรรอาหารที่เป็นส่วนของนางให้กับเด็กๆ เนื่องจากในวันและคืนหนึ่ง พวกเขาได้ให้ขนมปังแก่พวกเราแต่ละคนเพียงชิ้นเดียว” [3]‎

‎    เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจากการอิบาดะฮ์ (การนมัสการ) และการเชื่อมโยงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าของท่านหญิงซัยนับ ‎(ซ.) ‎‎ ซึ่งสิ่งนี้ได้ให้บทเรียนแก่เราว่า หากเราประสงค์จะรักษาความสงบมั่นของเราไว้ได้ในยามที่ต้องเผชิญกับกระแสที่โหมกระหน่ำของความทุกข์ยากและการทดสอบต่างๆ ที่หนักหน่วงในชีวิตนั้น แนวทางที่ดีที่สุดก็คือการรักษาความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นแหล่งที่มาของความสงบมั่น

เชิงอรรถ :‎

‎[1] อะวาลิมุลอุลูม, อับดุลลอฮ์ บินนูรุลลอฮ์ บะห์รอนี อิศฟะฮานี, เล่มที่ 11, หน้าที่ 954‎

‎[2] หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

‎[3] หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ