บทเรียน นบูวัต ตอนที่ 7 (ความเป็นศาสดา)

บทเรียน นบูวัต ตอนที่ 7 (ความเป็นศาสดา)

 
อิศมัต  ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา
   ความหมายของ “อิศมัต” คือ ความโปรดปรานพิเศษของอัลลอฮ์(ซบ)ที่เป็นสาเหตุให้บุคคลหนึ่งไม่มีแรงบันดาลใจให้ละทิ้งการเคารพภักดีต่อพระองค์และไม่มีแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งที่ฝ่าฟื้นคำสั่งของพระองค์ในขณะที่เขามีพลังกำลังความสามารถในการทำสิ่งเหล่านี้  ด้วยเหตุนี้บุคคลที่เขามีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำบาปแต่ทว่าเนื่องจากอุปสรรคต่างๆภายนอกหรือเขาไม่มีความสามารถที่จะทำจึงไม่ถือว่าเขาเป็น “มะศูม” ผู้บริสุทธิ์ และในทางกลับกันผู้ที่เป็นมะศูมเขามีความสามารถที่จะทำสิ่งที่เป็นบาปแต่ทว่าเขาเลือกที่จะไม่ทำมัน
    ทำไมต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา เพราะเนื่องจากบรรดาศาสดาเป็นผู้ประกาศสาสน์และเผยแพร่สาสน์ของอัลลอฮฺ(ซบ) การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในขั้นตอนต่างๆของการถ่ายทอดสาสน์นั้นจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากวิวรณ์ “วะฮฺยู” ของพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะตรวจสอบได้ บางสิ่งบางเรื่องราวที่ศาสดานำมาสติปัญญาไม่สามารถตรวจสอบได้ และบางสิ่งบางเรื่องราวสามารถพิสูจน์ได้ เช่นการห้ามดื่มสุราของมึนเมา เพราะจะทำให้เกิดผลเสียอย่างมากมายทำให้เสียสติ หรือการผิดประเวณี หรืออื่นๆ ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้สติปัญญาสามารถตรวจสอบและเข้าใจได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี
  - ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาจากความเชื่อของกลุ่มต่างๆ
1 ชีอะห์เชื่อว่าบรรดาศาสดาทุกคนมี “อิสมัต” ความบริสุทธิ์จากทุกปมด้อยและจากความผิดพลาดแม้แต่การเผอเรอ และความหลงลืม ซึ่งคุณลักษณะเหล่านมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดจนจากโลกนี้ไป
2 อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์จากบาปใหญ่เท่านั้น หมายความว่าไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นบาป พร้อมกับปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อบังคับทางศาสนาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจากโลกนี้ไป
  3 กลุ่มนี้เชื่อว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์จากบาปใหญ่หลังจากบรรลุนิติภาวะทางศาสนา
   กลุ่มนี้เชื่อว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์จากบาปใหญ่ภายหลังจาการได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดาอย่างเป็นทางการ “บิอฺซัต”
 4 กลุ่มนี้เชื่อว่าบรรดาศาสดาเป็นคนปกติธรรมดาโดยทั่วไป มีความผิดพลาด มีความหลงลืม แต่ทว่าเชื่อว่าในการเผยแพร่สาสน์ของพระองค์นั้นมีความบริสุทธิ์
  - อิสมัต ความบริสุทธิ์ที่แท้จริงคืออะไร
   - ผู้ที่สามมารถเรียกได้ว่ามีอิศมัตได้นั้นนอกจากไม่ทำบาปแล้วต้องมี “มะละกะฮ์” นิสัยสันดานด้านบวก หมายถึงสิ่งๆนั้นกลายเป็นอันเดียวกับตัวของเขาไปแล้ว และสันดานอันนี้ได้มาจากการที่เขาได้เสริมสร้างมันขึ้นมา และเขาสามารถควบคุมตัวเองจากการทำบาปในทุกๆสภาพได้ เป็นมะละกะฮฺที่ดีเป็นคุณลักษณะที่ดีที่มีอยู่ในตัวเขาจนกระทั่งคุณลักษณะนั้นไม่สามารถที่จะแยกออกจาดตัวเขาได้ 
   - หมายถึงการไม่ทำบาปตามหลัก “ชารีอัต” บทบัญญัติทางศาสนาของตัวเอง คือชารีอัตในยุคศาสดาแต่ละท่านมีความแตกต่างกัน เช่นในยุคสมัยศาสดาอาดัม(อ) อนุญาตให้สามารถแต่งงานกับญาติพี่น้องกันได้ แต่ในยุคศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา ดังนั้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าการกระทำสิ่งนี้ในยุคศาสดาอาดัม(อ)เป็นบาป เพราะไม่ได้ขัดกับชารีอัตในยุคสมัตของท่าน และไม่ได้ขัดกับความเป็น “มะอฺศูม” ผู้บริสุทธิ์ 
  - ในแต่ละศาสดามีคำสั่งใช้ทั้งที่เป็น “ชารีอัต” (เป็นข้อบังคับ) และมีคำสั่งใช้ที่ไม่ได้เป็น “ชารีอัต” (ไม่ได้เป็นข้อบังคับ) และมีคำสั่งห้ามที่เป็นชารีอัตและคำสั่งห้ามที่ไม่ได้เป็นชารีอัต
   คำว่า “ซัมบุน” และ “อิศยาน” ซึ่งทั้งสองคำแปลว่าบาป คำว่าบาปในอัลกุรอานจะใช้รวมกันระหว่างบาปที่หมายถึงการละเมิดชารีอัตและบาปที่หมายถึงการละเมิดสิ่งที่ไม่ใช่เป็นชารีอัต บางครั้งใช้กับการละเมิดที่เป็นชารีอัต บางครั้งใช่กับการละเมิดที่ไม่เป็นชารีอัตบางครั้งเมื่อคำเหล่านี้ใช้กับศาสดาบางท่านก็ไม่ได้หมายว่าศาสดาทำบาป เพราะไม่ได้เป็นการละเมิดชารีอัต แต่เรียกว่า “ตัรกุลเอาลา” หมายถึงการละทิ้งสิ่งที่ดีกว่าที่ดีที่สุดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ถูกนำเสนอจากอัลลอฮฺ(ซบ)ซึ่งการละทิ้งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นบาปตามหลักชารีอัต เช่นตัวอย่างของท่านศาสดาอาดัม(อ) ในวันนั้นศาสดาอาดัม(อ) อยู่ณฺสวนสวรรค์หนึ่งที่ชื่อเอเดล อัลลอฮฺ(ซบ)ได้ตรัสกับศาสดาอาดัม(อ)ว่า ในซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 35
وَ لَا تَقْرَبَا هَاذِهِ الشَّجَرَةَ فَتَكُونَا مِنَ الظَّالِمِين‏
“และเจ้าทั้งสองจงอย่าเข้าใกล้ต้นไม้ต้นนั้น มันจะทำให้เจ้าทั้งสองกลายเป็นผู้อธรรม”
   แต่ทว่าศาสดาอาดัม(อ)ได้เข้าใกล้ต้นไม้นั้นและได้กินผลของมันซึ่งเป็นการละเมิดข้อเสนอที่ดีกว่าของพระองค์แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นการทำผิดชารีอัต ดังนั้นอีกความหมายหนึ่งของ”อิสมัต” (ความบริสุทธิ์) คือการไม่ละเมิดบทบัญญัติทางศาสนาที่เป็น “ชารีอัต” และการมี “มะละกะฮฺ” สันดานที่ดีที่เป็นสิ่งที่พระองค์รัก
  - และอิศมัตที่สูงสุดคือแม้แต่ความรู้ ความคิด รู้อนาคต รู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์
   - อิศมัต และ อิคติยาร (ความบริสุทธิ์และเจตนารมณ์ในการเลือก)
    ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือความบริสุทธิ์กับเจตนารมณ์ในการเลือกไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เป็นไปได้ว่าอาจจะมีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นว่า เนื่องจากเพราะความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาที่เป็นตัวบังคับและป้องกันศาสดาไม่ให้ทำบาปโดยที่ศาสดาไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการเลือกเป็นของตัวเองในการละทิ้งบาป ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้องคือบรรดาศาสดามีเจตนารมณ์ในการเลือกและมีความสามารถของท่านเองในการออกห่างจากบาป บรรดาศาสดาคือบุคคลที่มีความที่รู้ลึกซึ้งซึ่งสามารถมองเห็นแก่นแท้รองร่อยและจุดจบที่เลวร้ายของบาปต่างๆได้ พวกท่านจึงไม่มีความต้องการที่จะกระทำบาปใดๆ ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ สมมุติบุคคลหนึ่งมีความกระหายน้ำอย่างรุนแรงและในขณะเดียวกันเขาอยู่ในสถานที่ที่มีความร้อนจัดและเบื้องหน้าเขามีน้ำเย็นที่ที่ดูใสสะอาดแต่ทว่าถูกผสมไปด้วยยาพิษ และบุคคลดังกล่าวก็รู้ว่าน้ำนี้มียาพิษอยู่ เป็นที่แน่นอนว่าเขาจะต่อสู้อย่างจริงจังกับเสียงกระซิบกระซาบที่พยายามผลักดันเขาให้กินน้ำเพื่อที่เขาจะได้หายหิวกระหายได้ และเขาจะยืนหยัดจากการไม่ดื่มน้ำนั้น ซึ่งในสภาพดังกล่าวในการดื่มน้ำหรือไม่ดื่มน้ำนั้นเขามี “อิคติยาร” เขามีเสรีในการเลือก แต่เนื่องจากที่เขารู้ว่าน้ำมียาพิษ และการกินน้ำนั้นเป็นสาเหตุให้เขาตายได้ และในอีกด้านหนึ่งบรรดาศาสดาหรือมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ พวกเขากำลังดื่มด่ำอยู่กลับความสวยงามและความสมบูรณ์ของพระผู้อภิบาของพวกเขา และมองเห็นคุณลักษณะแห่งความสวยงามความมั่งคงของพระองค์ด้วยดวงตาแห่งจิตวิญญาณ และกำลังดื่มด่ำความรักจากพระผู้เป็นที่รักของพวกเขา แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่อนุญาตให้ตัวเองขัดความพึ่งพอใจของผู้ที่เป็นที่รักของเขาและทำการละเมิดอย่างแน่นอน นี้คือความแตกต่างหนึ่งระหว่างศาสดาหรือมนุษย์ที่บริสุทธิ์กับบุคคลทั่วไป ซึ่งก็เนื่องจากความรู้ดังกล่าวที่ทำให้ศาสดาออห่างจากบาป ไม่ใช่เพราะพวกท่านไม่มีอิคติยาร เสรีในการเลือก  
 
ขอขอบคุณ สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)