เดือนรอมฎอนในริวายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)


เดือนรอมฎอนในริวายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)

 

    นอกจาก "เดือนแห่งพระเจ้า" (شَهْرُ اللًهِ) ซึ่งเป็นชื่อหลักและสมบูรณ์ที่สุดสำหรับเดือนรอมฎอนแล้ว อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ยังได้กล่าวถึงชื่ออื่นๆ ไว้สำหรับเดือนนี้ ซึ่งแต่ละชื่อชี้ถึงแง่มุมหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของมัน

       เดือนรอมฎอนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นเดือนแห่งพระเจ้า แต่นอกจากชื่อนี้แล้ว เดือนรอมฎอนยังมีชื่ออื่นๆ อีกด้วย แต่ละชื่อเหล่านี้แสดงให้เห็นแง่มุมหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของเดือนนี้ การพิจารณาเกี่ยวกับชื่อต่างๆ ที่อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) กล่าวถึงสำหรับเดือนนี้จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นจากเดือนรอมฎอน

       เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการตัดสินใจใหม่ในทางของการขัดเกลาตนเองและการต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำ

       โดยส่วนใหญ่แล้วเรารู้จักเดือนนี้ในชื่อ «شهر الله» หมายถึงเดือนของพระเจ้าและ «شهر الصیام» หมายถึงเดือนแห่งการถือศีลอด ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นอกเหนือจากสองชื่อนี้แล้ว เดือนรอมฎอนยังถูกกล่าวถึงในชื่ออื่นๆ ด้วย โดยที่แต่ละชื่อเหล่านี้เผยให้เห็นมุมหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของเดือนนี้

      เนื้อหาต่อไปนี้ เราจะชี้ถึงบางส่วนของชื่อเหล่านี้โดยสังเขปเพื่อให้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของเดือนนี้ได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเราจะได้รับประโยชน์จากเดือนอันจำเริญนี้ได้มากยิ่งขึ้น

เดือนแห่งความอดทน

       เครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการย่างก้าวไปในเส้นทางของการพัฒนาและการขัดเกลาตนเองคือความอดทน การถือศีลอดเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของความอดทน ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงแนะนำเครื่องมือสำคัญสองอย่างที่จะเอาชนะความปรารถนาและอารมณ์ฝ่ายต่ำของมนุษย์ ประการหนึ่งนั้นคือการนมาซ และอีกประการหนึ่งคือความอดทนและการถือศีลอด :

 وَ اسْتَعينُوا بِالصَّبْرِ وَ الصَّلاة

“และพวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซ (เพื่อการเชื่อฟังพระเจ้าและต่อต้านอารมณ์ฝ่ายต่ำ) เถิด" (1)

       ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้ให้ความหมายคำว่า "ซ็อบร์" (ความอดทน) ในโองการนี้ไว้ว่าคือการถือศีลอด (2)

       เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบุคคลที่จะเสริมสร้างความอดทนของตนในการยับยั้งความต้องการต่างๆ ของอารมณ์ฝ่ายต่ำด้วยการถือศีลอด ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงเดือนรอมฎอนไว้ว่าเป็นเดือนแห่งความอดทน และรางวัลของความอดทนนี้ได้รับการแนะนำว่าคือสวรรค์ :

هُوَ شَهْرُ الصَّبْرِ وَ إِنَّ الصَّبْرَ ثَوَابُهُ الْجَنَّة

“(เดือนรอมฎอน) คือเดือนแห่งความอดทน และแท้จริงรางวัลของความอดทนนั้นคือสวรรค์” (3)

       ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ก็ได้กล่าวถึงเดือนรอมฎอนในวจนะบทหนึ่งว่าความอดทนและการถือศีลอดในเดือนนี้จะช่วยขจัดสนิมของหัวใจ :

صِيَامُ شَهْرِ اَلصَّبْرِ وَ ثَلاَثَةِ أَيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ يَذْهَبْنَ بِبَلاَبِلِ اَلصُّدُورِ

“การถือศีลอดในเดือนแห่งความอดทน (เดือนรอมฎอน) และการถือศีลอดสามวันในแต่ละเดือน จะขจัดสนิมออกจากหัวใจ” (4)

       ดังนั้น ความอดทนในการเผชิญกับความชั่วและความอดทนในการเชื่อฟังพระเจ้าในเดือนรอมฎอนจึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการยกระดับและการขัดเกลาทางจิตวิญญาณของมนุษย์

เดือนแห่งยืนหยัด (กิยาม) เพื่อการเชื่อฟังและการเคารพภักดีพระเจ้า

       การขัดเกลาตนเองจะเริ่มต้นด้วยการยืนหยัด (กิยาม) เพื่อพระเจ้า โดยการตัดสินใจที่จะต่อต้านความชั่วและความปรารถนาของอารมณ์ฝ่ายต่ำ ในช่วงเดือนรอมฎอนมนุษย์จะสามารถเปิดเส้นทางใหม่ในชีวิตทางจิตวิญญาณของตนได้

      ในบทดุอาอ์เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน ท่านอิมามซัจญาด (อ.) เรียกเดือนนี้ว่า "เดือนแห่งการยืนหยัด (กิยาม)" (5) อันที่จริง เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการยืนหยัด (ชะฮ์รุลกิยาม)  เพื่อการเชื่อฟังและการเคารพภักดีพระเจ้า

      ในคืนแรกของเดือนรอมฎอน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) วิงวอนขอต่อพระเจ้าเพื่อทำให้ท่านเข้มแข็งในการถือศีลอดและการยืนหยัดในทางของพระเจ้า :

اللَّهُمَّ فَقَوِّنَا عَلَى صِيَامِنَا وَ قِيَامِنَا

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดทำให้เหล่าข้าพระองค์เข้มแข็งในการถือศีลอดและการยืนหยัด (เพื่อการเคารพภักดี) ของเหล่าข้าพระองค์" (6)

 การยืนหยัดและการใช้เวลาในเดือนรอมฎอนเพิ่อทำอิบาดะฮ์ (นมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) มีประสิทธิภาพและภาคผลมากกว่าช่วงเวลาอื่นของปีถึงเจ็ดสิบเท่า ในการอธิบายถึงเดือนรอมฎอน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

وَ مَنْ أَدَّى فِيهِ فَرْضاً كَانَ لَهُ ثَوَابُ مَنْ أَدَّى سَبْعِينَ فَرِيضَةً فِيمَا سِوَاهُ مِنَ الشُّهُورِ

“และผู้ใดกระทำนมาซภาคบังคับประจำวัน (วาญิบ) ในเดือนนี้ เขาจะได้รับผลบุญ 70 เท่าของผู้ที่กระทำนมาซภาคบังคับประจำวัน (วาญิบ) ในเดือนอื่นๆ” (7)

       ฮะดีษทั้งหมดเหล่านี้ชึ้ให้เห็นว่าเดือนรอมฎอนเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าได้รวดเร็วและง่ายดายที่สุดด้วยการยืนหยัดต่อต้านความปรารถนาของอารมณ์ฝ่ายต่ำและการทำอิบาดะฮ์ทั้งในยามกลางวันและในยามค่ำคืนของมัน

เดือนแห่งการเตาบะฮ์

       ชื่อที่สามของเดือนอันจำเริญนี้คือเดือนแห่งการเตาบะฮ์ (การสำนึกผิด) ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวในบทดุอาอ์ประจำวันของเดือนรอมฎอนว่า :

وَ هذَا شَهْرُ الْإِنَابَةِ وَ هذَا شَهْرُ التَّوْبَة

“และนี่คือเดือนแห่งการหวนกลับ (สู่พระผู้เป็นเจ้า) และนี่คือเดือนแห่งการสำนึกผิด (เตาบะฮ์)" (8)

       แน่นอน ขั้นตอนแรกในการพัฒนาตนเองคือการสำนึกผิดและการกลับเนื้อกลับตัว ตลอดเดือนรอมฎอน พระผู้เแป็นเจ้าจะทรงเรียกหาปวงบ่าวของพระองค์ว่า "มีใครบ้างไหมที่จะสำนึกผิด?" ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

یقُولُ اللَّهُ تَبَارَکَ وَ تَعَالَى فِی کُلِّ لَیلَةٍ مِنْ شَهْرِ رَمَضَانَ‏ ثَلَاثَ‏ مَرَّاتٍ‏ هَلْ مِنْ سَائِلٍ فَأُعْطِیهُ سُؤْلَهُ هَلْ مِنْ تَائِبٍ فَأَتُوبَ عَلَیهِ هَلْ مِنْ مُسْتَغْفِرٍ فَأَغْفِرَ لَهُ

"อัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่งจะทรงตรัสถามในทุกคืนของเดือนรอมฎอนถึงสามครั้งว่า : มีใครบ้างไหม ที่จะขอเพื่อที่ข้าจะให้แก่เขาในสิ่งที่เขาขอ? มีใครบ้างไหมที่จะสารภาพผิดเพื่อที่ข้าจะได้ยอมรับ (การสารภาพผิดของ) เขา? มีใครบ้างไหมที่จะขออภัยโทษเพื่อที่ข้าจะได้อภัยโทษแก่เขา" (9)

       ดังนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยอมรับการกลับเนื้อกลับตัวและการสารภาพผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ในเดือนรอมฎอนมากกว่าเดือนอื่นๆ

เดือนแห่งการอภัยโทษ

      ชื่อสุดท้ายของเดือนรอมฎอนอันประเสริฐที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้คือ "เดือนแห่งการอภัยโทษ" (ชะฮ์รุลมัฆฟิเราะฮ์)

      ในเดือนนี้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงภัยโทษแก่ปวงบ่าวของพระองค์มากกว่าทุกช่วงเวลา ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวว่า :

"รอมฎอนเป็นเดือนแห่งการอภัยโทษและความเมตตา และเป็นเดือนแห่งการปลดปล่อยจากไฟนรก" (10)

      คุณลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวถึงเกี่ยวกับเดือนรอมฎอนคือการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ของมวลมลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) ทั้งกลางวันและกลางคืนให้แก่ผู้ที่ถือศีลอด (11)

      นอกจากการขออภัยโทษของมวลมลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) แล้ว การขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) และการวิงวอนขอ (ดุอาอ์) ของมนุษย์เองจะมีส่วนช่วยเขาอย่างมากในการปลดเปลื้องจากบาป ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ในเดือนรอมฎอนว่า :

عَلَیْكُمْ فِی شَهْرِ رَمَضَانَ بِكَثْرَةِ الِاسْتِغْفَارِ وَ الدُّعَاءِ فَأَمَّا الدُّعَاءُ فَیُدْفَعُ عَنْكُمْ بِهِ الْبَلَاءُ وَ أَمَّا الِاسْتِغْفَارُ فَتُمْحَى بِهِ ذُنُوبُكُم

“ท่านทั้งหลายจงขออภัยโทษและขอดุอาอ์ให้มากในเดือนรอมฎอน เพราะสำหรับดุดาอ์นั้นจะทำให้บะลาอ์ (ความทุกข์ยาก) ถูกขจัดออกไปจากพวกท่าน ส่วนการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) จะทำให้บาปทั้งหลายของพวกท่านถูกลบล้างออกไป” (12)

        หากมนุษย์วางแผนที่ดี เขาจะสามารถชดเชยความผิดพลาดในอดีตของตนและเปิดเส้นทางใหม่ในการหวนกลับสู่พระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยการเตาบะฮ์ การขออภัยโทษ การอดทนและการยืนหยัดต้านทานการกระทำที่เป็นบาป

 

แหล่งที่มา :

(1) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 44

(2) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่ม 1, หน้า 217

(3) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 381

(4) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 453

(5) ซอฮีฟะฮ์ ซัจญาดิยะฮ์, หน้า 186

(6) อิกบาล บิลอะอ์มาล, เล่ม 1, หน้า 146

(7) อัลอะมาลี (ซอดูก), หน้า 41

(8) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 403

(9) บิฮารุลอันวาร, เล่ม 84, หน้า 167

(10) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 403

(11) อัลคิซอล, เลาม 1, หน้า 317

(12) อัลกาฟี, เล่ม 7, หน้า 440

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ